สารอาหารสำคัญ แลคโตเฟอรินในนมแม่ สารอาหารที่ทารกจะต้องได้รับ เพื่อความปลอดภัยของลำไส้ทารก อวัยวะที่บอบบางของทารกแรกเกิด หากทารกขาดโปรตีนชนิดนี้จะเกิดอะไรขึ้น หากคุณแม่ให้นมลูกไม่ได้ควรทำอย่างไรดี เราจะอธิบายให้คุณแม่ฟังเอง
แลคโตเฟอรินในนมแม่ สำคัญต่อทารก
หนึ่งในสารอาหารที่สำคัญมากสำหรับทารกช่วงแรกเกิด นอกจาก DHA, MFGM หรือวิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ แล้ว โปรตีนแลคโตเฟอริน (Lactoferrin) ก็สำคัญต่อทารกไม่แพ้กัน เนื่องจากเป็นสารอาหารในนมแม่ที่สำคัญ และพบได้มากในน้ำนมเหลืองหลังคลอด มีส่วนช่วยในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ของลูก ซึ่งเป็นอวัยวะที่ถือว่ามีความเปราะบางสำหรับทารกมาก หากไม่ดูแลให้ดี อาจทำให้ทารกติดเชื้อร้ายได้ในที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสารอาหารที่สำคัญต่อทารกที่เราได้ยกตัวอย่างมา ล้วนแล้วแต่หาได้จากนมแม่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทารกแรกเกิดจึงควรรับนมแม่ให้เร็วที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : แลคโตเฟอร์ริน คืออะไร พบได้ในนมแม่ มีส่วนสำคัญกับทารกมากกว่าที่คิด
หากทารกไม่ได้รับแลคโตเฟอรินจะเป็นอย่างไร
สารอาหารในนมแม่ที่เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของทารกในช่วงแรกเกิด ความจริงแล้วนอกจากโปรตีนแลคโตเฟอริน ก็ยังมีไลโซไซม์ (Lysozyme) หรือสารอาหารอื่น ๆ ที่ช่วยในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ไม่ว่าจะมองในมุมไหนการที่ลูกน้อยได้รับแลคโตเฟอรินจากนมแม่ก็ต้องเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเสมอ หากสารอาหารของทารกที่สำคัญเหล่านี้มีไม่มากพอ หรือไม่ได้รับเข้าสู่ร่างกายของทารกอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ตามมา คือ โอกาสที่ลูกจะเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ จะมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เกิดโรค ตัวอย่างเช่น
1. ลำไส้อักเสบ หรืออุจจาระร่วงเฉียบพลัน
เป็นโรคที่มักพบเจอในเด็กทารกได้บ่อย โดยเฉพาะเด็กทารกที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนเมือง หรือชุมชนแออัด โดยมาจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า “ไวรัสโรต้า (Rotavirus)” สามารถสังเกตอาการลำไส้อักเสบของลูกจากการถ่ายเหลว ลูกไอ มีอาการขาดน้ำทำให้ปากของทารกแห้ง กระหม่อมบุ๋ม ปัสสาวะได้น้อยลง และตัวเย็น เป็นต้น โดยสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโรคนี้ คือ ทารกมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง จนร่างกายช็อกนั่นเอง
2. โรคลำไส้กลืนกัน
สำหรับในทารกนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่มีการสันนิษฐานว่า โรคร้ายนี้อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณส่วนปลายของลำไส้เล็กมีขนาดที่โตขึ้นมากกว่าปกติ ส่งผลทำให้ลำไส้เล็กเกิดการมุดเข้าไปในลำไส้ใหญ่ได้ สำหรับอาการของทารกนั้นอาจสังเกตได้ไม่ชัดเจน โดยให้ดูว่าทารกร้องไห้มากกว่าปกติหรือไม่ อาจร้องไห้เป็นระยะ เพราะทารกจะมีอาการปวดท้อง นอกจากนี้ยังสังเกตอาการอื่น ๆ ได้ เช่น อุจจาระลูกเป็นเมือกแดง เป็นต้น
3. ทารกถ่ายเหลว ท้องเสีย
เป็นอาการที่พบได้ในทารก และเลี่ยงได้ค่อนข้างยาก สำหรับทารกที่กินนมแม่ อาจเกิดจากทารกแพ้อาหารบางชนิดที่คุณแม่กินก่อนให้นม ส่งผลให้มีการส่งต่อมาที่น้ำนมคุณแม่จนลูกท้องเสีย หากลูกไม่ได้กินนนมแม่ อาจมาจากการที่ลูกแพ้โปรตีนจากนมวัว ที่มาจากนมผงที่ลูกกำลังกิน ส่วนทารกที่สามารถเริ่มกินอาหารทั่วไปได้แล้ว พบว่ามีอาการท้องเสียจากเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่มาจากอาหาร หรือสิ่งแวดล้อม ประกอบกับร่างกายของทารกที่ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงร่วมด้วย
แม่ให้นมลูกไม่ได้ ลูกขาดโปรตีนแลคโตเฟอรินทำอย่างไรดี
เชื่อว่าคุณแม่ทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่า นมแม่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทารกเสมอ อย่างไรก็ตามโชคร้ายที่อาจมีคุณแม่บางคนที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ตามที่ต้องการ ซึ่งมักเป็นเหตุผลทางด้านการแพทย์ เช่น การที่คุณแม่มีโรคเสี่ยงต่อการส่งต่อเชื้อสู่ทารก ตัวอย่างเช่น เชื้อไวรัส HTLV-1, วัณโรค, เชื้อไวรัส CMV, โรค SLE หรือไวรัสตับอักเสบเอ และบี เป็นต้น รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น การรับยาบางชนิด หรือการตรวจพบนิโคตินในร่างกาย เป็นต้น
