เมื่อแรกรู้ว่าตั้งครรภ์ช่วงเวลาแห่งความสุขของคุณพ่อคุณแม่ก็ได้เริ่มต้นขึ้นเช่นกัน แต่การตั้งครรภ์นั้นก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแท้งบุตร ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณแม่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงต้องดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพราะช่วงตั้งท้องเป็นระยะของการพัฒนาอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญของลูกน้อย การรู้จักและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อลูกน้อยจึงเป็นสิ่งที่แม่ท้องต้องใส่ใจ มาดู 14 ข้อห้ามคนท้อง ซึ่งเป็น พฤติกรรมเสี่ยงแท้ง ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงกันค่ะ
สารบัญ
การแท้งบุตร คืออะไร? แบบไหนเรียกว่า พฤติกรรมเสี่ยงแท้ง
ภาวะแท้ง หรือการแท้งลูก แท้งบุตร คือ การตั้งครรภ์ยุติลงโดยไม่คาดคิดภายใน 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งประมาณ 80% ของการแท้งเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก หรือราว 14 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์
ประเภทของ “การแท้งบุตร” |
|
ภาวะแท้งคุกคาม
(Threatened Miscarriage) |
|
การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
(Inevitable Miscarriage) |
|
การแท้งครบ (Complete Miscarriage) |
|
การแท้งค้าง (Missed Miscarriage) |
|
ภาวะแท้งซ้ำ (Recurrent Miscarriage) |
|
ทั้งนี้ สาเหตุของการแท้งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อ การสัมผัสกับกลุ่มโรค TORCH การขาดสารอาหารรุนแรง การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคไตรุนแรง โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคไทรอยด์ ฮอร์โมนไม่สมดุล การฝังตัวของตัวอ่อนไม่สมบูรณ์ อายุของแม่ท้อง ความผิดปกติของมดลูก ภาวะปากมดลูกหลวม การสัมผัสกับรังสี และการใช้ยา
- อายุ แม่ท้องที่อยู่ในช่วงอายุ 20 ปี มีความเสี่ยงที่จะแท้งลูกประมาณ 12-15% และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในแม่ท้องที่อายุ 40 ปี โดยสาเหตุหลักของการแท้งมักมาจากความผิดปกติของโครโมโซมเนื่องจากอายุที่มากขึ้น
- มีประวัติการแท้งลูก แม่ตั้งครรภ์ที่เคยแท้งบุตรมาก่อน จะมีความเสี่ยง 10-25% ที่จะเกิดภาวะแท้งอีก
- โรคประจำตัว คุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานแบบควบคุมไม่ได้ มีการติดเชื้อ หรือโรคเกี่ยวกับปากมดลูกหรือมดลูก จะมีความเสี่ยงที่จะแท้งลูกสูงกว่าแม่ท้องที่ไม่มีโรคประจำตัว
ท้องอ่อนต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ข้อห้ามคนท้อง 1-3 เดือน
โดยปกติแล้วความเสี่ยงภาวะแท้งจะเกิดกับแม่ที่ท้องอ่อนๆ หรือในช่วงการตั้งครรภ์ 1-3 เดือน มากกว่า 80% ซึ่งประมาณ 50% ของการเกิดภาวะแท้งในช่วงไตรมาสแรกเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ที่มักเกิดขึ้นเมื่อไข่หรือตัวอสุจิมีจำนวนโครโมโซมผิดปกติ ทารกจึงมีจำนวนโครโมโซมไม่ปกติ นำไปสู่การแท้ง เนื่องจากส่วนใหญ่คนท้องจะยังไม่ทราบว่าตัวเองกำลังท้อง ทำให้อาจไม่ทันได้ระวังตัวหรือดูแลตัวเองเป็นพิเศษในช่วงระยะท้องอ่อนๆ โดยอาจมี พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ข้อห้ามคนท้อง ที่เราจะกล่าวถึงต่อไปค่ะ
14 ข้อห้ามคนท้อง พฤติกรรมเสี่ยงแท้ง แม่ตั้งครรภ์ห้ามทำแบบนี้
ไม่เพียงในช่วงไตรมาสแรกเท่านั้นนะคะ เพราะภาวะแท้งคุกคามสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ด้วยเช่นกัน ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น
- สุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์
- ความเครียด
- การใช้ยา
- ปัญหาจากมดลูกที่ไม่แข็งแรง
- การกินอาหารที่ทำให้ท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษ
- การออกกำลังกายที่มากเกินไป หรือยกของหนัก นั่งหรือยืนนานๆ
ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรใส่ใจเป็นพิเศษก็คือเรื่องของความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมไปถึงเรื่องสุขภาพ และอาหารการกินที่อาจส่งผลร้ายต่อลูกน้อยได้โดยไม่รู้ตัว โดยไปพบคุณหมอตามนัด หมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเองอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยง 10 ข้อห้ามคนท้อง พฤติกรรมเสี่ยงแท้ง ต่อไปนี้ค่ะ
-
ห้ามสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอลล์
บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดต่างๆ เป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาดสำหรับคนท้องค่ะ เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ ทารกจะมีพัฒนาการช้า มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูง เสี่ยงต่อการแท้ง และมีโอกาสเกิดความผิดปกติ ความพิการทางร่างกายโดยกำเนิด ที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วย
-
ห้ามกินของไม่มีประโยชน์
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์เพื่อนำไปใช้เสริมสร้างการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ การกินของที่ไม่ควรกินอย่างอาหารรสเผ็ดจัด เค็มจัด หวานจัด มันจัด อาหารสุกๆ ดิบๆ จะทำให้คุณแม่ปวดท้องและไม่สบายตัว หรืออาหารประเภทของหมักดอง อาหารกระป๋อง ผงชูรส รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทั้ง ชา กาแฟ และน้ำอัดลม ก็เป็นของต้องห้ามเช่นกัน โดยคาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นความดัน และการเต้นของหัวใจ สามารถผ่านรกเข้าสู่ทารกในครรภ์ได้ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบจึงมีข้อจำกัด คือ ไม่ควรดื่ม 200 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 1 แก้วขนาด 12 ออนซ์ หรืองดกาแฟขณะตั้งครรภ์ไปเลยดีที่สุดค่ะ
-
ห้ามดื่มนมมากเกินไป
คนท้องส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดว่าการดื่มนมเยอะๆ จะช่วยเสริมสร้างแคลเซียมให้กับลูกได้ดี ทั้งที่ความจริงแล้วการดื่มนมวัววันละ 1 แก้ว หรือนมถั่วเหลืองวันละ 1 แก้วก็เพียงพอ เนื่องจากนมวัวมีโปรตีน เช่น อัลฟา เบต้า เคซีน เป็นจำนวนมาก ซึ่งสารเหล่านี้จัดเป็นสารแปลกปลอม (antigen) การที่คนท้องดื่มนมวัวมากๆ ร่างกายทารกจะได้รับ antigen เหล่านี้เยอะจนสร้าง antibody มาต่อต้านโปรตีนจากนมวัว พอคลอดลูกน้อยจะมีความเสี่ยงต่อ ภาวะแพ้นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว จึงแนะนำให้แม่ท้องดื่มนมวัวสลับนมถั่วเหลือง แต่อย่างที่บอกค่ะว่าดื่มเพียงวันละ 1 แก้วก็พอ โดยหากต้องการแคลเซียมเพิ่ม แนะนำให้คุณแม่กินปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว งาดำ อัลมอนด์ เพื่อเสริมแคลเซียมแทน
-
ห้ามกินยาเองพร่ำเพรื่อ
การกินยาพร่ำเพรื่อด้วยตัวเอง มีความเสี่ยงมากนะคะที่แม่ท้องจะกินยาที่มีอันตรายเข้าไป อาจส่งผลให้ทารกเจริญเติบโตช้า และอาจทำให้เกิดแขนขาพิการ หรือภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้ โดยเฉพาะในช่วงท้องอ่อนๆ 3 เดือนแรก ที่ทารกในครรภ์กำลังพัฒนาอวัยวะและระบบประสาทต่าง ๆ แม้แต่ยาสามัญประจำบ้านหลายชนิดก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้งเช่นกัน
