ความผูกพัน (Deep connection) เป็นความรู้สึกที่ต้องการอีกฝ่ายอยู่ตลอด ต้องการให้ทุกอย่างเป็นอย่างที่เราต้องการ โดยที่เราไม่ได้คิดถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายเลย ซึ่งมีความแตกต่างกับความรัก แต่ในขณะเดียวกัน หากคู่รักนั้นมีทั้งความรัก และความผูกพันจะยิ่งเพิ่มสายใยแห่งความผูกพันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นไปอีก หรือที่หลายคนอาจเรียกว่า “รักแท้”
ความผูกพัน คืออะไร ทำไมมีผลกับความรัก
ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคน 2 คนที่เป็นคู่รักกันมาอย่างยาวนาน อาจมีความรู้สึกได้ถึงจุดอิ่มตัว หรือรู้สึกว่าไม่สามารถขาดคนรักคนนี้ไปได้ ด้วยความเคยชินกับการคบหากันในทุก ๆ วัน แต่ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้น ไม่ได้อยากค้นหา ไม่ได้อยากทำอะไรใหม่ ๆ ร่วมกันแล้ว แต่ก็ไม่ต้องการเลิกรากันไปเช่นกัน ความรู้สึกเหล่านี้เรียกว่า “ความผูกพัน” ซึ่งมีความแตกต่างจากความรักอยู่พอสมควร แต่ด้วยบางมุมที่มีความคล้ายกัน ทำให้หลายคนเริ่มสับสนว่าแท้จริงแล้ว ตนเองกับคู่รักกำลังผูกพันกัน หรือกำลังรักกันอยู่กันแน่ ?
บทความที่เกี่ยวข้อง : 4 วิธี Move on เริ่มอย่างไรให้ดีที่สุด เตรียมพร้อมสำหรับรักครั้งใหม่
วิดีโอจาก : Chong Charis
ความผูกพันกับความรักแตกต่างกันอย่างไร
หากจะนำมาเปรียบเทียบกันก็คงมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่ก็มีผลกับความสัมพันธ์ด้วยกันทั้งคู่ ในเรื่องของความรักหลายคนคงมีความเข้าใจอยู่แล้ว หากมีประสบการณ์ของคู่รักมาก่อน แต่ความผูกพันนั้นมองได้ทั้ง 2 แง่มุม ทั้งในด้านของข้อดี ข้อเสีย แต่ด้วยความเข้าใจของสังคมนั้นมักจะกำหนดว่าหากรักเปลี่ยนเป็นความผูกพัน ก็ไม่ต่างจากจุดจบของความรัก เพราะจะกลายเป็นการขาดกันไม่ได้เฉย ๆ และเสี่ยงที่จะเกิดปัญหานอกใจ หรือการไม่ได้รู้สึกอยากทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย และทำใจเลิกไม่ได้ เป็นต้น โดยเราจะสรุปให้ดังนี้
- ข้อดีของความผูกพัน : หากเกิดความผูกพันขึ้นมาแล้ว พร้อม ๆ กับความรักที่ยังคงอยู่เป็นปกตินั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างมาก เพราะความผูกพันจะทำให้รู้สึกไม่สามารถขาดกันได้ รู้สึกเหมือนแต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และความรักจะเป็นสิ่งที่เติมเต็มความหวาน ความเข้าใจซึ่งกันและกันควบคู่ตามกันไปด้วย ทำให้คู่ไหนที่มีทั้ง 2 อย่างนี้จะทำให้รักนั้นยืนยาว หรือหลายคนอาจเรียกว่า “รักแท้” ก็ได้เช่นกัน
- ข้อเสียของความผูกพัน : หากเกิดความผูกพันขึ้นมาแทนความรัก แน่นอนว่าเท่ากับความสัมพันธ์นั้นเหมือนถูกลดทอนไปครึ่งหนึ่ง เพราะสถานะของทั้งคู่จะกลายเป็นกลืนไม่เข้าคายไม่ออก รู้สึกไม่ได้รัก แต่กลับขาดกันไม่ได้ หากอยู่ในสภาวะนี้ในระยะยาวต่อ ๆ ไป อาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ความเฉยชาที่มีต่อกันมากขึ้น, ปัญหาการนอกใจ หรือสนทนากันน้อย เป็นต้น
จากที่เรากล่าวไป คงจะทำให้หลายคนเริ่มเข้าใจขึ้นมาแล้วว่า ความผูกพันนั้นก็มีข้อดี แต่จะกลายเป็นข้อเสียได้ หากไม่ได้มีองค์ประกอบของความรักควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นบางทีการมีความรักโดยไร้ซึ่งความผูกพัน อาจดีกว่าการมีแต่ความผูกพันที่ไม่มีความรักหลงเหลืออยู่เลย
บทความที่เกี่ยวข้อง : เหนื่อยกับความรู้สึก ไม่อยากจะทำอะไร ทำอย่างไรดีให้กลับมาสดใสอีกครั้ง
จะรู้ได้อย่างไรว่ารัก หรือผูกพันอยู่ ?
