คนท้องอารมณ์อ่อนไหว ห้ามขัดใจแม่! คำขาดของแม่ท้อง พ่อรู้ไว้นะ คนท้องอารมณ์อ่อนไหวเรื่องธรรมดา อย่าหาว่าเห็นแก่ตัวเลย มันเป็นอารมณ์ของคนตั้งครรภ์ คนท้องอารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้บ่อย พอคลอดลูกแล้ว สักพักก็ดีขึ้นเอง
คนท้องอารมณ์อ่อนไหว
หลากอารมณ์ที่เกิดขึ้นในตอนท้อง ทำให้ คนท้องอารมณ์อ่อนไหวไม่ยอมให้ใครมาขัดใจ ยิ่งในช่วงไตรมาสแรกที่มีอาการแพ้ท้องด้วยแล้ว คุณเอ๋ย… อยากกินโน่นกินนี่ไปหมด อยากกินอะไรก็สั่งให้สามีไปหามาให้กินให้ได้ อยากให้สามีตามใจทุกสิ่งทุกอย่าง
เดี๋ยวก็หงุดหงิด เดี๋ยวก็น้อยใจ อารมณ์เสีย อารมณ์ที่กำลังขึ้น ๆ ลง ๆ ในตอนท้องอยู่นี้ที่อาจจะไปกระทบถึงคนใกล้ตัวที่ดูแลด้วย เป็นเพราะฮอร์โมนของร่างกายตอนท้องที่เพิ่มระดับขึ้นมากกว่าตอนปกติ จนทำให้บางครั้งคุณแม่ก็ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ฮอร์โมนที่ว่านี้คือฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งใน 1 วันร่างกายของคุณแม่ท้องจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้มากกว่าปริมาณฮอร์โมนตอนปกติที่ต้องใช้เวลาผลิตถึง 3 ปี!!
บทความที่เกี่ยวข้อง : รู้หรือไม่? ข้าวกล้อง คนท้องกินแล้วอารมณ์ดี ลดการแปรปรวนของฮอร์โมนได้
เอสโตรเจนฮอร์โมนนั้น ส่งผลอารมณ์ของคุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไตรมาสแรกกันเลย ทำให้คุณแม่เปลี่ยนไปเป็นคนละคน กลายเป็นคนขี้น้อยใจ เอาแต่ใจตัวเอง แอบเห็นแก่ตัวโดยไม่รู้ตัว อ่อนไหว ไร้เหตุผล ฯลฯ รวมถึงความกังวลเรื่องตั้งครรภ์ จนทำให้คุณแม่เครียดได้ง่าย และเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาของคุณแม่เพียงคนเดียวนะคะ คนรอบข้างต้องพยายามทำความเข้าใจ เอาใจคนท้องในช่วงนี้กันหน่อย เพราะอารมณ์ของคุณแม่เป็นอย่างไร ก็จะส่งผลถึงเจ้าตัวน้อยในครรภ์ด้วย
ผลกระทบจากอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง
ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องอาหารการกิน แต่อารมณ์ของแม่ท้องที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลไปยังเจ้าตัวน้อยในครรภ์ด้วย หากคุณแม่มีความเครียด ทารกในครรภ์ก็เครียดได้ด้วย และยิ่งมีความกังวลมากในช่วงตั้งครรภ์ จนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง เมื่อจิตใจอ่อนแอก็พาลทำให้ร่างกายเจ็บป่วยลงได้ ไม่แข็งแรง รู้สึกคลื่นไส้ ปวดหัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดตีบลง ยิ่งเครียดมากก็ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเจ็บท้องก่อนกำหนด ลูกมีความเสี่ยงต่าง ๆ ตามมา เช่น น้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกคลอด หรือต้องคลอดก่อนกำหนด มีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ไม่ค่อยดี กลายเป็นเด็กเลี้ยงยาก งอแง ขี้โมโหง่าย ร้องไห้เก่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามอารมณ์ของคุณแม่ที่เกิดขึ้นตอนท้องนั่นเอง
