หากจะกล่าวถึง วันครูแห่งชาติ ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 เป็นวันที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติครูในพระราชกิจจานุเบกษา โดยได้จัดตั้งสภาในกระทรวงศึกษาธิการ โดยเรียกกันว่า “คุรุสภา” เป็นลักษณะของนิติบุคคล เป็นการรวบรวมคุณครูในสังกัดมาเป็นกลุ่มสมาชิกคุรุสภา เพื่อนำเสนอ วางแผนนโยบาย แถลงผลงาน ที่มีประโยชน์กับวิชาชีพครูเป็นหลัก
ภายหลังได้มีการจัดงาน วันครูแห่งชาติ ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2500 โดยกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการเฉพาะครู และนักเรียน เพื่อทำการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในวันนั้น เช่น
- จัดงานนิทรรศการ รวบรวมผลงานของคุณครูในช่วงที่ผ่านมา
- ทำพิธีไหว้ คารวะครูผู้สอน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ
- ทำพิธีระลึกถึงคุณครูผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว
- มอบรางวัลให้กับครูดีเด่น ครูที่มีผลงานโดดเด่นในปีนั้น ๆ
- จัดกิจกรรมสร้างความสามัคคีผู้ที่ประกอบวิชาชีพครู เช่น งานแข่งขันกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ เป็นต้น
ถือกำเนิด วันครูแห่งชาติ
ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวปราศัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า “ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า”วันครู”ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้ แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
จากแนวคิดข้างต้น จึงทำให้ครู และสื่อมวลชน ได้มีการเรียกร้องให้มี “วันครูแห่งชาติ” เพื่อเป็นการรำลึกถึงความสำคัญของครูผู้เสียสละ และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่ทำงานในสายอาชีพนี้ ทางที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้ลงมติเห็นชอบ จึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 16 มกราคม ของทุกปีจะเป็น วันครูแห่งชาติ ของประเทศไทยนั่นเอง
คำขวัญวันครู
เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบคำขวัญวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ.2566 “ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต”
รวมคำขวัญวันครู
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- พ.ศ. 2566 – ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต
- พ.ศ. 2565 – พัฒนาครู พัฒนาเด็ก เรียนรู้ สู่อนาคต
- พ.ศ. 2564 – ครูวิถีใหม่ ใส่ใจดิจิทัล สร้างสรรค์ คุณธรรม ประจำชาติ
- พ.ศ. 2563 – ครูไทย รักศิษย์ คิดพัฒนา
- พ.ศ. 2562 – ครูดี ศิษย์ดี มีพัฒนา ก้าวหน้า สู่เทคโนโลยี
- พ.ศ. 2561 – ศิษย์ดี ก็ด้วยครูดี มีศรัทธา
- พ.ศ. 2560 – ชาติพัฒนา ด้วยครูดี มีคุณภาพ ศิษย์ซาบซึ้ง ในพระคุณครู
- พ.ศ. 2559 – อนาคตก้าวไกล ด้วยครูดี มีคุณภาพ
ตัวอย่างคำขวัญจากผู้ชนะเลิศประกวดคำขวัญวันครู
- พ.ศ. 2558 – เกียรติครูยิ่งใหญ่ น้อมใจบูชา เลิศล้ำคุณค่า ศรัทธาพระคุณ (เด็กหญิงอนุสรา ชื่นบาล จังหวัดอ่างทอง)
- พ.ศ. 2557 – เทิดพระเกียรติทั่วหล้า กตัญญูบูชา แม่และครูแห่งแผ่นดิน (นายธีธัช บรรณะทอง)
- พ.ศ. 2556 – แปดสิบพรรษา พระราชินี ราษฏร์รัฐภักดี ครูศรีแผ่นดิน (นายสะอาด สีหภาค)
- พ.ศ. 2555 – บูชาครูแห่งแผ่นดิน จอมปราชญ์ศาสตร์ศิลป์ สยามินทร์ ภูมิพล (นางสาวขนิษฐา อุตรโส)
- พ.ศ. 2554 – เทิดพระเกียรติทั่วหล้า บูชาครูของแผ่นดิน ภูมินทร์ภูมิพล (นางกนกอร ภูนาสูง)
- พ.ศ. 2553 – น้อมจิตวันทา บูชาคุณครู กตัญญูกตเวที (นายกันทา วงศ์จันทร์ทิพย์)
- พ.ศ. 2552 – ครูสร้างคนดี เป็นศรีแผ่นดิน ทั่วถิ่นศรัทธา บูชาคุณครู (นางนฤมล จันทะรัตน์)
- พ.ศ. 2551 – ครูของแผ่นดิน เลิศศิลป์ศาสตร์ มหาราชภูมิพล ชนบูชา (นางพงษ์จันทร์ สุขเกษม)
- พ.ศ. 2550 – สิบหกมกรา เทิดทูน “พ่อแผ่นดิน ภูมินทร์บรมครู” (นางสาวศันสนีย์ แสนโรจน์)
ขั้นตอนการจัดงานวันครูแห่งชาติ
การจัดงานไหว้ครู ในวันครูแห่งชาติ มักจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ ของประเทศ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ซึ่งการจัดงานโดยหลัก มักจะประกอบไปด้วย
- กิจกรรมทางศาสนา
- การมอบรางวัลแก่ครูที่สร้างผลงานดีเด่นประจำปี
- พิธีไหว้ครูเพื่อการรำลึกบุญคุณครูบาอาจารย์
- กิจกรรมสันทนาการเพื่อให้เกิดความสามัคคี ระหว่างผู้ปกครอง คุณครู และนักเรียน หรือเป็นการจัดงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
คำปฏิญาณตนของครูประกอบพิธีในวันครู
- ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
- ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
- ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
วันครูแห่งชาติ ไม่ใช่วันไหว้ครู หรือพิธีไหว้ครู
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วันครูแห่งชาตินั้น ไม่ใช่วันไหว้ครู เนื่องจากหลายคน มักจะคุ้นเคยกับวันไหว้ครูเป็นหลัก ที่จะเป็นวันที่ตัวนักเรียนจะทำกิจกรรมการไหว้ครูในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยมักจะจัดพิธีขึ้นในวันพฤหัสบดี เนื่องจากเชื่อกันว่าวันพฤหัสบดีนั้นเป็นวันครู ซึ่งมักจะทำให้หลายคนเกิดความสับสนระหว่างวันครูแห่งชาติ กับวันไหว้ครู ว่าจะเป็นวันเดียวกันหรือไม่
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ครูดี ยังมีอยู่! 5 ครูสุดทุ่มเท ที่สังคมไทยกำลังต้องการ
ประสบการณ์คือครูที่ดีที่สุด ลองถามนักสำรวจดู
ครูตั้งใจเขียนสูตรคูณผิด นร.หัวเราะทั้งห้อง รู้สาเหตุสำนึกผิดแทบไม่ทัน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!