กลายเป็นปัญหายอดฮิตสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกมากกว่า 1 คน กับเรื่องของการทุ่มเทเวลา และความรักดูแลลูกคนใหม่จนทำให้ลูกคนโต หรือลูกคนแรกนั้นรู้สึกน้อยใจ วันนี้เราจึงขอยกประเด็นนี้ขึ้นมา เพื่อแนะนำแนวทางให้เหล่าคุณพ่อคุณแม่รู้ถึง การปรับตัวใน เลี้ยงลูกคนโต ไม่ให้เขารู้สึกขาดความรัก พร้อมกันเลยค่ะ
หลาย ๆ ครั้ง ลูกคนโตบางคนรู้สึกว่าตัวเองโดนลดสถานะจาก “ลูกรัก” กลายเป็น “หมาหัวเน่า” ในบ้านไปทุกคนในบ้าน พร่ำพูดแต่ว่าพี่คนโตต้องอดทน ยอมเสียสละให้น้อง อย่าอิจฉาน้อง ห้ามงอแงเอาแต่ใจ แต่ลืมไปหรือเปล่าว่า จริง ๆ แล้ว เด็กวัยนี้ยังต้องการความรัก และความใส่ใจจากพ่อแม่เหมือนกัน
ซึ่งยิ่งในช่วงเวลาที่ลูกคนโตนั้นกำลังปรับตัวเข้ากับชีวิตครอบครัวที่เปลี่ยนไปปรับตัวเอง กับการมีน้องมาเป็นสมาชิกคนใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ต้องทำให้เขารู้สึกมั่นคงปลอดภัย และรู้สึกว่าตัวเองมีค่า ดังนั้นลองทำตามคำแนะนำข้างล่างนี้ดูนะคะ
เคล็ดลับ! สอนลูกคนโตให้เขารู้สึกไม่ได้ขาดความรักยังไงดี?
การที่เราจะเลี้ยงลูกให้เขารู้สึกว่าเรารักเขา สิ่งนี้ก็อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกตั้งแต่ 2 ขึ้นไป เพราะเราไม่รู้ว่าเราควรเลี้ยงแบบไหนดี เพื่อที่พี่คนโตจะได้ไม่รู้สึกน้อยใจ และเขาก็ยังรู้สึกว่าเรายังรักเขาอยู่ เพราะฉะนั้นเรามาดูเคล็ดลับการเลี้ยงลูกที่น่าสนใจไปพร้อมกันเลยดีกว่าค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ความรุนแรงในครอบครัว เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
1. ขอให้เข้าใจว่าลูกไม่มีประสบการณ์ในการเป็นพี่มาก่อน
เด็กเขาไม่เคยเป็นพี่มาก่อน และ ไม่ได้มีสัญชาตญาณการดูแลเด็กอ่อนสูงเหมือนผู้ใหญ่ ในช่วงเวลาที่ทุกคนเห่อลูกใหม่ ลูกคนโต จะรู้สึกเศร้า ในขณะเดียวกันก็อาจรู้สึกโกรธกลัวว่าพ่อแม่จะไม่รัก และทำให้เกิดความสับสนจากอารมณ์ที่หลากหลายอาจควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นมา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะตำหนิเขา แต่ต้องฉุกคิดขึ้นมาว่าจริง ๆ แล้วลูก กำลังส่งสัญญาณบางอย่างที่บอกกับคุณว่าให้สนใจใส่ใจ และแสดงความรักกับเขามากกว่านี้
2. สนับสนุนให้ลูกพูดความรู้สึกออกมา
ในการเลี้ยงลูกคนโตสำหรับช่วงเวลานี้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกเริ่มเล่นแรง ๆ กับน้องพ่อแม่ควรห้ามลูกอย่างใจเย็นแล้วถามตรง ๆ ถึงการกระทำที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งซัพพอร์ตความรู้สึกลูกในเวลาเดียวกัน เช่น “ลูกไม่พอใจอะไรน้องหรือเปล่าคะ? เล่าให้แม่ฟังได้ไหมมานี่ดีกว่า แม่ชอบให้ลูกนั่งตักแม่” ลองพูดคุยสร้างความเข้าใจ หรือปลอบลูกบ่อย ๆ เช่น “เป็นพี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่แปลกที่รู้สึกแย่ ถ้าหนูรู้สึกโกรธน้อง โกรธพ่อแม่ เศร้า เหงา กลัว หรืออะไรขอให้พูดออกมา พ่อแม่เข้าใจ พ่อแม่รัก และอยู่ข้าง ๆ หนูเสมอนะ” อย่ากลัวว่าพูดแบบนี้แล้วจะไปกระตุ้นให้พี่รู้สึกไม่ดีกับน้อง ยิ่งพ่อแม่เปิดใจรับฟังเด็กก็จะยิ่งเปิดใจยอมรับน้องมากขึ้น
3. ระวังเด็กเก็บกด
