ทราบได้อย่างไรว่าลูกศีรษะโต?
คุณหมอจะวัดเส้นรอบศีรษะให้เด็ก ๆ ทุกคนตั้งแต่แรกเกิด โดยวัดจากส่วนที่นูนที่สุดเหนือคิ้ว ไปยังส่วนที่นูนที่สุดของท้ายทอย เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพเด็กเช่นเดียวกับการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง จึงวัดตั้งแต่ แรกเกิด และที่อายุ 1, 2, 4, 6, 9, และ 12 เดือน เมื่อมารับวัคซีนตามอายุ โดยเฉลี่ยจะทำการวัดทุก ๆ 2-3 เดือน ในขวบปีแรก และทุกๆครึ่งปี ไปจนอายุ 6 ปี เพื่อจะได้ทราบความผิดปกติและให้การดูแลได้อย่างรวดเร็วหากพบความผิดปกติของขนาดศีรษะ ซึ่งบอกถึงการเจริญเติบโตของสมองเด็ก โดยคุณหมอจะมีกราฟค่าปกติตามอายุไว้เปรียบเทียบค่ะ
ปัจจัยใดมีผลต่อขนาดศีรษะของลูกบ้าง?
ปัจจัยที่มีผลต่อขนาดศีรษะของลูกตามธรรมชาติ ได้แก่ อายุ เพศ และลักษณะทางพันธุกรรม ปกติศีรษะเด็กจะขยายขนาดเร็วมากที่สุดในช่วงขวบปีแรก โดยเฉพาะที่อายุ 3-6 เดือน หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นช้าลง และไม่เพิ่มขึ้นอีกเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เด็กผู้ชายจะมีเส้นรอบศีรษะมากกว่าเด็กผู้หญิงเล็กน้อยในช่วงวัยต่างๆ และในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่มีศีรษะโต โดยไม่ได้มีภาวะที่ผิดปกติใด ๆ ก็จะทำให้ลูกมีศีรษะโตกว่าค่าเฉลี่ยเด็กทั่วไปในเพศและวัยเดียวกันได้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ศีรษะโตผิดปกติจากโรค หรือความปกติอื่นๆของสมอง เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ยกตัวอย่างเช่น เนื้องอกในสมอง น้ำในสมอง เลือดออกในสมอง เด็กหัวบาตร หรือ กลุ่มอาการความผิดปกติต่างๆที่มีผลต่อสมอง
ทราบได้อย่างไรว่าลูกมีศีรษะโตแบบผิดปกติ?
หากคุณหมอวัดเส้นรอบศีรษะแล้วพบว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยอย่างชัดเจน จะทำการตรวจร่างกายเด็กโดยละเอียด เน้นที่การตรวจระบบประสาท เพื่อหาความผิดปกติของสมอง ประเมินพัฒนาการ หากสงสัยความผิดปกติ คุณหมอจะขอตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ultrasound, CT scan, MRI เพื่อหาความผิดปกติของสมอง ซึ่งถ้าผลการตรวจต่างๆปกติดี คุณหมอจะนัดเด็กมาดูอาการและวัดเส้นรอบศีรษะเป็นระยะ โดยคุณหมอจะแนะนำให้สังเกตอาการผิดปกติของระบบประสาทที่ต้องรีบมาโรงพยาบาล เช่น ซึมผิดปกติ อาเจียนพุ่ง ความผิดปกติของลูกตาและการมองเห็น เช่น ตามัว เห็นภาพซ้อน เป็นต้น แต่หากผลตรวจผิดปกติคุณหมอจะรีบทำการรักษาโดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็ก หรือมีผลน้อยที่สุด
เด็กศีรษะโตจะฉลาดกว่าปกติหรือไม่?
ขนาดของศีรษะที่ใหญ่ ไม่ได้บอกว่าเด็กจะมีสมองเยอะและฉลาดกว่าเด็กทั่วไปนะคะ ในทางตรงกันข้ามกลับต้องระวังความผิดปกติต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น หากเด็กมีศีรษะโตโดยไม่มีความผิดปกติอื่นๆก็ไม่น่าวิตกกังวล ส่วนเรื่องของความฉลาดอยู่ที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองมากกว่า ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมซึ่งก็คือการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุขค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกอาเจียนบ่อยๆ อาจเป็นโรคกรดไหลย้อนได้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!