ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ ไขรหัสเสียงร้องลูก ร้องแบบไหน ต้องการอะไร

undefined

เสียงร้องของลูกน้อยเป็นภาษาแรกที่ลูกใช้ในการสื่อสารค่ะ แต่ลูกร้องไห้บ่อยเกินไปมั้ย ร้องนานไปหรือเปล่า มากูกันค่ะว่าการร้องของลูกแบบไหนปกติ

การร้องไห้ของทารกเป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารในช่วงวัยแรกเกิดค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่าลูกร้องไห้บ่อยไปมั้ย? ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ เมื่อไรควรกังวลว่าลูกน้อยร้องไห้มากเกินไป มาไขรหัสเสียงร้องของลูกกันค่ะว่าร้องแบบไหน ต้องการอะไร

ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ

ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ ลูกเราร้องไห้บ่อยเกินไปมั้ย?

จริงๆ แล้วการร้องไห้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลมากเลยนะคะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อยแต่ละคนล้วนมีความเป็นตัวเองแตกต่างกัน ดังนั้น การจะกำหนด “ความปกติ” ที่เป็นมาตรฐานนั้นจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากค่ะ แล้ว ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ ? ทั้งนี้ มีการรวบรวมและวิเคราะห์จากผลงานวิจัยทั่วโลกในปี 2017 พบว่า

  • โดยเฉลี่ยแล้ว ทารกจะร้องไห้วันละประมาณ 2 ชั่วโมง ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังคลอด
  • การร้องไห้ของทารกจะลดลงในช่วง 8-9 สัปดาห์ และเหลือประมาณ 1 ชั่วโมงในช่วง 10-12 สัปดาห์ค่ะ
  • ทารกบางคนร้องไห้น้อยมากในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด เนื่องจากยังมีอาการง่วงนอนและต้องใช้เวลาปรับตัวเข้ากับชีวิตภายนอกครรภ์คุณแม่ เมื่อเริ่มตื่นและปรับตัวได้ดีขึ้นทารกอาจเริ่มร้องไห้มากขึ้นเพื่อสื่อสารบอกความต้องการของตัวเองกับคุณพ่อคุณแม่

ลูกร้องไห้นาน ปกติมั้ย

ลูกร้องไห้นาน ปกติมั้ย? ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ

หากรู้สึกว่าลูกน้อยร้องไห้มาก ร้องไห้นาน และคุณพ่อคุณแม่ปลอบลูกให้สงบลงได้ยาก ไม่ต้องกังวลนะคะ ในความเป็นจริง ทารก “2 ใน 10 คน”  ไปจนถึง “5 ใน 10 คน” ร้องไห้เป็นเวลานานโดยไม่มีสาเหตุชัดเจนในช่วงวัย 3-4 เดือน ซึ่งการร้องไห้เป็นเวลานานอาจเริ่มขึ้นตั้งแต่ลูกน้อยอายุประมาณ 2 สัปดาห์ มาจนกระทั่งอายุ 3-4 เดือน เป็นการร้องไห้ที่อาจนานถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน อันเป็นขั้นตอนพัฒนาการปกติค่ะ เรียกว่า ช่วงเวลาของการร้องไห้ “PURPLE PURPLE” ซึ่งย่อมาจาก

  • Peak of crying (ช่วงสูงสุดของการร้องไห้)
  • Unexpected (คาดเดาไม่ได้)
  • Resists soothing (ปลอบโยนยาก)
  • Pain-like face (สีหน้าเหมือนเจ็บปวด)
  • Long lasting (ร้องไห้นาน)
  • Evening (ร้องไห้ช่วงเย็น)

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าการร้องไห้ในรูปแบบใดๆ ก็ตามล้วนรับมือได้ยากโดยเฉพาะกับคุณแม่มือใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเชื่อเถอะค่ะว่าความมั่นใจในการเลี้ยงลูก รวมถึงการที่ลูกน้อยคุ้นเคยกับโลกรอบตัวมากขึ้นจะทำให้คุณแม่และลูกน้อบเริ่มผ่อนคลายและรู้สึกเครียดน้อยลง ลูกก็จะร้องไห้น้อยลงเมื่ออายุเข้าสู่ 8-9 สัปดาห์ค่ะ

