กรดไหลย้อน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Heartburn หรือ Gastroesophageal Reflux Disease เป็นอาการเจ็บ แสบร้อนกลางหน้าอก ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร กับหัวใจตามที่ชื่อภาษาอังกฤษบอก อาการกรดไหลย้อน แสบท้อง เมื่อเป็นแล้วจะสร้างความรำคาญใจ และความรู้สึกไม่ดีให้กับคนที่เป็นได้ไม่น้อยเลยทีเดียว และยิ่งแม่ท้องเป็นกรดไหลย้อน นอกจากจะนำความรู้สึกแย่ ๆ มาให้ตัวเองแล้ว แม่ท้องหลาย ๆ คนอาจจะยิ่งกังวลมากขึ้นไปอีกว่า อาการนี้ก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้องบ้างรึเปล่า ถ้ามี มีมากแค่ไหน และมีวิธีอะไรบ้างที่จะสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้บ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาให้
โรคกรดไหลย้อน แสบท้อง เกิดจากอะไร
ในการย่อยอาหารแบบปกติทั่วไป อาหารจะเคลื่อนที่ลงไปที่ Esophagus หรือ หลอดอาหาร (หลอดที่อยู่ระหว่างปากและท้อง) โดยจะผ่านกล้ามเนื้อที่มีชื่อเรียกว่า lower esophageal sphincter (LES) และจุดหมายก็จะลงไปที่ท้อง LES เป็นเหมือนทางเชื่อมระหว่าง ปาก และท้อง มันเปิดเพื่อจะให้อาหารสามารถเข้าไปได้ และจะป้องกันไม่ให้ กรดจากในท้องกระชั้น ขึ้นมาด้านบน
นพ.ภูริช ประณีตวตกุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึง โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease) คือ การที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลขึ้นมาผ่านหลอดอาหารทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะที่อยู่ใกล้ ๆ เช่น หลอดลม, กล่องเสียง แต่เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นจึงใช้คำว่า “กรด” แทน
อาการกรดไหลย้อน เป็นอย่างไร
คนที่เป็นกรดไหลย้อน มักมีอาการ เช่น
- แสบร้อนบริเวณหน้าอก อาการแบบนี้มักจะมีอาการมากในช่วงหลังจากที่คุณแม่รับประทานอาหารมื้อหนัก ๆ เข้าไป ยิ่งถ้ามีการโน้มตัวไปข้างหน้า การนอนหงาย อาการจะยิงเป็นมากขึ้นตามไปด้วย
- จะมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก มีอาการเรอ จนทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหลอดอาหารขึ้น ได้แก่ หลอดอาหารอักเสบมีเลือดออกจากหลอดอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก
- ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร
- เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อย ๆ
- หืดหอบ ไอแห้ง ๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบได้
บทความที่เกี่ยวข้อง :โรคกรดไหลย้อน อาการเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร รักษายังไงไม่ให้เป็นอีก?
วิธีรับมือกับ กรดไหลย้อน และวิธีปรับเปลี่ยนการทานอาหาร
พญ.วิภากร เพิ่มพูล ให้คำแนะนำการรับมือกรดไหลย้อนในช่วงตั้งครรภ์ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารของคุณแม่ เพื่อบรรเทาอาการกรดไหลย้อนในช่วงตั้งครรภ์ ดังนี้
- ทานอาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง และทานอาหารตรงตามเวลาทุกมื้ออาหารอ่อน ย่อยง่ายและเคี้ยวอาหารให้ละเอียดทุกคำก่อนกลืน
- อย่ารับประทานอาหารมากเกินไป หรือรับประทานอาหารมื้อดึก ที่รับประทานเสร็จแล้วนอนเลย ควรรับประทานอาหารแล้วเผื่อเวลาให้อาหารได้ย่อยก่อนอย่างต่ำ 4 ชั่วโมง
- งดอาหารรสเผ็ด อาหารรสเปรี้ยวจัด ของดอง และน้ำอัดลมลดอาหารไขมันสูงซึ่งย่อยยาก แต่ให้ทานอาหารที่มีไขมันเล็กน้อยได้ เพราะไขมันจะช่วยยับยั้งการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร และยังช่วยนำพาวิตามินที่ละลายในไขมัน
- หากมีการอาเจียน ควรดื่มน้ำกลั้วคอล้างปากทุกครั้งหลังอาเจียน
- การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาแก้โรคหอบหืดบางชนิด และยาที่เกี่ยวกับโรคหัวใจบางชนิด อาจทำให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างลดลง ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่าย
เป็นกรดไหลย้อนตอนท้อง แสบท้อง ต้องกินยาอะไร
การรักษาโรคกรดไหลย้อน นอกจากการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารแล้ว ยังมีการใช้ยาที่ปลอดภัยต่อสตรีตั้งครรภ์ ได้แก่
- ยาเคลือบกระเพาะที่มีสาหร่ายเป็นส่วนประกอบจะช่วยเคลือบผิวกระเพาะอาหารและแยกชั้นด้วยการสร้างแผ่นฟิล์มป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นไป
- ยาเคลือบกระเพาะที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ จะช่วยลดความเสี่ยงของครรภ์เป็นพิษได้ด้วย
ยาทั้งสองตัวนี้ นิยมใช้เป็นยารักษากรดไหลย้อนในเบื้องต้น เมื่อใช้ยากลุ่มดังกล่าวแล้วยังไม่ดีขึ้นสามารถใช้ยากลุ่มอื่น ๆ ต่อไป เช่น ยาลดกรดชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังสามารถให้ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียนเสริมเพื่อลดโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้อีกด้วย
กรดไหลย้อน มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือไม่
อาการของโรคกรดไหลย้อนจะทำให้เกิดความไม่สบายตัวต่าง ๆ ตามอาการที่บอกข้างต้น แต่หากคุณแม่สามารถจะรับประทานอาหารได้ตามปกติ ก็จะไม่เกิดปัญหาใด ๆ ต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ แต่ถ้าหากในระยะยาวคุณแม่ยังเป็นโรคนี้อยู่ ก็อาจเกิดการอักเสบของหลอดอาหารเรื้อรังที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นแม่ท้องควรสังเกตร่างกายของตัวเองให้ดี หากมีอาการมากจนทนไม่ไหว รีบไปพบคุณหมอจะดีที่สุดค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : กรดไหลย้อน ศัตรูตัวร้ายของคุณแม่ตั้งครรภ์
วิธีป้องกัน กรดไหลย้อน ขณะตั้งครรภ์
- สตรีตั้งครรภ์สามารถดูแลหรือป้องกันโรคกรดไหลย้อนได้ โดยรับประทานอาหารให้ตรงเวลา
- เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัดหรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด
- แบ่งมื้อรับประทานเป็นมื้อเล็กแต่เพิ่มความถี่ให้บ่อยขึ้น
- ควรเลือกชนิดอาหารที่ย่อยได้ง่าย หากเป็นเนื้อสัตว์ควรสับให้ละเอียดหรือตุ๋นให้เปื่อย เป็นต้น
- เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วไม่ควรนอนราบอย่างน้อย 30 นาที ควรเดินไปมาเล็กน้อยเพื่อช่วยให้ลำไส้บีบตัวได้ดีขึ้น
- ไม่รับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนักขึ้น
- ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้คลื่นไส้อาเจียน
เมื่อไหร่ที่ควรไปหาหมอ
ถ้ามีอาหารกรดไหลย้อนบ่อย ๆ จนตื่นขึ้นมากลางดึก เป็นเยอะจนเกิดอาการอื่น ๆ เช่น กลืนยาก ไอ น้ำหนักลง ถ่ายเป็นสีดำ ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีอาการที่ค่อนข้างซีเรียสกว่าปกติ ให้ไปพบแพทย์ทันที
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อนที่เรานำมาฝากกัน เห็นได้ว่าโรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาระหว่างตั้งครรภ์ แต่มักไม่รุนแรงและไม่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ ท่านสามารถดูแลตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เมนูอาหารคนท้องเป็นเบาหวาน สำหรับคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
แม่ท้องต้องระวัง! คนท้องเป็นไข้ เสี่ยงทำให้ลูกเป็นออทิสติก
คนท้องเป็นริดสีดวง รักษาอย่างไร มีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง ?
ที่มา : mgronline, thairath, healthline