“ก่อนหน้าที่ลูกชายจะมีกิริยาแปลก ๆ แบบนี้ เขาเคยขยิบตาถี่ ๆ มาก่อน แล้วเขาก็หายไปได้เอง กลับมาคราวนี้มันดูรุนแรงมากกว่าเดิม เพราะลูกเริ่มทำคอกระตุกไปมา จนกระทั่งต้องพาไปหาหมอ ๆ บอกว่า ลูกชายเป็น “โรคติ๊ก” (Tic)
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวลูกของผู้เขียนเอง โดยลูกชายวัยเพียงสี่ขวบกว่าจู่ ๆ ก็มีกิริยาแปลก ๆ ที่ชอบทำคอกระตุกสะบัดไปมา เริ่มจากนาน ๆ ทำที ตอนนี้กลับดูทำถี่และรุนแรงมากขึ้น ดิฉันและคุณแม่ไม่นิ่งนอนใจ รีบลางานพาลูกชายไปพบคุณหมอโดยทันที คุณหมอท่านแรกแนะนำให้ไปพบกับหมอคนที่สอง ซึ่งเป็นคุณหมอด้านการพัฒนาสมอง คุณหมอท่านนี้ดูไม่แปลกใจเลยกับพฤติกรรมของลูกชายดิฉัน
“คุณแม่คะ ที่น้องกำลังเป็นอยู่นี้ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า “โรคติ๊ก (Tic)” ซึ่งเป็นโรคที่พบได้มากกับเด็กในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กในเมือง และจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงค่ะ” คุณหมอกล่าว
อะไรคือโรคติ๊ก?!? มันดูรุนแรงมากไหม แล้วทำไมลูกชายฉันถึงเป็น อันตรายมากไหม แล้วอีกนานไหมกว่าจะหาย?!? ในหัวมีแต่คำถามที่เต็มไปด้วยความไม่สบายใจ เพราะทุกครั้งที่ลูกกระตุก ใจของดิฉันนั้นรู้สึกเจ็บ ด้วยความที่ไม่อยากให้ลูกดูแปลกประหลาดในสายตาของคนอื่น และไม่อยากให้ลูกโดนคนอื่นล้อ ดิฉันจึงแอบร้องไห้ทุกครั้งเวลาที่อยู่คนเดียว แม้ว่าโรคนี้อาจไม่ใช่โรคที่อันตรายในสายตาของคนอื่น ๆ แต่แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนคงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูกเป็นแน่
คุณหมอถามว่า “ที่บ้านมีใครเป็นโรคนี้หรือไม่คะ หรือที่โรงเรียนมีไหม คุณแม่ต้องลองถามครูดูนะคะ เพราะโรคนี้นอกจากจะเกิดจากทางพันธุกรรม ความเครียดและความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองแล้ว ยังเกิดจากการลอกเลียนแบบอีกด้วยค่ะ แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไป สิ่งที่คุณแม่และคนที่บ้านรวมถึงที่โรงเรียนควรจะต้องทำก็คือ อย่าทัก อย่าไปห้ามว่า อย่าทำแบบนี้สิ หยุดทำได้แล้ว สิ่งที่คุณแม่ควรทำก็คือเพิกเฉยกับพฤติกรรมดังกล่าว และหากิจกรรมอย่างอื่นให้ลูกทำ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ นอกจากนั้น ก็อาจจะพูดและชมลูกเวลาที่เขาไม่ได้ทำ พร้อมกับให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกค่ะ เพราะเด็กจะยิ่งทำมากขึ้น เมื่อมีคนห้ามหรือสนใจ และโรคนี้ก็สามารถหายไปได้เอง แต่อาจจะต้องใช้เวลาสองถึงสามเดือนค่ะ”
“สองถึงสามเดือนเลยเหรอ!? ถ้าเลือกได้ฉันอยากที่จะเป็นเองแล้วให้ลูกหายเสียตอนนี้เลยดีกว่า” ซึ่งตอนนี้ดิฉันและคุณแม่ต่างต้องทำการบ้านกันอย่างหนัก เพื่อหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของลูก ไม่ว่าจะเป็นดนตรีบำบัด ศิลปะ รวมถึงการออกกำลังกาย แม้ว่าหมอจะบอกว่าโรคนี้ไม่อันตราย แต่ก็ไม่อาจหยุดความทุกข์และความเสียใจที่เห็นลูกเป็นแบบนี้ได้ แต่ดิฉันโชคดีที่ได้กำลังใจที่ดีจากพ่อแม่และเพื่อนรอบข้าง ที่สำคัญจากลูกชายตัวน้อย ๆ ของฉันเอง ฉันเชื่อว่า เขาก็คงไม่อยากที่จะเป็นแบบนี้ เพียงแต่เขาก็ไม่สามารถควบคุมมันได้ เขาพยายามควบคุมอาการนี้ด้วยการเอามือกุมหัว นอนราบไปกับพื้น หรือพิงอะไรสักอย่าง เพื่อคุมมัน เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกชายกับตัวเอง ดิฉันจะพูดกับลูกเสมอว่า “หนูจะต้องหายและเราจะต่อสู้ไปด้วยกัน”
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคติ๊ก สามารถหาคำตอบได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกหลานเป็น โรคติ๊ก
โรคติ๊กนั้น เกิดจากการกระตุกรัว ๆ ของกล้ามเนื้อมัดย่อยที่บริเวณหน้า คอ ไหล่ ยกตัวอย่างเช่น ขยิบตา กระตุกมุมปาก ยักไหล่ สะบัดคอ เปล่งเสียงแปลก ๆ หรือทำเสียงกระแอม เสียงฟุตฟิตทางจมูก คล้ายกับเสียงสะอึก
