คุณหมอแนะพ่อแม่รับมือน้ำท่วม
รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ หัวหน้าหน่วยโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะพ่อแม่รับมือน้ำท่วม วางแผนโภชนาการ บริหารให้เป็น ลูกกินแบบไหนให้เตรียมแบบนั้น
“เด็กต้องการการสำรองพลังงานโปรตีนมากกว่าผู้ใหญ่ 3 เท่า ร่างกายต้องการสารอาหารมากกว่าผู้ใหญ่ แต่เนื่องจากเด็กตัวเล็ก กระเพาะเล็ก ดังนั้นพฤติกรรมการกินคือ กินน้อย พ่อแม่จึงควรเตรียมอาหารที่ให้คุณค่าพลังงานสูงในทุกมื้อที่ทาน และงดเว้นอาหารด้อยคุณค่าเพราะจะไปเบียดบังพื้นที่กระเพาะ”
วิธีการเตรียม อาหาร 5 หมู่ให้เหมาะสม คือ การคำนวณความต้องการของร่างกาย ร่วมกับ ระยะเวลาจัดเก็บ ว่าอาหารประเภทใดจะเน่าเสียก่อน-หลัง และนำมาประเมินร่วมกับสภาพความเป็นอยู่ เช่น ถ้ายังออกไปนอกบ้านได้บ้าง ไฟฟ้าน้ำประปายังปกติ ก็ดำเนินชีวิตตามปกติได้ แต่ถ้าหากออกไปไหนไม่ได้เลยและไฟฟ้าอาจโดนตัด พ่อแม่ก็ควรซื้อเครื่องบริโภคมาตุนไว้
รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์
คุณหมอสังคม ได้แนะนำหลักการซื้ออาหารแห้งมาเก็บไว้ ดังนี้ อาหารจำพวกแป้ง เตรียมข้าว ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว โปรตีนนั้นแนะนำให้เป็น ไข่ เพราะให้โปรตีนสูงสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย พวกเนื้อสัตว์หากคิดว่าอาจถูกตัดกระแสไฟฟ้า ก็สามารถเก็บแบบแห้งที่เขาถนอมอาหาร ถ้ามีลูก 1-3 ขวบ ก็ซื้อพวกหมูหยอง ในเด็กโตหน่อยที่ฟันแข็งแรงสามารถเคี้ยวได้ ก็เก็บหมูแผ่น ไส้กรอก แฮม หรือจะเป็นโปรตีนผง ซึ่งนำมาใช้แทนโปรตีนได้ด้วยการปรุงละลายกิน อีกประเภทคืออาหารจำพวกกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง เนื้อกระป๋อง ซื้อมาตุนไว้ได้ แม้บางคนจะกลัวว่าจะด้อยคุณค่าหรือห่วงวิตามินบางตัวจะเสื่อมไปนิดหน่อยแต่มีกินดีกว่าไม่มีกินแน่นอน
“การเตรียมอาหารที่หยาบเกินไปให้แก่เด็กที่ยังเคี้ยวไม่ได้เต็มที่ จะทำให้เขากินไม่ได้ และคายทิ้ง เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องดูด้วยว่าลูกกินแบบไหน”
สำหรับการเตรียมการเผื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น ลูกป่วย ท้องเสีย อาเจียน คุณหมอสังคมแนะนำว่า “อาการท้องเสีย ท้องร่วงมักมาพร้อมกับน้ำท่วม ดังนั้นถ้าคิดว่าน้ำท่วมแน่ให้เตรียมยาสามัญประจำบ้านไว้ก่อน เช่น เกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย ยาแก้อาเจียน ยาแก้ไข้ ยาแก้หวัด ยาแก้ไอ เป็นต้น โดยเมื่อพบว่าลูกมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน ให้งดอาหารช่วยระบายเช่น น้ำผัก น้ำผลไม้ และให้ปรุงอาหารย่อยง่ายให้รับประทาน โดยควรให้ กินในปริมาณที่น้อย ค่อยๆ ทยอยกิน และต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพราะร่างกายต้องการพลังงานและคุณค่าสารอาหารเพื่อไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ความเชื่อผิดๆ ว่าไม่สบายให้งดอาหารบางประเภทจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”
ดร.ศุภรัตน์ ปรศุพัฒนา
ดร.ศุภรัตน์ ปรศุพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ บริษัท มี้ด จอห์นสัน ประเทศไทย จำกัด ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกซื้ออาหารเสริมประเภทนม ว่า
“ปัจจุบันนมมีหลากหลายรูปแบบให้เลือก แต่ในภาวะเหตุการณ์น้ำท่วมที่น้ำสะอาดและก๊าซหุงต้มเป็นสิ่งที่ควรใช้อย่างประหยัด การเลือกซื้อนมกล่อง UHT ติดบ้านไว้จึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะนม UHT เป็นนมที่ปลอดเชื้อ สามารถเก็บได้นาน สะดวกสบายและมีความสะอาดปลอดภัยในการเลือกให้ลูกรับประทาน คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกจากนมที่มีสารอาหารสำคัญที่ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ได้แก่ โปรตีนที่สมบูรณ์ ไขมัน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียมและฟอสฟอรัส รวมถึงวิตามินต่างๆ พ่อแม่ควรเลือกนม UHT ที่มีกรดไขมันจำเป็นเช่น DHA ที่เป็นสารอาหารช่วยพัฒนาสมองและสายตา”
