-
ท้องอืด
ท้องอืด คือการที่มีลมหรือแก๊สอยู่ในกระเพาะอาหารมาก เหมือนลูกโป่งที่เป่าลมจนเต็ม ซึ่งทำให้รู้สึกอึดอัด และแน่นท้อง
แก๊สในกระเพาะอาหารสามารถเกิดได้จากแบคทีเรียปกติที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของทารก รวมถึง การร้องไห้ และการดูดขวดนมก็สามารถทำให้ลมเข้าไปในท้องของลูกน้อยเพิ่มขึ้นด้วย
- สังเกตอย่างไรเมื่อลูกท้องอืด
หากมีแก๊สในกระเพาะมาก ท้องของทารกจะป่อง หรือลูกอาจมีอาการแอ่นตัว หรือดิ้นมากเพราะอึดอัด เมื่อลูกยิ่งร้องไห้ ยิ่งทำให้กลืนลมเข้าไปในท้องเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปอาการท้องอืดของทารกไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่น่ากังวลแต่อย่างใด
นอกจากการอุ้มเรอระหว่างและหลังมื้อนมแล้ว คุณสามารถช่วยไล่ลมให้ลูกน้อยได้ โดยวางทารกนอนหงาย และยกขาลูกน้อยปั่นจักรยานอากาศ ซึ่งจะปั่นไปข้างหน้าหรือปั่นไปข้างหลังก็ได้ พยายามดันเข่าของลูกให้ชิดหน้าอก และทำซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง
บทความแนะนำ วิธีอุ้มลูกเรอ
หากวิธีนี้ยังไม่ได้ผล คุณแม่อาจต้องพึ่งยาแก้ท้องอืดสำหรับเด็ก (Simethicone) โดยให้แพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา ตามน้ำหนักของเด็ก ซึ่งยาตัวนี้ไม่เป็นอันตรายต่อทารก
-
แหวะนม
การแหวะนม คือ การที่อาหารไหลล้นจากกระเพาะอาหารออกมาทางปาก มักเกิดหลังจากการให้นม
เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของทารกยังไม่สมบูรณ์ วาล์วที่ปิดระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้อาหารและเครื่องดื่มย้อนกลับขึ้นไปยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้อาหารสามารถย้อนขึ้นไปทางปากได้ โดยเฉพาะเมื่อทารกกินมากเกินไปหรือกินเร็วเกินไป
- สังเกตอย่างไรเมื่อลูกแหวะนม
การแหวะนมเป็นภาวะปกติที่พบบ่อยในเด็กทารก แต่หากลูกมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไอ สำลัก อาเจียน ตัวเขียว หรือน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อนในทารก ซึ่งควรได้รับการรักษา
- ป้องกันอย่างไรไม่ให้ลูกแหวะนม
คุณแม่สามารถป้องกันลูกแหวะนมได้โดยพักยกการให้นมเพื่อจับลูกเรอเป็นระยะ ให้ลูกได้มีเวลาสำหรับการย่อยและไล่ลมออกจากท้อง ควรจับลูกเรออีกครั้งเมื่อให้นมเสร็จ หากคุณแม่มีปัญหาในการจับลูกเรอ ลองเปลี่ยนท่า เช่น ให้ลูกนอนหงาย หรือนอนตะแคง แล้วตบด้านข้างเบาๆ หรือคุณอาจให้ลูกนอนคว่ำแล้วลูบหลัง รวมทั้งจับลูกนั่ง หรืออยู่ในท่าตั้งตรง ประมาณ 20 นาทีหลังการให้นม เพื่อให้การย่อยของลูกทำงานได้ดีขึ้น
คุณแม่ไม่ต้องกังวล อาการแหวะนมจะลดลง และหายไปเมื่อลูกมีอายุราว 6 เดือนถึง 1 ปีค่ะ
-
กรดไหลย้อน
ทารกที่มีอาการแหวะนมหรืออาเจียนบ่อยๆ นั้นมีสาเหตุมาจากกรดไหลย้อน
กรดไหลย้อนมีสาเหตุเช่นเดียวกับอาการแหวะนม เมื่อกล้ามเนื้อลำไส้ของลูกน้อยแข็งแรงขึ้น อาการกรดไหลย้อนก็จะค่อยๆ ลดลง
- สังเกตอย่างไรเมื่อลูกเป็นกรดไหลย้อน
หากลูกมีอาการกรดไหลย้อน(GER)ปกติ จะแสดงออกด้วยการแหวะนม ซึ่งไม่เป็นอันตราย แต่หากลูกเป็นโรคกรดไหลย้อน (GERD) ที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งในระบบทางเดินอาหารและนอกระบบทางเดินอาหาร สามารถสังเกตได้จากอาการเหล่านี้ เช่น หากลูกร้องไห้มากขณะกินนมหรือหลังจากกินนมเสร็จ หรืออาจมีอาการไอ หายใจลำบากมีเสียงฟืดฟาด อาเจียน หรือสำลัก คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้ทันทีว่ามีบางอย่างผิดปกติ ขอให้เชื่อในสัญญาตญาณ และพาลูกไปพบคุณหมอ เมื่อสงสัยว่าลูกเป็นโรคกรดไหลย้อน
บทความแนะนำ ลูกอาเจียนบ่อยๆ อาจเป็นโรคกรดไหลย้อนได้
- ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นกรดไหลย้อน
คุณแม่ควรจับลูกเรอบ่อยๆ และจับลูกในท่าตัวตั้งตรงหลังจากการให้นม หากลูกไม่เคลื่อนไหวมากนักขณะนอนหลับ ลองใช้หมอนหนุนยกศีรษะให้เอียงทำมุม 30 องศา แต่หากลูกมีอาการตัวเขียว หรือมีปัญหาในการหายใจ ควรพาลูกส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
