เล็บขบ เป็นภาวะที่เล็บเท้าเกิดการงอกและทิ่มยาวลงไปในผิวหนัง ส่งผลกระทบทำให้เกิดอาการเจ็บ ปวด บวม แดง และติดเชื้อรุนแรงจนถึงขั้นมีหนองไหลออกมา ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา เชื้อก็สามารถแพร่กระจายไปยังกระดูกได้ ดังนั้น บทความวันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักเล็บขบกันให้มากยิ่งขึ้น ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดเล็บขบนั้นเกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร และเล็บขบหายเองได้หรือไม่ ถ้าพร้อมแล้ว มาตามไปดูพร้อมกันเลยค่ะ
สาเหตุของ เล็บขบ เกิดจากอะไร?
เล็บขบ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตรงบริเวณมุมของเล็บเท้ายาวลงไปลึกในผิวหนัง สาเหตุที่ทำให้เกิดเล็บขบบ่อย ๆ ก็คือการตัดเล็บเท้าที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะคนที่ชอบตัดเล็บเท้าสั้นจนเกินไป หรือโค้งมนจนเกินไป เล็บเท้าก็อาจจะงอกเข้าไปในผิวหนังได้ แล้วก็การสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมก็ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเล็บขบขึ้นได้เช่นกัน เช่น การที่คุณเลือกที่จะสวมใส่รองเท้าที่คับแน่นเกินไปจนไปกดเล็บเท้า หรือเลือกสวมใส่ถุงเท้าที่แน่นจนเกินไป
นอกจากนี้ การได้รับบาดเจ็บที่นิ้วเท้า เช่น ได้รับการโดนกระแทกบริเวณนิ้วเท้า ของหล่นใส่นิ้วเท้า เดินเตะของแข็ง หรือการโดนเหยียบ ก็อาจทำให้เกิดเล็บขบขึ้นได้ รวมถึงความบกพร่องทางพันธุกรรม หรือการที่คุณไม่ดูแลสุขอนามัยของบริเวณเล็บเท้าก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเล็บขบขึ้นได้เช่นกันค่ะ
อาการของเล็บขบ
สำหรับอาการของเล็บขบ อาการเริ่มแรกบริเวณที่เกิดเล็บขบจะมีอาการบวม และรู้สึกเจ็บปวดมาก ๆ เมื่อลองกดที่บริเวณนิ้วเท้า บริเวณรอบ ๆ นิ้วเท้าที่เกิดเล็บขบก็จะมีรอยแดงเกิดขึ้น และยิ่งถ้าหากเล็บงอกเข้าไปในผิวหนัง แบคทีเรียก็จะสามารถเข้าไปในเล็บได้ง่าย และเล็บอาจติดเชื้อได้จนก่อตัวเป็นของเหลวหรือหนองบริเวณรอบ ๆ นิ้วเท้า และถ้าหากไปกระทบกระเทือนก็อาจจะมีหนองไหลออกมาจากนิ้วเท้าได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตัดเล็บขบ ตอนท้อง ก้มตัดก็ไม่ถึง เจ็บก็เจ็บ รับมืออย่างไร
เล็บขบหายเองได้ไหม?
เล็บขบ ถ้าหากไม่ได้มีอาการที่รุนแรงก็สามารถหายได้เอง ซึ่งอาการที่ไม่รุนแรงมากก็อย่างเช่น มีอาการปวด หรือบวมแดงเล็กน้อย ซึ่งคุณสามารถดูแลรักษาให้หายเองได้ง่าย ๆ เพียงแค่แช่เท้าลงในน้ำอุ่น ประมาณ 15-20 นาที แช่อย่างนี้ไปประมาณ 3-4 ครั้ง ต่อวัน เพื่อที่จะทำให้เล็บเท้าของคุณมีความอ่อนนุ่มขึ้น และสามารถบรรเทาอาการปวดได้ดีเลย
จากนั้นคุณก็อาจจะทำการตัดเล็บส่วนเกินที่ไม่เจ็บออก เพื่อไม่ให้มีสิ่งสกปรกค้างอยู่ และลดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อรุนแรงขึ้น และใช้แอลกอฮอล์ เช็ดทำความสะอาดเล็บให้สะอาด และถ้าคุณมีอาการปวดที่ไม่รุนแรงมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวด หรือยาลดอาการอักเสบ เช่น ยาโพลิมิกซิน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และลดการอักเสบร่วมด้วยได้ค่ะ แล้วควรปรับพฤติกรรมเลิกสวมใส่รองเท้าที่คับแน่นเท้าจนเกินไปนะคะ
การวินิจฉัยเล็บขบ
สำหรับการวินิจฉัยอาการของเล็บขบ แพทย์ก็จะเริ่มทำการวินิจฉัยจากการตรวจดูอาการที่เกิดขึ้น และตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของเล็บเท้า รวมถึงบริเวณผิวหนังโดยรอบที่มีอาการ และถ้าหากบริเวณเล็บเท้าที่เกิดเล็บขบขึ้นนั้นมีการติดเชื้อเกิดขึ้น ก็อาจจะต้องทำการเอกซเรย์ เพื่อดูว่าเล็บเท้าทิ่มลงไปลึกแค่ไหน และอาจมีการเก็บตัวอย่างเชื้อ เพื่อระบุการติดเชื้อว่ามีการติดเชื้อรุนแรงมากแค่ไหน และทำการรักษาต่อไปด้วยวิธีที่เหมาะสม
ภาวะแทรกซ้อนของเล็บขบมีอะไรบ้าง?
