เด็กเล็กเป็นวัยที่มักอยากรู้อยากเห็น ซึ่งบางครั้งเด็กก็พร้อมที่จะหยิบสิ่งของต่าง ๆ เข้าปากตลอดเวลา หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ทันระมัดระวัง ก็อาจทำให้สิ่งของนั้นไปอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือหลอดอาหารของลูกได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย วันนี้ theAsianparent Thailand จะพามาดูกันว่า ลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม เข้าไป ควรทำอย่างไร จะมีวิธีไหนช่วยลูกได้บ้าง มาติดตามกันค่ะ
รู้ได้อย่างไรว่าลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม
โดยทั่วไป หากเด็กกลืนสิ่งแปลกปลอมลงไป อาจมีอาการไอ สำลัก เจ็บคอ น้ำลายไหล และหายใจไม่สะดวก รวมทั้งมีน้ำลายปนเลือด กลืนอาหารได้ลำบาก ไม่ยอมทานอาหาร ปวดท้อง อาเจียน หรือกระทั่งถ่ายปนเลือด อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย เพราะขึ้นอยู่กับขนาด ชนิด ตำแหน่ง และระยะเวลาที่สิ่งแปลกปลอมนั้นติดอยู่ ดังนั้น หากลูกมีอาการผิดปกติใด ๆ ดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจดูร่างกายของลูก และควรรีบพาเขาไปพบแพทย์ทันที
ลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม ทำอย่างไร
หากลูกกลืนสิ่งแปลกปลอมลงไป คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติตัวเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
- งดน้ำ และอาหาร ก่อนพามาโรงพยาบาล
- นำตัวอย่าง รูป และขนาดของสิ่งของที่เด็กกลืนเข้าไปให้แพทย์ดู
- รีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเอกซเรย์บริเวณช่องออก และช่องท้อง เพื่อดูตำแหน่งของสิ่งแปลกปลอม
- หากเด็กไม่มีอาการใด ๆ ไม่ควรล้วงหรืออาเจียนออกมา เพราะสิ่งแปลกปลอมอาจหลุดจากทางเดินอาหารไปสู่ทางเดินหายใจได้
- หากเด็กมีอาการไอ สำลัก หรือหายใจไม่สะดวก แสดงว่าสิ่งแปลกปลอมที่กลืนเข้าไปอาจหลุดเข้าไปทางเดินหายใจแล้ว คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกมาโรงพยาบาลทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง : เมื่อลูก ก้างติดคอ ก้างปลาติดคอ จะปล่อยไว้ หรือควรพาไปหาหมอดี
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สำหรับวิธีการช่วยเหลือลูกเบื้องต้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ตามอายุของลูก ดังต่อไปนี้
1. เด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ
- ห้ามล้วงคอให้เด็ก หากมองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม และไม่ควรจับลูกห้อยหัวแล้วตบหลังเด็ดขาด เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปจนอุดหลอดลม
- จับเด็กนอนคว่ำบนท่อนแขนให้ศีรษะต่ำกว่าลำตัว แล้วใช้มือข้างที่ไม่ถนัด จับบริเวณขากรรไกรเพื่อประคอง แล้วใช้สันมือที่ถนัดกระแทกบริเวณกึ่งกลางของลูกอย่างแรง 5 ครั้ง
- จับเด็กนอนหงายบนท่อนแขนให้ศีรษะต่ำกว่าลำตัว จากนั้นใช้นิ้วชี้ และนิ้วกลางกดลงบนกระดูกกึ่งกลางหน้าอกลูกให้ต่ำกว่าหัวนมเล็กน้อย แล้วกดติดต่อกัน 5 ครั้ง
- ทำสลับไปมาระหว่างใช้ส้นมือกระแทกหลัง และกดกระแทกหน้าอก สลับกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา
- หากเด็กหมดสติ ให้รีบพาไปส่งโรงพยาบาล แล้วกดหน้าอกทันทีโดยไม่ต้องคลำชีพจร กดหน้าอก 30 ครั้งสลับกับช่วยหายใจ 2 ครั้ง จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกชอบเอาของเล่นชิ้นเล็ก ๆ เข้าปาก ใส่หู ใส่จมูก พ่อแม่ต้องป้องกันยังไง
2. เด็กอายุมากกว่า 1 ขวบ
- หากเด็กยังหายใจได้ ให้ตบหลังเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา
