ปัญหาเด็กซน เด็กดื้อ อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ เป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หนักใจ และตั้งข้อสงสัยกันอยู่บ่อยครั้งว่าพฤติกรรมของลูกรักนั้นเข้าข่ายหรือบ่งชี้ว่าเป็นโรคสมาธิสั้นในเด็กหรือไม่ ทั้งยังมีความกังวลใจว่าหากลูกของเราเป็นเด็กดื้อ เด็กซน หรือมีอาการลูกสมาธิสั้นขึ้นมาจริง ๆ จะมีโอกาสรักษาหายได้หรือไม่ theAsianparent อยากพาคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านไปรู้จักกับโรคสมาธิสั้น และวิธีรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กให้มากยิ่งขึ้นค่ะ
โรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เกิดจากความผิดปกติของสมองที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของพัฒนาการเด็ก ซึ่งเป็นปัญหาด้านพัฒนาการที่ถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งเด็ก ๆ อาจมีโอกาสเป็นถึงร้อยละ 75% หากคนภายในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคสมาธิสั้น และอีกหนึ่งสาเหตุ คือ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการใช้สารเสพติด หรือได้รับสารอันตรายในขณะตั้งครรภ์
โรคสมาธิสั้น รักษาหายหรือไม่?
โรคสมาธิสั้นสามารถรักษาหายได้ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเข้ารับการรักษาให้ถูกวิธีตามอาการเด็กสมาธิสั้น แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากบุคคลรอบตัวของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คุณครูที่โรงเรียน หรือแม้กระทั่งตัวเด็กเอง ซึ่งโดยปกติแล้วในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จะมีความเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยด้านพันธุกรรม หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั่นเอง ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ แนะนำให้พาเด็ก ๆ เข้ารับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
ลูกสมาธิสั้น ส่งผลต่อชีวิตประจำวันอย่างไร?
เมื่อเด็ก ๆ เป็นโรคสมาธิสั้น พฤติกรรมที่พวกเขาแสดงออกมามักเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ เช่น เรียนไม่รู้เรื่องเพราะขาดสมาธิ วอกแวกตามสิ่งเร้า กลายเป็นเด็กดื้อ เบื่อง่าย ใจลอยไม่รับฟังคู่สนทนา ขี้ลืม และไม่ละเอียดรอบคอบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ซึ่งเด็ก ๆ มักมีผลการเรียนลดลง เพราะไม่มีสมาธิจดจ่อทำให้ไม่เข้าใจในบทเรียน หรือแม้กระทั่งมีอาการขี้ลืม วอกแวกง่าย ไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบ ก็จะทำให้เด็ก ๆ เจ็บตัวบ่อยมาก หรือเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายยิ่งขึ้น
การรักษาโรคสมาธิสั้น
การรักษาโรคสมาธิสั้นจะนิยมใช้วิธีการปรับพฤติกรรม และใช้ยาร่วมด้วยในเด็กบางราย หากลูกรักของคุณแม่มีอาการเด็กสมาธิสั้น แต่ไม่กระทบการใช้ชีวิตมากนัก หรืออาจเป็นโรคสมาธิสั้นเทียม ก็จะใช้วิธีรักษาโดยการปรับพฤติกรรมในเบื้องต้น
แต่หากคุณพ่อคุณแม่มั่นใจแล้วว่า ลูกสมาธิสั้น แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกมา เช่น หากเด็ก ๆ มีอาการวอกแวกง่าย ดื้อ ซน อยู่ไม่นิ่ง คุณพ่อคุณแม่จะต้องพยายามเข้าใจ ไม่ควรดุ ใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ หรือตี แต่ควรเพิ่มการดูแลและใส่ใจอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจในวิธีการดูแลลูกรักเมื่อพวกเขามีอาการสมาธิสั้น หรือไม่รู้ว่าวิธีดูแลเด็กสมาธิสั้นที่ใช้อยู่นั้นจะถูกต้องมากน้อยเพียงใด แนะนำให้ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยตรง หรือศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาเหตุเด็กสมาธิสั้น การปรับพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้นที่ถูกต้องได้จากสื่อความรู้ต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กสมาธิสั้นได้อย่างถูกต้อง และดูแลเด็ก ๆ ให้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เสร็จลุล่วงตามเป้าหมายคล้ายกับเด็กปกติทั่วไปได้มากที่สุด
