ข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือ ของลูก กฎแบบไหนให้เสรี และมีความปลอดภัย

lead image

เมื่อถึงวัยที่เหมาะสมที่ลูกจำเป็นต้องใช้มือถือ การทำข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือของลูก จำเป็นต้องเกิดขึ้นค่ะ เพื่อการท่องโซเชียลอย่างมีเสรีภาพ แต่ก็ปลอดภัยด้วย มาดูวิธีการกัน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับทุกคน รวมถึงลูกน้อยของเราด้วย ซึ่งการมอบโทรศัพท์มือถือให้ลูกไม่ใช่เพียงการอำนวยความสะดวก แต่ควรมาพร้อมความรับผิดชอบในการดูแลและสอนให้ลูกใช้งานอย่างเหมาะสม เพื่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม ที่พ่อแม่หลายคนอาจกังวลว่าลูกจะใช้เวลากับหน้าจอมือถือมากเกินไป จนส่งผลเสียได้ในหลายๆ ด้าน ดังนั้น วันนี้จะชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำ ข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือ วางกฎเหล็กให้สมดุลระหว่างเสรีภาพและความปลอดภัยของลูก รับมือกับช่วงปิดเทอมนี้อย่างเหมาะสม ให้ลูกได้ใช้เวลาว่างอย่างมีคุณภาพ และไม่มีพฤติกรรมติดจอค่ะ

ทำไมต้องมี ข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือ

ทำไม? ต้องมี ข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือ

การสร้าง ข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่แค่การห้ามหรือจำกัดการใช้หน้าจอค่ะ แต่คือการสร้างสมดุลชีวิตให้ลูกมีโอกาสที่จะได้เติบโตอย่างสมวัย ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีประโยชน์ มีคุณค่า การจัดการเวลาการใช้โทรศัพท์มือถือเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ลูกมีเวลาในการทำกิจกรรมพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และด้านสังคม จึงเป็นสิ่งสำคัญ

หากลูกมีมือถือโดยไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยการจัดการเวลาที่ดี ไม่มีการเรียนรู้ที่จะใช้หน้าจออย่างเหมาะสม ก็จะเป็นเด็กที่ขาดวินัยในการจัดสรรเวลา ขาดโอกาสทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับครอบครัว ปัญหา “ติดจอ” ก็จะตามมาในที่สุด โดยมีงานวิจัยพบว่า เด็กส่วนใหญ่ที่เก็บโทรศัพท์มือถือไว้ในห้องนอน จะตอบข้อความจนถึงดึก และ 45% ของวัยรุ่นยอมรับว่าส่งข้อความขณะขับรถ รวมถึง 41% เคยส่งหรือรับข้อความเชิงชู้สาว มือถือจึงไม่ใช่เพียงอุปกรณ์ที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ติดต่อกับลูกได้สะดวกขึ้น แต่ยังเป็นช่องทางที่อาจชักนำลูกเข้าสู่พฤติกรรมเสี่ยงได้ด้วย

ดังนั้น ก่อนจะมอบโทรศัพท์มือถือให้ลูก คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมแนวทางเพื่อช่วยให้ลูกใช้งานได้อย่างรับผิดชอบ และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นค่ะ ข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือ จึงเป็นสิ่งที่จะทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

  • เป็นการสร้างความเข้าใจ ช่วยให้ลูกเข้าใจถึงความรับผิดชอบในการใช้งานโทรศัพท์มือถือ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานที่ไม่เหมาะสม
  • เพื่อกำหนดขอบเขต ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดขอบเขตการใช้งานที่เหมาะสมกับวัยของลูก และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น การติดโทรศัพท์มือถือ ติดจอ การเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
  • สร้างความสัมพันธ์ที่ดี การพูดคุยและตกลงร่วมกัน ช่วยสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจภายในครอบครัว

สังเกตอาการ ลูกติดจอ หรือเปล่า? อันตรายมั้ย?

