โรคถุงน้ำลูกอัณฑะเป็นภาวะที่มีการสะสมของน้ำอยู่รอบ ๆ ลูกอัณฑะ ส่งผลให้ถุงอัณฑะโป่งพองออกมา ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่สาเหตุของการเกิดนั้นจะแตกต่างกัน ส่วนใหญ่มักพบบ่อยในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี โดยโรคนี้ไม่ได้มีอันตรายเท่าไรนัก และส่วนใหญ่มักจะหายได้เองไม่ต้องเข้ารับการรักษาอะไรเลยค่ะ วันนี้เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับ โรคถุงน้ำในอัณฑะ มาฝากทุก ๆ คน รวมถึงวิธีการรับมือต่าง ๆ จะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้างตามไปอ่านต่อด้านล่างได้เลยค่ะ
อาการของ โรคถุงน้ำในอัณฑะ เป็นอย่างไร ?
อย่างที่ได้เกริ่นไปข้างต้นนะคะว่าโรคถุงน้ำในอัณฑะมักพบได้บ่อยในเด็ก โดยปกติแล้วลูกอัณฑะมีเยื่อห่อหุ้มอยู่ 2 ชั้น และมีช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มทั้ง 2 ชั้น ซึ่งตรงนี้จะมีของเหลวเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อช่วยในการหล่อลื่น แต่บางครั้งก็มีของเหลวอยู่ในช่องนั้นเป็นจำนวนมากได้เหมือนกัน จึงทำให้กลายเป็นถุงน้ำหรือที่เราเรียกว่า “ถุงน้ำในลูกอัณฑะ” อาการโดยรวมจะมีลักษณะเป็นก้อนนุ่ม ๆ ที่ลูกอัณฑะข้างหนึ่งข้างใด โดยจะไม่ยุบหายไม่ว่าจะอยู่ในท่าใดก็ตาม เมื่อใช้ไฟฉายส่องจะเห็นเป็นแบบโปร่งแสงและภายในจะมีของเหลวใสที่สามารถเจาะดูดออกให้ยุบได้ แต่ไม่ช้ามันก็โตขึ้นอีกเหมือนเดิมค่ะ ซึ่งอาจเกิดขึ้นตั้งแต่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุหรือเกิดภายหลังได้รับบาดเจ็บหรือมีการอักเสบของลูกอัณฑะก็ได้เช่นกัน
สำหรับโรคนี้อาจจะพบได้ในผู้ชายทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงคนสูงอายุเลยค่ะ โดยโรคนี้ส่วนใหญ่แล้ว มักจะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ นอกจากมันจะโตมาก ๆ จนทำให้รู้สึกเดินไม่ถนัดหรือปัสสาวะไม่สะดวกค่ะ
ในส่วนของวิธีการรักษา ถ้าเกิดขึ้นในเด็กเล็กก็แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลยค่ะ เพราะมันสามารถหายได้เองเมื่อเด็กอายุเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าในกรณีที่มันโตมากหรือไม่ยอมยุบหาย แนะนำไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลอย่าปล่อยเรื้อรัง ส่วนในรายที่ผ่าตัดไม่ได้อย่างเช่นคนสูงอายุที่อาจเสี่ยงต่อการผ่าตัด ก็สามารถรักษาได้ด้วยการใช้เข็มเจาะดูดเอาน้ำออก แต่มันเป็นการช่วยให้ยุบหายเพียงชั่วคราวเท่านั้น ภายในไม่กี่เดือนก็อาจกลับมาโตได้อีก
บทความที่เกี่ยวข้อง : เส้นเลือดขอดในถุงอัณฑะ ของคุณผู้ชาย อีกปัจจัยทำให้ มีลูกยาก
สาเหตุของโรคถุงน้ำในอัณฑะ
โรคถุงน้ำลูกอัณฑะในเด็ก เริ่มเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงที่ทารกมีพัฒนาการในครรภ์ของคุณแม่ เพราะปกติร่างกายจะสร้างถุงน้ำหุ้มล้อมรอบลูกอัณฑะ หลังจากนั้นถุงอัณฑะจะปิดตัวแล้วของเหลวจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายช่วง 1 ปีแรกของการคลอด แต่เด็กที่มีภาวะโรคถุงน้ำลูกอัณฑะในเด็กจะเกิดความผิดปกติภายในถุงอัณฑะ โดยแบ่งออกสาเหตุดังนี้
- ถุงน้ำอัณฑะชนิดไม่ติดต่อกับช่องท้อง คือ ภาวะที่มีของเหลวติดค้างอยู่ในถุงอัณฑะหลังจากที่ถุงอัณฑะปิด แต่ของเหลวไม่ได้ถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายไปด้วย
- ถุงน้ำอัณฑะชนิดมีทางติดต่อกับช่องท้อง เกิดขึ้นจากถุงน้ำที่ล้อมรอบลูกอัณฑะยังที่เปิดอยู่ ทำให้ของเหลวสามารถผ่านเข้าและออกภายในถุงอัณฑะได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในทารกที่คลอดก่อนกำหนด
สำหรับโรคถุงน้ำลูกอัณฑะในวัยผู้ใหญ่ สาเหตุหลัก ๆ มาจากถุงอัณฑะปิดตัวไม่สนิท จึงทำให้เกิดการอักเสบที่ถุงอัณฑะ พอได้รับบาดเจ็บบริเวณถุงอัณฑะ หรือติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ก็มีส่วนทำให้ของเหลวบริเวณท้องไหลเข้าสู่ถุงอัณฑะได้ ส่วนมากพบในผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี
การวินิจฉัยโรคถุงน้ำในอัณฑะ
เริ่มต้นแพทย์จะวินิจฉัยจากการสังเกตอาการ การตรวจร่างกายเบื้องต้น และตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจจับก้อนบวมบริเวณอัณฑะด้วยวิธีการคลำ การตรวจดูของเหลวสะสมด้วยการฉายไฟ การกดหน้าท้องพร้อมกับให้ผู้ป่วยไอเพื่อจะได้แยกอาการออกจากโรคไส้เลื่อนขาหนีบ การตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อ การตรวจด้วยภาพถ่ายรังสี อัลตราซาวนด์ เป็นต้น
การรักษาโรคถุงน้ำในอัณฑะ
โดยทั่วไปถ้าโรคนี้เกิดในเด็กมันจะหายไปเองภายในเวลาประมาณ 1 ปี และในผู้ใหญ่จะหายเองภายใน 6 เดือน แต่ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นเลย จนถุงอัณฑะบวมทำให้ใช้ชีวิตไม่สะดวก หรืออาจจะมีอาการของโรคไส้เลื่อนร่วมด้วย ทางทีมแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการผ่าตัด โดยจะฉีดยาชาและผ่าแถว ๆ ช่องท้องหรือถุงอัณฑะ เพื่อจะได้ระบายของเหลวออกจากถุงอัณฑะค่ะ
และการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนี้ จะเป็นเพียงการผ่าตัดขนาดเล็ก ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกันหลังผ่าตัดเลยค่ะ แต่บางรายถ้ามีอาการหนักก็อาจจำเป็นจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดต่อสัก 2-3 วัน เพราะต้องใส่ท่อระบายของเหลว รวมถึงการผ่าตัดในเด็กที่จำเป็นต้องใช้วิธีการดมยาสลบและพักฟื้นเป็นเวลา 1-2 วัน
นอกจากนี้ ทางทีมแพทย์เองก็อาจเลือกใช้เข็มฉีดยาดูดของเหลวออกมาจากถุงน้ำแทนการผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อต้องผ่าตัด และบางรายอาจต้องฉีดยาเพื่อป้องกันของเหลวเข้าสู่ถุงน้ำซ้ำ โดยหลังการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณถุงอัณฑะชั่วคราวด้วยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาการผิดปกติของอวัยวะเพศชาย ในทารก สังเกตอย่างไร? คุณแม่มาดูกัน!
ภาวะแทรกซ้อนของโรคถุงน้ำในอัณฑะ
โรคถุงน้ำในอัณฑะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการมีบุตร แต่อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น ถุงอัณฑะขยายตัวใหญ่ขึ้น การติดเชื้อ หรือเนื้องอกที่ส่งผลต่อการผลิตรวมไปจนถึงการทำงานของอสุจิ ภาวะอัณฑะบิดขั้ว โรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ และอาจเป็นอันตรายจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
วิธีการป้องกันโรคถุงน้ำในอัณฑะ
วิธีการป้องกันโรคถุงอัณฑะจากการได้รับบาดเจ็บในชีวิตประจำวัน ซึ่งการเล่นกีฬามีส่วนช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคถุงอัณฑะได้ค่ะ และควรสังเกตความผิดปกติในร่างกายอยู่สม่ำเสมอ เมื่อพบว่าบริเวณถุงอัณฑะมีอาการบวมหรือเกิดความผิดปกติขึ้น ให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย รักษา และป้องกันภาวะอาการรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตให้ถูกวิธี
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า โรคถุงน้ำในอัณฑะ ไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรงเท่าไร ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเด็กหรือกับผู้ใหญ่ มันก็สามารถหายได้เอง โดยไม่ต้องรักษา แต่ถ้าเกิดว่ามันส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น เดินไม่ถนัด มีอาการบวม ปัสสาวะไม่ได้ ควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ อาการที่เด็กเล็กอายุ 6-8 ปีก็เสี่ยงได้
ลูกปวดท้อง แบบไหนเป็นสัญญาณของ 4 โรคร้าย ที่พ่อแม่ต้องระวัง
ลูกขวบเดียว ชอบร้องตอนอาบน้ำ มีก้อนนูนตรงขาหนีบ ไม่น่าเชื่อ! โรคนี้เด็กก็เป็นได้