จะไปฝากครรภ์ได้ตอนไหนบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร ไม่ฝากครรภ์จะคลอดได้หรือไม่ ทุกคำถามเกี่ยวกับการฝากครรภ์ครั้งแรก กังวลใจในเรื่องไหน ให้เราช่วยหาคำตอบให้เอง
9 คำตอบของ ทุกคำถามเกี่ยวกับการฝากครรภ์ครั้งแรก
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์กำลังจะออกเดินไปฝากครรภ์ อาจมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการฝากครรภ์ที่คาใจอยู่ ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะวันนี้เราได้รวม 9 คำถามยอดฮิตที่คุณแม่ฝากครรภ์ครั้งแรกอาจสงสัยมาก ระหว่างเดินทาง หรือก่อนตัดสินใจไปฝากครรภ์สามารถอ่านบทความนี้ได้ก่อนเลย
1. ควรเริ่มฝากครรภ์เมื่ออายุครรภ์เท่าไหร่ ?
สิ่งที่คุณแม่ต้องคำนึงถึง คือ ยิ่งฝากครรภ์เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพื่อรับการดูแลจากแพทย์ โดยปกติแล้วคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แล้วมาฝาก เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะต่าง ๆ โดยที่ไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด, โรคโลหิตจาง, การตกเลือดก่อนคลอด ไปจนถึงความเสี่ยงในการแท้งบุตร เป็นต้น หากเลยเวลาไปแล้ว มีอายุครรภ์นานกว่า 12 สัปดาห์ไปแล้วแต่ยังไม่ได้ฝากครรภ์ ไม่ได้หมายความว่าจะฝากครรภ์ไม่ได้ ควรรีบไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด และแจ้งกับแพทย์ด้วยว่าตนเองฝากครรภ์ช้า เพื่อให้แพทย์จัดการเรื่องการตรวจครรภ์ต่าง ๆ ต่อไป ห้ามคุณแม่ไม่ไปฝากครรภ์เด็ดขาด
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฝากครรภ์ที่ไหนดี 2566 ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร ?
วิดีโอจาก : โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์
2. สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนไปฝากครรภ์
เตรียมเอกสารที่สำคัญติดตัวไปด้วยเสมอ เช่น บัตรประจำตัวประชาชนทั้งของคุณพ่อ และคุณแม่ รวมไปถึงเตรียมข้อมูลทั่วไปที่สำคัญต่อการวินิจฉัยของแพทย์ เช่น ประวัติในการเจ็บป่วย, ประวัติการแพ้ยา, มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ โดยเฉพาะอาการ หรือความผิดปกติของการตั้งครรภ์ครั้งก่อน (กรณีเคยตั้งครรภ์มาก่อน) รวมไปถึงโรคประจำตัวด้วย เป็นต้น หากเตรียมข้อมูลเหล่านี้ไปครบถ้วน จะทำให้ง่ายต่อแพทย์ในการสอบถามข้อมูล ทำให้ประหยัดเวลาได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
3. ไปฝากครรภ์ตอนบ่ายได้ไหม ?
เมื่อต้องเดินทางไปฝากครรภ์ครั้งแรก ไม่สำคัญว่าจะเป็นตอนเช้า หรือตอนบ่าย คุณแม่ไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาที่จะเข้าโรงพยาบาลไปฝากครรภ์ สิ่งเดียวที่คุณแม่ควรคำนึง คือ ไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดเมื่อรู้ตัวว่าตนเองตั้งครรภ์ เนื่องจากยิ่งฝากครรภ์เร็วเท่าไหร่จะยิ่งดีต่อการดูแลครรภ์ แพทย์จะทำการตรวจความสมบูรณ์ของครรภ์อย่างสม่ำเสมอ ยิ่งเพิ่มความปลอดภัยต่อครรภ์มากขึ้น หากพบความผิดปกติใด ๆ จะได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดนั่นเอง
4. ไปฝากครรภ์กินข้าวได้ไหม ?
โดยปกติแล้วก่อนไปฝากครรภ์สามารถทานข้าวได้ตามปกติ เว้นเสียแต่มีข้อกำหนดบางอย่างของทางโรงพยาบาล คุณแม่จึงควรสอบถามกับทางโรงพยาบาลก่อนด้วย การเข้าไปฝากครรภ์โดยส่วนมาก จะไม่ได้มีข้อกำหนด หรือข้อบังคับมากมาย เพราะเมื่อไปถึงขั้นตอนก็จะคล้าย ๆ กันในแต่ละที เช่น การซักประวัติที่จำเป็น, รับการตรวจเลือด หรือตรวจปัสสาวะ เป็นต้น
5. ต้องไปพบแพทย์บ่อยหรือไม่ ?
หลังจากฝากครรภ์ไปแล้ว คุณแม่ยังต้องมาตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดเสมอ และควรที่จะมาให้ครบทุกครั้ง โดยปกติแล้วจะได้รับการตรวจตลอด 3 ไตรมาสไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง โดยแบ่งความถี่ตามปกติทั่วไป ดังนี้
- ช่วง 7 เดือนแรก แพทย์อาจนัดให้มาตรวจประจำเดือนละ 1 ครั้ง
- เมื่อเข้าเดือนที่ 8 แพทย์อาจนัดมาตรวนถี่ขึ้น ทุก ๆ 2 – 3 สัปดาห์
- เมื่อเข้าเดือนสุดท้าย คือ เดือนที่ 9 อาจต้องรับการตรวจสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
6. ควรเลือกฝากครรภ์ที่ไหนดี ?
