ในฐานะพ่อแม่ การไปรับไปส่งลูกน้อยที่โรงเรียนเองได้ ถือเป็นความสบายใจสูงสุดว่าลูกน้อยของเราจะถึงโรงเรียนอย่างปลอดภัย แต่สำหรับบางครอบครัวที่ไม่สะดวกในการไปรับไปส่ง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าการฝากลูกไว้กับรถโรงเรียนนั้นปลอดภัยเพียงพอ ท่ามกลางข่าวครูลืมเด็กในรถ ไปจนถึงล่าสุด รถบัสทัศนศึกษาไม่ได้มาตรฐานจนเกิดเหตุสลด ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับ มาตรฐานรถโรงเรียน ควรเป็นแบบไหนจึงจะสามารถดูแลชีวิตน้อยๆ ได้อย่างปลอดภัย
หากกล่าวถึงรถโรงเรียน ภาพแรกที่จะปรากฏในความคิด คือรถบัสขนาดใหญ่ สีเหลืองคาดดำ ที่มีเด็กนั่งอยู่ต็มรถตามเก้าอี้พร้อมเข็มขัดนิรภัย มีพนักงานขับรถคอยเปิด-ปิดประตู มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ในประเทศที่มีการจัดระบบ รถโรงเรียน อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโรงเรียนลดลงและยืนยันได้ว่า การเดินทางด้วยรถโรงเรียนมีความปลอดภัยสูง แต่เรื่องจริงไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย (หรือมีก็เฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่เท่านั้น)
จากกรณีเหตุสลด รถบัสนักเรียนไฟไหม้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 รถบัสได้นำพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษา และได้เกิดอุบัติเหตุ เหตุยางระเบิด และไฟลุกท่วม จนทำให้เด็กนักเรียนและคุณครูติดอยู่ภายในรถและเสียชีวิต เป็นเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดจากความบกพร่องด้านมาตรฐานความปลอดภัยของรถที่นำใช้งาน ซึ่งรถบัสคันดังกล่าวได้ถูกใช้งานมานานกว่า 50 ปี อีกทั้งประตูฉุกเฉินพบว่าไม่สามารถเปิดใช้งานได้
นิยามของรถรับ-ส่งนักเรียน คือ การเดินทางไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย
สำหรับประเทศไทยมีรูปแบบระบบรถรับ-ส่งเด็กนักเรียนอยู่ 2 แบบคือ รถโรงเรียน และ รถรับจ้างรับส่งนักเรียน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเรื่องการบริหารจัดการ
- รถโรงเรียน เป็นรถที่มีทางขึ้นลงด้านข้าง ตัวรถมีสีเหลือง และโรงเรียนเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิใช้รถ กรณีที่มิใช่รถของโรงเรียน ก็ต้องเป็นรถที่เจ้าของรถได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบการขนส่งและนำรถมารับจ้างโรงเรียน เพื่อรับส่งเฉพาะนักเรียนของโรงเรียนที่เป็นผู้ว่าจ้างเท่านั้น
- รถรับจ้างรับส่งนักเรียนหรือรถรับส่งนักเรียน เป็นรถที่บุคคลทั่วไปนำมาใช้รับจ้างเพื่อรับส่งเฉพาะนักเรียนจากบ้านไปโรงเรียนและจากโรงเรียนกลับมาบ้านหรือที่พัก โดยติดต่อรับจ้างผ่านผู้ปกครองของนักเรียนโดยตรง และเก็บค่าจ้างจากผู้ปกครองนักเรียนเป็นรายบุคคลโดยไม่ได้ผ่านทางโรงเรียนหรือให้โรงเรียนจัดการให้ ดังนั้น ลักษณะรถรับจ้างรับส่งนักเรียน จะมีความหลากหลาย ตั้งแต่รถกระบะที่มีหลังคา มีเบาะเป็นรถสองแถวเป็นรถตู้รถหกล้อขนาดใหญ่ ตามแต่จะนำมารับจ้างเพื่อหารายได้
มาตรฐานความปลอดภัยของ รถโรงเรียนรับ-ส่งนักเรียน ที่ต้องมี
รถโรงเรียนตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ.2522
ตามเกณฑ์กรมการขนส่งทางบกได้ระบุไว้ว่า
