ทำอย่างไรกับลูกวัยรุ่นอารมณ์ร้อน พร้อมวิธีรับมือเเบบสันติ
รับมืออารมณ์ร้อนของลูกวัยรุ่น
วัยรุ่นเป็นวัยที่มีอารมณ์ร้อน ฉุนเฉียวง่าย โกรธง่าย โมโหง่าย แต่ถ้าเรารู้ว่าลูกกำลังอารมณ์ไม่ดี ทำอย่างไรกับลูกวัยรุ่นอารมณ์ร้อน พร้อมวิธีรับมือเเบบสันติ
เผอิญฉันได้ยินเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งเล่าให้เพื่อนฟังด้วยความรู้สึกโกรธและเสียใจว่า เขาโมโหที่พ่อกับแม่ทะเลาะกันอีกแล้ว เจอหน้ากันทีไรทะเลาะกันทุกที เลยทำให้ไม่อยากอยู่บ้าน ฉันก็เห็นใจเด็กคนนั้นที่ต้องมาเจอกับปัญหาครอบครัวในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ
พฤติกรรมเด็กวัยรุ่น สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้!
แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนอยากที่จะเข้าใจลูก ไม่มีใครอยากเห็นลูกเป็นเด็กเก็บกด เป็นเด็กเครียด ไม่พูดกับใคร ไม่ยุ่ง ไม่สนใจใคร หรือ วันดีคืนดีก็ได้ข่าวว่าลูกระเบิดอารมณ์ออกมาทำร้ายตนเอง คนอื่น ราวกับว่าลูกกลายเป็นคนละคน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นนั้น คือสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ทุกคนควรรู้ เพราะการเปลี่ยนแบบรวดเร็วนี่ล่ะ..ที่ทำให้ความตึงเครียดเกิดขึ้นอย่างมหาศาล
ซึ่งสิ่งที่กระทบให้เกิดพฤติกรรมที่เหมือนเก็บกดในเด็กวัยรุ่นนั้นมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความอยากมีอิสระ ความอยากมี อยากไป อยากทำตามเพื่อน แฟน ความรับผิดชอบต่อการเรียน อนาคต ความสับสนทางเพศ ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวที่อีรุงตุงนัง ปัญหาพ่อแม่แยกทาง สภาวะการเงิน ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้วัยรุ่นเกิดความเครียดสะสมได้มาก นอกจากลูกจะเปลี่ยนแล้ว พ่อแม่เองก็ต้องเตรียมใจกับการเปลี่ยนวิธีการดูแลลูกด้วยเช่นกัน
ตอนที่ฉันเป็นวัยรุ่น ฉันเองก็นับว่าเป็นวัยรุ่นอารมณ์ร้อนคนหนึ่งที่มักโมโหพ่อกับแม่ ฉันว่าแม่คงหนักใจกับพฤติกรรมของฉันเหมือนกัน นอกจากนั้นฉันมักได้ยินผู้ปกครองบ่นออกบ่อยว่าไม่เข้าใจเด็กวัยรุ่นสมัยนี้เลยจริง ๆ ดังนั้นฉันคิดว่าประเด็นการหาวิธีรับมือกับอารมณ์วัยรุ่นนี้น่าจะถูกใจหลาย ๆ คนที่กำลังมีลูกอยู่ในช่วงวัยนี้
วิธีรับมือกับอารมณ์วัยรุ่น
1. เข้าใจจิตวิทยาของวัยรุ่น ช่วงวัยรุ่นเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่เด็กมักสับสนในชีวิตว่าเขาควรทำอย่างไร จริง ๆ แล้วเรื่องเพศชายเพศหญิง ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเลย วัยรุ่นส่วนมากสับสนว่าเขากำลังอยู่ในบทบาทไหนมากกว่า ตอนนี้โตพอหรือยังที่จะทำตัวแบบนี้ หรือว่าถ้าทำแล้วจะดูเด็ก ในฐานะของผู้ปกครองเราควรเข้าใจ พร้อมทั้งมีแนวทางแนะนำและสนับสนุนการเติบโตของวัยรุ่น เราต้องเข้าใจว่าสาเหตุที่อารมณ์ของวัยรุ่นแปรปรวนเป็นเพราะระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นลูกจึงหงุดหงิดและโมโหง่าย
