อาการแพ้อาหารในเด็ก มักพบในเด็กเล็กโดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 1 ปี โดยสาเหตุยอดฮิตของการแพ้อาหารในเด็กมักพบว่า เด็กแพ้นมวัวมากที่สุด รองลงมาคือแพ้ไข่ แพ้ถั่วเหลือง แพ้แป้งสาลี แพ้อาหารทะเล แล้วคุณแม่จะทราบได้อย่างไรว่า ลูกแพ้อาหาร อาจถึงชีวิตได้ มาดูวิธีการสังเกตและลักษณะอาการที่มักเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ไปพร้อมกันเลยดีกว่าค่ะ
สาเหตุที่ทำให้เด็กแพ้อาหาร
สาเหตุที่มักพบการแพ้อาหารในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของเด็กยังไม่สมบูรณ์ ทำให้อาหารผ่านเข้าไปในกระแสเลือดและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน จนทำให้เกิดปฏิกิริยาบางอย่างแล้วแสดงอาการออกมาในลักษณะต่าง ๆ ร่วมกับการมีพันธุกรรมเสี่ยงโรคภูมิแพ้ ที่ถ่ายทอดมาจากคุณพ่อคุณแม่ หรือคนในครอบครัว
บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคภูมิแพ้อาหาร แพ้อาหาร คืออะไร สาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษา
ลักษณะอาการแพ้อาหารเป็นอย่างไร
ลักษณะอาการที่กำลังบ่งบอกว่าลูกของเราอาจเป็นโรคภูมิแพ้อาหารนั่น สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งที่พบได้บ่อยจะมีทั้งหมด 4 ระบบด้วยกัน คือ
บทความที่เกี่ยวข้อง : อาหารตามวัย เด็กแต่ละเดือนกินอะไรได้บ้าง ถ้าลูกแพ้อาหารจะดูยังไง
1. ระบบทางเดินอาหาร
อาการที่พบจะมีลักษณะอาการคันปาก คันลิ้น ไปจนถึง ริมฝีปากบวม อาจมี คลื่นไส้ อาเจียน แหวะนม (เป็นอาหารหรือเป็นเลือด) ปวดท้อง ท้องเสีย (ถ่ายอุจจาระเหลวหรือมีมูกเลือดปน) เป็นต้น โดยอาการจะเป็นหลังรับประทานอาหารที่แพ้
2. ระบบผิวหนัง
อาการแพ้ระบบผิวหนังส่วนใหญ่จะแสดงอาการมีผื่นคันเป็นลักษณะปื้นแดง ๆ ตามข้อพับของร่างกาย หรือแก้ม ข้อศอก หัวเข่า หรืออาจเป็นลักษณะผื่นลมพิษเฉียบพลัน ตามหลังการรับประทานอาหารที่แพ้ ภายในระยะเวลา เป็นนาที หรือภายใน 3-6 ชม. โดยสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือบางคนก็อาจจะมีอาการบวมใต้ผิวหนังที่ใบหน้า หนังตา หรือริมฝีปาก เป็นต้น
3. ระบบทางเดินหายใจ
อาการแพ้เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจจะแสดงอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ ไปจนถึงหลอดลมบวมตีบ ทำให้แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจหอบ เขียว ไปจนถึงการหายใจล้มเหลวได้
4. ระบบหัวใจและหลอดเลือด
เกิดอาการหน้ามืด เป็นลม มีความดันโลหิตต่ำ ช็อกรุนแรงหรือหากปล่อยไว้นานก็อาจจะอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
โดยอาจพบอาการเพียงระบบเดียวก็ได้ เช่น ผื่นขึ้นรอบปากอย่างเดียว หรือถ่ายมีมูกเลือด แต่หากพบมีอาการมากกว่า 2 ระบบขึ้นไป เช่น มีอาการผื่นแพ้เฉียบพลันร่วมกับ น้ำมูกไหล หายใจหอบจะเรียกว่ามี อาการแพ้รุนแรง anaphylaxis ซึ่งเป็นภาวะแพ้เฉียบพลันที่ฉุกเฉินและอันตราย ควรต้องรีบพามาโรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด เพราะจะอันตรายถึงชีวิตได้
อาหารที่เด็ก ๆ แพ้ได้บ่อย
1. แพ้นมวัว