สำหรับกรณีที่เล็บขบของคุณนั้นเกิดอาการติดเชื้อ และถ้าหากปล่อยไว้โดยที่ไม่ทำการรักษา อาจทำให้การติดเชื้อลุกลามไปในกระดูกนิ้วเท้าได้ และอาจทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อบริเวณที่มีการติดเชื้อ และถ้าหากเกิดเล็บขบที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ก็อาจจะทำให้เกิดเล็บขบขึ้นได้บ่อย ๆ หรือเกิดขึ้นหลาย ๆ นิ้วพร้อมกัน ซึ่งถ้าหากเกิดแบบนี้ขึ้นก็อาจจะทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณได้ ซึ่งอาจจะมีอาการเจ็บปวด การติดเชื้อ ที่เกิด และต้องได้รับการรักษาต่าง ๆ จนกว่าจะหายดี ถึงจะกลับมาเดินได้อย่างสะดวกสบายอีกครั้ง
เล็บขบสามารถป้องกันได้อย่างไร?
สำหรับในส่วนของการป้องกันเล็บขบ สามารถป้องกันได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตง่าย ๆ เช่น
- เรื่องความสะอาด ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเล็บขบขึ้น คุณควรล้างเท้าให้สะอาดเป็นประจำทุกวัน และหลังจากที่ล้างสะอาดแล้ว ก็ควรหมั่นทำให้เท้าแห้ง ไม่ควรปล่อยให้เท้าเกิดความอับชื้น
- คุณจะต้องตัดเล็บเท้าให้ถูกวิธี ควรตัดเล็บเท้าให้ตรง และไม่ควรตัดเล็บให้บริเวณขอบของเล็บเท้าให้โค้งมนจนเกินไป
- คุณควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่คับแน่นจนเกินไป รวมไปถึงถุงเท้า ควรเลือกสวมใส่รองเท้า และถุงเท้าที่พอดีเหมาะสม
- คุณควรหลีกเลี่ยงการตัดเล็บเท้าให้สั้นเกินไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : เมื่อลูกเล็บขบ เรามาหาวิธีทำให้จบแบบลูกน้อยไม่เจ็บกันอยางไร?
วิธีดูแลเล็บเท้าให้สะอาดแบบง่าย ๆ
แปรงขัดเท้าตัวช่วยที่ดี
ล้างเท้าทั้งสองข้างให้สะอาด จากนั้นก็นำเท้าลงไปแช่ลงในภาชนะที่มีขนาดใหญ่พอดีที่จะวางเท้าลงไปได้ จากนั้นก็เติมน้ำลงไปสำหรับแช่เท้า แนะนำให้ใช้เป็นน้ำอุ่นจะดีที่สุดนะคะ จากนั้นให้ใช้สบู่ฟอกทำความสะอาดเท้า และเริ่มใช้แปรงขัดเท้า เน้นตรงซอกเล็บเป็นหลัก แนะนำให้ทำอย่างเบามือนะคะ จากนั้นก็ล้างทำความสะอาดเท้าได้เลย
ตัดเล็บเท้า
ขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนในการตัดเล็บเท้า ไม่ควรตัดเล็บเท้าลึกตามซอกเล็บ หรือสั้นจนเกินไปนะคะ ไม่อย่างนั้นอาจจะส่งผลทำให้เกิดเป็นเล็บขบขึ้นได้ ให้ตัดปลายให้ตรงธรรมดา ไม่ให้ทรงเล็บไม่โค้งมนจนทิ่มเข้าไปในเนื้อเล็บก็เพียงพอแล้วค่ะ จากนั้นก็ทำการตะไบเล็บให้ความคมหายไป และทำให้หน้าเล็บเงางามขึ้นค่ะ
บำรุงด้วยมอยส์เจอไรเซอร์
หลังจากทำความสะอาด และตัดเล็บเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แนะนำให้ทาบำรุงด้วยมอยส์เจอไรเซอร์ที่เท้าและบริเวณเล็บเท้าด้วยนะคะ เพื่อที่จะได้ช่วยให้เท้าเนียนนุ่ม ไม่แห้งแตก และให้เล็บมีสุขภาพดีขึ้นค่ะ
เป็นอย่างกันบ้างคะ สำหรับข้อมูลที่เรานำมาฝากกันวันนี้ เล็บขบ สามารถเกิดได้กับทุกเพศ และทุกช่วงวัย ซึ่งการเป็นเล็บขบ ถือเป็นสิ่งที่น่ารำคาญใจที่เกิดกับร่างกาย เพราะมันจะมีอาการทำให้รู้สึกเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าหากใครที่เริ่มเป็นระยะแรกแนะนำให้รีบทำการรักษาโดยเร็ว ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนอาการเริ่มรุนแรงขึ้น แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเริ่มอักเสบจนติดเชื้อมีหนองเกิดขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที อย่าพยายามตัดเล็บด้วยตัวเองที่บ้านนะคะ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้สำหรับทุกคนนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แชร์! วิธีรักษาเล็บขบ แบบง่าย ๆ ไม่ต้องทนเจ็บอีกต่อไป!
อย่าหาทำ ! น้ำยาทาเล็บทาฟันขาว อันตรายห้ามใช้ มีสารก่อมะเร็งหลายชนิด !
เคล็ด(ไม่)ลับ ! วิธีเลือกครีมบำรุงเล็บ เพื่อสุขภาพเล็บที่สวย แข็งแรง ไม่เปราะง่าย
ที่มา : salehere.co.th , pobpad.com , sanook.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!