นอกจากนี้ การจัดสถานที่ให้มีบรรยาการเงียบ สงบ ไม่มีสื่อหรือสิ่งเร้าต่าง ๆ จะช่วยให้พวกเขามีสมาธิจดจ่อในการทำการบ้าน หรือทบทวนบทเรียนได้มากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ หากเด็ก ๆ มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น วอกแวกน้อยลง เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรกล่าวชื่นชม แสดงความขอบคุณ หรือแสดงให้เด็ก ๆ เห็นว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี และช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ รู้สึกอยากมีพฤติกรรมเชิงบวกต่อไป ซึ่งหากผู้ปกครองใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น และแสดงพฤติกรรมเชิงบวกด้วยความเต็มใจ
แต่หากเด็ก ๆ มีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่ในขั้นรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน อาจมีความจำเป็นที่ต้องมีการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรมในระหว่างการรักษาควบคู่กันไป ซึ่งวิธีการรักษาด้วยยานั้นแบ่งออกได้หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น
- กลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท เป็นกลุ่มยาที่นิยมนำมารักษา มีทั้งแบบออกฤทธิ์ระยะสั้น และออกฤทธิ์ระยะยาว และเป็นกลุ่มยาที่อาจส่งผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในผู้ใช้บางราย
- กลุ่มไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท เป็นอีกหนึ่งกลุ่มยาที่นำมารักษาผู้ป่วยในกรณีที่ยาในกลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทใช้ไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทได้
- Alpha 2 agonist เป็นกลุ่มยาที่นำมาใช้กับเด็กที่มีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อน เช่น เด็กที่มีโอกาสในการเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก หรือเด็ก ๆ ที่มีอารมณ์รุนแรง เป็นต้น
- ยาต้านเศร้า เป็นกลุ่มยาที่อาจใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการและโรคอื่นร่วมด้วย เช่น อาการซึมเศร้า เป็นต้น
การรักษาในทุก ๆ ขั้นตอน คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ในการปรับพฤติกรรม และการรักษาด้วยยาอย่างถูกต้อง เพื่อให้มั่นใจว่าการรักษานี้เหมาะสมกับอาการสมาธิสั้นของลูกรักมากที่สุด
แบบประเมินโรคสมาธิสั้นสำหรับเด็ก
ปัจจุบันมีแบบประเมินเพื่อคัดกรองว่าเด็ก ๆ มีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ ซึ่งในการทำแบบประเมินว่าลูกสมาธิสั้นหรือไม่นั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมเด็ก และตอบคำถามตามความเป็นจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกผ่านทางแบบประเมินพฤติกรรมเบื้องต้นในเด็กปฐมวัยและเทคนิคการปรับพฤติกรรมออนไลน์ ก่อนเข้าพบแพทย์
โดยลักษณะของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักจะมีพฤติกรรมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามแบบประเมิน หากผลลัพธ์บ่งชี้ว่าลูกรักของคุณแม่มีแนวโน้มหรือมีความเสี่ยงในการเป็นโรคสมาธิสั้น แนะนำให้ผู้ปกครองรีบพาเด็ก ๆ เข้าพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
โรคสมาธิสั้น ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ถือเป็นโรคที่ต้องอาศัยการคอยสังเกตพฤติกรรมและใส่ใจอยู่เสมอ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรปล่อยผ่านพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของลูกรัก เพราะเด็ก ๆ ไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของตัวเองได้
เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจในพฤติกรรมของลูกให้มากยิ่งขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถติดตามคำแนะนำดี ๆ และขอรับคำปรึกษาด้านการดูแลลูกรักจากผู้เชี่ยวชาญเชิงจิตวิทยา ได้ที่ Brainy Bean ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น หรือ Add LINE : @Healthsmilecenter
ข้อมูลอ้างอิง: Manarom Hospital ,Rama Mental ,sikarin ,synphaet , pharmacy.mahidol
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!