การทำบุญเลี้ยงพระถือเป็นสิ่งที่ดีอีกหนึ่งอย่างที่จะช่วยเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่บ้าน และคนในครอบครัวของเราเอง โดยส่วนใหญ่ก็มักจะทำบุญเลี้ยงพระในทุก ๆ ปี ส่วนใครที่กำลังอยากจะ ทำบุญเลี้ยงพระ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองสักหน่อย แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกันบ้างนั้น มาดูกันเลย
(รูปจาก shutterstock.com)
การทำบุญเลี้ยงพระ
บางคนก็อาจจะพอรู้แล้วว่าการทำบุญเลี้ยงพระนั้นมีขั้นตอนหรือมีพิธีอย่างไรกันบ้าง การทำบุญเลี้ยงพระถือได้ว่าเป็นพิธีกรรมอีกหนึ่งอย่างที่คนส่วนใหญ่ให้ความศรัทธาและเคารพนับถือกันเป็นอย่างมาก โดยพิธีนี้จะเป็นการที่เรานิมนต์พระสงฆ์มาที่บ้าน พร้อมกับทำการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์นั่นเอง ซึ่งจะนิยมทำกันในช่วงเช้าก่อนเที่ยง หรือที่มักเรียกกันว่า ช่วงเพลนั่นเอง และอย่างที่เราได้เห็นกัน นอกจากนี้การทำบุญเลี้ยงพระก็มักจะเกิดขึ้นในงานมงคลอยู่บ่อย ๆ อาทิเช่น งานแต่งงาน งานบวช หรืองานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น แต่งานอื่น ๆ ที่เป็นอวมงคลก็จะมีการทำบุญเลี้ยงพระด้วยเหมือนกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : สวดมนต์ไหว้พระประจําวัน เสริมดวง เพิ่มความเฮงให้กับชีวิต
การทำบุญเลี้ยงพระในงานมงคลทำอย่างไร?
สำหรับใครที่กำลังจะมีงานมงคลเร็ว ๆ นี้ แน่นอนว่าหลายคนก็คงทำการดูฤกษ์ ดูช่วงเวลาของการทำบุญมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็อาจจะยังไม่รู้ขั้นตอนการทำบุญอย่างละเอียดและถี่ถ้วนสักเท่าไหร่ หากเป็นเช่นนั้น เราก็มาดูขั้นตอนการทำบุญเลี้ยงพระไปพร้อม ๆ กันเลย
1. อาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
สิ่งแรกเลยคือ เมื่อเราจะทำบุญเลี้ยงพระ เราจะต้องทำการอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้านนั่นเอง ซึ่งเราอาจจะต้องทำการนิมนต์ท่านก่อนล่วงหน้า ไม่ควรบอกในเวลากระชั้นชิดจนเกินไป เพราะฉะนั้นถ้าเราได้ฤกษ์ หรือวันมงคลแล้ว นิมนต์ท่านก่อนล่วงหน้าดีที่สุด
2. จัดเตรียมสถานที่
เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญของการทำบุญในครั้งนี้เลยทีเดียว โดยสิ่งนี้เราอาจจะต้องดูในบริเวณบ้านของเรา บริเวณไหนเหมาะสำหรับจัดเตรียมงานมากที่สุด เตรียมอุปกรณ์และตกแต่งสถานที่ให้อย่างสวยงามและเหมาะสม นอกจากนี้สถานที่ที่เราเตรียมนั้นจะต้องสามารถนำพระพุทธรูปและเครื่องหมู่บูชามาตั้งไว้ได้ด้วย ไม่ควรเลือกสถานที่แคบหรือแออัดจนเกินไป
3. เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์
สิ่งที่เราควรคำนึงถึงอีกหนึ่งอย่างนั่นคือ การเตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ โดยเราอาจจะนำ อาหาร น้ำดื่ม หรือของรับรองอื่น ๆ มาวางไว้บริเวณที่จะทำบุญเลี้ยงพระตามจำนวนพระสงฆ์ที่เราได้นิมนต์ท่านมา และถ้าใครที่อยากจะให้ท่านทำน้ำมนต์ให้ด้วย เราก็อาจจะต้องหาภาชนะสำหรับใช้ทำน้ำมนต์มาเตรียมไว้ให้ท่านด้วย
4. การนิมนต์พระสงฆ์มานั่งที่อาสนะ
