ลูกมีกลิ่นปาก ทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวล และไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหานี้ให้ลูกอย่างไร แปรงฟันเช้า เย็นก็แล้ว บ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากก็แล้ว แต่ก็ยังมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมาจากปากลูก จริง ๆ แล้ว ปากเหม็น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเศษอาหาร หรือคราบสกปรกในช่องปากเพียงอย่างเดียว แต่ลูกอาจมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้
แบคทีเรียที่สะสมในช่องทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุทำให้ลูกมีกลิ่นปาก มีกลิ่นลมหายใจ อาการไซนัสไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการแปรงฟัน หรือบ้วนปาก
สาเหตุที่ทำให้ลูกปากเหม็น
1. ไซนัสอักเสบ
อาการไซนัสอักเสบ ทำให้ลูกมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย รู้สึกเจ็บคอ คัดจมูก มีของเหลวสะสมในทางเดินหายใจ และลำคอ แบคทีเรียที่สะสมในช่องทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุทำให้ลูกมีกลิ่นปาก มีกลิ่นลมหายใจ อาการไซนัสไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการแปรงฟัน หรือบ้วนปาก แต่ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
2. ของแปลกปลอม
อาจดูเป็นเรื่องน่าตกใจ และคาดไม่ถึงว่ากลิ่นปากของลูก จะเกิดจากสิ่งของแปลกปลอมติดอยู่ในจมูก เช่น ลูกปัด เมล็ดถั่ว เศษอาหาร เป็นต้น
3. ต่อมทอนซิลอักเสบ
ลองใช้ไฟฉายส่อง เข้าไปในปากของลูก เพื่อดูว่าต่อมทอนซิลของลูก มีลักษณะแบบไหน ต่อมทอนซิลที่มีสุขภาพดี ควรเป็นสีชมพู และ ปราศจากจุด ต่อมทอนซิลที่อักเสบ จะมีสีแดง มีลักษณะอักเสบ มีจุดสีขาว และมีกลิ่นรุนแรง เชื้อแบคทีเรียที่สะสม ประกอบกับการติดเชื้อ และอักเสบทำให้เกิดกลิ่นปากได้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์
4. ปากแห้ง
การดูดนิ้วมือ การดูดจุกนมหลอก ยาบางชนิด รวมถึงการดื่มนำ้น้อย ทำให้ลูกปากแห้ง และทำให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการกรน หรือหายใจทางปากขณะนอนหลับ จะทำให้น้ำลายในปากแห้งเหือด ทำให้ปากแห้ง และเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน เนื่องจากน้ำลาย เป็นส่วนสำคัญในการขจัดแบคทีเรียในช่องปาก ลดการเกิดคราบสะสม และฟันผุได้ พ่อแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำให้มาก เพื่อป้องกันอาการปากแห้ง หรือปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาอาการปากแห้งของลูก
5. รับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง
สาเหตุที่คาดเดาง่ายที่สุด นั่นคือกลิ่นปากที่เกิดจากอาหารที่ลูกรับประทานเข้าไป ไม่เพียงแต่อาหารที่มีกลิ่นแรงอย่าง กระเทียม หอมใหญ่ หรือเครื่องเทศต่าง ๆ เท่านั้น แต่การรับประทานเนื้อหมู ปลา หรือชีส มาก ๆ ก็ทำให้ปากมีกลิ่นได้เช่นเดียวกัน สามารถป้องกันได้ด้วยการบริโภคอาหารเหล่านี้ให้น้อยลง
6. ปัญหาสุขภาพช่องปาก
การสอนให้ลูกแปรงฟันให้ถูกวิธี เป็นวิธีที่จะช่วยรักษาสุขอนามัยในช่องปาก ขจัดเศษอาหาร คราบเพลค (Plaque) และการสะสมของแบคทีเรีย อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ ยิ่งไปกว่านั้น แบคทีเรียที่สะสมในช่องปาก จะทำให้เกิดโรคเหงือก ฟันผุ แผลในช่องปาก หรือการติดเชื้อในช่องปากอื่น ๆ ที่ไม่สามารถรักษา หรือแก้ไขได้ด้วยการทำความสะอาดช่องปากเพียงอย่างเดียว คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจเช็คสุขภาพเหงือกและฟันเป็นประจำ และปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์