สิ่งนี้อาจเกิดจากการที่คุณแม่รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัว หรือผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต แล้วได้ทานนมแม่ที่มีนมวัวปน หรือ เด็ก ๆ ทานนมวัวเองโดยตรงก็ได้ โดยอาการแพ้เหล่านี้เป็นได้ทั้งชนิดเฉียบพลันทันที เช่น หนังตาบวม ปากบวม ถ่ายเหลว หรืออาเจียนทันทีหลังทานนมวัว ซึ่งทำให้ผู้ปกครองสามารถสังเกตและนึกถึงการแพ้นมวัวได้ง่าย แต่ในบางรายอาจมีอาการไม่เฉียบพลัน เช่น มีผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือดเป็น ๆ หาย ๆ ทำให้การวินิจฉัยทำได้ยากกว่า และ จำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคกับ โรคอื่น ๆ ด้วย เช่น ลำไส้อักเสบติดเชื้อเป็นต้น จึงแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์
2. แพ้ไข่ขาว และ/หรือไข่แดง
เป็นอาหารที่ทำให้พบได้บ่อยเป็นอันดับสองรองจากนมวัว โดยการแพ้ไข่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงช่วงอายุประมาณ 2 ขวบ มักจะหายเมื่อโตขึ้น โดยพบการแพ้ไข่ขาวมากกว่าแพ้ไข่แดง หรืออาจจะแพ้ทั้งไข่ขาวและไข่แดง อาจลักษณะอาการระบบใดก็ได้ เช่นท้องเสีย คลื่นไส้ หายใจไม่สะดวก หรือบางคนก็อาจจะมีอาการแพ้ขั้นรุนแรงแบบเฉียบพลันได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : การแพ้นมวัว และแพ้อาหารในเด็ก เป็นยังไงบ้าง? สิ่งที่พ่อแม่หลายคนควรรู้!
3. แพ้แป้งสาลี และ/หรือกลูเต็น
อาหารอีกหนึ่งประเภทที่เด็กรวมไปถึงผู้ใหญ่ พบมีอาการแพ้มากขึ้นเรื่อย ๆ คืออาหารประเภทที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปัง คุกกี้ มัฟฟิน พิซซ่า โดยลักษณะอาการที่บ่งบอกว่าลูกของเรากำลังมีอาการแพ้ ยกตัวอย่างเช่น ทานเบเกอรี่แล้วมีผื่นแดง คลื่นไส้ น้ำมูกไหล หน้าบวม หรือตาบวม เป็นต้น ในเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่จะพบการแพ้แป้งสาลีเมื่อมีการออกกำลังกายร่วมด้วยได้บ่อยซึ่ง อาการมักเป็นรุนแรงและทำการวินิจฉัยได้ยาก หากไม่นึกถึง หากมีอาการใกล้เคียงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้
4. แพ้อาหารทะเล
การที่เราหรือเด็ก ๆ จะแพ้อาหารทะเลขึ้นมาได้นั้น เกิดจากความไวมากเกินปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในสัตว์ทะเลบางชนิด โดยเฉพาะอาหารทะเลที่มีเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู จะพบได้บ่อยกว่า ปลา ปลาหมึก โดยลักษณะอาการแพ้ของแต่ละคนก็อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป แต่อาการแพ้ที่พบได้บ่อยจะมีลักษณะการแพ้แบบเฉียบพลัน เกิดลมพิษ ผื่นขึ้น วิงเวียน หรืออาเจียน หลังทานอาหารทะเลที่แพ้ เป็นต้น โดยพบว่า หากเพิ่งเกิดอาการแพ้ในวัยผู้ใหญ่ ก็จะมีโอกาสหายแพ้และกลับมาทานได้น้อย
การดูแลเบื้องต้นสำหรับเด็กแพ้อาหาร
1. ให้ลูกดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอย่างน้อย 6 เดือน
นมแม่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้เขามีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้
2. ให้ลูกทานอาหารเสริม
