จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสนักเรียนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความสะเทือนใจและกำลังสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วสังคมไทยในเวลานี้ ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาต่าง ๆ ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมกำลังค่อย ๆ ถูกตีแผ่ กับอีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทุกช่องทางและทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียล้วนเกาะติดสถานการณ์ความคืบหน้าของข่าว และรายงานกันแทบทุกชั่วโมง แน่นอนว่า… ข่าวหรือข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบกับจิตใจกับคนทั่วไปที่ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ได้เสพข่าวที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งได้หากมีการ เสพข่าวสะเทือนใจ มากเกินไป เสี่ยงต่อการเกิด โรค PTSD ตามมาภายหลังจากการรับสื่อที่กระตุ้นเร้าอย่างมากได้
โรค PTSD คืออะไร
หากกล่าวง่าย ๆ อาจบอกได้ว่า PTSD คือ โรคทางใจ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการประสบภัยรุนแรงในชีวิตค่ะ ซึ่ง PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) เป็นภาวะทางจิตเวชอย่างหนึ่ง เป็นความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ หรือภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบเห็น เผชิญ หรือรับรู้เหตุการณ์ความรุนแรง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ เกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบพบเหตุร้ายด้วยตัวเอง หรือเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์และเห็นเหตุการณ์สะเทือนใจนั้นโดยตรง หรือเป็นญาติใกล้ชิดกับผู้ประสบเหตุและได้รับรู้รายละเอียดข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนเกิดความเครียด และมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตามมา และจำเป็นต้องได้รับการรักษา
อาการของโรค PTSD
ในกรณีของผู้ที่ประสบเหตุรุนแรงจนได้รับความสะเทือนใจ หรือแม้กระทั่งบุคคลอื่น ๆ ที่ เสพข่าวสะเทือนใจ มากเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรค PTSD เช่นกัน จะมีอาการของโรค PTSD ออกมา 2 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 เกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังเหตุการณ์ เรียกว่า Acute Stress Disorder (ASD) หรือ โรคเครียดฉับพลัน ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะ ASD สามารถหายเองได้ หรือไม่เป็นอะไรเลยในเดือนแรก แต่หลังเกิดเหตุการณ์มาแล้ว 1 เดือนหากอาการนี้ยังไม่หายไป จะเรียกว่า PTSD
- ระยะที่ 2 หลังเกิดเหตุการณ์มาแล้ว 1 เดือน ที่เรียกว่า PTSD อาจแสดงลักษณะอาการออกมาได้ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
|
ลักษณะสำคัญ 3 ด้าน ของโรค PTSD
|
1. “หลอน”(re-experiencing) |
คือการที่เหตุการณ์นั้นตามมาหลอกมาหลอน รู้สึกถึงประสบการณ์ หรือเสมือนอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงที่ประสบมาซ้ำ ๆ เช่น ภาพเหตุการณ์ในข่าว รูปต่าง ๆ ที่เห็น ผุดขึ้นในความคิดซ้ำ ๆ แบบหยุดไม่ได้ ฝันร้ายถึงเรื่องนั้น ๆ ตกใจกลัว หรือหลับตาทีไรก็ยังเห็นภาพนั้น |
2. “เร้า”(Hyperarousal) |
คืออาการตื่นตัวมากเกินไป มีอาการตกใจ ตื่นตัวง่าย อาจมีอารมณ์หงุดหงิด ระแวดระวัง สมาธิไม่ดี นอนหลับยากขึ้น แม้ว่าเหตุการณ์น่ากลัวจะผ่านไปแล้ว แต่ร่างกายก็ยังไม่ยอมเลิกตื่นตัว ทำให้ยังรู้สึกกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง ใจสั่น สะดุ้งง่าย ไม่มีสมาธิ เครียดง่ายกับเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อมีอะไรมาสะกิดให้นึกถึงเหตุการณ์สะเทือนใจนั้น |