ทั้งนี้ ยาที่คุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ ยาที่มีส่วนผสมของ Vitamin A ซึ่งรูปแบบที่ต้องระวังคือ Isotretinoin และ Etretinate อันเป็นสารที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ อาจทำให้ลูกน้อยหูหนวก ตาบอด ไม่มีรูเปิดทวาร น้ำคั่งในโพรงสมอง โดย isotretinoin มักอยู่ในสูตรยาของการรักษาสิว ฉะนั้น แม่ท้องควรแจ้งแพทย์เมื่อไปรับการรักษาสิว และควรหยุดยาหากวางแผนจะตั้งครรภ์ ส่วน Etretinate จะเป็นส่วนผสมของยาที่ใช้รักษาโรค Psoriasis หรือสะเก็ดเงิน หากใช้ยาตัวนี้อยู่ควรหยุดยาอย่างน้อย 2 ปีก่อนตั้งครรภ์
-
ห้ามเครียด
พอจะรู้ค่ะว่าความเครียดเป้นเรื่องที่ห้ามกันได้ยาก แต่ในขณะตั้งครรภ์หากคุณแม่เครียดจะส่งผลให้ลูกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้า และอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้ เพราะร่างกายของคนท้องจะหลั่งสารเคมีและฮอร์โมนความเครียด (คอร์ติซอล) ออกมามากขึ้น หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกและรกเกิดการหดตัว ปริมาณออกซิเจนที่ส่งไปยังทารกในครรภ์จึงลดน้อยลงและอาจไม่เพียงพอ รวมถึงเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งยังมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ส่งผลต่อการเรียนรู้ของลูก เป็นโรคสมาธิสั้น หรือโรคในกลุ่มออทิสติก กระทบต่อสภาพจิตใจและการปรับตัวทางสังคมของลูกน้อยด้วย
-
ห้ามออกกำลังกายหนัก หรือทำกิจกรรมใช้แรงมาก
ข้อห้ามคนท้อง ไม่ได้ห้ามคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ออกกำลังกายนะคะ สามารถทำได้ค่ะ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหนักหรือหักโหมมากจนเกินไป ควรเลือกออกกำลังเบาๆ เช่น ว่ายน้ำ โยคะ หรือเดิน โดยขณะคนท้องออกกำลังกายควรพักดื่มน้ำทุก 10-15 นาที เพื่อให้ร่างกายระบายความร้อนออก ป้องกันไม่ให้อุณหภูมิสูงเกินไป การออกกำลังจนเหนื่อยหอบจะทำให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนจน ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตได้ค่ะ
ส่วนเรื่องการมีเพศสัมพันธ์นั้น ช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก และช่วงใกล้คลอดหรือ 3 เดือนท้ายของการตั้งครรภ์ แนะนำว่าควรงดไปก่อนนะคะ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแท้งในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และเพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดช่วงไตรมาสสุดท้ายค่ะ
-
ห้ามลดน้ำหนัก
ไม่ต้องกังวลว่าน้ำหนักขึ้นช่วงตั้งครรภ์แล้วจะไม่สวยค่ะ คุณแม่ที่อุ้มท้องทารกน้อยนั้นมีความงดงามเสมอในทุกช่วงเวลาที่เป็นแม่ค่ะ แม้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากจะทำให้รู้สึกว่าอ้วนและไม่ค่อยมั่นใจกับรูปร่าง ก็ห้ามลดน้ำหนัก เพราะการลดน้ำหนักโดยเฉพาะการอดอาหาร จะทำให้ทารกในครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ร่างกายพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่ เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดด้วยค่ะ ในทางกลับกัน คนท้องควรบำรุงตัวเองให้มากๆ กินให้ครบ 5 หมู่ บำรุงด้วยวิตามินต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในการสร้างอวัยวะที่สำคัญของร่างกายลูก ตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ต้องพะวงค่ะ เมื่อให้นมลูกหลังคลอดน้ำหนักคุณแม่จะลดลงไปเอง
-
ห้ามอบไอน้ำ อบซาวน่า