7. โรคร้ายแรง หรือการใช้ยาบางชนิด
สาเหตุกลิ่นปากที่เกิดจากโรคร้ายแรง และการรักษาอย่างเคมีบำบัดไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในเด็ก แต่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ เช่นโรคตับ โรคไต เบาหวาน มะเร็งช่องปาก การติดเชื้อในช่องท้อง เป็นต้น
แบคทีเรียที่สะสมในช่องปาก จะทำให้เกิดโรคเหงือก ฟันผุ แผลในช่องปาก หรือการติดเชื้ออื่น ๆ ที่ไม่สามารถรักษา หรือแก้ไขได้ด้วยการทำความสะอาดช่องปาก
วิธีป้องกันปัญหากลิ่นปากของลูก
ปัญหากลิ่นปากสามารถป้องกันได้โดยเริ่มจากการมีสุขภาพอนามัยช่องปากที่เหมาะสม โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยดูแลช่องปากให้ลูกได้ ดังนี้
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 นาที คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนลูก และคอยกำกับอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะมั่นใจว่า ลูกสามารถแปรงฟันได้ด้วยตัวเองอย่างถูกวิธี
- ใช้ยาสีฟันในปริมาณที่เหมาะสม สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ควรบีบยาสีฟันขนาดเท่าเมล็ดข้าว สำหรับเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป ควรบีบยาสีฟันขนาดเท่าเมล็ดถั่ว คุณพ่อคุณแม่คอยดู และระวังไม่ให้ลูกกลืนยาสีฟัน
- นอกจากการทำความสะอาดบริเวณผิวฟันแล้ว อย่าลืมสังเกตว่ามีเศษอาหาร หรือคราบสะสมติดอยู่ระหว่างช่องฟันหรือไม่
- ทำความสะอาดลิ้น ด้วยการแปรงเบา ๆ เพราะลิ้นก็มักเกิดการสะสมของแบคทีเรีย ทำให้มีกลิ่นปากได้เช่นกัน
- ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
- รับประทานอาหารที่เหมาะสม ลดอาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาล จะช่วยป้องกันกลิ่นปากได้
- พาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพช่องปากเป็นประจำ
สุขภาพช่องปากที่ดี เริ่มต้นด้วยการแปรงฟัน ใช้ยาสีฟันในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการทานอาหารตามโภชนาการที่ดีด้วย
5 ข้อควรทำ เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี
1. แปรงฟันก่อน
สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกหลังจากตื่นนอน ก็คือการแปรงฟัน เพื่อล้างแบคทีเรียที่สะสมในช่องปากมาตลอดทั้งคืน หากรับประทานอาหารเช้าก่อนแปรงฟัน อาจจะทำให้คราบนม คราบอาหารสะสมได้ง่ายกว่าเดิม หลังจากทานอาหารเช้าแล้ว อาจจะบ้วนปากอีกครั้ง เพื่อความสดชื่น และลดเศษอาหารที่อาจสะสมไปตลอดทั้งวัน
2. จับเวลา 2 นาที
การแปรงฟันทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ไม่เพียงพอที่จะให้ช่องปากของลูกมีสุขภาพดี การแปรงฟันแต่ละครั้ง ควรจะจับเวลาประมาณ 2 นาที และแปรงให้ทั่วถึง สะอาด ครบทุกซี่ คุณพ่อคุณแม่อาจจะร้องเพลง เปิดเพลง หรือฟังนิทานไปด้วย ลูกจะได้แปรงฟันได้นานขึ้น
3. ทำความสะอาดลิ้นด้วย ช่วยลดกลิ่นปากได้
เช่นเดียวกับการแปรงฟัน การทำความสะอาดลิ้นก็ควรทำอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน เช่นกัน หลังจากแปรงฟันเสร็จ ก็แปรงลิ้นต่อทันที จะได้ไม่ลืม
