ร้อนนี้ต้องระวัง! 6 โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่พบบ่อย ดูแลป้องกันยังไง?

lead image

หน้าร้อนแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้เท่าทันโรคหน้าร้อนในเด็กนะคะ มีโรคอะไรที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษบ้าง มาดูกัน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่ร้อนอบอ้าวไม่เพียงแต่ทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัว แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ มากขึ้นด้วย เนื่องจากระบบการทำงานของร่างกายลูกยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับมือกับอุณหภูมิที่สูง โรคบางประเภทที่เกิดจากอากาศร้อนและเชื้อโรคจึงมีโอกาสระบาดได้ง่ายขึ้น จนคุณพ่อคุณแม่หลายคนอดกังวลไม่ได้ การดูแลและป้องกันโรคในช่วงฤดูร้อนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม มาดูกันค่ะว่า โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่ควรระวังมีอะไรบ้าง แล้วจะป้องกันและดูแลสุขภาพของลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัยในหน้าร้อนนี้

โรคท้องร่วงเฉียบพลัน

6 โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่ควรระวัง!

จริงๆ โรคหน้าร้อนที่ต้องระมัดระวังสำหรับลูกน้อยนั้นมีอยู่มากมายค่ะ เพียงแต่ขอนำมาเฉพาะ 6 โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่พบบ่อย ดังนี้

  1. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และอาหารเป็นพิษ

โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่พบได้บ่อยแทบทุกครอบครัวคือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน รวมทั้งโรคอาหารเป็นพิษค่ะ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสจากการกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เนื่องจากอาหารมักบูดเสียง่ายในหน้าร้อน กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียน ประกอบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เชื้อโรคเติบโตเร็ว ซึ่งลูกน้อยมักมีภูมิต้านทานต่ำ จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ภาวะอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษสามารถทำให้ลูกขาดน้ำและเกลือแร่ที่จำเป็น จนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำที่อันตรายได้

อาการและวิธีดูแล โรคอุจจาระร่วง
อาการ
  • ปวดท้องแบบปวดเกร็งในท้อง
  • คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ใน 1 วัน
  • ถ้าอาการรุนแรงจะถ่ายเป็นมูกเลือดได้
การดูแล
  • ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำและเกลือแร่
  • รักษาตามอาการ เช่น ยาลดอาการอาเจียนและปวดท้อง แต่ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย
  • หากใน 1 วันอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
การป้องกัน
  • อาหารที่ลูกน้อยกินต้องปรุงสุกใหม่ๆ น้ำดื่มต้องสะอาด
  • ล้างมือให้ลูกบ่อย ๆ ทั้งก่อนกินอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  • ดูแลของใช้ของลูกน้อยให้สะอาดอยู่เสมอ

  1. โรคลมแดด (Heat Stroke)

เนื่องจากในช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิร่างกายของลูกอาจสูงเกินไป จนทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาจหมดสติได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ปรับตัวกับอากาศร้อนได้ไม่ดี ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ อาจเกิดจากการเล่นในที่อุณหภูมิสูงนานๆ โดยไม่ได้ดื่มน้ำหรือพักผ่อนเพียงพอ เมื่ออุณหภูมิรอบตัวสูงขึ้น อุณหภูมิในร่างกายก็สูงขึ้นตาม บางครั้งอาจสูงจนถึง 40 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า จึงส่งผลให้เกิดโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก ได้นั่นเอง

อาการและวิธีดูแล โรคลมแดด
อาการ
  • ชีพจรเต้นเร็ว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน
  • เป็นผื่นแดงๆ ตามร่างกาย
  • ลูกอาจมีอาการกระวนกระวาย เพ้อ และชัก หรือหมดสติได้
การดูแล
  • ควรรีบพาลูกน้อยเข้าในร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  • ถอดเสื้อผ้าและคลายเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นจนเกินไป
  • จับลูกน้อยนอนหงายและเช็ดตัวเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายของลูกลดลงเร็วขึ้น
การป้องกัน
  • ในวันที่อากาศร้อนมาก ควรให้ลูกสวมเสื้อผ้าโปร่งที่ระบายลมได้ดี
  • ให้ลูกดื่มน้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เล่นกลางแจ้ง
  • สวมหมวกให้ลูกเสมอ และเลือกเสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องลูกจากแสงแดดหากต้องออกนอกบ้าน

 