หากลูกน้อยเป็นเด็กที่ “ติดจอ” จะทำให้มีความสนใจกิจกรรมอื่นน้อยลง รวมถึงแยกตัวอยู่คนเดียวมากขึ้น จนพลาดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่รอบตัวและการเข้าสังคมกับผู้อื่น นอกจากนี้ การใช้หน้าจอเป็นเวลานานยังส่งผลต่ออารมณ์ของลูกในแง่ของการควบคุมอารมณ์ มีอารมณ์ร้อนขึ้น และอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวเลียนแบบสารที่ได้รับจากหน้าจอได้ รวมไปถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพสายตา ทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วนอีกด้วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตสัญญาณที่บอกว่าลูกติดจอได้ดังนี้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

สัญญาณที่บอกว่า ลูกกำลังติดจอ

หมกมุ่นกับหน้าจอ  ขาดความสนใจในกิจกรรมอื่น ไม่สนใจทำกิจกรรมที่เคยชอบ เพราะมัวแต่จดจ่อกับหน้าจอ
เก็บตัว  ลูกเลือกเล่นโทรศัพท์มือถือตามลำพัง มากกว่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือเพื่อน เสมือนปลีกตัวจากสังคม
ควบคุมตนเองได้ยากเมื่อไม่ได้ใช้หน้าจอ  เด็กอาจแสดงออกด้วยความกระวนกระวายอยู่ไม่นิ่ง เบื่อง่าย และต้องการสิ่งกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา
ใช้เวลาหน้าจอเกินกำหนด  ใช้เวลาเล่นหน้าจอเกินกำหนดที่สัญญาไว้กับพ่อแม่เสมอ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
โต้ตอบรุนแรง  หงุดหงิดเมื่อถูกจำกัดการมือถือ หากพ่อแม่พยายามจะลดเวลาการใช้ ลูกจะโวยวาย อารมณ์เสีย ร้องไห้ หรือก้าวร้าวอย่างเห็นได้ชัด

 

หากลูกติดจอ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยและทำความเข้าใจกับลูกอย่างใจเย็น ร่วมมือกันจัดตารางกิจวัตรประจำวัน จำกัดการใช้หน้าจอให้เป็นเวลา รวมถึงวางแผนจัดเตรียมกิจกรรมที่จะให้ลูกทำในแต่ละวันไว้ล่วงหน้า และจัดแบ่งเวลามาทำกิจกรรมร่วมกับลูกมากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย ทำอาหาร งานศิลปะ หรือเล่นดนตรี เป็นต้น

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือ ที่ควรจะเป็น

ก่อนทำ ข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือ สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรโฟกัสคือ แม้จะมีความสำคัญต่อการติดต่อสื่อสารยามลูกไกลห่างพ่อแม่ แต่อย่าให้โทรศัพท์มือถือกับลูกเร็วเกินไปค่ะ โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ชะลอการให้สมาร์ทโฟนแก่ลูกให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือจนกว่าลูกจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หรือในช่วงวัยประมาณอายุ 14 ปี เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในการควบคุมพฤติกรรมการใช้งาน รวมถึงความเสี่ยงจากผลกระทบบนโลกออนไลน์ด้วยค่ะ อย่างไรก็ตาม เมื่อให้โทรศัพท์มือถือแก่ลูกแล้ว การกำหนด ข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือ ที่ควรจะเป็นมีดังนี้ค่ะ

 

  1. กำหนดเวลาและสถานที่ในการใช้งาน

ควรให้ลูกสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือได้ในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น หลังการบ้านเสร็จแล้ว หรือช่วงสุดสัปดาห์ที่ไม่มีการเรียน/กิจกรรมอื่นๆ รวมถึงกำหนดสถานที่ที่อนุญาตให้ใช้งาน เช่น ห้องนั่งเล่น หรือห้องนอน (กำหนดเวลาหยุดเล่นก่อนเข้านอน และกำหนดสถานที่เก็บหลังไม่ใช้งานแล้ว) และห้ามใช้งานระหว่างกินข้าว ตอนเข้าห้องน้ำ ขณะทำการบ้าน ระหว่างเดิน ตอนขี่จักรยาน รวมถึงในห้องเรียน เป็นต้น