-
ท้องผูก
ทารกสามารถถ่ายอุจจาระได้บ่อยถึงวันละ 8-10 ครั้ง หรืออาจจะไม่ถ่ายนาน 7-10 วัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ตราบใดที่ลูกไม่รู้สึกอึดอัด แต่หากทารกมีปัญหาในการขับถ่าย รู้สึกอึดอัดงอแง เบ่งไม่ออก อึแข็ง อย่างนี้จึงเรียกว่า ท้องผูก
ลูกท้องผูกอาจเกิดจากการเปลี่ยนอาหาร เช่น เปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมผสม หรือเมื่อเริ่มอาหารชนิดใหม่
- สังเกตอย่างไรเมื่อลูกท้องผูก
เมื่อลูกท้องผูกคุณจะสังเกตได้ว่า ลูกมีอาการถ่ายไม่ออก เบ่งหน้าดำหน้าแดง อึแข็งเป็นก้อน หรืออาจจะตดออกมาในขณะที่พยายามจะเบ่งอุจจาระ คุณแม่ต้องจับตาหากอุจจาระมีสีดำ หรือสีแดง ซึ่งอาจหมายความว่า อุจจาระนั้นมีเลือดปน ซึ่งเลือดอาจเป็นสัญญาณบอกถึงความผิดปกติบางอย่าง ในกรณีนี้ควรรีบปรึกษาคุณหมอ แต่หากอุจจาระลูกน้อยมีสีเหลือง สีเขียว หรือสีน้ำตาล ถือว่าปกติค่ะ
อันดับแรก ควรปรึกษาคุณหมอว่า ต้องรักษาหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของลูก คุณหมออาจแนะนำให้คุณป้อนน้ำพรุน (เพียง 1-2 ออนซ์) ไฟเบอร์จะช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มขึ้น หรือหากจำเป็นต้องสวนอุจจาระ ควรกระทำโดยแพทย์ ไม่ควรสวนอุจจาระเอง ทั้งนี้การสวนอุจจาระบ่อยๆ นั้นไม่เป็นผลดีเพราะจะทำให้ลูกขับถ่ายเองไม่เป็น คุณหมอจึงมักไม่แนะนำ
-
ท้องเสีย
อาการท้องเสียเป็นเรื่องที่น่ากลัวจริงๆ ในทารก เพราะอาจจะทำให้ทารกเกิดภาวะขาดน้ำและเป็นอันตรายได้จากการเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับการขับถ่าย
อาการท้องเสียเกิดจากการได้รับเชื้อผ่านทางพี่น้องที่โตกว่า หรือจากการสัมผัสเชื้อแล้วเอามือเข้าปาก หรือจากการได้รับเชื้อไวรัสจากอาหารที่ปนเปื้อนหรือบูด แต่เนื่องจากพ่อแม่ส่วนใหญ่ใส่ใจในความสะอาดด้วยการล้างมือเป็นประจำ ทำอาหารที่ปรุงสุกอยู่แล้ว อาหารเป็นพิษจึงมักไม่ใช่สาเหตุของอาการท้องเสียในทารก
- สังเกตอย่างไรเมื่อลูกท้องเสีย
ทารกโดยเฉพาะที่คนที่กินนมแม่ อาจถ่ายบ่อยกว่าผู้ใหญ่ทั่วไป ซึ่งไม่ถือว่าปัญหา แต่หากลูกท้องเสียสามารถสังเกตได้เมื่อลูกถ่ายเป็นน้ำมากเกินไป
- ทำอย่างไรเมื่อลูกท้องเสีย
การสูญเสียน้ำมากอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อย ควรพาลูกไปพบคุณหมอนะคะ โดยคุณหมออาจจะให้จิบน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ หากลูกกินอาหารอื่นนอกจากนมได้แล้ว คุณหมออาจแนะนำให้ทานอาหารที่ช่วยลดอาการท้องเสีย (BRAT diet) เช่น กล้วย ข้าว น้ำแอปเปิ้ล และขนมปังปิ้ง
นอกจากนี้ควรดื่มน้ำเยอะๆ รวมถึงนมแม่และนมผสมด้วย ซึ่งผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ กล่าวไว้ว่า ถ้าดื่มนมแม่อยู่ก็ให้ดื่มตามปกติ ถ้าดื่มนมขวดในระยะแรกที่ท้องเสีย (2-4 ชั่วโมงแรก) ให้ดื่มนมที่ผสมเจือจางลง (ลดนมผงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของที่เคยผสม) จนกว่าอาการจะดีขึ้น จึงให้ดื่มนมผสมตามปกติได้
คุณแม่สามารถป้องกันอาการท้องเสียของลูกได้โดยการพาลูกไปรับวัคซีนป้องกันไวรัสโรตา ที่สามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียและอาเจียน โดยวัคซีนโรต้าในประเทศไทยเป็นแบบรับประทาน 2 ครั้ง และ 3 ครั้ง โดยแบบ 2 ครั้งจะให้การป้องกันได้เร็วตั้งแต่ทารกอายุ 4 เดือน และแบบ 3 ครั้ง ป้องกันได้เมื่อทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไปค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก thebump.com, manager.co.th, doctor.or.th
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
เสียงร้องไห้แบบนี้ทารกอยากบอกอะไร
จับตา 5 อาการ เมื่อลูกถูก Overfeeding
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!