  1. โรคหน้าร้อนในเด็ก ผดร้อน ผื่นแพ้

ผดร้อน ผื่นแพ้ รวมถึงโรคผิวหนังอักเสบ เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ทำให้เกิดผื่นแดง ตุ่มใส และอาการคันตามผิวหนัง ยิ่งในช่วงที่อากาศร้อนชื้น เหงื่อที่ร่างกายขับออกมาเพื่อช่วยระบายความร้อน อาจทำให้ผิวหนังของลูกเกิดการระคายเคืองง่ายขึ้น จนลูกรู้สึกไม่สบายตัวนั่นเอง

ดูแลยังไง เมื่อลูกเป็นผื่นแพ้หน้าร้อน

อาการ
  • คัน
  • มีผื่นเป็นเม็ดแดงๆ เล็กๆ พบได้ทั่วร่างกายบริเวณใบหน้า ซอกคอ หน้าอก หลัง และต้นขา
การดูแล
  • ดูแลให้บริเวณที่เกิดผดผื่นนั้นเย็นและแห้งอยู่เสมอ
  • โรคนี้สามารถหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่หากอาการรุนแรงขึ้น ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยารักษาตามอาการ
การป้องกัน
  • ให้ลูกสวมเสื้อผ้าบางสบาย อย่าให้ผิวหนังอับชื้นจากเหงื่อ
  • หลีกเลี่ยงการทาครีม โลชั่นที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมเจลเพราะจะทำให้รูขุมขนอุตันได้
  • อาบน้ำเย็นๆ ให้ลูกเพื่อช่วยลดความร้อนและป้องกันการเกิดผื่น
Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

  1. โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคระบบทางเดินหายใจ

จริงๆ แล้วโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งพบได้ตลอดปี และพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ค่ะ แต่เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนชื้น การระบายอากาศในพื้นที่อาจไม่ดี ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย ไข้หวัดใหญ่จึงเป็น โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่ทำให้เด็กเจ็บป่วยได้ง่ายกว่า โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือในผู้สูงอายุ หากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรงมากกว่าวัยอื่นๆ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

อาการและวิธีดูแลเมื่อลูกเป็นไข้หวัดใหญ่

อาการ
  • ลูกจะรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว
  • มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวมาก และปวดเบ้าตา
  • มีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส
  • ไอ มีเสมหะ มักไม่ค่อยมีน้ำมูก
  • หากเป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะปอดอักเสบแทรกซ้อนได้
การดูแล
  • กรณีลูกน้อยเป็นเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งมีโอกาสมีอาการรุนแรง ควรได้รับยาต้านไวรัสโดยตรง
  • เด็กโตส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง หากอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลตามอาการได้ เช่น เช็ดตัว กินยาลดไข้ ดื่มน้ำเยอะๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
การป้องกัน
  • ควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงแหล่งแออัดที่จะสัมผัสกับเชื้อโรคผ่านการไอ จาม
  • ลูกน้อยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ปีละ 1 ครั้งเพื่อเป็นการป้องกันโรค
  • ป้องกันการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กที่เหมาะกับช่วงวัย
  • ให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ทั้งนี้ ในส่วนของวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นั้น ลูกน้อยควรได้รับตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เพราะเชื้อจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในแต่ละปี โดยสามารถฉีดช่วงไหนของปีก็ได้ แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์หลังฉีดภูมิต้านทานจึงจะมีประสิทธิภาพดี

  1. โรคตาแดง (Conjunctivitis)

โรคหน้าร้อนในเด็ก อีกหนึ่งประเภทที่พบบ่อยคือ โรคตาแดง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือปริมาณเชื้อราที่เกิดขึ้นจากเหงื่อไคลซึ่งติดอยู่ตามเสื้อผ้าหรือผ้าเช็ดหน้า ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ทำให้ดวงตาของลูกน้อยมีอาการแดง น้ำตาไหล และรู้สึกคัน ร้อน หรือรู้สึกแสบตา โดยเด็กเล็กมักเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคนี้จากการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรคหรือการถูตา

อาการและวิธีดูแลโรคตาแดง

อาการ
  • ดวงตาลูกจะมีขี้ตามาก โดยเฉพาะในช่วงเช้า
  • น้ำจะตาไหล เจ็บตา รู้สึกเคือง หรือแสบตา เกิดตุ่มเล็กๆ ขึ้นบริเวณดวงตา
  • อาจมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา ทำให้ตาดูแดงจัด
  • มักมีอาการไข้หวัดนำมาก่อน เช่น เจ็บคอ มีไข้
การดูแล
  • ไม่ควรซื้อยาทา หรือยาหยอดตาเอง
  • ควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตา ซึ่งอาการจะดีขึ้นและหายไปภายใน 2-4 สัปดาห์
  • พยายามอย่าให้ลูกขยี้ตา และหมั่นล้างมือให้ลูกบ่อยๆ
การป้องกัน
  • สอนให้ลูกล้างมือบ่อยๆ และไม่สัมผัสตาโดยไม่จำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการให้ลูกใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

