ทำได้ไง!? แม่ขายลูกชายฝาแฝด เพียงอยากได้เงินไปซื้อ มือถือใหม่ และใช้หนี้บัตรเครดิต
“ เลือดข้นกว่าน้ำ ที่หมายถึง คนในครอบครัวย่อมสำคัญที่สุด” ประโยคนี้ อาจใช้ไม่ได้ผล กับคุณแม่ชาวจีนรายหนึ่ง ที่ตกลง แม่ขายลูกชายฝาแฝด ให้ผู้อื่น เพียงเพื่อต้องการนำเงินไปซื้อมือถือเครื่องใหม่ และใช้หนี้บัตรเครดิต
แม่ขายลูกแฝด
เรื่องราวน่าหดหู่นี้ เกิดขึ้นที่ประเทศจีนในมณฑลเจ้อเจียง เมื่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวรายหนึ่ง ซึ่งแหล่งข่าวรู้เพียงว่าชื่อ นางหม่า ได้ตัดสินใจรับข้อเสนอมูลค่า 12,600 เหรียญสหรัฐ หรือราวสามแสนบาทไทย แลกกับตัวลูกชายฝาแฝดของเธอทั้งสอง โดยนางหม่าซึ่งอยู่ในวัยเพียง 20 ปี อ้างว่าเธอทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการ ประกอบกับมีหนี้สินท่วมท้น นอกจากนี้พ่อแม่ของเธอยังปฏิเสธที่จะช่วยเหลือเธอและตัดขาดความเป็นพ่อแม่ลูกกัน เนื่องจากไม่พอใจที่นางหม่าได้ตั้งครรภ์แบบไม่พึงประสงค์กับนายวู พ่อของเด็กน้อยฝาแฝดทั้งสอง ที่นางหม่ายอมขายให้กับคู่รักชาวจีนรายหนึ่ง หลังตำรวจสอบสวนจนรู้ตัวผู้ที่รับซื้อเด็กน้อยฝาแฝดจากนางหม่าไป
ภายหลังการสอบสวน ตำรวจได้สืบทราบว่า นางหม่าได้แบ่งเงินส่วนหนึ่งกับนายวู โดยส่วนที่เหลือจากการแบ่ง นางหม่าได้นำไปซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ และได้นำไปใช้หนี้บัตรเครดิตที่ติดค้างอยู่กับธนาคารเป็นมาเป็นเวลานาน โดยการกระทำของนางหม่าถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในข้อหาค้ามนุษย์ และต้องรับโทษสถานหนักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประกาศขายหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่น เสี่ยงกระทำผิดฐานค้ามนุษย์
ครอบครัว ถือเป็นสถาบันพื้นฐานแรกทางสังคมที่สำคัญที่สุดประกอบไปด้วย บิดา มารดาและบุตร มีความสัมพันธ์และความผูกพันทางสายโลหิตระหว่างกัน รวมถึงมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อกันตามกฎหมายกล่าวคือ บิดา มารดา ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ให้ความรักและความอบอุ่นแก่สมาชิกในครอบครัว ซึ่งหน้าที่ในการให้ความรักความอบอุ่นนี้ไม่มีสถาบันใดที่จะทำแทนได้ดีไปกว่าความรักที่เด็ก ได้รับจากบิดา มารดาของตนเอง แต่เนื่องจากในปัจจุบันสภาพการณ์เกี่ยวกับครอบครัวไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากปัจจัยภายในครอบครัวและปัจจัยแวดล้อมในชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลทำให้ครอบครัวจำนวนหนึ่งเป็นครอบครัวที่มีภาวะเบี่ยงเบนสูงที่จะไม่สามารถทำหน้าที่บทบาท ในการดูแล อบรมสั่งสอน เลี้ยงดูเด็กและเยาวชนในครอบครัวของตนได้ดีเท่าที่ควร จึงอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาในสังคมอีกมากมาย
ดังนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงได้บัญญัติให้ความคุ้มครองเด็ก และกำหนดสิทธิหน้าที่ที่บิดา มารดา ผู้ปกครอง ที่พึงต้องปฏิบัติต่อเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตน โดยตาม มาตรา 4 “เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส และตามมาตรา 23 ได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของบิดา มารดา ผู้ปกครองไว้ว่าต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควร แก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น และต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนไม่ให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ ประกอบกับมาตรา 26 ได้บัญญัติห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการ จึงเห็นได้ว่ากรณีที่เคยเป็นกระแสสังคมบนโลกออนไลน์ที่มีหญิงสาวรายหนึ่งอ้างตนว่าเป็นแม่หรือญาติของเด็กโพสต์รูปทารกน้อยลงเฟซบุ๊ก พร้อมระบุข้อความประกาศขาย พร้อมโอนเป็นลูกทันที ให้ผู้สนใจติดต่อทักเข้ามานั้น หรือกรณีที่โพสต์ภาพเด็กทารกลงในกลุ่มคนที่อยากมีลูก พร้อมข้อความประกาศหาคนรับเลี้ยงหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติของเด็ก เนื่องจากอ้างว่าตนเองยังไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูมีปัญหาทางเศรษฐกิจรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดู หรือโพสต์เพราะเกิดความเบื่อรำคาญที่เด็กร้องไห้ จนทำให้เกิดกระแสสังคม วิพากษวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมต่างๆ ว่าขัดต่อวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของครอบครัวสังคมไทยดั้งเดิมที่บิดา มารดา บุตร หลาน ปู่ ย่า ตา ยาย มีความใกล้ชิดผูกพันช่วยเหลือเกื้อกูลกันและมีความรักใคร่สนิทสนมกลมเกลียวกันในครอบครัว การกระทำดังกล่าวนั้นย่อมเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ เพราะถือว่าเป็นการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก ผู้ที่ฝ่าฝืนกระทำการโพสต์ โฆษณา หรือเผยแพร่ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ นั้น ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 78 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ อีกทั้งหากการกระทำดังกล่าวเป็นไปในลักษณะเป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัย หรือรับไว้ซึ่งเด็ก เพื่อ “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” ซึ่งหมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ผู้กระทำก็อาจ สุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ได้ ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ แปดหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือหากการกระทำนั้น ได้กระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบห้าปี ก็ต้องรับโทษหนักขึ้นคือ จำคุกตั้งแต่แปดปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท ตามมาตรา 4 มาตรา 6 (2) และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑
จึงกล่าวได้ว่า ครอบครัวมีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุดเป็นแหล่งที่ให้การเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเบื้องต้น ให้ความรักความเอาใจใส่ ให้ความคุ้มครองปลอดภัยและความมั่นคงทางด้านจิตใจแก่สมาชิก ในครอบครัว ฉะนั้นหากเด็กเติบโตขึ้นมาพอรู้ความและได้ทราบเรื่องจากภาพข่าวที่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของตนได้เคยประกาศขายหรือยกตนเองในตอนที่ยังเป็นทารกให้แก่บุคคลอื่น ย่อมสร้างความน้อยเนื้อต่ำใจและสร้างความสะเทือนใจให้แก่เด็กเป็นอย่างมาก จนอาจทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้นมา เพื่อเรียกร้องความสนใจและกลายเป็นปัญหาสังคมตามมาในภายหลังได้
แม่ขายลูกชายฝาแฝด
ที่มา : asiaone.com และ https://www.m-culture.go.th/surveillance/ewt_news.php?nid=1315&filename=index
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แม่อายุ 22 ปี ถูกจับค้ามนุษย์ หลังโพสต์ขายลูกตัวเองบนเฟซบุ๊ค
มนุษย์แม่ระวัง ถ่าย โพสต์ แชร์ คลิปและรูปลูก อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก
แม่ใจยักษ์ คลอดลูกยัดโถส้วม ห้างดัง เด็กเสียชีวิตสลด ไม่ทันได้ลืมตาดูโลก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!