- อนุญาตให้นำรถที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ทั้งรถสองแถวและรถตู้มาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้ โดยต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด อาทิ ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน
- ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นอย่างมั่นคงแข็งแรง และต้องไม่มีพื้นที่สำหรับนักเรียนยืน รถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก รถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น
- รถต้องผ่านการตรวจสอบจาก สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษา
- รถรับส่งนักเรียนทุกคัน ต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถโรงเรียน” ติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้าย มีไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงเปิดปิดเป็นระยะติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถ เพื่อให้รถคันอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจน
- ต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม ทางประตูทางขึ้นลงหรือเป็นช่องเปิดต้องมีความปลอดภัย
- คนขับต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ มีผู้คนดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง
ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือรถรับ-ส่งนักเรียนจำนวนมากอยู่นอกระบบ เพราะโรงเรียนขาดองค์ความรู้การดูแลบำรุงรักษารถ การบริหารจัดการ กำกับดูแล ในขณะที่คนขับรถและคุณครูผู้ดูแลรับ-ส่งเด็กยังไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยของชีวิตเด็กเท่าที่ควร จึงทำให้มีข่าวสลดเกี่ยวกับรถโรงเรียนบ่อยครั้งเช่น คนขับลืมเด็กไว้ในรถ คุณครูลืมเด็กไว้ในรถ หรือ คนขับขับรถไม่ปลอดภัยจนเกิดอุบัติเหตุ
ปัญหาของรถรับส่งนักเรียน คืออะไร ทำไมต้องเข้ามาจัดการกับความปลอดภัย
จากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน มีอัตราการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมพนักงานขับรถเกือบทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าหน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก จะเข้ามามีส่วนในการจดัการความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียน โดยให้รถรับส่งนักเรียนทำตามมาตรฐานความปลอดภัย อาทิ ต้องผ่านการรับรองจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา และนำรถเข้าตรวจสภาพ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ภายในรถต้องมีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีอุบัติเหตุ เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ที่นั่ง ผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง กรณีเป็นรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น แต่จำนวนตัวเลขรถที่มาขอรับใบอนุญาต มีน้อยมากหากเทียบสัดส่วนรถที่ให้บริการ
นอกจากนี้มาตรการที่ออกมา ให้โรงเรียนทำหน้าที่รับรองรถ ปัญหาคือ โรงเรียนไม่มีอำนาจในการตักเตือนรถรับส่งหากรถไม่มีความปลอดภัย (เพราะเป็นรถส่วนบุคคล)โรงเรียนไม่มีความรู้ว่า รถที่ปลอดภัยเป็นอย่างไร โรงเรียนมีภารกิจมากมายที่ต้องดูแลและหากโรงเรียนหนึ่งมีรถรับส่งนักเรียนจำนวนมากจะดูแลได้อย่างไร
ระบบรถรับส่งนักเรียนให้ปลอดภัย มีจริงหรือไม่ในปัจจุบัน ?