ลูกในท้องสามารถรับรู้อารมณ์เหล่านี้ของคุณแม่ได้จากสารเคมีที่แม่หลั่งออกมาในกระแสเลือด ดังนั้นหากคุณแม่ท้องแม้จะมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่พยายามที่จะดูแลจิตใจตัวเอง ทำให้ตัวเองอารมณ์ดี ลูกก็จะได้รับสารเอ็นดอร์ฟินหรือสารแห่งความสุขที่หลั่งออกมา ช่วยทำให้ลูกเติบโต มีพัฒนาการที่ดี เป็นเด็กที่อารมณ์ดี เลี้ยงง่าย
บทความที่เกี่ยวข้อง : เที่ยวนอกบ้าน “ทารกเครียด” ได้นะ เดินทางกับทารกยังไง ให้ไร้ความเครียด
วิธีช่วยกันดูแลอารมณ์ตอนท้อง
นอกจากคุณพ่อไม่พยายามจะขัดใจคุณแม่ท้องแล้ว ยังต้องเป็นกำลังใจสำคัญที่คอยให้กำลังใจ และคอยปลอบประโลมเมื่อเจอกับภาวะอารมณ์ที่อ่อนไหวของคุณแม่ รวมถึงคุณแม่เองก็ต้องยอมรับและเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงของทั้งร่างกายและอารมณ์ หาวิธีผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนังสนุก ๆ หากิจกรรมโปรดทำ หรือไปออกกำลังกาย เพื่อช่วยลดความเครียดหรืออารมณ์หงุดหงิดทั้งหลายลง เพื่อดีต่อสุขภาพกายและจิตใจของตัวคุณแม่และลูกในท้องนะคะ
วิธีลดความเครียดของแม่ท้อง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และครบ 3 มื้อ (รับประทานอาหารว่างเพิ่มอีก 3 มื้อก็ได้นะคะ)
- ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
- ลองพูดคุย หรือระบายความในใจ หรือความเครียด กับสามี กับเพื่อนฝูงที่สนิทสนม หรือกับคุณพ่อคุณแม่
- ลดการทำงานลงบ้าง
- ทำกิจวัตรประจำวันหรือสิ่งที่คุณแม่ชอบ อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที
- พักผ่อนมาก ๆ การนอนหลับช่วงกลางวันจะช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น
- หาเวลานั่งสมาธิก่อนนอนหรือ ตอนเช้า
- ฝึกจินตนาการ แต่เรื่องที่ดีหรือทำให้เรามี
- หาความรู้ถึงอาการที่พบบ่อยระหว่างการตั้งครรภ์และวิธีการแก้ไข
- ฝึกโยคะสำหรับแม่ท้อง เพื่อคลายเครียด
- หลีกเลี่ยงการพึ่งสารเสพติด เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือยาระงับประสาท
- หาโอกาสอบรมการตั้งครรภ์คุณภาพ เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอดและการดูแลบุตรหลังคลอด
คุณแม่น่าจะเคยได้ยินคำว่า สภาพจิตใจส่งผลต่อร่างกาย กันใช่ไหมคะ ฉะนั้น การห้ามให้คุณแม่ “อย่าเครียด” ดูจะเป็นคำพูดที่ง่ายเกินไป ซึ่งไม่สามารถทำได้ภายใน 1 นาทีแน่นอน ดังนั้น คุณแม่ต้องค่อย ๆ ปรับตัวเองจากชีวิตประจำวัน เริ่มจากการตื่นนอน สูดหายใจลึก ๆ มองไปนอกหน้าต่างไกล ๆ เริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยอาหารอร่อย ๆ วางแผนในชีวิตประจำวันว่า วันนี้อยากทำอะไรบ้าง แล้วอย่าลืมทำตาม 13 วิธีง่าย ๆ แม้จะทำไม่ครบทุกข้อในวันเดียว ให้แบ่งกิจกรรมทำในแต่ละวัน แต่อย่าลืมว่า เรื่องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์คือ สิ่งที่สำคัญที่สุด
อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด
อารมณ์คนท้อง รับมือยังไง? ซึมเศร้าหลังคลอด ต้องอดทนอีกนานแค่ไหน?
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องเครียดอันตราย เสี่ยงแท้งไหม? มาดูวิธีคลายเครียดของแม่ท้องกัน
คุณแม่เครียด เพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะทารกตายคลอดระหว่างตั้งครรภ์
ท้องแล้วขี้น้อยใจ อารมณ์อ่อนไหว เหวี่ยงวีนบ่อย ๆ เป็นเพราะอะไร แม่ต้องทำยังไง
ที่มา : siam-healthy