  1. โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดเชื้อทางระบบประสาท เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies) ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่คน เช่น สุนัข แมว หนู กระต่าย กระรอก ลิง ฯลฯ ผู้ที่ติดเชื้อโรคนี้เกือบทุกรายเสียชีวิต และปัจจุบันยังไม่มียารักษา โดยเชื้อจะแพร่ผ่านการสัมผัสน้ำลายสัตว์ที่การกัดหรือข่วนตรงที่มีบาดแผล เลียตรงบริเวณที่เป็นเยื่อบุ เช่น เยื่อบุตา จมูก หรือปาก ซึ่งในช่วงอากาศร้อนนั้น สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวมักจะหงุดหงิดได้ง่าย จึงมีโอกาสกัดคุณพ่อคุณแม่หรือลูกน้อยได้บ่อย

ทั้งนี้ เชื้อพิษสุนัขบ้ามีระยะฟักตัวนานเป็นสัปดาห์จนถึงหลายปี ดังนั้น อาการอาจแสดงให้เห็นได้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์จนถึงเดือนหรือเป็นปีหลังสัมผัสเชื้อ

อาการโรคพิษสุนัขบ้า ดูแลและป้องกันยังไง?

อาการ จะเริ่มมีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ไม่ค่อยสบายตัว คันหรือเจ็บบริเวณแผลที่ถูกกัด โดยแสดงอาการใน 2 ระบบ ได้แก่
  1. ระบบประสาท คือ มีอาการสับสน กระวนกระวายใจ กลืนลำบาก อยู่ไม่นิ่ง กลัวน้ำ
  2. ระบบหัวใจ จะเริ่มหัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในที่สุด
การดูแล
  • เมื่อลูกถูกสัตว์ ข่วน เลีย กัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำและน้ำสบู่หลายๆ ครั้ง โดยให้น้ำไหลผ่านเป็นเวลานาน
  • ทายาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน-ไอโอดีน (Povidone-iodine) หรือแอลกอฮอล์
  • จดจำลักษณะของสัตว์ เพื่อค้นหาเจ้าของและสอบถามประวัติและความเสี่ยงต่อโรค
  • พาลูกพบแพทย์ทันทีเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด
การป้องกัน
  • ระวังไม่ให้ลูกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกสุนัขหรือสัตว์อื่นๆ กัด
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า
  • กรณีลูกวัยทารก ต้องมีการแบ่งพื้นที่สัตว์เลี้ยงในบ้านอย่างชัดเจน ป้องกันการถูกสัตว์ข่วน เลีย กัด
  • เมื่อลูกโตพอ ควรพูดคุยให้ลูกเข้าใจเรื่องอันตรายจากสัตว์ต่างๆ เช่น
    • ไม่ควรแหย่ ยั่วโมโหให้สัตว์โกรธ
    • ไม่ควรแยกสัตว์ออกจากกัน
    • ไม่หยิบอาหารของสัตว์ขณะที่สัตว์กำลังกินอาหาร
    • ไม่สัมผัสกับสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของหรือสัตว์ตามท้องถนน
  • กำชับลูกว่าหากถูกสัตว์ข่วน เลีย กัดต้องรีบบอกคุณพ่อคุณแม่ทันที

 

โรคหน้าร้อนสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในเด็กเล็ก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ การดูแลสุขภาพและการป้องกันอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจในเรื่องการป้องกันและสังเกตอาการของลูกอยู่เสมอ เพื่อให้ลูกน้อยได้รับการดูแลและมีสุขภาพที่แข็งแรงไปทุกฤดูนะคะ หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ

 

 

ที่มา : www.phyathai.com , www.bangkokhospital.com , www.paolohospital.com , www.phyathai.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

7 วิธี สอนให้ลูกเรียนรู้จากความล้มเหลว พลาดเป็น ลุกขึ้นใหม่ได้

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ ติดแกลม สร้างภูมิคุ้มกันใจในยุคโซเชียล

ลูกกลัวคนแปลกหน้า เมื่อไรที่ต้องกังวล? พ่อแม่รับมืออย่างไรให้ลูกอุ่นใจ

บทความโดย

จันทนา ชัยมี