ลูกน้อยในช่วงวัย 0-6 ปี อันเป็นช่วงเวลาทองของการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว พัฒนาการทางสมองและร่างกายพร้อมเปิดรับการเรียนรู้ตามธรรมชาติอย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น ไม่ว่าจะเห็นอะไรลูกก็จะสนใจไปทั้งหมด ซึ่งในยุคดิจิทัลที่ทุกสิ่งหมุนอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน สมาร์ทโฟนเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิต และเป็นสิ่งดึงดูดทุกคนในครอบครัวได้เป็นอย่างดี ทำให้หากคุณพ่อคุณแม่หลุดโฟกัสไปจากลูกเพียงเสี้ยวเวลา รูปแบบและวิธีการเรียนรู้ของลูกก็อาจเปลี่ยนไป กลายเป็นการจดจ่ออยู่กับหน้าจอ ที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ รวมทั้งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงทำให้ ลูกสมาธิสั้น อีกด้วย
สมาธิสั้น คืออะไร
สมาธิสั้น หรือ attention-deficit hyperactivity disorder (ADHD) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กค่ะ ในประเทศไทยพบประมาณ 3-5% ของเด็กในวัยเรียน โดยเฉพาะช่วงอายุระหว่าง 3-7 ปี
ภาวะสมาธิสั้นนี้เกิดจากความผิดปกติของสมอง ซึ่งจะทำให้ลูกน้อย ซนมากกว่าปกติ อยู่ไม่นิ่ง เสียงดัง ขาดสมาธิ ขี้ลืม ใจร้อน ฯลฯ อาจส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และการเข้าสังคม เนื่องจากลูกน้อยจะไม่มีสมาธิในการทำงานหรือเล่น ไม่สามารถตั้งใจฟังสิ่งต่าง ๆ ได้นาน
สัญญาณที่บ่งบอกว่า ลูกสมาธิสั้น อาการ เป็นอย่างไร
อาการที่แสดงออกชัดว่า ลูกสมาธิสั้น ก็คือ ไม่มีสมาธิ วอกแวกง่าย อยู่ไม่นิ่ง ซน ควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ยาก และหุนหันพลันแล่น รอคอยไม่ได้ หรือชอบพูดโพล่ง เด็กบางคนจะมีความผิดปกติของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับอายุและระดับพัฒนาการ โดยมักมีอาการแสดงก่อนช่วงอายุ 7 ปี และมีอาการต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตอาการลูกน้อยได้จาก 3 กลุ่มอาการหลัก คือ
1) สมาธิสั้น (Inattention)
- วอกแวกง่าย ตั้งสมาธิลำบาก
- ไม่ฟังเมื่อมีคนพูดด้วย
- ทำตามคำสั่ง หรือทำกิจกรรมไม่สำเร็จ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายาม
- เลินเล่อ ทำของหายบ่อย ๆ
- จัดระเบียบกิจกรรมไม่ได้ หรือทำได้ยากมาก
- ลืมกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำสม่ำเสมอ
2) ซน ไม่อยู่นิ่ง (Hyperactivity)
- อยู่นิ่งไม่ได้ ขยับตัวไปมาอยู่แทบจะตลอดเวลา นั่งไม่ติดที่ ต้องลุกเดินไปมา
- ซนมากกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
- มักจะวิ่งวุ่น หรือปีนป่ายในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม
- ไม่สามารถเล่นเงียบ ๆ ได้
- พูดมากเกินไป
3) หุนหันพลันแล่น (Impulsiveness) ไม่สามารถรอคอยได้ และชอบพูดโพล่ง พูดขัดจังหวะ หรือสอดแทรกผู้อื่นในวงสนทนา
สาเหตุที่ทำให้ ลูกสมาธิสั้น