ถ้าหากลูกมีพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับ 2 ข้อแรก หรือ นิสัยโดยปกติของลูก เช่น ถ้าอยู่ ๆ ลูกก็กลายเป็นเด็กเฉย ๆ ดูเหมือนไม่เป็นไร เรายิ่งควรกระตุ้น และสนับสนุนให้เขาได้ระบายความรู้สึกออกมา เพราะเด็กอาจเก็บกดความรู้สึกไว้โดยไม่รู้ตัว
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำไมลูกก้าวร้าว ต้นตอของปัญหาความก้าวร้าวในตัวเด็ก มีแบบไหนบ้าง
4. หลีกเลี่ยงคำพูดกดดันลูกคนโต
เป็นไปได้ว่าการที่ลูกนั้น เจอคำว่า “หนูกำลังจะเป็นพี่แล้ว” บ่อย ๆ เขาอาจจะรู้สึกว่าทุกคนคิดถึงแต่น้องไม่สนใจเขาเหมือนเดิม เขาจะดีใจมากกว่าถ้ามีคนเข้าใจเขา แล้วปลอบว่าเขาไม่ผิดอะไรที่จะรู้สึกสับสนกังวล หรือกลัวขึ้นมาได้
5. อย่าตัดสินเด็ก
ถ้าโดนผู้ใหญ่ตำหนิว่าทำตัวแบบนี้ “ไม่น่ารัก” “ใจร้าย” “นิสัยไม่ดี” เลย เด็กจะเก็บไปคิดว่า “ตัวเขามันไม่ดี” มากกว่าจะคิดว่าพฤติกรรมนั้นไม่ดี ยิ่งคนตำหนิเป็นคนที่เขารักและไว้ใจที่สุด เขาจะยิ่งฝังใจว่าตัวเขาแย่มาก ๆ
6. อย่าจู้จี้จุกจิกกับลูกคนโต
เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่อันตรายก็อย่าไปถือสา ไม่ต้องดุพี่ว่าทำไมไปแย่งของเล่นน้อง ตัวน้องน่ะไม่คิดอะไรหรอก เด็กเขาเล่นกันแบบนี้เป็นเรื่องปกติ
7. ปล่อยให้เขาทำตามใจตัวเองบ้าง
ลูกอยากเป็นตัวของตัวเองและต้องการให้พ่อแม่เชื่อใจเขา ครั้งหน้าเวลาลูกอาละวาด ลองปล่อยให้เขาได้ทำอะไรตามใจตัวเองบ้าง เดี๋ยวเขาก็สงบลงเอง หมั่นถามลูกว่าอยากให้พ่อแม่ช่วยอะไรไหม ถ้าเขาปฏิเสธก็ควรเคารพการตัดสินใจของเขา
8. มีช่วงเวลาสองคนแม่ลูกพ่อลูก
แบ่งเวลาอย่างน้อยวันละ 20 นาทีมานั่งพูดคุยกับลูกคนโตอย่างตั้งใจ ไม่คิดหรือทำเรื่องอื่นต่อไป เวลาลูกโกรธให้บอกว่า “แม่รู้ว่าหนูไม่ชอบใจตอนแม่ให้นมน้อง หนูคงทำใจลำบาก ไม่เป็นไรนะ แม่รอให้ถึงเวลาของเราหลังน้องหลับไปแล้ว ลองคิดดูนะจ๊ะว่าคืนนี้ลูกอยากทำอะไร”
บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกเลือกของด้วยตัวเอง สิ่งนี้ฝึกอะไรให้กับลูก!
9. ปล่อยให้น้องเล็กเล่นคนเดียวบ้าง
จัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยให้น้องเล่นคนเดียว พ่อแม่จะได้มีเวลาให้ลูกคนโตเพิ่มขึ้น แต่ควรบอกกฎให้ลูกรู้ด้วย เพราะเด็กอาจอยากไปแหย่น้องเพื่อลองใจพ่อแม่
10. บอกข้อควรทำ/ไม่ควรทำ อย่างใจเย็น
ลูกคนโตยังอยากให้พ่อแม่กำหนดมาชัด ๆ เช่น เตือนว่า “แม่ไม่อยากหนูให้จับน้องตอนหนูอารมณ์ไม่ดี” หรือเสนอทางเลือก “จะนั่งเงียบ ๆ ข้าง ๆ แม่ตรงนี้ หรือจะไปเล่นห้องนู้นก็ได้” ในเวลาลูกทำตัวไม่น่ารัก เขาอยากให้พ่อแม่เข้ามาเบรกเขาก่อน พูดดี ๆ ใจเย็น ๆ อดทน และ เห็นใจเขา ไม่ใช่มาถึงก็ระเบิดอารมณ์ใส่เลย
แนวทาง เลี้ยงลูกคนโต ไม่ให้เขารู้สึกขาดความรัก เหล่านี้ก็ยังคงเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ สำหรับในการเลี้ยงลูกคนโตไม่ให้เขารู้สึกขาดความรักซึ่งสำหรับแต่ละครอบครัวนั้น อาจต้องหยิบแต่ละวิธีไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของครอบครัวอีกที หวังว่าบทความเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับทุกครอบครัวที่กำลังจะมีสมาชิกใหม่เพิ่มนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เลี้ยงลูกกับสัตว์เลี้ยง ต้องทำอะไรบ้าง? เลี้ยงลูกพร้อมสัตว์เลี้ยงได้จริงหรือ?
Test 10 เคล็ด(ไม่) ลับ เลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ และเป็นคนดี
ที่มา : thairath, amarinbabyandkids