คุณแม่ท่านไหนบ้างคะ ที่เคยประสบหรือกำลังประสบกับปัญหาไอแห้งตอนท้องบ้าง? อาการ ไอแห้งตอนท้อง นั้น นอกจากจะทำให้เรารู้สึกเจ็บแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกรำคาญอีกด้วย และคุณแม่ทราบหรือไม่คะว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะอะไร วันนี้เราเตรียมคำตอบมาฝากกันค่ะ
อาการไอแห้ง คืออะไร
อาการไอแห้ง (Non-Productive Cough) หรืออาการที่เรียกว่า เป็นการไอโดยที่ไม่มีเสมหะ เป็นอาการที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป แม้จะไม่ใช่คนท้องก็ตาม เป็นอาการที่อาจรบกวนการนอน และการใช้ชีวิตประจำวัน ในกรณีที่รุนแรง ยังสามารถนำพาอาการเจ็บปวดอื่น ๆ มาร่วมได้ด้วย เช่น อาการปวดท้อง ปวดศีรษะ เป็นต้น ในเบื้องต้น เราอาจสามารถบรรเทาอาการไอแห้งได้ด้วย การดื่มน้ำให้มากขึ้น นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และหมั่นรับประทานอาหารที่มีสรรพคุณที่ช่วยในการบรรเทาอาการเจ็บคอได้ แต่หากอาการไอแห้ง มีความรุนแรงขึ้น เช่น ไอจนเริ่มมีเลือดปนออกมา หรือเริ่มมีเสมหะอย่างรุนแรง สาเหตุนั้นอาจเกิดจากโรคที่รุนแรงแทรกซ้อนได้ ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเร็วที่สุดนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : รู้หรือไม่! อาการไอ เกิดจากอะไร ? มาดูสาเหตุ พร้อมวิธีการรับมือไปพร้อมกัน
อาการ ไอแห้งคนท้อง มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง
-
โรคภูมิแพ้
เรียกได้ว่า อาการไอแห้งถือเป็นอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่มีโรคภูมิแพ้กันอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ท้อง ร่างกายของคุณแม่จะบอบบางกว่าเดิม จึงไม่แปลกที่อาการดังกล่าวจะเกิดง่ายขึ้น แม้จะป้องกันแล้วก็ตาม
-
โรคหืด
โดยจากสถิติแล้ว กว่าร้อยละ 50 ของโรคหอบหืดที่มักจะเกิดในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เคยมีประวัติการเป็นโรคหืด หรือเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน เมื่อได้รับสารกระตุ้นการก่อให้เกิดภูมิแพ้ ยกตัวอย่างเช่น ขนสัตว์ ฝุ่น หรืออาหารบางชนิด ก็ทำให้อาการดังกล่าวกลับมาเกิดขึ้นได้
-
โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
คุณแม่บางคนก็อาจเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้เช่นกัน ซึ่งโรคดังกล่าวนั้น เกิดจาก ก่อนหน้าตั้งครรภ์อาจจะสูบบุหรี่จัด หรืออาจจากการได้รับสิ่งกระตุ้นไม่ว่าจะเป็น ควัน ฝุ่นละออง หรือได้รับเชื้อหวัด เป็นต้น
-
โรคจมูกหรือไซนัสอักเสบ
ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณแม่ท้องชอบไอแห้ง ประมาณร้อยละ 20 – 40 ของหญิงตั้งครรภ์ มักมาพบแพทย์เพราะมีอาการเยื่อบุจมูกอักเสบ ไซนัส และเลือดกำเดาไหล ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งผลในการกระตุ้นระบบประสาทที่มาเลี้ยงเยื่อบุจมูก ทำให้เส้นเลือดในเยื่อบุจมูกมีการขยายตัว และมีการกระตุ้นการทำงานของต่อมสร้างน้ำมูกในเยื่อจมูกมากขึ้น ทำให้เกิดอาการทางจมูกหรือไซนัสที่เป็นอยู่แล้วแย่ลงได้
-
โรคหวัด
