ทำไมทารกชอบดูดนิ้ว
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจสังเกตและมีความกังวลใจว่าลูกน้อยวัยทารกชอบดูดนิ้ว จะเป็นอันตรายหรือไม่? ทำไมทารกชอบดูดนิ้ว ควรให้เลิกดูดเมื่อใด? อย่างไร? วันนี้เรามาคุยกันนะคะ
เพราะอะไรทารกจึงชอบดูดนิ้ว?
มีรายงานการศึกษาที่พบว่าทารก ดูดนิ้วมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่ เมื่อทารกเกิดมาการดูดนิ้วเป็นพัฒนาการที่ปกติ โดยทารกน้อยอายุไม่เกิน 1 ปีนั้นยังอยู่ในช่วง oral stage คือมีความสุขอยู่กับการดูดและการได้กินจนอิ่ม นอกจากนี้การดูดนิ้วยังทำให้ทารกสงบลงเมื่อรู้สึกเบื่อ เหนื่อย หรือต้องการความสงบและสบาย หลังจากทานนมคุณแม่แล้วบางครั้งลูกก็อยากจะดูดต่อโดยที่ไม่ได้หิว ซึ่งนิ้วมือเป็นสิ่งที่ติดอยู่กับตัวเขาตลอดและสามารถดูดเมื่อไหร่ก็ได้ ทารกจึงเรียนรู้ที่จะดูดนิ้วได้เอง นอกจากนี้ทารกอาจต้องการทำให้ตัวเองนอนหลับโดยใช้วิธีการดูดนิ้ว ก็ได้เช่นกัน
ทั้งนี้การดูดนิ้วไม่ได้เป็นลักษณะอาการของการไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง หรือความไม่เติบโตอย่างสมบูรณ์ทางด้านจิตใจและอารมณ์ของเด็กแต่อย่างใดนะคะ
ควรฝึกให้เด็กเลิกดูดนิ้วเมื่ออายุเท่าไร?
หากทารกน้อยดูดนิ้วคุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องกังวลนะคะ เพราะการดูดนิ้วเป็นวิธีการช่วยให้ทารกได้มีความสุขและสงบลงได้ เด็กน้อยส่วนมากมักจะเลิกดูดนิ้วไปได้เองที่หลังอายุ 1 ขวบ ซึ่งจากข้อมูลของทันตแพทย์พบว่าการที่เด็กดูดนิ้วไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาต่อฟันหรือแนวขากรรไกร ยกเว้นยังดูดนิ้วอยู่จนอายุมากกว่า 4-5 ปี อาจทำให้เกิดปัญหาฟันยื่นเหยิน และมีการสบฟันที่ผิดปกติได้ ซึ่งเด็กส่วนมากก็มักเลิกดูดนิ้วก่อนอายุ 4 ปี อยู่แล้วค่ะ
มีวิธีทำให้ลูกเลิกดูดนิ้วอย่างไร ใช้จุกหลอกได้หรือไม่?
หากคุณพ่อคุณแม่อยากจะให้ลูกเลิกดูดนิ้ว ก็สามารถทำได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้ค่ะ
- โอบกอดและเบี่ยงเบนความสนใจ หากิจกรรมให้ลูกทำที่ต้องใช้ปากและนิ้วมือ เพื่อดึงดูดความสนใจลูก หากลูกดูดนิ้วมือเพราะความเบื่อหรือความกังวล
- กล่อมลูกให้นอนหลับด้วยตนเองและกอดลูกก่อนนอน เล่านิทาน หากิจกรรมให้ลูกทำจนรู้สึกเหนื่อยก่อนเข้านอน เพื่อลดโอกาสที่ลูกจะดูดนิ้วก่อนนอนเพราะอยากให้ตัวเองหลับ
- เลิกสนใจการดูดนิ้วของลูก ไม่พูดทักเมื่อลูกดูดนิ้ว อาจทำให้ลูกสามารถเลิกดูดนิ้วได้เอง
- หากลูกโตขึ้น เช่น วัยอนุบาล อาจใช้วิธีให้รางวัลเพื่อเสริมแรงสนับสนุนให้ลูกเลิกดูดนิ้ว เช่น การใช้ star chart สะสมดาวเพื่อแลกรางวัลต่างๆ
สำหรับลูกน้อยวัยทารก
หากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกไม่สบายใจที่ลูกดูดนิ้วและอยากจะใช้จุกหลอกให้ลูกดูดแทนนิ้วก็สามารถทำได้ ทั้งนี้อาจใช้จุกหลอกแทนการดูดนิ้วของลูกจนกระทั่งถึงวัยที่ความต้องการในการดูดของลูกลดลง คือในช่วงอายุไม่เกิน 9 เดือน ซึ่งการใช้จุกหลอกอาจมีข้อดี คือ คุณพ่อคุณแม่สามารถควบคุมการดูดได้มากกว่านิ้ว สามารถเลิกดูดได้ง่ายกว่า แต่อาจนำมาซึ่งปัญหาติดจุกหลอกและร้องไห้กวนของลูกเพื่อหาจุดหลอกเวลาที่หลุดออกจากปาก หรือหล่นหายไป
สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตำหนิลูกส่งเสียงดังหรือลงโทษ เพื่อให้ลูกเลิกดูดนิ้ว เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังมีรายงานว่าอาจจะยิ่งเป็นสาเหตุทำให้เด็กมีความวิตกกังวลและดูดนิ้วมากขึ้น จนกลายเป็นการติดนิสัยดูดนิ้วที่เลิกยากได้ค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
โรคมือเท้าปาก โรคใกล้ตัวเด็กวัยเรียน ทารก-เด็กเล็ก ก็มีโอกาสป่วยง่าย
14 ประกันสุขภาพเด็ก เปรียบเทียบประกันสุขภาพให้ลูก เลือกตัวไหนดี ตัวไหนคุ้ม
พาลูกเที่ยวทะเลช่วยให้เด็กฉลาดได้ อยากให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีต้องพาลูกเที่ยว