อาการแพ้ท้องเป็นอาการที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ช่วง 1-3 เดือนแรก ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็ว แม้ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนมักสงสัยว่าอาการ แพ้ท้อง อ้วก จะหายไปเมื่อไหร่ เพราะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีรับมือกับอาการแพ้ท้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้คุณแม่ท้องรู้สึกสบายขึ้นและมีสุขภาพที่ดีตลอดการตั้งครรภ์
แพ้ท้อง อ้วก อาการเริ่มแรกของคุณแม่ตั้งครรภ์
“แพ้ท้อง หรือ Morning sickness” เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยมักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เบื่ออาหาร และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หรือไวต่อกลิ่นบางชนิด สาเหตุของอาการ แพ้ท้อง อ้วก ยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้องมักจะดีขึ้นเอง ในช่วงกลางหรือปลายไตรมาสที่ 2 แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงและต่อเนื่องตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งเรียกว่า Hyperemesis gravidarum อาการรุนแรงนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งแม่และลูกได้
อาการแพ้ท้องเป็นอย่างไร ?
อาการ แพ้ท้อง อ้วก เป็นเรื่องปกติที่พบได้สำหรับแม่ท้อง โดยมักจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน พะอึดพะอม แสบลิ้นปี่ และ รู้สึกไม่สบายท้อง อาการเหล่านี้มักจะรุนแรงมากในช่วงเช้าหลังตื่นนอน (เรียกว่า Morning sickness) แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะตอนท้องว่าง นอกจากนี้ คุณแม่บางท่านอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เวียนหัว เบื่ออาหาร หรือ ไวต่อกลิ่น ซึ่งอาการเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยอาการแพ้ท้องหลักๆ จะมีดังนี้
-
รู้สึกไวต่อกลิ่น
เกิดจากการที่ระบบประสาทส่วนกลางมีความไวต่อการรับรู้มากขึ้นค่ะ ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์อาจรู้สึกไวต่อกลิ่นต่างๆ มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลิ่นที่แรงหรือไม่คุ้นเคย เช่น กลิ่นอาหารบางชนิด กลิ่นน้ำหอม บางครั้งกลิ่นที่คุณแม่เคยชอบ ก็จะรู้สึกไม่ชอบขึ้นมาได้ อาการเหล่านี้ยังอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ได้อีก
-
คลื่นไส้อาเจียน
อาการคลื่นไส้ เป็นอาการที่พบได้บ่อย ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว อึดอัดท้องและหน้าอก จนบางครั้งอาจต้องอาเจียนออกมา อาการอาเจียนซ้ำๆ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยล้าได้ง่าย นอกจากนี้ กลิ่นต่างๆ รอบตัวก็อาจกระตุ้นให้อาการคลื่นไส้รุนแรงขึ้น ทำให้คุณแม่หลายคน เบื่ออาหาร และไม่อยากกินอะไรเลย
-
ปวดแสบลิ้นปี่
อาการแพ้ท้อง ที่มาพร้อมกับอาการ อาเจียนบ่อยๆ นั้น อาจทำให้คุณแม่รู้สึก แสบบริเวณลิ้นปี่ ได้เช่นกันค่ะ สาเหตุหลักมาจาก น้ำย่อย ที่ถูกอาเจียนออกมา ทำให้หลอดอาหาร ระคายเคืองและเกิดการอักเสบ ส่งผลให้รู้สึก ขมในปาก เจ็บกลางอก และอาจลามไปถึง คอ จนทำให้ ไอเรื้อรัง ได้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ในระหว่างตั้งครรภ์ก็มีส่วนสำคัญ ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารทำงานผิดปกติ ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาได้ง่ายขึ้น และยิ่งทำให้รู้สึกแสบบริเวณลิ้นปี่มากยิ่งขึ้นค่ะ
-
อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
อาการรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อยากนอนตลอดเวลา เป็นอาการที่พบได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ สาเหตุหลักมาจาก ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น ซึ่งมีผลคล้ายยากล่อมประสาท ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและอยากพักผ่อนมากขึ้น นอกจากนี้ อาการแพ้ท้อง พักผ่อนน้อย นอนไม่หลับ ตื่นปัสสาวะบ่อย ก็ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียได้ง่ายค่ะ การพักผ่อนให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกสดชื่นและมีพลังงานมากขึ้นค่ะ