การอบไอน้ำ อบซาวน่า ที่ทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า คือ ข้อห้ามคนท้อง เป็น พฤติกรรมเสี่ยงแท้ง ที่แม่ตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงค่ะ โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรก ที่ร่างกายทารกกำลังสร้างหลอดประสาท เพราะความร้อนจากไอน้ำทำให้ร่างกายของคุณแม่ขาดน้ำและเกลือแร่ที่จำเป็น ส่งผลให้เลือดข้นจนเส้นเลือดอุดตัน เลือดจึงไปเลี้ยงลูกในครรภ์น้อยลง เกิด neural- tube defect หรือ ภาวะหลอดประสาทไม่ปิดของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเจริญเติบโตไม่เต็มที่และอาจแท้งได้
-
ห้ามยืนและนอนเป็นเวลานาน
แม่ท้องตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ควรเดินหรือยืนนานๆ ค่ะเพราะจะทำให้ขาและเท้าบวมมากขึ้น อาจเกิดเส้นเลือดขอดที่ขา ทำให้ปวดหลังง่าย รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมด้วย การนอนนานก็เป็น ข้อห้ามคนท้อง ด้วยเช่นกันค่ะ เพราะน้ำหนักครรภ์จะไปกดทับกระเพาะอาหารและลำไส้ เกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง หรือกดทับเส้นเลือดดำจนเลือดไหลเวียนไม่สะดวก ร่างกายเกิดอาการบวม ปวดเมื่อยตามร่างกาย และทำให้หน้ามืดได้ ทางที่ดีแนะนำว่าคนท้องควรเปลี่ยนอิริยาบถทุก 1-2 ชั่วโมง เปลี่ยนท่านั่งบ่อยๆ ยืดเส้นยืดสายบ้าง เพื่อให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้นค่ะ
-
ห้ามสัมผัสขี้แมว
แม่ท้องทาสแมว ต้องหลีกเลี่ยงการเก็บขี้แมวในช่วงตั้งครรภ์นะคะ เพราะขี้แมวมีส่วนประกอบของเชื้อปรสิต “ท็อกโซพลาสโมซิส” (Toxoplasmosis) ที่มีแมวเป็นพาหะนำโรค เชื้อชนิดนี้สามารถผ่านรก และทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อเกิดโรค Congenital Toxoplasmosis โดยจะมีผลต่อระบบ ประสาท การมอง การได้ยิน ตับม้ามโต ตัวเหลือง หัวโต รกใหญ่ โดยอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
-
ห้ามสัมผัสคนที่มีโรคติดต่อ
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันโรคติดต่อบางชนิดมาก่อน เช่น อีสุกอีใส หัดเยอรมัน ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเหล่านี้ค่ะ เพราะหากติดเชื้อดังกล่าวจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่ทารกจะพิการได้ค่ะ
-
ห้ามเอ็กซเรย์
อายุครรภ์ช่วง 10-17 สัปดาห์ เป็นช่วงที่ระบบประสาทและสมองของทารกไวต่อรังสีเอ็กซ์เรย์ (x-ray) ค่ะ โดยปริมาณรังสีที่ได้รับเมื่อถ่ายภาพเอ็กซเรย์ไม่ควรเกิน 5 rad อย่างไรก็ตาม ปริมาณรังสีที่ได้รับเมื่อถ่ายภาพ x-ray ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายแตกต่างกัน และส่วนใหญ่ปริมาณรังสีที่ได้รับต่อครั้งมักน้อยกว่า 5 rad ค่ะ ดังนั้น ในกรณีจำเป็นต้อง x-ray ควรแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ก่อนเนื่องจากจะมีเครื่องมือที่ช่วยบังท้องเพื่อลดการได้รับรังสีค่ะ
-
ห้ามขึ้นเครื่องบินช่วงใกล้คลอด
การเดินทางในช่วงตั้งครรภ์ก็เป็นสิ่งที่คุณแม่ต้องระมัดระวังนะคะ โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบิน เนื่องจากการเดินทางด้วยเครื่องบินช่วงใกล้คลอด หากคุณแม่เกิดเจ็บครรภ์คลอด จะมีข้อจำกัดในการดูแลรักษาบนเครื่อง และส่งผลอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้นั่นเองค่ะ ซึ่งสายการบินแต่ละแห่งจะมีข้อกำหนด กฎเกณฑ์การใช้บริการของแม่ท้องแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง อายุครรภ์ และโรคประจำตัวของแม่ท้อง เช่น