3. “หลบ”(Avoidance) |
คือการที่คอยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ หรือมีอารมณ์เฉยชา (emotional numbing) พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูด หรือนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัว เช่น ประสบภัยพิบัติมาจึงไม่กล้าดูข่าวนี้ในโทรทัศน์ หรือไม่กล้าไปในสถานที่ประสบเหตุ เพราะเมื่อเห็นแล้วจะรู้สึกกระวนกระวายขึ้นมาอีก |
ทั้งนี้ PTSD ยังอาจมีอาการอื่นได้อีก เช่น ซึมเศร้า โทษตัวเองว่ามีส่วนทำให้เกิดเหตุร้าย หรือรู้สึกผิดที่หนีเอาตัวรอด วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ ดื่มเหล้าเบียร์มากกว่าเดิมเพื่อดับความกระวนกระวายใจ หงุดหงิดง่าย ทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย
เด็กที่เสี่ยง ! โรค PTSD มีอาการอย่างไร
โรค PTSD ในเด็ก และผู้ใหญ่ นั้นมีความแตกต่างกันในเรื่องของ การสื่อสารและการแสดงออก ผู้ใหญ่ที่ เสพข่าวสะเทือนใจ มากเกินไป หรือเป็นผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โดยตรงจนมีภาวะของโรค PTSD จะแสดงอาการที่ตรงไปตรงมาซึ่งสามารถสังเกตจากพฤติกรรมได้อย่างชัดเจน ทั้งยังสามารถอธิบายอาการได้ว่ามีความคิดอย่างไร เห็นภาพอะไร หรือกำลังรู้สึกอะไรอยู่
แต่กรณีโรค PTSD เกิดขึ้นในเด็ก แม้บางคนจะมีการแสดงออกทางกายที่เหมือนกับผู้ใหญ่ แต่การสื่อสารและการอธิบายอาการอย่างเข้าใจได้จะค่อนข้างจำกัด เนื่องจากยังไม่มีความเข้าใจต่อโรค ไม่เข้าใจสภาวะของตัวเอง และไม่รู้จะสื่อสารอาการออกไปอย่างไร โดยอาการที่อาจแสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ
- เด็กจะรู้สึกเหมือนประสบเหตุการณ์นั้นอยู่เรื่อย ๆ เช่น นึกถึง เห็นภาพในข่าวที่ดู อาจได้ยินเสียง ทำให้ไม่สบายใจอย่างมาก แต่ก็หยุดนึกถึงไม่ได้
- ในเด็กเล็กที่พูดบอกไม่ได้อย่างชัดเจน อาจแสดงออกผ่านการเล่น วาดรูป เด็กอาจจะเล่นซ้ำ ๆ โดยอาจมีความเกี่ยวโยงถึงเหตุการณ์ที่เจอมา
- เด็กบางคนฝันร้ายเกี่ยวกับเหตุการณ์ ฝันร้ายถึงการพลัดพราก ความตาย หรือเรื่องน่ากลัวต่าง ๆ
- หากมีคน หรือสิ่งของที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์ เด็กก็จะกลัวมากขึ้น
- เด็กบางคนอาจแสดงอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ใจสั่น อาเจียน เวลามีปัจจัยที่ทำให้คิดถึงเหตุการณ์นั้น ๆ
- อาจแสดงอาการเฉยชา ไม่สนใจ ไม่ร่าเริง ไม่เล่นอะไรที่เคยชอบ เพราะช็อกกับเหตุการณ์ หรือบางคนจะร้องไห้งอแงมากกว่าปกติ แต่ที่พบบ่อยคือ เด็กจะกลัวการแยกจาก ติดคนที่ดูแลมากขึ้น ร่วมกับมีพฤติกรรมถดถอย เหมือนกลายเป็นเด็กอีกครั้ง หรือบางคนมีภาวะปัสสาวะรดที่นอน
- พฤติกรรมเปลี่ยนไป หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าวมากขึ้น หรือไม่มีสมาธิในการเรียน ระดับการเรียนตกลง
ทำอย่างไรเมื่อเสี่ยง ! โรค PTSD
อย่างแรกที่ทุกคนควรทำกรณีไม่อยากให้เกิดความเสี่ยง โรค PTSD จากการเสพข่าวสะเทือนใจ มากเกินไป คือ หยุดรับสื่อหรือข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มากเกินไปค่ะ เพราะการดูซ้ำ ๆ ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้มีอาการมากขึ้นได้ ควรหากิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียดเข้ามาในกิจวัตรประจำวัน อย่างการฟังเพลง การออกกำลังกาย ฯลฯ