เมื่อพระสงฆ์ที่ถึง เราผู้เป็นเจ้าของงานก็อาจจะต้องทำการนิมนต์ท่านมานั่งยังอาสนะบริเวณที่เราจัดเตรียมไว้ พร้อมกับทำการประเคนเครื่องรับรองต่าง ๆ ตามไปด้วย ถ้าเรายังไม่เตรียมความพร้อม หรือเวลายังเหลืออีกเยอะ ไม่ควรที่จะนิมนต์ท่านมาเร็วจนเกินไป อาจจะต้องดูเวลาให้ดีก่อนเริ่มทำพิธี
5. จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย
ขั้นตอนก่อนเริ่มทำพิธีต่าง ๆ เราผู้เป็นเจ้าของงานจะต้องทำการจุดธูปเทียนพร้อมเครื่องหมู่บูชาที่เตรียมไว้ จากนั้นก็เริ่มทำการกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยตามพระสงฆ์ เมื่อขั้นตอนนี้เสร็จสิ้นแล้ว พระสงฆ์ท่านก็จะให้อาราธนาศีลแก่เราทุกคน ซึ่งในขั้นตอนนี้ เราจะมุ่งมั่นตั้งจิตอธิษฐานให้แน่วแน่ มีสติและสมาธิให้มากที่สุด เพื่อจะได้กุศลผลบุญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
6. ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์
จากนั้นเราก็จะทำการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าทำการถวายสิ่งของต่าง ๆ ที่เราเตรียมไว้ ไม่ว่าจะเป็นเมนูของหวาน ของคาว รวมถึงสิ่งของต่างๆ มาถวายแด่พระสงฆ์นั่นเอง โดยสิ่งนี้ในกรณีที่เป็นเมนูของกินเราไม่ควรที่จะรับประทานก่อนแล้วค่อยนำมาถวายพระสงฆ์ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรมาก ๆ ดังนั้นเราจะต้องให้ท่านฉันก่อนทุกครั้ง
7. การกรวดน้ำ
เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ ในช่วงที่เรากรวดน้ำให้เราตั้งจิตอธิษฐานและแผ่เมตตา เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เทวดาประจำตัว สรรพสัตว์ทั้งหลาย รวมถึงเจ้ากรรมนายเวร ให้เขาเหล่านี้ได้รับส่วนผลกุศลที่เราได้ทำไปให้นั่นเอง
8. การรับพร
เมื่อพิธีกรรมทุกอย่างเสร็จสิ้น จากนั้นพระสงฆ์ท่านก็จะให้พรแก่เราทุกคน รวมถึงได้รับการประพรมน้ำมนต์จากท่านนั่นเอง เรียกได้ว่า การทำบุญเลี้ยงพระในครั้งนี้จะส่งผลทำให้เราทุกคนมีความสุขและอิ่มเอมใจกลับไปอย่างแน่นอน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำบุญบริจาคโลงศพ ส่งผลดีต่อชีวิตยังไง? ทำแล้วชีวิตจะขึ้นจริงไหม
(รูปโดย Pvproductions จาก freepik.com)
บทสวดต่าง ๆ ในงานทำบุญเลี้ยงพระ
บทสวดบูชาพระรัตนตรัย
(ผู้นำบทสวดจะเป็นผู้กล่าว)
อิมินา สักกาเรนะ/ พุทธัง อะภิปูชะยามะ
อิมินา สักกาเรนะ/ ธัมมัง อะภิปูชะยามะ
อิมินา สักกาเรนะ/ สังฆัง อะภิปูชะยามะ
(กล่าวพร้อมกัน)
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ. (กราบ)
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมัง นะมัสสามิ. (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ. (กราบ)
คำอาราธนาศีล
“มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเณนะสะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ”
(จากนั้นพระสงฆ์ก็จะทำการให้ศีลแก่เราทุกคน โดยเราทุกคนจะต้องกล่าวตามท่านดังนี้)
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ ( กล่าว ๓ จบ )
“พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ/ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ/ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ/ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ/ ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ/ ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ / ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ”
(เมื่อท่านกล่าวคำว่า) “ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง” (เราผู้รับศีลจะต้องพูดรับศีลจากท่านด้วยคำว่า) “อามะ ภันเต”
(จากนั้นเราก็ทำการกล่าวตามท่านต่อไป)
“ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ”
(บทสวดต่อไปนี้ ถ้าเราไม่ได้เป็นผู้รับศีล เราไม่ต้องกล่าวตามท่าน)
“อิมานิ ปัญจะสิกขาปะทานิ,
สีเลนะ สุคะติง ยันติ, สีเลนะ โภคะสัมปะทา,
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ, ตัสฺมา สีลัง วิโสธะเย”
คำอาราธนาพระปริตร
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติ สิทธิยา สัพพะทุกขะ วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติ สิทธิยา สัพพะภะยะ วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติ สิทธิยา สัพพะโรคะ วินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปฏิทินวันพระ 2564 วันไหนวันพระ จะมีวันไหนบ้างในปีนี้มาดูกัน จะได้ทำบุญถูก
คำถวายข้าวพระพุทธ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ฯ (กล่าว 3 จบ)
“อิมัง/ สูปะพยัญชะนะสัมปันนัง / สาลีนัง / โภชะนัง/ อุทะกัง วะรัง / พุทธัสสะ / ปูเชมิ”
คำถวายภัตตาหารพระสงฆ์
“อิมานิ/ มะยัง ภันเต/ ภัตตานิ/ สะปะริวารานิ/ ภิกขุสังฆัสสะ/ โอโณชะยามะ/ สาธุโน ภันเต / ภิกขุสังโฆ/ อิมานิ/ ภัตตานิ/ สะปะริวารานิ/ ปะฏิคคัณหาตุ/ อัมหากัง/ทีฆะรัตตัง/ หิตายะ/ สุขายะ”
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ/ ข้าพเจ้าทั้งหลาย/ ขอน้อมถวาย/ ภัตตาหาร/ กับทั้งของอันเป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้/ แด่พระสงฆ์/ ขอพระสงฆ์โปรดรับ/ ภัตตาหาร/ กับทั้งของอันเป็นบริวารทั้งหลายเหล่านี้/ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย/ เพื่อประโยชน์/ เพื่อความสุข/ แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย/ ตลอดกาลนานเทอญ
(รูปโดย pressfoto จาก freepik.com)
ใครที่กำลังวางแผนจะมีงานมงคลสมรส งานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานบวชเร็ว ๆ นี้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าการทำบุญเลี้ยงพระเราจะต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง หรือมีพิธีกรรมอย่างไร ก็สามารถเข้ามาดูกันเลยได้ เพราะแอดได้รวบรวมมาให้ทุกคนได้รู้กันแล้ว
บทความที่น่าสนใจ :
บทสวดมนต์ขออโหสิกรรม ขอขมากรรม เพื่อความเป็นสุข ชีวิตดีขึ้น
สวดมนต์ธรรมจักร บทสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร หลักธรรมในวันสำคัญ
รวมบทสวดมนต์ เพื่อจิตใจแจ่มใส เสริมความเป็นสิริมงคล สวดแล้วชีวิตดีขึ้น
ที่มา : ingfhanabun
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!