บางปลาม้าโมเดล
ถ้าจะให้พูดถึงระบบมาตรฐานความปลอดภัยของรถโรงเรียน “บางปลาม้าโมเดล” เป็นต้นแบบจุดกำเนิดระบบการจัดการความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนด้วยรถโรงเรียน ถือได้ว่าโมเดลนี้ได้รับความปลอดภัยและมีมาตรฐานยกระดับรถโรงเรียนได้ดีเลยทีเดียว โดยระบบจะมี 3 ขั้นตอน หลักที่สำคัญด้วยกัน คือ
- ขอทำประวัติประจำตัวคนขับรถโรงเรียน
- จัดตั้งคณะกรรมการชมรมรถรับ-ส่งนักเรียนขึ้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ การพิจารณารับบุคคลที่ประสงคจ์ะเข้าร่วมชมรม
- เสนอให้ฝ่ายปกครองออกใบอนุญาตให้ซึ่งรถทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลงเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เช่น ขับไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ห้ามสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า รวมไปถึงการพิจารณาเส้นทางไม่ให้ซ้อนทับกัน
ซึ่งระบบนี้จะมีเจ้าหน้าที่ นักเรียน ประจำรถหรือที่เรียกว่า Hero on street ประเมินคนขับรถและรายงานแก่ฝ่ายปกครองและคณะกรรมการชมรมเพื่อพิจารณาต่ออายุในปีถัดไป ซึ่งโครงการบางปลาม้าโมเดลนี้ ทำให้ผู้ปกครองไว้วางใจและที่สำคัญมีความยั่งยืน เพราะประกาศให้เป็นแผนดำเนินการของโรงเรียนที่ต้องดำเนินการทุกปี และ โรงเรียนบางปลาม้า”สูงสุมารผดุงวิทย์” ได้รับรางวัลสถานศึกษาต้นแบบ รถรับ-ส่งนักเรียนปลอดภัย
“บางปลาม้าโมเดล” 8 เช็กลิสต์ ความปลอดภัย
- ข้อมูลครบ คุณพ่อคุณแม่จะได้รับข้อมูล กำหนดการรับ-ส่ง เป็นลายลักษณ์อักษร ครูต้องได้รับรายงานการ รับ-ส่งจากผู้ขับขี่หรือผู้ที่ดูแลเด็ก
- ระเบียบชัด มีเส้นทางการเดินรถกำหนดเวลาและลำดับการรับ-ส่งแต่ละคนอย่างชัดเจน
- กฏเปิดเผย มีกฏการปฏิบัติงาน เพื่อความปลอดภัยติดไว้ให้เห็นได้ชัดเจนในรถ
- รถพร้อมใช้ ตรวจสภาพรถทุกปี รถไม่เก่าเกินไป ประตู หน้าต่างใช้งานได้ดี และต้องมีป้ายชื่อโรงเรียนระบุชัดเจน
- ขับปลอดภัย ดื่มไม่ขับ ผู้ขับขี่ตั้งใจมองดูเด็กอย่างระมัดระวังว่าได้ลงจากรถดีแล้ว พ้นจากระยะตัวรถแล้วจึงออกรถด้วยความนิ่มนวล
- อบรมเสมอ ผู้ขับต้องผ่านการอบรมขับขี่ปลอดภัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- มีผู้ช่วย ต้องมีผู้ดูแลเด็กประจำรถที่มีอายุมากกว่า 18 ปีอย่างน้อย 1 คน และสามารถดูแลเด็กได้ดี
- รู้วิธีดูแล ผู้ช่วยต้องผ่านการอบรมดูแลเด็กบนรถ และการรับ-ส่งถึงมือคุณพ่อคุณแม่
บางปลาม้าโมเดล
จะเห็นได้ว่า บางปลาม้าโมเดล จะมีการดูแลความปลอดภัยทั้งตัวเด็ก ผู้ขับ และผู้แลเด็ก อย่างใกล้ชิดและมีกฏระเบียบข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามกันทุกคนอย่างเคร่งครัด ทำให้โรงเรียนมีมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้รถโรงเรียน รับ-ส่งนักเรียน ซึ่งน่าสนใจหากจะมีการขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในวงกว้างต่อไป
สุดท้ายนี้ การที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการบริหารจัดการรถโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียนร่วมมือกันใช้กฏหมายหรือออกกฏระเบียบบังคับที่ชัดเจน มีมาตรฐานเหมือนกันทุกโรงเรียน ก็จะช่วยแก้ปัญหาการหลงลืมเด็กไว้ในรถ รวมทั้ง ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุในการเดินทางของเด็กๆ ได้ และคนเป็นพ่อแม่อย่างเราจะได้ไว้วางใจฝากชีวิต ในการส่งลูกไปกับรถโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย
ที่มา : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , ขับขี่ปลอดภัย , ไทยโพสต์ , ศูนยวิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ความในใจ ตูน บอดี้สแลม เมื่อน้องทะเลชักจนหมดสติ ต้องส่งรพ.ด่วน
วิธีเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉิน! รถบัสนักเรียนไฟไหม้
ถนนลื่น! รถตู้รับส่งนักเรียนพลิกคว่ำ เด็ก ป.1 ดับสลด บาดเจ็บนับสิบ!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!