ปัญหาที่หลายบ้านอาจต้องเจอ คือ ไม่รู้ว่าตนเองควรเลือกพากันไปฝากครรภ์ที่ไหนดี จะไปคลินิก หรือโรงพยาบาล เมื่อไปเขตไหน ย่านไหนดี เรื่องสถานพยาบาลที่ควรเลือกนั้น ควรให้ความสำคัญกับระยะทาง ประกอบกับคุณภาพความมั่นใจ คือ ควรเป็นสถานพยาบาลที่ใกล้กับที่พักอาศัยมากที่สุด ง่ายต่อการเดินทาง ใช้เวลาในการเดินทางไม่นาน ประกอบกับดูข้อมูลว่าสถานพยาบาลนั้น ๆ มีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหนด้วย หากตรวจสอบแล้วว่าใกล้บ้าน และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ไว้ใจได้ คุณแม่อย่ารอเวลา รีบออกไปฝากครรภ์ได้เลย
คุณแม่บางคนอาจเลือกไปฝากครรภ์กับคลินิก ซึ่งทำให้เป็นกังวลว่าจะต้องไปคลอดที่คลินิกหรือไม่ โดยปกติแล้วแพทย์ที่รับฝากครรภ์ในคลินิกนั้น ๆ จะให้คุณแม่เลือกได้เองเสมอว่าต้องการคลอดที่โรงพยาบาลไหน ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ต้องเป็นกังวลไป
7. ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องตรวจอะไรบ้าง ?
ในการตรวจร่างกาย และตรวจโรคต่าง ๆ นั้น โดยมากจะเน้นไปที่การตรวจแบบพื้นฐาน ประกอบกับตรวจโรคติดเชื้อที่อาจมีผลกระทบกับการตั้งครรภ์ ไปจนถึงการตรวจเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ โดยมากจะมีการตรวจภาพรวม ดังนี้
- ตรวจร่างกายเบื้องต้นโดยแพทย์
- ตรวจหาภาวะเลือดจาง และหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมัน
- ทำการตรวจเลือด, ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส
- ตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อ HIV
- ตรวจปัสสาวะ, อัลตราซาวนด์ เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตามขั้นตอน รายการ และรูปแบบการตรวจ ต้องขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลที่คุณแม่เลือกที่จะไปฝากครรภ์ด้วยว่ามีอะไรบ้าง ทำอย่างไรบ้าง เพื่อข้อมูลที่ชัดเจน และถูกต้อง คุณแม่ควรสอบถามโดยตรงไปทางสถานพยาบาลที่ต้องการฝากครรภ์ด้วยเช่นกัน
8. ต้องให้สามีไปด้วยไหม ?
เมื่อต้องเดินทางไปฝากครรภ์จะให้สามีไปด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ทางเราแนะนำว่าควรให้สามีไปด้วยมากกว่าที่จะไม่ไป เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์นั้น คุณแม่ควรมีคนคอยดูแล และช่วยจัดการเรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงหากตรวจพบโรคบางโรค แพทย์อาจจำเป็นต้องขอตรวจคุณพ่อด้วยนั่นเอง
9. ไม่ได้ฝากครรภ์สามารถเข้าไปคลอดได้ตามปกติไหม ?
คุณแม่ยังสามารถคลอดที่โรงพยาบาลได้ตามปกติ ไม่ใช่แค่ต้องฝากครรภ์เท่านั้นถึงจะมีสิทธิคลอดที่โรงพยาบาล แต่เราไม่แนะนำหากไม่ฝากครรภ์ เพราะหากคุณแม่ไม่ทำการฝากครรภ์ จะทำให้ไม่สามารถคาดการณ์เวลาในการคลอดได้ ส่งผลให้มีความเสี่ยงว่าเมื่อมีอาการคลอด คุณแม่อาจไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่เตรียมพร้อม กลับกันการเข้ารับการฝากครรภ์แพทย์จะสามารถคาดเวลาที่คุณแม่จะคลอดได้ ทำให้สามารถรับมือ และเตรียมตัวได้อย่างมีคุณภาพ
คำตอบที่เราตอบให้นั้น เป็นคำตอบเบื้องต้นของคำถามทั่วไปเท่านั้น บางอย่างอาจแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลนั้น ๆ ดังนั้นหากยังสงสัยเพิ่มเติม หรือกังวลในเรื่องใดเป็นพิเศษ ต้องการได้คำตอบ คุณแม่เข้าสอบถามกับสถานพยาบาลนั้น ๆ เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำได้เลย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ฝากครรภ์พิเศษ ต่างจาก ฝากครรภ์ธรรมดาอย่างไร ฝากครรภ์ต้องตรวจอะไรบ้าง
เลือกโรงพยาบาลก่อนฝากครรภ์ ต้องเลือกอย่างไร ? ฝากครรภ์ที่ไหนดี ?
ไปฝากครรภ์คนเดียว ได้ไหม? ไม่มีคนไปด้วย ไปคนเดียวเขาจะยอมรึเปล่า ?
ที่มา : โรงพยาบาลนครธน, โรงพยาบาลจุฬารัตน์3