เด็กที่อายุยังน้อยส่วนใหญ่ มีนิสัยขี้เล่น และชอบวิ่งเล่นซุกซน จนอาจทำให้หกล้ม หรือวิ่งไปชนเข้ากับสิ่งของต่าง ๆ จนเกิดเป็นรอยช้ำตามร่างกาย แผลฟกช้ำ ที่เกิดกับเด็ก จะรักษาให้หายได้ยังไงดี วันนี้ theAsianparent Thailand จะมาช่วยไขข้อข้องใจของเหล่าคุณแม่กัน
แผลฟกช้ำ เป็นแบบไหน
แผลฟกช้ำทั่ว ๆ ไปที่เราคุ้นเคยกันดี จะมีลักษณะเป็นวงกลม และจะขึ้นอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดจากการที่เส้นเลือดบริเวณนั้น ๆ แตก จนทำให้เลือดไหลออกจากเส้นเลือด และเกิดเป็นรอยช้ำ ซึ่งแผลฟกช้ำก็มีสีที่แตกต่างกันออกไป เช่น สีแดง สีเขียว สีดำ สีน้ำตาล หรือสีม่วง เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้ว รอยฟกช้ำมักจะมีสีแดงในช่วง ๆ แรก และจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีน้ำเงินหลังจากผ่านไป 1-2 วัน และจากนั้น จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเมื่อแผลใกล้หายดี ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 สัปดาห์กว่ารอยฟกช้ำจะหายไปสนิท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแผลด้วย หากเด็ก ๆ ได้รับอุบัติเหตุ หรือวิ่งชนวัตถุอย่างรุนแรง ก็อาจจะต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าแผลฟกช้ำจะหายดีส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กมีแผลฟกช้ำ ก็อาจแบ่งได้ดังนี้
- อุบัติเหตุและการหกล้ม เด็กวัยซนมักจะหกล้มเป็นธรรมดาจนเกิดรอยฟกช้ำอยู่แล้ว โดยขนาดและความรุนแรงของแผลฟกช้ำ ก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของอุบัติเหตุนั้น ๆ คุณแม่ควรหมั่นสังเกตว่ารอยฟกช้ำของเด็ก มีขนาดที่สมเหตุสมผลกับความรุนแรงของอุบัติเหตุหรือไม่ ทั้งนี้ ทารกวัยเริ่มคลาน ก็มักมีรอยช้ำตามหัวเข่าที่เกิดจากการคลาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจ
- การทำร้ายร่างกายเด็ก เด็กที่โดนทำร้ายร่างกาย มักมีรอยฟกช้ำบริเวณแขน มือ หู คอ หรือก้น
- โรควอนวิลลิแบรนด์ เป็นโรคที่ทำให้ยีนที่ควบคุมเลือดในร่างกายทำงานผิดปกติ จนทำให้เกิดรอยช้ำตามร่างกายได้ง่าย ซึ่งผู้ป่วยอาจมีเลือดกำเดาไหล ประจำเดือนมามาก หรือมีเลือดออกเยอะหลังการผ่าตัด
- โรค Henoch Schonlein Purpura เป็นภาวะความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำให้ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปวดข้อ มีผื่นขึ้นที่แขนขาและก้น ซึ่งดูเหมือนรอยฟกช้ำ
- ขาดวิตามินเค หากร่างกายขาดวิตามินเค อาจทำให้เลือดออกได้ง่ายและเลือดแข็งตัวช้าขึ้น จึงทำให้ร่างกายเกิดรอยช้ำได้ง่าย
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยโรคนี้มักมีรอยฟกช้ำตามร่างกาย เลือดออกง่าย และเกล็ดเลือดต่ำ
บทความที่เกี่ยวข้อง : แผลบาดทะยัก เป็นแบบไหน จะรู้ได้ยังไงว่าลูกเป็นโรคบาดทะยัก
วิธีรักษาแผลฟกช้ำ
เมื่อเด็กมีแผลฟกช้ำ แต่แผลไม่ได้มีความรุนแรงจนต้องไปหาหมอ ให้ปฐมพยาบาลและดูแลเด็ก ๆ ดังนี้
- ใช้น้ำแข็งประคบรอยฟกช้ำของเด็ก ๆ 20 นาทีทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาอาการบวมและอักเสบ
- หากเด็กมีรอยช้ำบริเวณแขนหรือขา ให้ยกบริเวณนั้นขึ้นสูง ๆ เพื่อลดการไหลเวียนของเลือด และเพื่อไม่ให้เกิดรอยฟกช้ำที่รุนแรง
- ให้เด็กรับประทานผักใบเขียวอย่างบรอกโคลี่ เพราะบรอกโคลี่มีวิตามินเค ที่ช่วยไม่ให้เส้นเลือดแตกหรือเปราะได้ง่าย จนทำให้เกิดรอยฟกช้ำ