4. น้ำอัดลม ทำให้เกิดคราบสะสมได้
การดื่มโซดา น้ำหวาน หรือทานน้ำตาลมาก ๆ ทำให้เกิดปัญหาช่องปากอย่าง ฟันผุ และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ ทางที่ดีควรให้ลูกทานขนม หรือน้ำอัดลมในปริมาณที่เหมาะสม การใช้หลอดในการดูดน้ำอัดลม ก็เป็นหนึ่งเคล็ดลับ ที่ช่วยป้องกันไม่ให้ฟันสัมผัสกับน้ำอัดลมโดยตรง อาจช่วยลดความเสี่ยงที่ทำให้ลูกฟันผุ แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องสุขภาพอื่น ๆ แน่นอน
5. กินผักเป็นประจำ
โภชนาการที่เหมาะสม จะช่วยให้ปรับสมดุลร่างกายให้เหมาะสม ไม่เพียงเท่านั้น การรับประทานผักทุกวัน จะช่วยลูกมีสุขภาพช่องปากที่ดีอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคี้ยวผักกรอบ ๆ ช่วยสร้างน้ำลาย ซึ่งร่างกายผลิตมาเพื่อช่วยล้าง และทำความสะอาดช่องปาก ลูกปากไม่ปากแห้ง และทำให้ลูกไม่มีกลิ่นปากอีกด้วย
การเคี้ยวผักกรอบ ๆ ช่วยสร้างน้ำลาย ซึ่งร่างกายผลิตมาเพื่อช่วยล้าง และทำความสะอาดช่องปาก
เคล็ดลับการทำความสะอาดฟัน
- องศาของแปรงสีฟันที่จะช่วยขจัดคราบบนผิวฟัน อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดนั่นคือ การทำมุม 45 องศากับแนวเหงือก สะบัดแปรงเข้า – ออก ไปเรื่อย ๆ
- ทำความสะอาดซอกฟันแต่ละซี่ ด้วยวิธีการสะบัดขนแปรงเข้า – ออกเช่นเดียวกัน
- แปรงส่วนบนของฟันแต่ละซี่ด้วย
- ใช้ขนแปรงด้านบน ทำความสะอาดหลังฟัน ด้วยการแปรงเข้า – ออก และขยับขนแปรงขึ้น – ลง
- อย่าลืมที่จะแปรงทำความสะอาดลิ้น เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรียบนลิ้นด้วย
- ใช้ไหมขัดฟันขจัดเศษอาหาร ในส่วนที่ยากจะเข้าถึง เป็นประจำทุกวัน
ลูกสามารถใช้ไหมขัดฟันได้เมื่อไหร่
การใช้ไหมขัดฟันจะช่วยดึงเอาเศษอาหาร และคราบสะสมที่ติดอยู่ระหว่างซอกฟัน หรือบริเวณที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง ให้ออกไปได้ เมื่อลูกอายุ 4 ขวบขึ้นไป พ่อแม่สามารถใช้ไหมขัดฟันช่วยในการทำความสะอาดฟันให้ลูก เด็กส่วนมากจะสามารถใช้ไหมขัดฟันได้ด้วยตัวเอง เมื่ออายุประมาณ 8 ขวบ โดยวิธีง่าย ๆ ในการใช้ไหมขัดฟัน มีดังนี้
- ดึงไหมขัดฟันให้มีความยาวประมาณ 18 -24 นิ้ว พันรอบนิ้วกลางทั้งสองข้าง โดยเหลือความยาวประมาณ 1 – 2 นิ้วไว้สำหรับใช้ขัดฟัน
- ใช้นิ้วโป้ง และนิ้วชี้ ดึงไหมขัดฟันให้ตึง ค่อย ๆ ขยับขึ้น – ลงระหว่างซอกฟัน
- โค้งเส้นไหมให้เข้ากับรูปฟัน ค่อย ๆ ขยับขึ้นไปจนถึงบริเวณฐานของฟันแต่ละซี่ ระวังอย่าขัดไปจนถึงใต้เหงือก เพราะอาจทำให้ระคายเคือง บาดเหงือก เลือดออก หรืออักเสบได้
- เปลี่ยนจากส่วนที่ใช้แล้ว ไปใช้ส่วนที่สะอาดในการขัดฟันแต่ละซี่
- การถอดไหมขัดฟันออก ให้ขยับเข้าออกเบา ๆ เช่นเดียวกับตอนขัด เมื่อถอนไหมขัดฟันออกจากซอกฟัน
การใช้ไหมขัดฟันต้องใช้ให้ถูกวิธี ใช้อย่างเบามือ และระมัดระวังไม่ให้กระทบกับเหงือกได้
ที่มา : www.colgate.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โรคในทารกแรกเกิด โรคที่พบบ่อย ทารก 0-1 ปี ปัญหาทารกแรกเกิดที่พบบ่อย การแก้ไขเบื้องต้น
อาหารที่มีไอโอดีนสําหรับคนท้อง ความต้องการไอโอดีน หญิงตั้งครรภ์ ป้องกันลูกในท้องสมองพิการ
วิธีป้องกันอุบัติเหตุตอนท้อง เกิดอุบัติเหตุระหว่างตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหน วิธีปฐมพยาบาลคนท้องตกเลือด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!