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  1. ทำสัญญาการใช้โทรศัพท์มือถือ

กำหนดความเป็น “เจ้าของ” ให้ชัดเจน เช่น โทรศัพท์มือถือเครื่องนี้ เป็นความพิเศษที่พ่อแม่มอบให้ลูก ไม่ใช่สิทธิเด็ดขาด จึงไม่ได้หมายความว่าลูกเป็นเจ้าของ พ่อแม่มีสิทธิ์ขอคืนได้ทุกเวลาเมื่อเห็นว่ามีเหตุผลสมควร นอกจากนี้ ควรระบุสิ่งที่เป็นความรับผิดชอบของลูกให้ชัดเจนด้วย เช่น

  • ลูกต้องรับโทรศัพท์ทุกครั้งถ้าพ่อหรือแม่โทร.หา หากมีเหตุจำเป็นที่รับไม่ได้ ให้ส่งข้อความบอกหรือโทร.กลับทันทีเมื่อมีโอกาส
  • ใช้โทรศัพท์ตามกฎเกณฑ์ของสถานที่ที่ไป เช่น โรงเรียน โรงหนัง ห้องสมุด วัด โบสถ์
  • บอกให้พ่อแม่รู้เมื่อมีข้อความ สายโทร.เข้า หรือการติดต่อทางโซเชียลมีเดียจากคนไม่รู้จัก
  • ต้องดูแลรักษาโทรศัพท์ให้ดี ถ้าเสียหาย หรือหล่นหาย เป็นความรับผิดชอบของลูกที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายนั้นๆ
  • พ่อแม่มีสิทธิ์ตรวจสอบโทรศัพท์ได้ทุกเวลาที่คิดว่าสมควร
  • ไม่ส่งข้อความหรือโพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสม อันจะทำให้เกิดความเสียหายกับคนอื่นๆ หรือตัวเอง
  • หากลูกไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกันนี้ พ่อแม่อาจทำโทษด้วยการยึดโทรศัพท์มือถือตามระยะเวลาที่สมควร หรือเก็บคืนได้ในกรณีที่จำเป็น

 

  1. ระบุเนื้อหาที่อนุญาตให้เข้าถึงได้

คุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดแอปพลิเคชันที่ลูกสามารถใช้งานได้ เพื่อป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น เกมที่มีความรุนแรง หรือเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ที่มีเนื้อหาลามก หรือมีสารที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพจิตของลูก นอกจากนี้ ควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในแอปฯ ต่างๆ เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ตั้งใจ โดยอาจใช้ฟีเจอร์ที่ควบคุมโดยผู้ปกครองเพื่อช่วยจำกัดเวลาการใช้แอป บล็อกเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และติดตามการใช้งานของลูก ลดความเสี่ยงจากเนื้อหาที่ไม่ปลอดภัย

  1. สอนให้ลูกใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารอย่างมีสติ

ควรพูดคุยและทำความเข้าใจกับลูกเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างมีสติและปลอดภัย เช่น ไม่แชร์ข้อมูลส่วนตัวกับคนที่ไม่รู้จัก การหลีกเลี่ยงการรับข้อความหรือการโทร.จากเบอร์แปลก รวมไปถึงการระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้สื่อโซเชียล การโพสต์ข้อมูลส่วนตัวในที่สาธารณะ

 

  1. การติดตามพฤติกรรมการใช้งาน

นอกจากการใช้แอปพลิเคชันสำหรับติดตามการใช้งาน การตั้งค่าระบบการแจ้งเตือนเมื่อมีการใช้งานที่ไม่เหมาะสมแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถใช้คำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นให้ลูกสะท้อนถึงประสบการณ์ของตัวเองเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือได้ด้วย เช่น

  • เมื่อกี้ลูกใช้โทรศัพท์มือถือทำอะไรสนุกๆ บ้างจ๊ะ? รู้สึกยังไงบ้าง?
  • มีข้อความในมือถือที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายใจหรือเปล่า?
  • เวลาเห็นโพสต์ของเพื่อนๆ บนโซเชียลมีเดีย ลูกรู้สึกยังไง?