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ และพฤติกรรม คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวถึงวิธีการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการของลูกแม้จะอยู่ในสภาวะน้ำท่วม โดยให้พ่อแม่มองว่าเป็นโอกาสทอง
“ทุกๆ วินาทีในชีวิตเราได้เรียนรู้อะไรมากมาย และลูก ๆ เราก็ควรได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับพ่อแม่ด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ พ่อแม่ต้องตั้งสติให้ดี ถ้ามันท่วมแล้วต้องทำให้มันเป็นโอกาสในการเรียนรู้ของลูกให้ได้ เมื่อใดก็ตามที่พ่อแม่กังวลมาก พ่อแม่เครียดมาก พ่อแม่ทุกข์และเศร้า ลูกก็จะรู้สึกกับพ่อแม่ไปด้วย ลูกจะกลายเป็นคนแบบนี้ไปโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน กลายเป็นคนวิตกกังวล ซึมเศร้าง่าย เขาจะกลายเป็นคนที่รับการเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าพ่อแม่มองวิกฤตให้เป็นโอกาสว่า ไม่เป็นไร น้ำท่วมเรามาช่วยกันดู ถ้าตรงนี้ท่วมเราตักน้ำออกไป ช่วยกันมันก็จะแห้ง แต่ถ้าน้ำมีมากเกินไป เราทำไม่ไหวเราก็หาที่อยู่ใหม่เช่นเราย้ายของกัน เราขึ้นไปอยู่ข้างบนซะ ช่วยกันขนของขึ้นข้างบน ใช้ชีวิตให้เหมือนปกติตอนที่มันไม่มีน้ำ ลูกจะได้เรียนรู้ไปด้วยพร้อม ๆ กับเรา”
โดยคุณหมอพงษ์ศักดิ์ ยังแนะนำทริคการสอนให้ลูกเข้าใจภาวะเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ตามช่วงวัย ดังนี้
1. วัย 1-3 ขวบ พ่อแม่ควรพูดสั้น ๆ เพราะเด็กจะสามารถเข้าใจได้เพียงระดับหนึ่ง เช่น “น้ำท่วมละ ไม่เล่นตรงนี้” จากนั้นก็ให้ทำเป็นตัวอย่าง ไม่ไปเดินลุยน้ำให้ลูกเห็น เพราะการเสียเวลาไปอธิบายว่าน้ำมีเชื้อโรคมากมาย มีสัตว์มีพิษ มีแมงป่อง อย่าไปเดิน เด็กไม่เคยรู้จักอยู่แล้วเขาก็จะไม่เข้าใจ เราแค่เพียงทำให้ลูกเห็น พอถึงน้ำขังเราไม่ย่ำ ไม่เดินลุย ลูกจะได้เรียนรู้ ดังนั้นวิธีการสอนเด็กวัย 1-3 ขวบนี้ ก็คือ อธิบายให้เค้าฟังในระดับที่เค้าพอจะเข้าใจ พ่อแม่ต้องรู้จักประเมินว่าลูกเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าเขาไม่เข้าใจเราก็ไม่ต้องไปอธิบายเยอะ พูดน้อยๆ และ บอกผ่านวิธีปฏิบัติของเราเอง เช่น เราไม่เดินลุยน้ำ ไม่เอาขยะไปทิ้งในน้ำ ไม่ฉี่ไม่ถ่ายลงน้ำ ลูกจะเรียนรู้ได้โดยเห็นจากที่พ่อแม่ทำ โดยขอให้พ่อแม่จำไว้ว่าการพร่ำสอนแต่ยังคงกระทำให้ลูกเห็นตรงข้ามกับสิ่งที่สอน ลูกจะเลียนแบบทำตามสิ่งที่พ่อแม่ทำมากกว่า
2. วัย 4-6 ขวบ เป็นวัยที่กำลังชอบเล่น และเด็กกับน้ำเป็นของคู่กัน หากพ่อแม่เห็นว่าลูกสนใจอยากไปเล่นน้ำ ก็ไม่ต้องตกใจเกินเหตุ เราใช้วิธีสอนและทำพฤติกรรมให้ดู แต่หากยังไม่สามารถหยุดเขาได้ เราต้องใช้วิธีการกำกับด้วย เช่น บอกลูกว่าอย่าไปเล่น น้ำสกปรก แต่ลูกยังคงไปเล่น พ่อแม่ก็ควรหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจโดยการหาอย่างอื่นที่สนุกกว่าให้เขาเล่น เขาก็จะเพลินและลืมไปเอง หรือหาทางป้องกันไม่ให้ลูกเข้าถึงน้ำได้โดยพ่อแม่ไม่ทราบ เช่น ทำประตูปิดกั้นที่เด็กเปิดเองไม่ได้ต้องให้พ่อแม่เปิดให้เท่านั้น สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ต้องระวังเป็นอย่างสูงคือ บุตรหลานที่อายุน้อยกว่า 5 ปี มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ ได้เยอะมากเพราะการทรงตัว และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เค้ายังทำได้ไม่ดี พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง ไม่ควรปล่อยลูกอยู่เพียงลำพัง เพราะมิเช่นนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงเช่น จมน้ำ ลื่นล้ม ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ฯลฯ ได้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!