คุณแม่ไม่ว่าจะเป็นท้องแรก หรือเคยมีประสบการณ์ตั้งครรภ์มาแล้ว อาจมีความกังวลเกี่ยวกับ เบาหวานตอนตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ หากมีปัจจัยที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยง อีกทั้งยังเป็นภาวะที่สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่ และทารกในครรภ์ได้ด้วย
สาเหตุของเบาหวานตอนตั้งครรภ์
ในช่วงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลต่อร่างกาย หรือสภาพอารมณ์หลายอย่าง รวมถึงทำให้ร่างกายของคุณแม่ท้องเกิดการต่อต้านอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีส่วนสำคัญ ในการทำหน้าที่ย่อยสารอาหารประเภทน้ำตาลอย่างกลูโคส เมื่อคุณแม่ท้องมีปริมาณอินซูลินน้อยลง จึงทำให้กลูโคสในร่างกายมีจำนวนมากขึ้น ไม่สามารถถูกย่อยสลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิด เบาหวานตอนท้อง ในที่สุด นอกจากสาเหตุนี้แล้วสำหรับคุณแม่อาจมีความเสี่ยงมาจากปัจจัยอื่นได้ด้วย ได้แก่
- ประสบการณ์คลอดทารก : หากเคยคลอดทารกที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์สูง หรือ 4 กิโลกรัมขึ้นไป หรือคลอดทารกที่ไม่สมบูรณ์ หรือทารกเสียชีวิตมาก่อน จะทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
- ปัจจัยเรื่องสุขภาพ : คุณแม่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคที่เพิ่มความเสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคอ้วน หรือเคยเป็นโรคเป็นโรคเบาหวานช่วงท้องมาก่อน เป็นต้น
- ความเสี่ยงจากเชื้อชาติ : จากสถิติพบว่าชาวเอเชีย, อเมริกันอินเดียน, ลาตินอเมริกัน และแอฟริกัน มีโอกาสเกิดเบาหวานตอนท้องได้มากกว่าคนเชื้อชาติอื่น
นอกจากนี้หญิงวัย 30 ปีขึ้นไป, มีความดันโลหิตสูง หรือมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นภาวะนี้มาก่อน จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ระดับน้ำตาลในหญิงตั้งครรภ์ ควรมีค่าเท่าไหร่ มีวิธีตรวจวัดยังไง ระดับไหนอันตราย
วิดีโอจาก : Thai PBS
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวานตอนตั้งครรภ์
ภาวะนี้ไม่มีอาการที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้อาการโดยรวมยังคล้ายคลึงกับการอาการของคนท้องทั่วไป เช่น ปัสสาวะบ่อย, กระหายน้ำ, ปากแห้ง และรู้สึกเหนื่อย เป็นต้น โดยส่วนมากการตรวจพบภาวะนี้ จะมาจากการเข้ารับการตรวจตามแพทย์นัดจากการฝากครรภ์ หรือการตรวจสุขภาพของคุณแม่เอง ทำให้การเฝ้าระวัง และมาตามแพทย์นัด เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะสามารถตรวจพบภาวะเบาหวานขณะท้องได้
ผลกระทบของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ภาวะเบาหวานในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อตัวของคุณแม่เท่านั้น แต่ยังสามารถส่งผลต่อทารกน้อยในครรภ์ได้ด้วย ดังนี้
- ผลกระทบต่อคุณแม่ : ทำให้ปริมาณของน้ำคร่ำเพิ่มมากขึ้นทำให้คลอดก่อนกำหนดได้, ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่คุณแม่ท้องต้องระวังอย่างมาก และความต่อเนื่องหลังคลอด ที่อาจเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
- ผลกระทบต่อทารกในครรภ์ : ทารกจะผลิตอินซูลินออกมาจากตับอ่อนมากขึ้น ส่งผลให้มีน้ำหนักมากขึ้น จนมีอุปสรรคต่อการคลอด, หลังจากคลอดแล้วทารกอาจเสี่ยงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จนมีอาการชัก และทารกอาจคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ทารกที่คลอดจากคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวาน จะทำให้มีความเสี่ยงภาวะหายใจลำบาก
เบาหวานตอนตั้งครรภ์ เมื่อคลอดแล้วจะหายไหม ?
