หนึ่งในพัฒนาการ และการเจริญเติบโตของลูกน้อยที่สังเกตได้ชัดเจน เห็นจะเป็นฟันน้ำนมซี่แรกของลูก ซึ่งก็ถึงเวลาที่คุณแม่จะต้องช่วยลูกดูแลสมาชิกใหม่ในช่องปาก และปลูกฝังการแปรงฟันที่ถูกวิธีให้ลูกต่อไป ซึ่งลำดับการขึ้นของฟันทารกหรือฟันเด็ก ๆ นั้นเป็นอย่างไร ฟันน้ำนมซี่แรกของลูกจะขึ้นตรงไหนก่อน ฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ มาดูกันเลยครับ
ลำดับการขึ้นของฟัน
สำหรับฟันน้ำนมนั้นจะมีการขึ้นมาก่อนฟันแท้ ส่วนฟันแท้ที่กำลังสร้างอยู่ในกระดูกขากรรไกร จะรอเวลาที่งอกออกมา แทนที่ฟันน้ำนมที่หลุดออกไป โดยตัวเลขสีต่าง ๆ จะแสดงช่วงเวลาที่ฟันขึ้น
ลำดับการขึ้นของฟัน จุดเริ่มต้นของ ฟันเด็ก ซี่แรก
เด็กบางคนมีฟันน้ำนมซี่แรกตั้งแต่อายุ 3-6 เดือน ในขณะที่เด็กบางคนมีฟันน้ำนมซี่แรกตอน 6-10 เดือนหรือช้ากว่านั้น แต่ไม่เกิน 18 เดือน ช่วงอายุที่ต่างกันขนาดนี้ อาจจะทำให้แม่ ๆ แปลกใจ แต่ฟันซี่แรกของเด็กทารก จะขึ้นช้า หรือเร็วกว่ากันได้ถึง 1 ปี โดยไม่เกี่ยวกับการบริโภคน้ำนม ปริมาณแคลเซียมที่ได้รับ หรือพัฒนาการใด ๆ ทั้งสิ้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะครับ นอกจากช่วงอายุที่ต่างกันแล้ว ลำดับการขึ้นของฟันก็ยังต่างกันด้วย เด็กบางคนมีฟันน้ำนมซี่หน้าข้างบนขึ้นก่อน ในขณะที่บางคนมีซี่หน้าข้างล่างขึ้นมาก่อนซี่อื่น ๆ ซึ่งจะขึ้นสลับตาม ๆ กันมาได้ ก็เป็นเรื่องปกติ แต่หากลูกอายุ 1 ขวบครึ่ง หรือ 18 เดือนขึ้นไปแล้ว แต่ยังไม่มีฟันขึ้นเลยสักซี่ คุณแม่จึงควรพาลูกไปพบหมอฟันเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมนะครับ
ชนิดของฟันน้ำนม
ชนิดของฟันน้ำนมของลูก แบ่งออกเป็น ฟันหน้าที่เป็นฟันตัด 8 ซี่ ฟันเขี้ยว 4 ซี่ และฟันกรามข้างใน 8 ซี่ ซึ่งจะขึ้นเหมือนกันทั้งบน และล่าง โดยส่วนมากฟันหน้าซี่ล่างมักจะเป็นฟันซี่แรก ๆ ที่โผล่ออกมาให้เห็น หากลูกมีฟันซี่อื่น ๆ ก่อน ก็ไม่ได้ผิดปกติ เพราะลำดับการขึ้นของฟัน ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน โดยฟันน้ำนมเหล่านี้ จะอยู่กับลูกไปจนราว ๆ 6-7 ขวบ และจะค่อย ๆ ถูกทดแทนด้วยฟันแท้จนครบ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เหงือกอักเสบ ลูกเหงือกอักเสบทำไงดี รักษาเบื้องต้นยังไงได้บ้าง
ทำความรู้จักกับฟันแต่ละชนิด
-
ฟันหน้า หรือ ฟันตัด หรือ ฟันกระต่าย (incisors)
ฟัน 8 ซี่ ซึ่งขึ้นอยู่บริเวณส่วนหน้าของปาก 4 ซี่ด้านบน และอีก 4 ซี่ด้านล่าง มีรูปร่างคล้ายสิ่วขนาดเล็ก ทำหน้าที่ในการตัด สับ และเจาะอาหาร อย่างเช่น การกัดผลแอปเปิ้ล ก็จะใช้ฟันหน้าในการเจาะลงไป เป็นต้น ฟันน้ำนมคู่หน้าจะเริ่มขึ้นมาให้เห็นเมื่อลูกอายุประมาณ 6 เดือน และจะผลัดเปลี่ยนเป็นฟันแท้เมื่ออายุประมาณ 6 – 8 ปีนั่นเอง
-