พื้นฐานทางอารมณ์เด็ก มีผลต่อการเลี้ยงดู 

พื้นฐานอารมณ์บอกได้ ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ

ลักษณะอาการร้องไห้มากหรือน้อยของทารกแต่ละคนนนั้น อาจมีพื้นฐานทางอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญด้วยนะคะ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากพันธุกรรม และสภาพแวดล้อมขณะอยู่ในครรภ์ โดยเด็กมักมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้

  1. กลุ่มเด็กเลี้ยงง่าย คือ เด็กอารมณ์ดี กินง่าย หลับง่าย ปรับตัวง่าย จึงเลี้ยงดูง่าย มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 40
  2. กลุ่มเด็กเลี้ยงยาก มีประมาณร้อยละ 10 โดยเด็กกลุ่มนี้มักตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นด้วยปฏิกิริยารุนแรง ร้องไห้มาก หงุดหงิดง่าย ปรับตัวยาก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความอดทน ยอมรับ และให้การตอบสนองอารมณ์ลูกอย่างเหมาะสมค่ะ
  3. เด็กกลุ่มปรับตัวช้า มักเครียดง่าย ปรับตัวช้า ขี้อาย พบประมาณร้อยละ 15 ซึ่งควรได้รับเวลาในการปรับตัวและฝึกทักษะต่างๆ เพื่อการพัฒนาต่อไป
  4. กลุ่มที่อยู่ในระดับเฉลี่ยปานกลาง หรือผสมหลายแบบ พบได้ร้อยละ 35

ไขรหัส ลูกร้องไห้เพราะอะไร

ไขรหัสความต้องการของลูกน้อยจากเสียงร้อง

แม้เสียงร้องไห้ของทารกตัวน้อยๆ อาจฟังดูเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วลูกสามารถสื่อสารความต้องการที่แตกต่างกันผ่านเสียงร้องได้นะคะ อาทิ

  • ร้องเพราะหิว

มักเป็นเสียงร้องสั้นๆ ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับท่าทางขยับปากหรือเอามือเข้าปาก ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุอันดับแรกที่คุณแม่ทุกคนนึกถึง โดยเฉพาะกรณีเป็นเด็กนมแม่ ซึ่งย่อยง่าย ทำให้หิวบ่อย ดังนั้น คุณแม่ควรให้นมลูกทุก 2-3 ชั่วโมง และสังเกตอาการหลังกินนมว่าลูกหยุดร้องหรือเปล่า

 

  • เสียงร้องจากความไม่สบายตัว

อาจเป็นเสียงร้องที่แหลมกว่าปกติ หรือเสียงร้องที่มาพร้อมกับการบิดตัวหรือโก่งตัว เนื่องจากผ้าอ้อมเปียกแฉะ หากได้ยินเสียงร้องแบบนี้คุณแม่ควรเช็กผ้าอ้อมก่อนค่ะว่าเปียกแฉะจนทำให้ลูกไม่สบายตัวหรือเปล่า

 

  • ร้องเพราะเหนื่อย

มักเป็นเสียงร้องงอแง พร้อมกับขยี้ตาหรือหาว เนื่องจากรู้สึกเพลีย อยากนอน ซึ่งเด็กบางคนง่วงนอนนะคะแต่ก็ไม่ยอมหลับ อาจเป็นผลจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย มีเสียงรบกวน อุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ยิ่งง่วงแล้วไม่หลับ ลูกยิ่งเหนื่อย และร้องไห้มากได้ค่ะ

ทารกร้องไห้บ่อยแค่ไหนถือว่าปกติ

  • ลูกร้องเพราะเจ็บปวด

เช่น ปวดท้อง ซึ่งพบได้บ่อย เนื่องจากระบบย่อยอาหารของทารกยังทำงานได้ไม่ดี จึงมีอาการท้องอืด ดังนั้น หลังกินนมควรอุ้มลูกพาดบ่า ลูบหลังเบาๆ เพื่อให้เรอทุกครั้ง จะทำให้สบายตัวขึ้นค่ะ แต่หากร้องกวนมาก ปวดท้องตัวงอ อุจจาระเป็นเลือด คลำพบมีก้อนที่ท้อง อาจเป็นอาการของลำไส้กลืนกัน หรือมีอาการแหวะนมมาก อาเจียนพุ่ง ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน นอกจากนี้ บางกรณีลูกอาจร้องไห้เพราะมดหรือแมลงกัด หรือมีอาการปวดหู จากหูอักเสบ ซึ่งต้องพบแพทย์เช่นกันค่ะ