ไข้หวัด เป็นอาการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง โดยปกติแล้วจะไม่มีความรุนแรง และสามารถหายได้เองแม้ไม่ได้รักษา ภายใน 1 สัปดาห์ โดยโรคนี้จะมีไข้ร่วมด้วย และอาจเกิดการอักเสบบริเวณลำคอ หรือก็คืออาการไอ นั่นเอง ในบางคนอาจจะมีทั้งอาการไอแห้ง บางคนอาจจะมีอาการไอแบบมีเสมหะ แต่โดยปกติแล้ว มักจะเป็นอาการไอแห้ง ถ้าหากไม่มีอาการรุนแรงของไข้หวัด
-
โรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน เป็นอาการที่คนที่เป็นจะเกิดอาการ แสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย และทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นผลให้มีอาการและน้ำย่อยไหลย้อนกลับขึ้นมาตามท่อลำเลียงอาหาร เมื่อน้ำย่อยสัมผัสกับลำคอ จึงทำให้มีอาการแสบในลำคอนั่นเองค่ะ พอเมื่อลำคอมีการอักเสบ ก็จะส่งผลให้เกิดอาการไอแห้งได้เช่นกัน โดยโรคนี้มักพบในเวลากลางคืน หลังจากการนอนทันทีหลังทานอาหาร ที่อาหารยังไม่ย่อยดี ทำให้มีอาการไอและเจ็บคอ รวมไปถึงมีอาการจุกเสียด และแน่นหน้าอกอีกด้วย
นอกจากโรคที่นำเสนอข้างต้นแล้ว อาการไอแห้ง ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีก เช่น
- การสูดสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น ควันบุหรี่ น้ำหอม หรือมลพิษอื่น ๆ
- การได้รับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง ละอองเกสร เชื้อรา หรือแม้แต่ขนของสัตว์เลี้ยงก็ด้วย
- ผลข้างเคียงจากยาบางประเภท อย่าลืมอ่านฉลากยาก่อนทาน และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งนะคะ
- โรคหัวใจ เพราะโรคหัวใจนั้น อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ที่ทำให้เกิดอาการไอแห้ง จนนำมาถึงอาการหายใจไม่ออก จนเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
- การสำลัก เช่น สำลักน้ำลาย หรืออาหาร/น้ำ ที่ทานเข้าไป เป็นต้น
วิธีการบรรเทาอาการ ไอแห้งตอนท้อง
- ดื่มน้ำให้มาก และพยายามไม่ให้ร่างกายขาดน้ำในระหว่างตั้งครรภ์
- ดื่มน้ำอุ่นผสมมะนาว
- ผสมน้ำผึ้งลงไปในน้ำดื่ม เพราะน้ำผึ้งมีส่วนช่วยให้อาการไอแห้งนั้นดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณแม่ควรเช็คกับคุณหมอก่อนนะคะว่า สามารถดื่มได้หรือไม่ เพราะร่างกายและอาการตั้งครรภ์ของคุณแม่แต่ละท่านนั้นต่างกัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามงีบหลับสัก 5 – 10 นาทีในระหว่างตั้งครรภ์
โดยสรุปแล้ว อาการไอแห้งตอนท้อง เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้โดยปกติ โดยมีสาเหตุหลายอย่าง ไม่ว่าจะทั้งเป็นอาการขาดน้ำ ขาดวิตามิน หรือแม้แต่ความเปลี่ยนแปลงของอากาศ ก็ส่งผลทำให้คุณแม่มีอาการไอแห้งได้เช่นกัน ทั้งนี้ อย่าลืมดื่มน้ำปริมาณอย่างเหมาะสม และปรึกษาแพทย์ หากมีอาการรุนแรงนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อ่านก่อนซื้อ เครื่องเพิ่มความชื้น ข้อเสีย คืออะไรบ้าง? จำเป็นมากแค่ไหนสำหรับเรา
10 วิธีบรรเทาอาการเจ็บคอ ที่ได้ผลจริง ลดอาการระคายเคืองคอได้ดี
ทารกไอ ลูกน้อยไอ ลักษณะอาการไอของทารกที่คุณแม่ควรรู้
ที่มา : momjunction