- อายุครรภ์ต่ำกว่า 28 สัปดาห์ อนุญาตให้เดินทางได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์
- อายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ ถึง 36 สัปดาห์ ผู้โดยสารต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่รับรองว่าสามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้
- อายุครรภ์มากกว่า 36 สัปดาห์ สายการบินปฏิเสธการให้บริการ
-
ห้ามฉีดวัคซีนเชื้อเป็น
วัคซีนเชื้อเป็น (live vaccine) คือ วัคซีนที่ผลิตจากจุลินทรีย์ที่มีชีวิต แต่ทำให้ฤทธิ์อ่อนลงจนไม่ก่อโรคในร่างกาย ซึ่งสามารถกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานได้ เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม อีสุกอีใส ไข้เหลือง (Yellow Fever) บีซีจี (ป้องกันวัณโรค) โปลิโอชนิดกิน ดังนั้น หากมีความตั้งใจจะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรวางแผนฉีดวัคซีนเหล่านี้ให้ดีก่อน เพราะจะส่งผลต่อความพิการของทารกในครรภ์ได้ ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccines) เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้า บาดทะยัก ไอกรน ไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตามปกติค่ะ
ป้องกันภาวะเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ยังไงดี
ภาวะเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งการแท้งลูก การคลอดก่อนกำหนด การติดเชื้อ รวมถึงปัญหาสุขภาพต่างๆ ของแม่ท้องสามารถลดลงได้ หากคุณแม่มีการดูแลตัวเองอย่างดี เรามีวิธีป้องกันเบื้องต้นมาฝากค่ะ
วิธีป้องกันภาวะเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ |
|
ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ | เพื่อตรวจวัดชีพจร ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ปริมาณเม็ดเลือดแดง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดเชื้อ โรคทางพันธุกรรม และภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน |
เพิ่มกรดโฟลิกให้ร่างกาย | ให้ร่างกายได้รับกรดโฟลิกอย่างน้อย 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ โดยการกินวิตามินและอาหารตามธรรมชาติ |
เลิกสิ่งเสพติด ของมึนเมา | เลิกสูบบุหรี่-การใช้สารเสพติด งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ |
กินให้ดี นอนให้พอ |
|
ออกกำลังกายและคุมน้ำหนัก |
|
ฝากครรภ์ทันที | เพื่อให้แพทย์ติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และตรวจพบปัญหาสุขภาพได้เร็ว ลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ |
ดูแลสุขภาพจิต | ความเครียดเป็นศัตรูตัวร้ายของทั้งคุณแม่และลูกน้อย การผ่อนคลายและทำกิจกรรมที่ชอบจะช่วยลดความเครียดได้ |
14 ข้อห้ามคนท้อง ที่เรานำมาบอกกันนี้ ไม่ใช่เพื่อให้คุณแม่กังวลจนเกินเหตุนะคะ เพียงแต่ให้ใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง เพราะทุกก้าวย่างที่เดิน อาหารทุกอย่างที่กิน กิจกรรมที่ทำ ล้วนส่งผลไปยังทารกในครรภ์ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำอย่างละเอียดในการปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยและคลายความกังวลใจได้ด้วยค่ะ
ที่มา : www.bcaremedicalcenter.com , www.paolohospital.com , www.medparkhospital.com , bangpo-hospital.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อาการคนท้อง ฉี่สีอะไร บ่งบอกสุขภาพแม่ท้องได้ไหม
เส้นดำกลางท้อง บอกเพศลูก จริงไหม? ไขข้อข้องใจพร้อมวิธีดูแลผิวแม่ท้อง
คนท้องเหนื่อยง่าย หายใจไม่ทัน หายใจไม่สะดวก อันตรายไหม รับมือยังไง