ซึ่งอาการนี้จะเกิดซ้ำ ๆ กันต่อเนื่องอยู่เป็นอาทิตย์ เดือน หรือเป็นปี ทำให้ดูเหมือนเด็กทำกิริยาแปลก ๆ ซึ่งโดยอาการที่เกิดขึ้นนั้น มันเป็นบ่อยมากชั่วโมงละหลาย ๆ ครั้ง หรือเด็กบางคนเป็นแทบทุกนาที
โรค Tic นั้น มีลักษณะที่แปลกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ คนที่เป็นนั้นจะสามารถบังคับหักห้ามอาการได้ระยะหนึ่ง แต่ก็จะเป็นช่วงเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น พอเผลอก็จะกลับมากระตุกอีก ซึ่งอาการนี้มักจะทำให้พ่อแม่และคนรอบข้างยิ่งไม่เข้าใจว่า เด็กคุมอาการนี้ได้แต่ไม่ยอมคุม เหมือนกับแกล้งทำให้มากขึ้น จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เด็กเองก็งงและสับสนในตัวเองเหมือนกัน เพราะพวกเขาไม่ได้ตั้งใจทำ และไม่รู้ที่จะหยุดมันอย่างไร
โรคติ๊ก นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับแบ่งตามระดับความรุนแรง คือ
- โรคติ๊กแบบชั่วคราว ซึ่งถือเป็นระดับที่มีความรุนแรงน้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะพบตั้งแต่วัยอนุบาลหรือประถมต้น ซึ่งจะพบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 7-11 ปี จะมีอาการเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แล้วจะหายได้เอง แต่อาจจะกลับมาเป็นอีกได้ อาการเมื่อกลับเป็นซ้ำอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป เช่น ครั้งแรกมีอาการขยิบตา พอเป็นครั้งที่สองเปลี่ยนเป็นกระตุกมุมปาก เป็นต้น
- โรคติ๊กแบบเรื้อรัง อาการจะเป็นเหมือนชนิดชั่วคราว แต่จะเป็นติดต่อกันนานเกิน 1 ปี ไม่หายไปง่าย ๆ บางคนเป็นจนโตหรือเป็นตลอดชีวิต
- โรคทูเรทท์ เป็นติกส์ระดับรุนแรงที่สุด เด็กที่เป็นโรคทูเรทท์ นอกจากจะมีการกระตุกของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ แล้ว จะมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ๆ ด้วย เช่น ที่แขน หลัง ท้อง จนดูเหมือนเคลื่อนไหวแปลก ๆ เช่น สะดุ้งทั้งตัว สะบัดแขน ตีปีก ขว้างของ บริเวณที่กระตุกจะย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เริ่มเป็นที่ไหล่ ย้ายไปแขนขวา แล้วย้ายไปที่หลัง เป็นต้น นอกจากอาการกระตุกของกล้ามเนื้อแล้ว โรคทูเรทท์จะยังมีอาการเปล่งเสียงร่วมด้วย อาการทั้งหมดจะเป็นนานเหมือนกับติกส์ชนิดเรื้อรัง (เกิน 1 ปี)
ดูแลลูกอย่างไรเมื่อเป็น โรค Tic
- พาไปพบกุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อให้ตรวจวินิจฉัยก่อน ว่าเด็กมีปัญหาอื่นเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งเด็กบางคนก็เป็นภูมิแพ้ที่ตา หรือโรคแพ้อากาศ ทำให้มีอาการคันและขยิบตาหรือย่นจมูกคล้ายติ๊กก็เป็นได้
- หากเด็กเพิ่งเริ่มมีอาการ แพทย์จะยังไม่ให้ยารักษา แต่จะให้คำแนะนำเพื่อให้พ่อแม่เข้าใจและสังเกตอาการไปก่อน ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นเดือน นั่นเป็นเพราะลูกอาจจะเป็นติ๊กชั่วคราวและหายเองได้
- หากพ่อแม่เข้าใจกับโรคนี้แล้ว ก็จะต้องไม่ดุว่า ไม่จับผิดหรือเพ่งเล็ง เมื่อเด็กมีอาการให้ทำเป็นไม่สนใจ เพื่อให้เด็กไม่เครียด ไม่อาย และต้องคอยปกป้องเด็กจากการถูกล้อเลียนจากเด็กคนอื่น หรือผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจ และคอยปลอบใจเด็กว่า รออีกสักพักมันก็จะหายไปเองได้
ดิฉันหวังว่าเรื่องราวนี้คงสามารถเป็นประโยชน์ที่ดีกับคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น ๆ ได้ “อย่าลืมที่จะหมั่นสังเกตพฤติกรรมหรือกิริยาของลูกนะคะ เพราะแม้แต่อาการเพียงเล็กน้อย ก็อาจสื่อให้เห็นถึงความผิดปกติบางอย่างก็เป็นได้”
อ้างอิงเนื้อหาจาก กระปุกดอทคอม
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ลูกศรีษะโตผิดปกติหรือไม่ ?
สังเกตเด็กขาโก่ง แบบไหนปกติ? แบบไหนผิดปกติ?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!