อาการสมาธิสั้นสามารถแสดงออกตั้งแต่ในวัยเด็ก และส่วนใหญ่มักเป็นต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ซึ่งในทางกายภาพนั้นพบว่า สมองส่วนที่มีหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับสมาธิและความยับยั้งชั่งใจของเด็กสมาธิสั้น มักจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ หรือทำงานได้น้อยกว่าปกติ รวมถึงมีสารสื่อประสาท เช่น Dopamine และ Epinephrine ที่น้อยกว่าปกติ โดยสาเหตุของการเกิดโรคสมาธิสั้นในเด็กนั้น คือ
- การถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นโรคสมาธิสั้น มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเด็กคนอื่น ๆ ถึง 4 เท่า
- กรณีคุณพ่อคุณแม่ติดบุหรี่ เหล้า สารเสพติด หรือป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคสมาธิสั้นได้
- การที่คุณแม่ขาดสารอาหาร หรือถูกสารพิษบางชนิด เช่น ตะกั่ว ในระหว่างตั้งครรภ์ ก็จะมีโอกาสทำให้ลูกเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้น
ทั้งนี้ 30-40% ของเด็กสมาธิสั้นจะพบความบกพร่องในทักษะการเรียน (learning Disorders) ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูไม่ได้ทำให้ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น เป็นเพียงปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง แต่จะส่งผลให้เกิดภาวะสมาธิสั้นเทียมได้ เช่น หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกน้อยอยู่กับหน้าจอ (ทีวี โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต) มากจนเกินไป จะส่งผลให้พัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ของลูกถูกจำกัดได้ ไม่ได้นำออกมาใช้ในการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ อาจนำไปสู่ อาการสมาธิสั้น หรือ โรคสมาธิสั้นเทียม (Pseudo-Attention deficit / Hyperactivity disorder) (Pseudo-ADHD) ซึ่งเป็นภาวะที่คล้ายกับโรคสมาธิสั้นค่ะ
ลูกสมาธิสั้น แก้ไขอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบพัฒนาการและการเรียนรู้
เนื่องจากการที่ ลูกสมาธิสั้น จะทำให้เขามีปัญหาในการควบคุมพฤติกรรมของตนเอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็จะส่งผลต่อการเรียนและการเข้าสังคมกับผู้อื่น ทั้งนี้ เด็กสมาธิสั้นมักถูกทำโทษหรือถูกตำหนิบ่อย ๆ มีผลการเรียนที่ไม่ดี มีปัญหาในการเข้ากับเพื่อน รู้สึกโดดเดี่ยว ไร้ค่า ขาดความภูมิใจในตนเอง มีความเสี่ยงที่จะซึมเศร้า ก้าวร้าว รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติด ดังนั้น ลูกสมาธิสั้น จึงเป็น ปัญหาที่ต้องแก้ไข เพื่อไม่ให้กระทบพัฒนาการลูกนะคะ
วิธีแก้เด็กสมาธิสั้น ไม่ให้โรคสมาธิสั้นปิดกั้นพัฒนาการลูก
เมื่อลูกสมาธิสั้น ทำไงดี ต้องบอกว่า โดยปกติแล้ว ประมาณ 20-30% ของเด็กสมาธิสั้น มีโอกาสจะหายได้เองเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น สามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ตามปกติโดยไม่ต้องใช้ยา แต่ส่วนใหญ่จะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ แม้จะซนน้อยลง ก็ยังส่งผลต่อการศึกษา การทำงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น จึงควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในทางการแพทย์ระบุชัดเจนว่า โรคสมาธิสั้นสามารถรักษาได้ ทั้งด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย คือ
- กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมองและประสาทส่วนกลาง เช่น Methylphenidate
- กลุ่มยาที่ไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมองหรือประสาทส่วนกลาง เช่น Atomoxetine, Clonidine และยารักษาอาการซึมเศร้า
ดังนั้น กรณีที่คุณพ่อคุณแม่ว่าลูกสมาธิสั้น ก็สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมได้ค่ะ
รักษา ลูกสมาธิสั้น ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ในกรณีที่ลูกน้อยอยู่ในวัยก่อนวัยเรียน และคุณพ่อคุณแม่สังเกตรวมถึงประเมินแล้วว่าลูกมีความเสี่ยงจะมีภาวะสมาธิสั้น ลองเริ่มการปรับพฤติกรรมลูกจากการทำกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการและสมาธิของเขาสิคะ
- ชวนลูกเล่นเกม เช่น ต่อจิ๊กซอว์ จับคู่ภาพ ปริศนาอักษรไขว้ (Crossword) โดยเริ่มต้นจำนวนชิ้น จำนวนภาพ หรือจำนวนคำที่ใช้จากน้อยไปมาก จากใช้เวลา 5-10 นาทีต่อครั้ง ก็ค่อย ๆ เพิ่มไปจนเขาสามารถจดจ่อกับสิ่งที่กำลังเล่นอย่างสนุกได้สัก 30 นาที-1 ชั่วโมง
- ส่งเสริมให้ลูกได้ทำกิจกรรมเสริมทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างสมาธิ อาทิ เล่นดนตรี ร้องเพลง วาดภาพระบายสี หรือทำงานประดิษฐ์อย่างการร้อยลูกปัดง่าย ๆ เป็นต้น
ส่วนในกรณีที่ ลูกเข้าสู่วัยเรียน และมีพฤติกรรมที่แสดงชัดว่ามีภาวะสมาธิสั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจาก
- กำหนดกิจวัตรประจำวันให้เป็นระเบียบแบบแผน โดยจัดทำตารางเวลาให้ชัดเจนว่ากิจกรรมในแต่ละวันที่ลูกน้อยต้องทำมีอะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน เช่น ตื่นเช้า อาบน้ำ แต่งตัวไปโรงเรียน กลับจากโรงเรียนต้องทำการบ้าน กินข้าว อาบน้ำ แล้วจึงจะได้ดูทีวี จนกระทั่งเข้านอนในเวลาที่เหมาะสม
- โฟกัสเฉพาะจุด เช่น ช่วงเวลาของการทำการบ้าน จะต้องไม่มีสิ่งอื่นมารบกวนสมาธิหรือดึงดูดความสนใจลูกน้อยออกไปจากการบ้าน ไม่เปิดทีวี ไม่มี IPad แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถืออยู่ใกล้ ๆ มีเพียงความเงียบสงบเหมาะกับการสร้างสมาธิเท่านั้น
- แบ่งสิ่งที่ลูกต้องทำให้เขาทำทีละน้อย เป็นขั้นตอน และคอยอยู่กำกับให้ทำจนเสร็จ แล้วจึงเริ่มให้ทำงานใหม่ หรือสิ่งใหม่ เช่น ให้ลูกเก็บของเล่นลงกล่อง เสร็จแล้วจึงให้ยกกล่องของเล่นไปเก็บในตู้
- พูดในขณะที่ลูกพร้อมที่จะฟัง โดยรอจังหวะที่เหมาะสม ไม่พูดขณะที่เขากำลังเล่นสนุก หรือบอกก่อนว่าให้ลูกตั้งใจฟัง โดยใช้คำพูดที่สั้น กระชับ ได้ใจความมากที่สุด ไม่เยิ่นเย้อ หรือใส่อารมณ์ด้านลบ
- บอกลูกล่วงหน้าว่ามีอะไรที่อยากให้เขาทำ และเมื่อเขาทำได้อย่าลืมมอบคำชมเป็นกำลังใจให้ลูกน้อยทันที อาจเป็นคำพูดสั้น ๆ หรือการยกนิ้วโป้ง รวมถึงการโอบกอดลูกด้วยความรัก จะทำให้ลูกภูมิใจและอยากทำพฤติกรรมที่ดีนั้นอีกครั้ง และอีกครั้ง แต่หากลูกยังทำไม่ได้ อย่าตำหนินะคะ ค่อย ๆ ประคับประคองและปรับกันไปจนกว่าเขาจะทำได้สำเร็จก็พอค่ะ