โดยปกติแล้วเมื่อคุณแม่คลอด ภาวะเบาหวานจะหายไปได้เอง แต่อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรเข้ารับการตรวจหลังจากคุณแม่คลอดแล้ว สามารถเข้าพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพื่อความมั่นใจ โดยจะเป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่ายังสูงหรือไม่ หากพบว่ายังสูงอยู่ จะทำให้เสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แพทย์จะทำการรักษาต่อไป หากคุณแม่มีการตั้งครรภ์อีกครั้งโอกาสที่จะเป็นเบาหวานตอนตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นกว่า 30 % จึงต้องดูแลตนเองให้ดีด้วยทั้งก่อน ระหว่าง และหลังตั้งครรภ์
บทความที่เกี่ยวข้อง : เบาหวานประเภท 2 สัญญาณเริ่มต้นของโรคเบาหวานประเภท 2 คืออะไร ?
ดูแลคุณแม่ท้องที่เป็นเบาหวานอย่างไร ?
อย่างแรกที่คุณแม่ควรทำ คือ ปรึกษาแพทย์ทันที สอบถามสิ่งที่ต้องการรู้ โดยเฉพาะการปรับมื้ออาหาร สิ่งที่ควรทาน และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง หรือทานให้น้อยลง จากนั้นให้ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้อย่างเคร่งครัด ร่วมกับเพิ่มวิธีการดูแลรักษาร่างกายที่บ้าน ด้วยการออกกำลังกาย, ห้ามปล่อยให้ตนเองทานอาหารตามใจอยาก, มาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง หากพบอาการผิดปกติ เช่น ลูกไม่ดิ้น, น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่หยุด หรือท้องหยุดโต รวมไปถึงอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที
จะป้องกันภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์อย่างไร ?
หากคุณแม่ไม่ต้องการเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลร่างกายของตนเอง โดยให้โฟกัสเรื่องน้ำหนัก ที่ต้องมีน้ำหนักพอดี ไม่เกินมาตรฐาน วิธีที่จะทำให้น้ำหนักของคุณแม่ไม่มาก มีอยู่หลายวิธี ได้แก่
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น เพิ่มการทานผัก, ธัญพืช และผลไม้ เพราะกากใยอาหารที่สูง เน้นการรับสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ พยายามเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล หรือไขมัน
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด ไม่ควรปล่อยให้น้ำหนักขึ้นไม่หยุด เช่น ออกกำลังกายที่มีความเหมาะสมวันละ 30 นาที ทั้งการปั่นจักรยาน, เล่นโยคะ หรือว่ายน้ำ เป็นต้น แต่ต้องศึกษาข้อควรระวังให้ดีก่อน
- ทำการฝากครรภ์เพื่อรับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแพทย์จะทำการตรวจหาเบาหวานขณะตั้งครรภ์ช่วงอายุครรภ์ 24 – 28 สัปดาห์ และมีการตรวจครั้งต่อ ๆ ไปตามที่แพทย์นัด
อาการโดยรวมของภาวะเบาหวานช่วงคุณแม่กำลังท้อง อาจดูเหมือนมีอาการที่ไม่ได้รุนแรง แต่ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยในครรภ์ รวมถึงการเพิ่มความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ คนรอบตัว และคุณแม่จึงควรใส่ใจในเรื่องนี้มากขึ้นด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เมนูอาหารคนท้องเป็นเบาหวาน สำหรับคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
คุมน้ำหนักตอนท้อง อย่างไร ให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์พอดี
“ลดการเป็นเบาหวาน” ประโยชน์ของการให้นมลูก ของคุณแม่มือหลังคลอด
ที่มาข้อมูล : nonthavej phyathai bangkokhospital pobpad