- หากลูกพูดไม่ได้ ให้ยืนข้างหลังเด็ก แล้วสอดแขนเข้าใต้รักแร้ จากนั้นกำมือ แล้ววางหัวแม่มือบริเวณกึ่งกลางท้องเด็ก สูงกว่าสะดือเล็กน้อย และกระตุกแรง ๆ จนกว่าสิ่งที่ติดคอลูกจะหลุดออกมา
- หากเด็กหมดสติ ให้นำตัวส่งโรงพยาบาลทันที พร้อมกับใช้มือยกคางขึ้น และดันศีรษะเด็กให้แหงนไปข้างหลังมากที่สุด เพื่อเปิดทางเดินหายใจ
- ช่วยเด็กให้หายใจด้วยการใช้นิ้วชี้ และนิ้วโป้งบีบจมูก จากนั้นเป่าลมเข้าปาก 2 ครั้ง ถ้ามองเห็นสิ่งแปลกปลอม ให้ใช้นิ้วกวาดสิ่งแปลกปลอมออกมา หากมองไม่เห็นห้ามใช้นิ้วกวาด เพราะอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจ
- กดหน้าอก และช่วยให้ลูกหายใจต่อเนื่อง โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง และช่วยหายใจ 2 ครั้ง ทำซ้ำกันประมาณ 5 รอบ จนกว่าแพทย์จะมาช่วยเหลือ หรือจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา
การรักษาเมื่อลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม
หากเด็กกลืนสิ่งแปลกปลอมที่ไม่คม และมีขนาดเล็ก โดยปกติแล้วมักจะออกมาผ่านทางเดินอาหารเองได้ โดยอาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หากเป็นสิ่งแปลกปลอมบางชนิด อาจต้องรีบเข้ารับการรักษา โดยใช้วิธีการส่องกล้อง เพื่อนำสิ่งแปลกปลอมออกมา โดยสิ่งแปลกปลอมที่ต้องรีบทำการผ่าตัดนั้น ตัวอย่างเช่น
- เหรียญ
- วัตถุแหลมคม
- กลืนแม่เหล็กมากกว่า 1 ชิ้น
- สิ่งแปลกปลอมที่มีพิษ เช่น ถ่านแบบกระดุม แบตเตอรี่
- สิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดยาวมากกว่า 5 เซนติเมตร หรือกว้างกว่า 2.25 เซนติเมตร
บทความที่เกี่ยวข้อง : สิ่งแปลกปลอมเข้า หู ตา จมูก ของลูก ต้องรีบปฐมพยาบาลลูกด่วน
การป้องกันไม่ให้ลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม
เด็กเล็กมีโอกาสที่จะหยิบ และกลืนสิ่งแปลกปลอมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงให้ลูกเล่นของเล่นที่มีขนาดเล็ก หรือสิ่งของที่มีขนาดเล็กที่เด็กสามารถหยิบเข้าปากได้ ที่สำคัญไม่ควรปล่อยให้ลูกเล่นคนเดียว เพราะหากเกิดเหตุอันตราย คุณพ่อคุณแม่ก็อาจช่วยลูกได้ไม่ทันเวลา เรามาดูวิธีป้องกันไม่ให้ลูกกลืนสิ่งแปลกปลอมกันค่ะ
- สอนลูกให้ห้ามนำสิ่งของที่ไม่ใช่อาหารเข้าปาก
- สอนลูกให้กินอาหารช้า ๆ ไม่รีบกิน และไม่กินขณะนอนราบ
- จัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบ โดยเฉพาะสิ่งของที่มีขนาดเล็ก ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก
- ไม่ให้ลูกพูด หัวเราะ หรือวิ่งเล่นขณะมีอาหารอยู่ในปาก เพราะอาจทำให้อาหารหลุดลงคอได้
- หากจะให้ลูกรับประทานผลไม้ที่มีเมล็ด เช่น ส้ม ลำไย องุ่น แตงโม ลิ้นจี่ ละมุด หรือน้อยหน่า ควรเอาเมล็ดออกให้ลูก และหั่นเป็นคำเล็ก ๆ ถ้าลูกยังฟันไม่แข็งแรง ควรบดให้ละเอียดก่อน
หาก ลูกกลืนสิ่งแปลกปลอม เข้าไป คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรรีบปฐมพยาบาลเด็กเบื้องต้น และห้ามล้วงคออย่างเด็ดขาด เพราะหากปล่อยให้สิ่งของติดคอลูกนานถึง 4 นาที ก็อาจทำให้สมองขาดออกซิเจน จนหัวใจหยุดเต้น หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กควรดูแลเขาอย่างใกล้ชิด ไม่ควรให้ลูกเล่นของเล่นที่มีขนาดเล็ก และหมั่นสังเกตด้วยว่าลูกอาการหายใจ หรือพูดผิดปกติไหม เพื่อจะได้ช่วยเหลือลูกได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ก้างติดคอ ทำไง ก้างปลาติดคอ ก้างติดคอลูก วิธีแก้ทำอย่างไร
9 ของเล่นเด็กอันตราย เสี่ยงอุบัติเหตุ พ่อแม่ควรระวัง ป้องกันลูกให้ปลอดภัย
ป้องกันลูกน้อยจากโรงรถ ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องซักรีด ป้องกันอย่างไรจึงปลอดภัย
ที่มา : painandpill, Samitivej Hospitals, sikarin