นอกจากนี้ หากเด็ก ๆ ในบ้านไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ หรือเป็นเด็กที่ เสพข่าวสะเทือนใจ มากเกินไป ก็ตาม มีอาการที่เสี่ยงว่าจะเกิดภาวะ PTSD คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจะต้องทำความเข้าใจปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น ว่าเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ ไม่ควรดุหรือตีเมื่อลูกงอแงเพราะจะยิ่งทำให้มีอาการมากขึ้น
หากลูกบอกว่ากลัวให้แสดงความรักความเข้าใจอย่างการกอด แล้วบอกลูกว่า พ่อแม่อยู่ตรงนี้ ไม่มีใครมาทำอะไรลูกได้ และคุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาทำกิจกรรมและเล่นกับลูก รวมถึงต้องตั้งสติอย่าให้ข่าวรุนแรงมาทำให้เกิดความเครียดได้ ควรจัดการกับความกังวล และดูแลตัวเองให้แข็งแรง เพื่อเป็นเกราะที่แข็งแกร่งให้กับลูก
วิธีรักษาและเยียวยาเด็กที่มีภาวะโรค PTSD
ด้วยการให้ความรู้สุขภาพจิต การผ่อนคลายร่างกายและอารมณ์ ให้เด็กได้เผชิญกับสิ่งที่กลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยที่ได้รับการฝึกวิธีสร้างความมั่นคงทางจิตใจด้วย แล้วปรับเปลี่ยนความคิดที่ทำให้เกิดความกังวล และฝึกการจัดการกับอารมณ์ ซึ่งในผู้ป่วยเด็กอาจจะใช้วิธีวาดภาพระบายสี หรือใช้งานศิลปะเป็นสื่อใช้แสดงความรู้สึกต่าง ๆ ออกมา
ทั้งนี้ เด็กสามารถเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ให้ฟังได้หากต้องการเล่าเอง ไม่พยายามกระตุ้นให้เด็กเล่าเรื่องซ้ำ ๆ หากยังไม่รู้สึกปลอดภัยเพียงพอ อย่างไรก็ตาม เด็กที่มีภาวะโรค PTSD มักมีอาการหลีกเลี่ยงเพื่อปกป้องตนเองจากความรู้สึกเจ็บปวดและไม่สบายใจ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต จึงดูเหมือนไม่มีอาการ และไม่เข้ารับการบำบัด คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสังเกตและพาลูกเข้ารับการรักษาด้วย
นอกจากนี้ จะมีการจัดให้ผู้ปกครองเข้าร่วมการบำบัดด้วย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการเหล่านี้ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กหายจากอาการ PTSD ซึ่งจะช่วยเด็กในเรื่องการปรับตัว ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ลดตัวกระตุ้นความเครียด และเป็นที่ปรึกษาในสถานการณ์ที่ลูกอาจกังวลและต้องการความช่วยเหลือ
จิตแพทย์อาจให้ยาในกลุ่มยาแก้ซึมเศร้าร่วมกับการบำบัดทางจิตใจด้วย โดยยากลุ่มดังกล่าวต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์จึงจะเริ่มออกฤทธิ์ และต้องกินยาต่อเนื่องควบคู่กับการทำจิตบำบัดไปด้วย
ภาวะ PTSD นั้นมีต้นเหตุมาจากเหตุการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้ ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ที่กระทบต่อความรู้สึกอย่างรุนแรง จึงควรเข้าพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและขอคำปรึกษา รวมถึงหากิจกรรมเพื่อบรรเทาความเครียด ส่วนกรณีที่เราไม่ได้เป็นผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ แต่เป็นผู้ติดตามข่าวสาร ควรหยุด เสพข่าวสะเทือนใจ มากเกินไป เพราะคือบันไดขั้นแรกที่จะทำให้โอกาสเกิดภาวะ PTSD น้อยลงตามไปด้วยค่ะ
… เราจะผ่านเรื่องน่าเศร้านี้ไปด้วยกันนะคะ
ที่มา : เพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา , www.phyathai.com , www.petcharavejhospital.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
10 เกมเด็กอนุบาล กระตุ้นสมองและพัฒนาการ พาลูกห่างจอ
กิจกรรมเด็ก 2 ขวบ เล่นอะไรดี สร้างความสนุก ส่งเสริมพัฒนาการลูกรอบด้าน
5 เพลงอนุบาล สนุก ร้องตามง่าย มีประโยชน์กว่าที่คิด !
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!