หากพบว่ามีสิ่งผิดปกติ ควรพูดคุยกับลูกอย่างเปิดใจ และตรวจสอบอย่างสมเหตุสมผล จะช่วยให้ลูกตระหนักว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นความรับผิดชอบ ไม่ใช่สิทธิ์ที่ไม่มีขอบเขต

 

  1. พูดคุยและรับฟัง

พ่อแม่ควรพูดคุยเกี่ยวกับอันตรายจากการส่งข้อความที่ไม่เหมาะสม ความเสี่ยงของการใช้โทรศัพท์ขณะเดิน หรือขึ้นลงบันได ทำไมไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างกินอาหาร เป็นต้น จะช่วยให้ลูกเข้าใจว่าทำไมต้องมีกฎเกณฑ์ และต้องรับฟังความคิดเห็นของลูกด้วย ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้ควบคุม แต่กำลังช่วยให้ใช้มือถืออย่างปลอดภัย

 

  1. การสร้างความไว้วางใจ

สิ่งสำคัญที่สุดในการตั้งข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือของลูก คือ การสร้างความไว้วางใจระหว่างพ่อแม่และลูก การพูดคุยและอธิบายเหตุผลที่พ่อแม่กำหนดข้อจำกัดต่างๆ จะช่วยให้ลูกเข้าใจและปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเต็มใจ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

  1. ให้ความรู้เรื่องสื่อลามก

มีงานวิจัยระบุไว้ค่ะว่าอายุเฉลี่ยที่เด็กพบสื่อลามกครั้งแรกอยู่ที่ประมาณ 8 ขวบ และโทรศัพท์มือถือทำให้เข้าถึงเนื้อหาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากสื่อลามก รวมถึงการสร้างทัศนคติที่เหมาะสมเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความเคารพซึ่งกันและกันด้วย

 

  1. เป็นแบบอย่างที่ดี

พฤติกรรมของพ่อแม่มีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมของลูกคค่ะ หากต้องการให้ลูกใช้โทรศัพท์อย่างมีความรับผิดชอบ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดี เช่น ไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ หรือในระหว่างมื้ออาหาร และจำกัดเวลาการใช้งานในเวลากลางคืนของตัวเองให้ลูกเห็นด้วย

 

การตั้งข้อตกลงการใช้โทรศัพท์มือถือของลูก เป็นการสร้างพื้นฐานอันแข็งแกร่งในการใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรมีบทบาทในการกำหนดกรอบการใช้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานอย่างไม่ระมัดระวัง เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเสรีภาพในการใช้งานและการปกป้องความปลอดภัยให้กับลูก ซึ่งจะช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีที่มีความรับผิดชอบและมีสุขภาพจิตที่ดีในระยะยาวได้ค่ะ

 

ที่มา : อ่านหนังสือกับลูก , เข็นเด็กขึ้นภูเขา , www.thairath.co.th

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ลูกกลัวคนแปลกหน้า เมื่อไรที่ต้องกังวล? พ่อแม่รับมืออย่างไรให้ลูกอุ่นใจ

พ่อแม่ที่เป็นแรงบันดาลใจ วิธีเป็นพ่อแม่ต้นแบบ ให้ลูกเติบโตได้อย่างดี

5 วิธีป้องกันลูกตกเป็นเหยื่อ “ความใคร่เด็ก” ภัยร้ายในคราบผู้ใหญ่ใจดี

บทความโดย

จันทนา ชัยมี