2. หาจังหวะพูดคุยกับลูก เวลาคุยจะสอนอะไรลูกก็ควรให้อยู่ในจังหวะที่เหมาะสม ไม่ควรสอนตอนที่ลูกยังโมโหหรือมีอารมณ์ร้อน เพราะจะยิ่งทำให้อะไรแย่ลงไปอีก คุณควรบอกลูกว่าคุณอยากคุยด้วย แต่ไม่ได้ต้องการตำหนิการกระทำของลูก คุณเพียงแค่อยากเข้าใจความรู้สึกของลูกเท่านั้น คุณควรให้ลูกรู้ว่าคุณจะเก็บทุกเรื่องที่พูดคุยกันไว้เป็นความลับ ลูกจะได้รู้สึกวางใจและกล้าเปิดเผยความรู้สึกมากขึ้น
3. หาสาเหตุที่ทำให้ลูกโมโห หากคุณรู้สาเหตุที่ทำให้ลูกหงุดหงิดคุณก็จะสามารถให้คำแนะนำในทิศทางที่ถูกต้อง คุณอาจจะถามลูกโดยตรง แต่ลูกอาจจะไม่บอกความจริงกับคุณทั้งหมด แม้ว่าคุณอาจไม่เห็นด้วยกับบางเรื่องที่ลูกเล่าให้ฟัง แต่ขอให้คุณเป็นผู้ฟังที่ดีและแสดงให้ลูกรู้ว่าคุณเป็นห่วงเขา สาเหตุที่ลูกหงุดหงิดมีหลายอย่าง เช่น อาจถูกใครตำหนิมา หรืออาจมีคนแกล้งลูกคุณ บางครั้งอาจเป็นเรื่องร้ายแรงจนถึงขั้นขู่เอาชีวิต ซึ่งคุณเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน บางทีอาจเกิดจากตัวคุณเองที่ทำให้ลูกโกรธ หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น แต่ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุไหนก็ช่วยกันหาทางออกนะคะ
4. เปิดโอกาสให้ลูกพูดคุยกับคุณ ลูกของคุณอาจบอกความรู้สึกในใจตอนที่คุณอารมณ์ดี ไม่เที่ยวตัดสินการกระทำของลูก การเปิดโอกาสให้ลูกพูดคุยกับคุณถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของคุณกับลูก สิ่งที่คุณต้องจำไว้เสมอคือ เวลาลูกเล่าอะไรให้ฟัง ก็ขอให้เป็นผู้ฟังที่ดี ฟังเยอะ ๆ พูดน้อย ๆ นี่ล่ะคือเคล็ดลับที่ทำให้ลูกกล้าเปิดเผยความรู้สึกกับคุณมากขึ้น
5. เป็นกำลังใจให้ลูก เด็กวัยรุ่นมักมีอารมณ์แปรปรวนและหงุดหงิดง่าย เนื่องจากไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ คุณอาจจะให้กำลังใจลูกโดยบอกให้ลูกลองทำดูอีกสักครั้งหรือลองหาทางเลือกอื่นที่ลูกสามารถทำได้ดีที่สุด หรือสามารถทำให้สำเร็จได้อย่างสบาย ๆ ถ้าลูกมาขอคำแนะนำอะไรคุณ คณก็ควรเตรียมพร้อมที่จะให้คำแนะนำเสมอ หากลูกไม่ได้มาถามอะไรก็ให้คุณอยู่เฉย ๆ ไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นลูกอาจจะรำคาญและไม่อยากเล่าอะไรให้คุณฟังอีก
6. ใช้เวลากับครอบครัวด้วยกัน พยายามทำให้เป็นกิจวัตรที่ทั้งครอบครัวจะใช้เวลาร่วมกัน อย่างน้อยก็ทานอาหารด้วยกัน อาจจะสักอาทิตย์ละครั้ง ไม่ว่าทานอาหารที่บ้านหรือนอกบ้านก็ดีทั้งนั้น เมื่อลูกชินกับการเล่าความรู้สึกต่าง ๆ ให้คุณฟังแล้ว เมื่อนั้นล่ะค่ะ คุณก็พอจะเดาได้ว่าลูกกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่ และช่วยแนะแนวทางการแก้ปัญหาได้