ฟันเขี้ยว (canines)
ฟันเขี้ยวนั้น จะขึ้นถัดเข้าไปจากฟันส่วนหน้า โดยจะขึ้นด้านบน 2 ซี่ และด้านล่างอีก 2 ซี่ ทำหน้าที่ในการฉีกอาหาร ฟันเขี้ยวของลูกจะขึ้นมาให้เห็นในช่วงอายุ 16 – 22 เดือน หรือประมาณ 1 ขวบกว่า ๆ โดยฟันเขี้ยวด้านบนมักจะขึ้นมาให้เห็นก่อน ในทางกลับกัน เมื่อลูกอายุประมาณ 9 – 12 ขวบ ฟันเขี้ยวแท้ด้านล่างก็จะขึ้นมาก่อน และตามมาติด ๆ ด้วยฟันเขี้ยวด้านบน
-
ฟันกราม (molars)
ถัดเข้าไปจากฟันเขี้ยว คือฟันกราม 4 ซี่ด้านบน และ 4 ซี่ด้านล่าง ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าฟันตัด และฟันเขี้ยว มีหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการกลืน
ฟันแท้ หรือฟันของผู้ใหญ่ จะมีฟันกราม 2 ชุด นั่นคือ ฟันกราม (molars) และฟันกรามน้อย (premolars) แต่ในส่วนของฟันน้ำนม หรือฟันชุดแรกของลูก จะมีก็แต่ฟันกรามเพียงอย่างเดียว ซึ่งตำแหน่งนี้จะถูกทดแทนด้วยฟันกรามน้อย ที่เป็นฟันแท้ เมื่ออายุประมาณ 9 -12 ขวบ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฟันน้ำนมหัก ฟันแท้จะขึ้นเมื่อไหร่? ฟันน้ำนมต้องดูแลอย่างไร
ลำดับการขึ้นของฟันทารก ตามช่วงอายุ ฟันแท้ขึ้นกี่ขวบ?
- 6 – 10 เดือน ฟันน้ำนมจะเริ่มโผล่ออกมาจากเหงือกบวม ๆ และทำให้เจ้าตัวเล็กน้ำลายยืดตลอดเวลา ลูกน้อยอาจจะรู้สึกไม่สบายตัว และอาจทำให้เป็นไข้ได้ ซึ่งจะเป็นตำแหน่งของ ฟันหน้า หรือฟันกระต่าย ทั้งบน และล่างจะเริ่มงอก อาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่ค่อยสบายนักเวลาให้นม
- 9- 16 เดือน ฟันตัดด้านข้างจะเริ่มงอกขึ้นมา ทั้งบนและล่าง
- 16 – 23 เดือน ฟันเขี้ยวจะเริ่มงอกขึ้นมา ลูกจะเริ่มชินกับการงอกของฟันมากขึ้น
- 13-19 เดือน ฟันกรามซี่แรกจะเริ่มงอก ในเด็กบางคนอาจกลับมาทำให้รู้สึกเจ็บ ถึงเหงือกอักเสบจนอาจถึงขั้นนอนไม่หลับ หรือเจ็บตอนเคี้ยวอาหารได้เนื่องจากเป็นฟันหลัง
- 23-33 เดือน ฟันกรามซี่ที่ 2 ซึ่งเป็นฟันน้ำนมซี่สุดท้ายที่จะขึ้น ด้านหลังสุด บางคนจะไม่รู้สึกเจ็บแล้วเพราะ ชินกับการที่มีฟันขึ้นแล้ว แต่บางคนอาจรู้สึกไม่สบายปากมากขึ้นเป็นสองเท่าได้
ความสำคัญของฟันน้ำนม
ช่วงเวลาตั้งแต่ฟันซี่แรกของลูก จนถึง 6-7 ขวบปีแรก ลูกจะต้องใช้ฟันน้ำนมล้วน ๆ ในการบดเคี้ยวอาหารซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และช่วยในการพัฒนาสมอง แม้ว่าในที่สุดแล้ว ฟันน้ำนมจะต้องหลุดไป และมีฟันแท้ขึ้นมาทดแทน แต่การดูแลรักษาฟันน้ำนมก็เป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะในระหว่างที่ฟันแท้ยังไม่ขึ้น ลูกน้อยก็มีเพียงฟันน้ำนมเท่านั้น ที่จะช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร อีกทั้ง ฟันน้ำนม ยังเป็นการรักษาพื้นที่สำหรับฟันแท้ที่จะขึ้นมาในอนาคต ได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย ทั้งนี้ เราจึงควรจะปลูกฝังเรื่องการแปรงฟัน และดูแลช่องปากให้ลูกตั้งแต่ตอนนี้ด้วย