หากกำลังสับสนเกี่ยวกับสถานะในตอนนี้ว่าทั้งคู่กำลังรู้สึกแบบไหนต่อกัน เพื่อนำมาเป็นหนึ่งในการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับความสัมพันธ์ต่อไป สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- การแสดงออกผ่านการเสียสละ : หากมีความรักเชื่อว่าเราคงเข้าใจกันดีกับคำว่า “รักจนยอมตายแทนกันได้” คำนี้คือความหมายที่เรากำลังจะอธิบาย ด้วยการเสียสละสิ่งใด ๆ เพื่อให้คนรักมีความสุข โดยเราไม่ต้องหวังสิ่งตอบแทนกลับมา ไม่ได้หวังว่าอีกฝ่ายต้องให้อะไรกลับมา นั่นคือความรัก แต่หากคบกันไป แล้วหมดความคิดแบบนี้แค่ทำอะไรก็ได้ให้ตนเองมีความสุข และเชื่อว่าอีกฝ่ายก็คงไม่ได้คิดอะไร หรือไม่ได้คิดถึงอีกฝ่ายเลยแบบนี้คือสัญญาณของความผูกพันไม่ใช่ความรัก
- อิสระแทนการควบคุม : หากสถานะความสัมพันธ์ยังคงเป็นความรักอยู่นั้น เราจะอยากให้คู่รักรู้สึกสบายทั้งกาย และใจตลอดเวลาที่คบกัน เพื่อให้ไร้ความอึดอัด และมีความสุขในทุกช่วงเวลา แต่สำหรับความผูกพัน อาจจะทำให้มีอาการหึงหวง ชอบแสดงความเป็นเจ้าของ ไปจนถึงการพยายามควบคุมชีวิตของอีกฝ่าย เพื่อให้เป็นอย่างที่เราต้องการ แต่กับตัวของเรานั้นหากต้องเจอในแบบเดียวกัน อาจจะไม่พอใจ และแสดงออกมา จนลืมคิดไปว่านี่คือสิ่งที่เราทำกับเขาเช่นกัน
- ความคิดเกี่ยวกับการเติบโต : เป็นเรื่องปกติที่คู่รักจะมีความต้องการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของชีวิตไปพร้อม ๆ กัน โดยจะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างที่เราเห็นกันมาบ่อย ๆ กับคู่รักที่เริ่มต้นจากศูนย์ต่อสู้ และฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ จนมีกินมีใช้ แต่หากไม่ได้เกิดจากความรัก และกลายมาเป็นความผูกพันแทน การแสดงออกจะแตกต่างกันออกไป คือ อาจจะพยายามฉุดแฟนเอาไว้ เมื่อเขาจะเริ่มมีการเติบโต หรือพัฒนา เพราะว่าตนเองนั้นยังไม่พร้อมที่จะโตไปด้วยนั่นเอง
- สัญญาณจากระยะเวลา : คนที่อยู่ด้วยกันด้วยความรักนั้น จะส่งมอบความรู้สึกดี ๆ ให้กันอยู่ตลอด ถึงแม้อาจมีการทะเลาะบ้างเป็นบางครั้ง เมื่อต้องเลิกรากันไป ก็อาจมีความคิดถึง หรือความต้องการที่จะกลับไปคบกันอีกครั้ง บางคนอาจ Move on ไปได้โดยไม่คิดอะไรมาก แต่หากเป็นเพียงความผูกพันจะกลายเป็นว่าหลังเลิกกันไปแล้ว อาจนำข้อเสียของอีกฝ่ายมาเป็นเครื่องมือโจมตี เพราะความแค้นในเรื่องต่าง ๆ เป็นต้น
- ปรับ Ego ของตัวเอง : การมีความรักนั้นอาจหมายถึงการได้รับข้อยกเว้น และการปรับปรุงตัวเองเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกมีความสุขที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นที่มาของการลด Ego ในตนเองเพื่อให้ความสัมพันธ์สามารถไปต่อได้ แตกต่างกับความผูกพันที่ไม่ต้องการลด Ego ของตนเองไม่ได้สนใจความรู้สึกของอีกฝ่าย มีเพียงความต้องการที่จะให้อีกฝ่ายปรับตัวเพียงคนเดียวเท่านั้น
ถึงแม้จะพบว่าเหลือเพียงความผูกพันแล้วก็ตาม ก็ไม่ควรรีบด่วนสรุปตัดสินใจที่จะแยกทางกัน หากสามารถพูดคุยแบบเปิดอก แล้วพบว่าจริง ๆ แล้วต่างคนต่างอยากมีกันและกัน ก็อาจค่อย ๆ ปรับตัว เพื่อให้ความรักที่เคยมีอยู่แล้วกลับมาเบ่งบานอีกครั้งได้เหมือนกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไม่อินกับความรัก แปลกไหม? 7 เหตุผล ทำไมเราถึงไม่ยอมมีความรัก
จดทะเบียนสมรสออนไลน์ วิธีจองคิว วิถีใหม่สไตล์ New Normal
5 วิธีช่วยแก้ปัญหาหลัง “ทะเลาะกับเพื่อน” คืนความสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด
ที่มาข้อมูล : AKERU