7. ให้ลูกมีเวลาส่วนตัวบ้าง แม้ว่าคุณจะพยายามให้ลูกเล่าหรือระบายความรู้สึกออกมาเวลาที่โกรธหรือโมโห แต่บางครั้งลูกก็อยากอยู่เงียบ ๆ คนเดียวบ้าง ถ้าลูกอยากคุยกับเพื่อนหรือคนอื่นก็ปล่อยให้ลูกได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการ บางทีหากเราปล่อยให้ลูกลองหาทางแก้ปัญหาเองบ้าง ก็นับว่าดีเหมือนกัน แต่ให้ลูกรู้ว่าหากลูกต้องการปรึกษาปัญหากับคุณ คุณก็ยินดีเสมอ
ลูกขี้หงุดหงิด อารมณ์ร้อน โมโหง่าย กรีดร้อง และไม่สามรถควบคุมตัวเองได้ พฤติกรรมเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุประมาณ 2 – 4 ขวบ หรือที่เรียกว่าวัยทอง 2 ขวบ และมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น วัยเหล่านี้เป็นวัยที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความต้องการคิดหรือกระทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เมื่อไม่ได้อย่างที่ต้องการก็มักจะแสดงพฤติกรรมต่อต้านคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ โดยพฤติกรรมหรือการกระทำดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากคุณพ่อคุณแม่หรือคนรอบตัว ที่แสดงพฤติกรรมหรือเป็นคนขี้โมโห เจ้าอารมณ์ เวลาไม่พอใจหรืไม่ได้ดั่งใจต้องการก็จะทำทำลายข้าวของ ส่งเสียงดัง เป็นต้น
ทำให้ลูกแสดงอารมณ์หรือเลียนแบบพฤติกรรมเดียวกันค่ะ และในบางครั้งเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่อาจปล่อยให้ลูกได้แสดงอารมณ์อย่างเต็มที่ โดยไม่มีการตักเตือนหรือรับมือไม่ถูกต้อง จนท้ายที่สุดการแสดงพฤติกรรมหรืออารมณ์รุนแรงชองลูกนั้นจนกลายเป็นเรื่องปกติและกลายเด็กขี้หงุดหงิดง่ายค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรที่จะจัดการกับพฤติกรรมดังกล่าวของลูกตั้งแต่อายุยังเล็กค่ะ
กุญแจสำคัญสำหรับการรับมือกับอารมณ์วัยรุ่นคือความอดทน เราต้องอดทนจนกว่าลูกจะผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นที่อารมณ์ร้อนและแปรปรวน เราต้องอดทนรับมือกับลูกช่วงวัยรุ่น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ช่วงวัยรุ่นคือช่วงที่ลูกต้องการความรักการดูแลเอาใจใส่มากที่สุด
The Asianparent Thailand
เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุดและผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว
การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
ที่มา : 1
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
ตั้งกฎของครอบครัวอย่างไรให้ลูกเชื่อฟัง
10 น้ำยาซักผ้าเด็ก ฆ่าเชื้อโรค ผ้าหอม ไม่เป็นอันตรายต่อลูก
https://www.thaichildcare.com
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!