 

  • มีไข้ จากการเจ็บป่วย จึงร้องไห้งอแง

ในกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากการที่ลูกน้อยมีอาการตัวร้อน วัดไข้ด้วยปรอทวัดไข้พบว่ามีไข้

  • ทารกแรกเกิดถึง 1 เดือน อุณหภูมิมากกว่าหรือเท่ากับ 37.5 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
  • ลูกน้อยอายุมากกว่า 1 เดือน อุณหภูมิมากกว่าหรือเท่ากับ 37.8 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้

หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ซึม กินได้น้อย อาเจียน ท้องเสีย ไอ น้ำมูก ให้รีบพบแพทย์ค่ะ

 

  • เสียงร้องโคลิค

หากลูกมีอาการโคลิค คุณพ่อคุณแม่อาจได้ยินเสียงร้องที่ดังมาก และร้องอย่างยาวนาน โดยมักเกิดขึ้นในช่วงเย็นหรือค่ำ และไม่สามารถปลอบโยนให้สงบลงได้ง่ายๆ

ทำยังไงให้ลูกสงบเร็ว ไม่ร้องไห้นาน

ทำยังไงดีเมื่อลูกน้อยร้องไห้ ปลอบแบบไหนลูกสงบเร็ว

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบสาเหตุการร้องไห้ของลูกค่ะว่า ร้องเพราะอะไร หิวหรือเปล่า ผ้าอ้อมเปียกมั้ย หรือลูกกำลังง่วงและเหนื่อยล้า จึงจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกน้อยได้อย่างตรงจุดค่ะ แล้วลองวิธีการต่อไปนี้

  • ตอบสนองอย่างเหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ควรตอบสนองความต้องการของลูกในช่วง 6 เดือนแรกโดยทันทีตามที่ลูกต้องการ เพื่อให้ทารกเกิดการเรียนรู้ที่จะไว้ใจพ่อแม่ เป็นความรู้สึกผูกพันที่มั่นคง เชื่อมั่นว่าพ่อแม่จะสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาได้ ผ่านการอุ้มและสัมผัสทารกอย่างสม่ำเสมอระหว่างวัน จะช่วยให้การร้องไห้ลดลงได้ค่ะ
  • สร้างบรรยากาศการเลี้ยงดูที่ผ่อนคลายในการเลี้ยงดูลูกน้อยโดยเฉพาะทารกแรกเกิดนั้น เต็มไปด้วยความตึงเครียดและวิตกกังวลก็จริงค่ะ แต่ก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่ผ่อนคลาย ไม่วิตกเกินไป อาจใช้วิธีผลัดกันดูแล อุ้ม ปลอบโยนลูก สร้างบรรยากาศดีๆ ด้วยการเปิดเพลงเบาๆ หรือถ้าลูกร้องนานจนมีเหงื่อออกมาก ลองเช็ดตัวหรือเอาน้ำลูกตัวให้สดชื่นขึ้นก็ได้ค่ะ

 

การเข้าใจภาษาเสียงร้องของลูกน้อยและการตอบสนองต่อความต้องการของลูกอย่างเหมาะสมจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยได้อย่างมีความสุขและมั่นใจยิ่งขึ้นนะคะ สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่าการร้องไห้ของลูกเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หากสงสัยว่าการร้องของลูกน้อยเกิดขึ้นเพราะมีความผิดปกติของร่างกาย ควรรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ

 

ที่มา : www.nct.org.uk , www.samitivejhospitals.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

อายุจริงเด็กคลอดก่อนกำหนด นับยังไง? ลูกคลอดก่อนกำหนด ต้องปรับอายุมั้ย

ลูกดูดเต้า เป็นแผล ดูแลยังไง? 5 วิธีรักษา หัวนมแตก ขณะให้นมลูก

นมสำหรับเด็กเป็น G6PD เลือกยังไง ปลอดภัยกับลูกที่มีภาวะพร่องเอนไซม์

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!