- หลังจากเกิดแผลฟกช้ำ 1-2 วัน ให้เด็กแช่น้ำอุ่น หรือยืนอาบน้ำอุ่น เพื่อให้เลือดที่อยู่บริเวณรอยช้ำสลายตัว ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ
- ไม่ควรนวดหรือกดบริเวณที่มีรอยฟกช้ำ เพราะจะทำให้แผลอักเสบมากยิ่งขึ้น
- ให้เด็ก ๆ รับประทานยาพาราเซตามอล เพื่อลดอาการปวด แต่หากเด็กมีโรคประจำตัว หรือมีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้เด็กรับประทานยาทุกชนิด
- ใช้ผ้าพันแผล พันรอบ ๆ รอยช้ำของเด็ก ซึ่งวิธีนี้ จะช่วยไม่ให้เส้นเลือดแตกเปราะเพิ่มขึ้น และยังช่วยลดอาการปวดและบวมบริเวณรอยช้ำได้
- หากเด็ก ๆ ปวดแผล อาจให้เด็กนอนหลับพักผ่อน เพื่อช่วยให้ลืมอาการปวด
- ให้เด็กรับประทานอาหารที่มีวิตามินซี เพราะวิตามินซีมีคุณสมบัติช่วยต้านอาการอักเสบ และช่วยให้แผลหายไวยิ่งขึ้น
- ให้เด็กรับประทานอาหารที่มีวิตามินเค เพราะวิตามินเคช่วยให้เลือดแข็งตัวได้ไว จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นแผลฟกช้ำได้
และแม้แผลฟกช้ำนั้น จะเกิดขึ้นกับเด็กได้บ่อย แต่หากเด็กมีอาการต่อไปนี้ ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุทันที
- มีรอยฟกช้ำที่หน้าท้อง อก หลัง ใบหู หรือบริเวณใบหน้า ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่น่าจะเกิดรอยฟกช้ำได้
- เลือดกำเดาไม่หยุดไหล แม้จะกดห้ามเลือดติดต่อกันมานานเกิน 10 นาที
- มีแผลช้ำมานานกว่า 2 สัปดาห์
- มีรอยฟกช้ำหลายแห่งจนผิดสังเกต
- แผลฟกช้ำนูนขึ้น และมีขนาดใหญ่ขึ้น
- มีรอยช้ำที่ตารุนแรง หรือได้รับอุบัติเหตุที่ตา
- เกิดรอยช้ำซ้ำ ๆ โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดที่แผลฟกช้ำ หรือแผลบวมอักเสบอย่างรุนแรง
- กระดูกหักและไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : แผล ลูกมีแผลทำไงดี วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นง่าย ๆ ที่คุณแม่ก็ทำได้
ข้อแนะนำในการดูแลเด็กไม่ให้เกิดแผลฟกช้ำ
วิธีดูแลเด็กที่ดีที่สุด คือการระมัดระวังไม่ให้เด็กวิ่งไปชนวัตถุต่าง ๆ หรือหกล้ม ซึ่งอาจทำได้โดยการไม่ซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุแข็ง มีมุมแหลมคม หรือจะติดวัสดุกันกระแทกไว้ที่บริเวณขอบโต๊ะ ขอบเตียง หรือเก้าอี้ เพื่อไม่ให้เด็กวิ่งชนจนเป็นแผลฟกช้ำ นอกจากนี้ หากเด็กต้องการออกไปปั่นจักรยาน ขี่สกู๊ตเตอร์ หรือทำกิจกรรมที่ผาดโผน ก็ควรสวมสนับเข่า หรือหมวกกันน็อคให้เด็กทุกครั้ง เพื่อป้องกันการกระแทก และป้องกันไม่ให้เด็กเป็นแผลได้ง่าย
โดยทั่วไป แผลฟกช้ำของเด็กที่เกิดจากการวิ่งชนสิ่งของหรือหกล้มนั้น สามารถจางหายไปได้เมื่อเวลาผ่านไป จึงไม่ใช่สิ่งที่คุณแม่ต้องกังวลใจ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรปล่อยให้เด็ก ๆ เล่น โดยไม่สนใจว่าเด็กจะเกิดรอยฟกช้ำหรือไม่ เพราะบางครั้ง แผลฟกช้ำที่รุนแรง ก็อาจทำให้เด็กเจ็บปวด ทรมาน จนรบกวนการใช้ชีวิตของเด็ก ๆ และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาภายหลังได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
การห้ามเลือดหากลูกบาดเจ็บ หรือเป็นแผลต้องทำอย่างไร
บาดแผลในวัยเด็ก ส่งผลถึงตอนเป็นผู้ใหญ่ จริงหรือไม่
100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 5 การดูแลแผลผ่าคลอด ข้อควรระวัง ข้อห้าม
ที่มา : rileychildrens ,verywellhealth ,childrenshospital , kidspot , healthline