เมื่อเด็ก ๆ เริ่มมีอายุ 4 – 6 เดือนขึ้นไปแล้ว เราอาจจะเริ่มให้ทานอาหารจำพวก ผักใบเขียว ไข่แดงเนื้อสัตว์ หรือข้าวขาว และค่อย ๆ เพิ่มความหลากหลายของชนิดอาหารตามลำดับ เป็นต้น เพราะการที่ได้ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์จะส่งผลทำให้มีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมากขึ้นตามไปด้วย และมีงานวิจัยพบว่า เด็กทารกที่เริ่มอาหารช้า (หลัง 6เดือนขึ้นไป ) และงดอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น ตั้งใจงดทานไข่ ไปเริ่มทานมื้อแรกที่อายุขวบขึ้นไป พบว่าเกิดการแพ้ไข่มากกว่าเด็กที่ทานตามวัย
3. ปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
คุณพ่อคุณแม่บางคนก็อาจจะยังไม่รู้ว่าอาการผิดปกติของลูกของเราใช่อาการแพ้อาหารหรือไม่ เช่น เป็นผื่นเรื้อรัง นอนกรน หายใจเสียงดัง ถ่ายเป็นมูกเลือด จามบ่อย ๆ อาการดังกล่าว อาจเป็นอาการจากโรคอื่น หรือจากการแพ้อาหารก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นหากครั้งแรกที่เราให้เด็ก ๆ ลองทานอะไรก็ตาม เมื่อไหร่ที่เขามีอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ ก่อนที่จะตัดสินใจงดอาหารถาวร โดยหากอาการไม่รุนแรง อาจลองสังเกตอาการซ้ำว่าเป็นทุกครั้งที่ทานหรือไม่ แต่หากอาการเป็นรุนแรง ก็ควรที่จะให้เด็ก ๆ งดทานอาหารชนิดนั้นอีก เพราะอาจเป็นอันตรายต่อลูกของเราได้ หรือทางที่ดีเราอาจจะต้องขอคำแนะนำหรือปรึกษาคุณหมอ
4. หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ โดยอ่านฉลากหรือรายละเอียดให้ดี
ในเด็กที่แพ้อาหาร ก่อนที่เราจะให้เด็ก ๆ ทานอะไรเข้าไป คุณพ่อคุณแม่ควรต้องอ่านฉลากหรือรายละเอียดของอาหารประเภทนั้นให้ดีก่อน เมื่อไหร่ที่ให้ลูกทานอาหารตามใจชอบ โดยที่เรายังไม่ได้อ่านรายละเอียดส่วนประกอบ อย่างแน่ชัด สิ่งนี้ก็อาจจะส่งผลทำให้เขามีอาการแพ้อาหารกำเริบขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เป็นรุนแรง หรือรายที่มีอาการแพ้ต่อเนื่องและยังควบคุมโรคไม่ได้
5. เตรียมอาหารให้ลูกเอง
เพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการแพ้รุนแรง หรือ รายที่มีการแพ้อาหารหลากหลายชนิด ทำให้ควบคุมส่วนประกอบอาหารได้ยาก คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเตรียมอาหารไว้สำหรับลูก ๆ เอง หรืออาจต้องเตรียมให้ไปโรงเรียน เพราะเราจะรู้ว่าลูกของเราสามารถทานอาหารอะไรได้บ้าง
สำหรับคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่กำลังประสบปัญหาลูกเป็นโรคภูมิแพ้อาหาร หรือบางคนที่ยังสงสัยว่าอาการเหล่านี้กำลังบ่งบอกว่าลูกของเราเป็นโรคภูมิแพ้อาหารอยู่เปล่า อย่าพึ่งเป็นกังวลใจไป แนะนำให้มาปรึกษากุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมเพราะหากเรารู้จักวิธีการดูแลและรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น ดูแลลูกน้อยอย่างถูกวิธี ทำให้เรามั่นใจในการรับมือกับโรคเหล่านี้ ไม่ให้เป็นอันตรายหรือส่งผลร้ายแรงถึงแก่ชีวิตร่วมกับ ติดตามการรักษาต่อเนื่อง เพราะโรคแพ้อาหารในเด็กส่วนมากมีโอกาสหายได้เมื่อโตขึ้น หากได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ป้องกันภูมิแพ้ ตั้งแต่วัยทารกได้อย่างไร ภูมิแพ้เด็ก ดูแลดี ก็หายได้
ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นแพ้ผิวหนังในเด็ก รักษาด่วนก่อนเรื้อรัง