ฟันน้ำนมของลูกจะขึ้นครบทั้งหมด 20 ซี่ เมื่ออายุราว 2 ขวบครึ่ง และจะอยู่กับลูกไปเป็นระยะเวลานาน จนอายุประมาณ 6-7 ขวบ ฟันแท้ซี่แรก ซึ่งเป็นฟันกรามซี่ในสุดหลังต่อจากฟันน้ำนมซี่สุดท้าย จึงจะเริ่มโผล่ออกมาให้เห็น คุณพ่อคุณแม่จะสามารถสังเกตเห็นว่าฟันซี่ในสุดด้านหลังที่ขึ้นใหม่นี้ จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าฟันน้ำนมอื่น ๆ ในปากทั้งหมด เพราะตำแหน่งนี้ ที่ขึ้นมา คือฟันแท้แล้ว นั่นเอง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะไม่ทราบ คิดว่าซี่นี้เป็นฟันน้ำนม และไม่ได้ดูแลฟันซี่นี้ได้ดีเท่าที่ควร ส่วนฟันน้ำนมซี่อื่น ๆ ก็จะยังคงอยู่ โดยฟันน้ำนมซี่สุดท้าย จะถูกทดแทนด้วยฟันแท้ เมื่อลูกอายุประมาณ 10 – 15 ปี
วิธีสังเกตว่าฟันน้ำนมของลูกใกล้จะขึ้นหรือยัง
คุณแม่สามารถสังเกตได้ว่าฟันน้ำนมของลูกกำลังจะขึ้นแล้วหรือยัง โดยเด็กที่ฟันกำลังจะขึ้น ก็จะมีอาการ หรือพฤติกรรมดังนี้
- เด็กที่ฟันน้ำนมใกล้ขึ้น จะมีน้ำลายเยอะ
- ลูกจะชอบเอามือเข้าปาก
- ลูกอาจงอแง หรือตื่นบ่อย ในเวลากลางคืน
- อาจมีไข้ร่วมด้วย
- สังเกตเห็นสันเหงือกมีสีซีด ๆ จับดูจะรู้สึกว่ามีความนูน ๆ แข็ง ๆ
เมื่อฟันกำลังจะขึ้น ลูกอาจจะมีอาการคันเหงือก ปวดเหงือกได้ คุณแม่สามารถบรรเทาอาการคันเหงือกให้ลูก โดยใช้ยางสำหรับกัดแช่เย็น แล้วเอาให้ลูกกัด หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นที่สะอาดพันนิ้ว เพื่อนวดเหงือกให้ลูก หากลูกปวดเหงือกมาก อาจจะงอแงมากขึ้น ก็สามารถทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้นะครับ
ฟันแท้ซี่แรกของลูก ขึ้นตรงไหน ?
คุณแม่หลายท่าน อาจจะเข้าใจผิดว่าฟันกรามซี่ที่ขึ้นมาบนสันเหงือกด้านในสุด เป็นฟันน้ำนมหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้ว นั่นคือฟันแท้ซี่แรกของลูก และไม่ได้ขึ้นมาทดแทนฟันน้ำนมแต่อย่างใด ฟันกรามแท้ซี่แรกจะขึ้น เมื่ออายุประมาณ 6 – 7 ขวบ ในช่วงนี้ ฟันน้ำนมคู่หน้าก็อาจจะโยก และเตรียมที่จะหลุดออก เพื่อให้ฟันแท้งอกออกมาทดแทน หากคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกอายุ 6 – 7 ขวบ สังเกตเห็นฟันกรามซี่ในสุดมีขนาดใหญ่กว่าฟันซี่อื่น ๆ ขึ้นมาบนเหงือก นั่นก็หมายความว่า ฟันแท้ซี่แรกของลูกกำลังจะงอกออกมาแล้วครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 ยาสีฟันเด็ก ที่ดีที่สุด ปลอดภัยสำหรับลูกน้อยของคุณ
ลูกนอนกัดฟัน ทำอย่างไรดี? ทำไมเด็กต้องเคี้ยวฟันตัวเอง แก้ไขได้อย่างไร?
อาหารที่เด็กกินแล้วเสี่ยงฟันผุ ! คุณแม่ควรพึงระวัง เพื่อไม่ให้เด็กสูญเสียฟัน !