- เมื่อไรก็ตามที่ลูกทำความผิด หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากสมาธิสั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องสงบอารมณ์ตัวเองไม่ให้โกรธ หงุดหงิด หรือแสดงความไม่พอใจนะคะ แต่ควรใช้ท่าทีจริงจังในการจัดการ โดยอาจแยกให้ลูกอยู่ในมุมสงบตามลำพังชั่วคราว หรือลงโทษด้วยวิธีที่ไม่รุนแรงและเป็นไปตามข้อตกลง เช่น ลดเวลาดูทีวี จำนวนชั่วโมงการเล่น ไม่ควรลงโทษทางกายรุนแรง ตวาด หรือต่อว่าลูกด้วยอารมณ์
- ลูกที่มีภาวะสมาธิสั้นอาจดูเหมือนมีพลังงานเหลือล้นค่ะ ดังนั้น ลองให้เขาได้ใช้พลังงานและการไม่ชอบอยู่นิ่งให้เป็นประโยชน์ เช่น ชวนเขาทำงานบ้านที่สามารถช่วยกันทั้งครอบครัวได้ อาทิ ล้างรถ รดน้ำต้นไม้ หรือเล่นโยนบอล รับ-ส่งบอล ฯลฯ
Role Model สำคัญมาก
ในการปรับพฤติกรรมทุกอย่าง ของลูกน้อยทุกช่วงวัย สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่ต้องจำให้ขึ้นใจคือ การเป็นแบบอย่าง (Role Model) ให้ลูกค่ะ เพราะลูกในช่วงก่อนวัยเรียนตั้งแต่ 2 ขวบ มีพัฒนาการด้านการเลียนแบบที่โดดเด่นมาก คุณพ่อคุณแม่ทำอะไร เป็นแบบไหน เขาพร้อมสวมบทบาทเดียวกันทันที ดังนั้น หากต้องการปรับพฤติกรรม สร้างสมาธิให้ลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี และช่วยฝึกลูกให้มีวินัย อดทนรอคอย บริหารเวลา และจัดระเบียบในการทำกิจกรรมอย่างเป็นระบบนะคะ
และใช่ค่ะ… หากกลัวว่า “หน้าจอ” ต่าง ๆ จะดึงความสนใจของลูกน้อยไป จนเขาไม่สามารถโฟกัสกิจกรรมที่ตั้งใจให้ทำได้ นอกจากจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เงียบ สงบ เหมาะกับการสร้างสมาธิแล้ว ในบรรยากาศ ณ ขณะนั้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเก็บออกไปเช่นกันค่ะ เพราะถ้า Role Model ที่เอ่ยปากให้ลูกทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ กำลังก้มหน้าก้มตาเลื่อนหน้าจอมือถือดูไปเรื่อย ๆ ลูกก็จะคิดว่าพ่อแม่ทำได้ เขาก็ทำได้เช่นกัน ดังนั้น ให้ช่วงทำกิจกกรรมของลูก เป็นเวลาคุณภาพของครอบครัวกันนะคะ
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคสมาธิสั้น มีความเป็นไปได้ว่าอาจต้องใช้การปรับพฤติกรรมควบคู่ไปกับการใช้ยา ดังนั้น หากมีความกังวลใจ ไม่มั่นใจ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ปรึกษาแพทย์หรือกุมารแพทย์ก่อนดีที่สุดนะคะ เพื่อจะได้ตั้งเป้าหมายการรักษาได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด และสัมฤทธิ์ผลค่ะ
ที่มา : www.sosthailand.org , www.nakornthon.com , www.sikarin.com/health , www.samitivejhospitals.com , pharmacy.mahidol.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
16 เกมส์สำหรับเด็ก กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการเด็กเล็ก ที่พ่อแม่ทำเองได้ง่าย ๆ
20 คำถามหลังเลิกเรียน ที่ควรถามลูกหลังกลับจากโรงเรียน
พฤติกรรมเลียนแบบของลูก ตัวอย่างที่ดีที่สุดของลูกคือพ่อแม่