-
อารมณ์แปรปรวน
การตั้งครรภ์ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกไวต่อการกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้นค่ะ ผลที่ตามมาคือ อารมณ์อาจแปรปรวนได้ง่าย บางทีก็ รู้สึกหงุดหงิด โมโห ดีใจ บางทีก็รู้สึกเศร้า หรือวิตกกังวลใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนค่ะ อารมณ์ของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป
-
การกินเปลี่ยนไป
ในช่วงตั้งครรภ์ หลายคนมักจะมีความอยากอาหารที่แปลกไปจากเดิม บางครั้งอาจอยากกินอาหารรสเปรี้ยวๆ อย่าง มะม่วง มะกอก หรือมะดัน หรือบางทีก็อาจเบื่ออาหารที่เคยชอบ และอยากกินอาหารที่ไม่เคยชอบมาก่อนก็เป็นได้ นอกจากนี้คุณแม่บางคนอาจรู้สึก ขมปาก หรือ เบื่ออาหาร จนไม่อยากกินอะไรเลย ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ประสาทสัมผัสด้านรสชาติเปลี่ยนไป
-
ปัสสาวะบ่อย
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายมีการไหลเวียนโลหิตเพิ่มขึ้น และไตก็ทำงานหนักขึ้น เพื่อขับของเสียออกจากร่างกายมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะมีปริมาณน้ำปัสสาวะมากขึ้น และทำให้คุณแม่รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำบ่อยๆ
แพ้ท้อง อ้วกเป็นเลือด อ้วกเป็นฟอง อันตรายไหม ?
-
- อาการอ้วกเป็นเลือด เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการมีเลือดออกส่วนใดส่วนหนึ่งภายในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นอย่างหลอดอาหาร ช่องท้อง หรือลำไส้เล็กส่วนต้น มีสาเหตุมาจากมีแผลในกระเพาะอาหารหรือโรคกระเพาะอาหารขั้นรุนแรง เป็นโรคกรดไหลย้อนแบบรุนแรง เป็นต้น
- อาการอ้วกเป็นฟอง (คือมีอากาศปน) สาเหตุเบื้องต้นอาจเกิดจากความผิดปกติในช่องท้อง เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร อาหารเป็นพิษ กระเพาะอาหารมีการอักเสบ รวมถึงมีแก๊สในทางเดินอาหารมาก เป็นต้น หรือจากความผิดปกตินอกช่องท้อง ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ปวดศีรษะไมเกรน รวมถึงการตั้งครรภ์ ความเครียด โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล อีกด้วย
อาการ แพ้ท้อง อ้วก ของแม่ตั้งครรภ์ โดยทั่วไปแล้วมักพบว่าเป็นการแพ้ท้องในระดับที่ไม่รุนแรงมาก จะมีอาการคลื่นไส้หรือพะอืดพะอม วิงเวียนศีรษะ มักกินอะไรไม่ค่อยได้หรือกินอาหารไม่ได้เป็นช่วง ๆ และการที่มีอาการอาเจียนบ่อยๆ อาจทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณหลอดอาหารฉีกขาด และมีเลือดปนออกมาได้ รวมถึงอาการอาเจียนที่มีฟองออกมาด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณแม่สามารถกินยาแก้อาเจียนที่แพทย์สั่งสำหรับแม่ท้องได้ และควรดื่มน้ำเปล่าครั้งละน้อยแต่บ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำจากการอาเจียน อาจงดกินอาหารไปก่อน ปรับเรื่องการกินและการพักผ่อน อาการก็อาจจะดีขึ้นได้
แต่หากมีอาการแพ้ท้องรุนแรง คือมีอาการอาเจียนซ้ำๆ บ่อยๆ ไม่สามารถกินอะไรได้เลย อาเจียนเป็นเลือดออกหรืออาเจียนเป็นฟองทุกครั้ง ร่างกายขาดน้ำ อ่อนเพลียมาก รู้สึกวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลมเมื่อยืนขึ้น ปัสสาวะเป็นสีเข้ม ปัสสาวะน้อยหรือไม่มีปัสสาวะ หัวใจเต้นแรงผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการทันที
เคล็ดลับ รับมือ บรรเทาอาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องของแม่ท้องและมีอาการต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประจำวันได้มาก แต่ไม่ต้องกังวล วันนี้มีวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องเหล่านี้ได้
-
อาหารการกิน
การกินอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง ลองดื่มน้ำสมุนไพรเพิ่มความสดชื่น เช่น ชา ขิง หรือ น้ำขิงสด เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ และยังช่วยบำรุงเลือดและกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตได้ดีอีกด้วย เลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อป้องกันอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และเน้นอาหารประเภทโปรตีนควบคู่ไปด้วย ควรหลีกเลี่ยงอาหารมันและรสจัด หรือหากอยากกินอาหารรสเปรี้ยว ลองเปลี่ยนมากิน สลัด หรือ ผลไม้สด แทนของดอง เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อย
-
พักผ่อนให้เพียงพอ
ช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายจะรู้สึกเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายและฟื้นฟูตัวเอง หากคุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวจากอาการแพ้ท้อง ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศร้อนและมลภาวะสูง เพราะอาจทำให้อาการคลื่นไส้วิงเวียนรุนแรงขึ้นได้ ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายตัว และพยายามเข้านอนให้ตรงเวลา รวมถึงพักผ่อนช่วงกลางวันสั้นๆ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
-
ดื่มน้ำเปล่า
การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญมากในช่วงตั้งครรภ์ การดื่มน้ำมากๆ ช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้า ลดอาการบวม และวิงเวียนศีรษะจากอาการแพ้ท้องได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การดื่มน้ำผลไม้ยังช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยอีกด้วย
-
นั่งสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด
การฝึกสมาธิเป็นวิธีที่ดีในการผ่อนคลายความเครียด ช่วยให้คุณแม่รู้สึกสงบและผ่อนคลายมากขึ้น ลดความกังวลใจที่อาจเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ได้ การนั่งสมาธิสม่ำเสมอ เช่น ทุกเช้า จะช่วยปรับสมดุลให้กับร่างกายและจิตใจ ทำให้คุณแม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในช่วงตั้งครรภ์ได้ดียิ่งขึ้น
-
การเดิน
การเดินเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้เป็นอย่างดี การเดินเบาๆ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้น และยังช่วยลดอาการจุกเสียด อึดอัด ที่เกิดจากการย่อยอาหารช้าลงได้อีกด้วย นอกจากนี้ การออกกำลังกายเบาๆ อย่างการเดิน ยังช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด และมีสุขภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย
-
การกินวิตามิน อาหารเสริม
โดยทั่วไปแล้วหากคุณแม่เริ่มฝากครรภ์และพบแพทย์เป็นประจำ คุณหมอจะจ่ายวิตามินให้สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่แล้ว แต่หากคุณแม่ต้องการกินวิตามินหรืออาหารเสริมอื่น นอกเหนือจากที่คุณหมอให้มาในช่วงตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ การเลือกกินอาหารเสริมโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อยได้
สัญญาณอันตรายที่แม่ท้องต้องรีบพบแพทย์
เมื่อตั้งครรภ์อาจมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นได้มากมาย บางอาการเป็นเรื่องปกติ แต่บางอาการก็อาจเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้ อาการแบบไหนที่ต้องรีบมาพบแพทย์กัน
-
แพ้ท้องรุนแรงจนกินอะไรไม่ได้
อาการแพ้ท้องเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หรือเหม็นกลิ่นอาหารบางชนิด ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะทุเลาลงหรือบรรเทาลงเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ 14 สัปดาห์ หรือไตรมาสที่ 2
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการ แพ้ท้อง อ้วก รุนแรงจนทำให้กินอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ใจสั่น ปัสสาวะออกน้อย ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจขาดน้ำและสารอาหาร ซึ่งเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษา เช่น การให้น้ำเกลือ หรือวิตามินเสริม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
-
การดิ้นของลูกในครรภ์ผิดปกติ
การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงสุขภาพของลูกน้อย โดยทั่วไปคุณแม่จะเริ่มรู้สึกได้ถึงการดิ้นของลูกเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ขึ้นไป และจะรู้สึกชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถึง 28 สัปดาห์ ทารกจะเคลื่อนไหวได้หลากหลายมากขึ้น อาจเป็นการเตะ ถีบ หรือขยับแขนขา
การนับลูกดิ้นเป็นวิธีง่ายๆ ที่คุณแม่สามารถทำได้เองเพื่อติดตามพัฒนาการของลูกน้อย หากรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยผิดปกติ หรือไม่มีการเคลื่อนไหวเลย เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเด็กอาจมีความผิดปกติได้ ควรรีบพบแพทย์ทันที
-
อาการเลือดออก
การมีเลือดออกทางช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณมากหรือน้อย ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ควรให้ความสำคัญค่ะ สาเหตุของเลือดออกนั้นมีหลากหลาย เช่น การติดเชื้อในช่องคลอดหรือปากมดลูก ภาวะรกเกาะต่ำ หรือแม้กระทั่งภาวะแท้งคุกคาม ซึ่งล้วนแต่เป็นภาวะที่ต้องการการดูแลจากแพทย์โดยตรง ดังนั้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที
-
มีน้ำเดินหรือน้ำคร่ำแตก
น้ำเดิน หมายถึง ภาวะที่ถุงน้ำคร่ำซึ่งห่อหุ้มทารกในครรภ์แตก ทำให้น้ำคร่ำไหลออกมาทางช่องคลอด เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด โดยทั่วไปเมื่อน้ำเดิน มักจะตามมาด้วยการเจ็บครรภ์และมดลูกหดตัวเพื่อที่จะเบ่งลูกออกมา อย่างไรก็ตาม การมีน้ำเดินก่อนกำหนด หรือในช่วงที่อายุครรภ์ยังน้อย อาจเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยได้ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในช่องคลอด หรือการคลอดก่อนกำหนด ดังนั้น เมื่อคุณแม่รู้สึกว่ามีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอด ไม่ว่าจะเป็นปริมาณมากหรือน้อย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
-
อาการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด
การเจ็บท้อง เป็นอาการที่คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะพบเจอ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 อาการเจ็บท้องนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ
-
- การเจ็บครรภ์เตือน เป็นการหดตัวของมดลูกที่ไม่สม่ำเสมอ มักเกิดขึ้นเมื่อทำกิจกรรม เช่น เดิน ยืน หลังจากพักผ่อนอาการจะดีขึ้น การเจ็บครรภ์เตือนนี้ช่วยเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการคลอดจริง แต่ยังไม่ใช่สัญญาณว่าจะคลอดทันที
- การเจ็บครรภ์คลอด เป็นการหดตัวของมดลูกที่สม่ำเสมอ มีความถี่มากขึ้น และแรงขึ้นเรื่อยๆ ปวดมากขึ้น และมักมาพร้อมกับอาการอื่นๆ เช่น ปากมดลูกเปิด น้ำเดิน เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายกำลังเข้าสู่กระบวนการคลอด เพราะฉะนั้นในกรณีที่อายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนดแล้วเข้าสู่กระบวนการคลอด ถ้าเราปล่อยไว้ให้กระบวนการคลอดดำเนินไปเรื่อย ๆ ทารกก็จะคลอดออกมา มีปัญหาเรื่องการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย ดังนั้นเมื่อรู้สึกเจ็บท้องหรือรู้สึกว่าผิดปกติมากขึ้น ต้องมาตรวจดูว่าการบีบตัวของมดลูกสม่ำเสมอมากน้อยขนาดไหน
เพราะฉะนั้นการดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต้องดูแลตัวเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอและกินอาหารที่เป็นประโยชน์เหมาะสมกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ก็จะช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์มีสุขภาพที่แข็งแรง
ที่มา : medthai , Pobpad อาเจียนเป็นเลือด , Pobpad อาเจียนเป็นฟอง , โรงพยาบาลบางประกอก , พบหมอรามาฯ , Helloคุณหมอ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
5 ครีมทาผิวที่แม่ท้องใช้ได้ ครีมทาตัวคนท้อง เลือกแบบไหนให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น
แม่ท้องนอนท่าไหนดีสุด นอนตะแคงซ้ายปลอดภัยไหม คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้
เครื่องสําอาง คุณแม่ตั้งครรภ์ แม่ท้องอยากสวย เครื่องสำอางแบบไหนที่ใช้ได้ !?!