นอกจากปัจจัยที่กล่าวมา ยังมีเรื่องของอาการอื่น ๆ ทั้งอาการคัดเต้านม หรือคุณแม่ที่กำลังประสบปัญหาน้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอให้ลูกน้อยกิน สิ่งที่ตามมา คือ ทารกน้อยขาดโอกาสในการรับสารอาหารที่จำเป็นอย่างมาก ซึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหาเหล่านี้ก็มีอยู่หลายทางเลือก เช่น การปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับบริจาคน้ำนม กรณีที่ต้องการใช้นมผงแทนนมแม่ ควรรับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนเสมอ
น้ำนมเหลืองมีสารอาหารครบถ้วน น้ำนมเหลืองน้อยควรทำอย่างไร
อีกปัญหาหนึ่ง คือ การที่ร่างกายของคุณแม่ผลิตน้ำนมเหลือง แล้วไหลออกมาน้อยมาก ซึ่งน้ำนมเหลืองที่ดีที่สุดจะพบช่วง 1 – 3 วันหลังคลอดเท่านั้น แต่ปริมาณของนมระยะนี้จะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยสุขภาพของคุณแม่แต่ละคนด้วย และยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อปริมาณน้ำนมไม่ใช่แค่น้ำนมเหลืองเท่านั้น เช่น ภาวะความเครียด, ซึมเศร้า หรือโรคประจำตัวต่าง ๆ เป็นต้น การที่คุณแม่มีน้ำนมเหลืองให้ลูกกินน้อย ไม่ได้หมายความว่าทารกจะขาดโปรตีนแลคโตเฟอรินไปเลย เพราะน้ำนมเหลืองยังถูกผสมอยู่ในนมระยะต่อมาอยู่บ้าง
เพราะน้ำนมเหลืองถือเป็นน้ำนมระยะที่ดีที่สุดของทารก หากคุณแม่พบว่าวันแรกหลังคลอดมีน้ำนมเหลืองน้อยมาก วิธีการรับมือที่ดีที่สุด คือ การปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาแนวทางแก้ไข ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด นอกจากนี้หลังคลอดการดูแลตนเองอย่างดี ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม จะช่วยแก้ปัญหาน้ำนมไหลน้อยในเบื้องต้นได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ให้นมแม่ต้องรู้ ! ทำไมน้ำนมเหลืองดีที่สุดกับทารก มีแค่ 1-3 วันหลังคลอดเท่านั้น
แม่ให้นมสามารถกินอาหารเสริมที่มีแลคโตเฟอรินได้ไหม
ด้วยประโยชน์ของโปรตีนแลคโตเฟอริน ที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคในลำไส้ได้ และช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก โดยคุณสมบัตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับทารกเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ได้กับบุคคลทั่วไปอีกด้วย ส่งผลให้ในปัจจุบันมีอาหารเสริม หรือยาหลายชนิดที่มีส่วนผสมของโปรตีนแลคโตเฟอรินรวมอยู่ด้วย แต่สำหรับคนท้อง หรือคุณแม่ให้นมต้องระมัดระวังให้ดี
หากต้องการกินผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือยาใด ๆ นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง ควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อความปลอดภัย เพราะสิ่งที่คุณแม่ทาน จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ หรือทารกที่กินนมแม่ได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังต้องระวังปัจจัยอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น
- มีประวัติแพ้แลคโตเฟอริน แพ้ยา หรืออาหารเสริมชนิดอื่น ๆ มาก่อน
- คุณแม่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว โดยเฉพาะโรคพยาธิต่าง ๆ
- มีอาการแพ้อาหารบางชนิด เช่น แพ้เนื้อสัตว์ หรือมีอาการแพ้สารเคมี เช่น สารกันบูด หรือสีผสมอาหาร เป็นต้น
- ไม่เคยรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใด ๆ มาก่อน หรือมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
น้ำนมแม่เป็นสิ่งที่ทารกไม่ควรขาด อย่างน้อย 6 เดือน หากพบว่าตนเองมีปัญหาน้ำนมน้อยตั้งแต่วันแรก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำทันที ร่วมกับการดูแลสุขภาพในช่วงหลังคลอดให้ดีที่สุดด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
นมผงสำหรับเด็ก 1 เดือน วิธีเลือกนมผงหากให้นมแม่ไม่ได้
เติมนมแม่ลงในนมผงได้ไหม ใครทำอยู่หยุดด่วน ไม่ใช่ผลดีกับทารก
นมชงอยู่ได้กี่ชั่วโมง ? ก่อนลงมือชง คุณแม่มือใหม่อ่านก่อน
ที่มา : ncbi.nlm, hellokhunmor, my.clevelandclinic