หมอแนะนำว่าสิ่งที่ต้องควรระวังมากที่สุดคือ การนอนกรนของน้องเอ็มอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น” หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “obstructive sleep apnea” ซึ่งควรมาพบคุณหมอค่ะ เพราะอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้ เรามาทำความรู้จักกับภาวะนี้กันดีกว่าค่ะ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเกิดจากอะไรและมีอาการอะไรบ้าง?
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เกิดจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ต้องหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อเอาชนะทางเดินหายใจที่ตีบแคบนั้น ทำให้เกิดอาการคือ นอนกรนบ่อย ๆ หายใจแรงมากกว่าปกติขณะหลับ หยุดหายใจแล้วหายใจเฮือกเป็นพัก ๆ ริมฝีปากเขียวคล้ำ ง่วงกลางวันเพราะนอนไม่พอ มีปัญหาพฤติกรรม เช่น สมาธิสั้น ซนผิดปกติ ผลการเรียนแย่ลง
หากลูกมีอาการดังกล่าวแล้วไปพบคุณหมอจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมอะไรบ้าง?
คุณหมอจะสอบถามประวัติอาการ แล้วตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเช่น คางหรือเพดานปากมีรูปร่างผิดปกติ ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต เยื่อบุจมูกบวมอักเสบ น้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยในเด็กคือ จมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้ และอ้วนนั่นเองค่ะ
นอกจากนี้คุณหมอจะประเมินการเจริญเติบโตและวัดความดันโลหิตเพื่อดูว่ามีการเจริญเติบโตช้าผิดปกติและมีความดันโลหิตสูงหรือไม่ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย นอกจากนี้คุณหมออาจส่งตรวจเอกซเรย์ดูขนาดต่อมอะดีนอยด์ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และคุณหมออาจแนะนำให้ตรวจการนอนหลับ (sleep test) เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนต่อไปค่ะ
การรักษาอาการนอนกรนจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นมีวิธีใดบ้าง?
การดูแลรักษาเบื้องต้นคุณหมอจะแนะนำให้ปรับสุขนิสัยการนอนค่ะ โดยเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักตัวในกรณีที่อ้วน และรักษาด้วยยาเสตียรอยด์พ่นจมูกและยากลุ่มรักษาอาการจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้ หากมีการติดเชื้อในจมูกหรือไซนัสก็จะได้รับยาปฏิชีวนะด้วย แล้วคุณหมอจะนัดตรวจดูอาการอีกครั้ง หากไม่ดีขึ้นอาจปรึกษาคุณหมอหู คอ จมูก เพื่อพิจารณาผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ต่อไป ถ้าการรักษาต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้ผลคุณหมออาจแนะนำให้ใช้เครื่องช่วยถ่างขยายทางเดินหายใจ ในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายต่อไปค่ะ
หากลูกนอนกรนและมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบไปพบคุณหมอนะคะ เพราะภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นมีผลต่อการเจริญเติบโตและสติปัญญาของเด็กค่ะ แนะนำว่าก่อนไปพบคุณหมอคุณพ่อคุณแม่อาจถ่ายคลิปวีดีโอการนอนที่สงสัยว่าผิดปกติของลูก โดยถ่ายให้เห็นปาก จมูก และเห็นการเคลื่อนไหวของหน้าอกและท้องในขณะกรน ไปให้คุณหมอดู จะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยมากค่ะ
ทารกนอนกรน น่ากังวลหรือไม่?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!