สำหรับรายการ TAP Ambassador ของเราในสัปดาห์นี้ มาพร้อมกับประเด็นที่น่าสนใจมาก ๆ เพราะเป็นเรื่องที่คุณแม่หลาย ๆ ท่านได้โพสไว้ในแอปพลิเคชัน theAsianparent โดยหัวข้อในวันนี้คือ “ จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกน้อยสายตาสั้นและหูหนวก หรือลูกพัฒนาการช้า กันแน่ ” ซึ่งในวันนี้ theAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่ทุกคนมาไขข้อข้องใจไปพร้อม ๆ กันกับคุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของจิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาสมองและการเรียนรู้ของเด็ก
จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกน้อยสายตาสั้นและหูหนวก หรือลูกพัฒนาการช้า กันแน่
สำหรับพัฒนาการของเด็กนั้นแบ่งออกเป็นหลายด้าน แต่พัฒนาการภายนอกที่สามารถสังเกตเห็นได้หลัก ๆ ได้แก่ พัฒนาการด้านภาษา พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อที่ ใช้ในการยืน เดิน การเคลื่อนไหวต่าง ๆ พัฒนาการในการช่วยเหลือตัวเอง เช่น อาบน้ำเองได้ แต่งตัวเองเป็น และการที่คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้ว่าลูกมีพัฒนาการช้าหรือไม่นั้น ต้องเริ่มจากการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ก่อนว่าเด็กแต่ละเดือน ควรมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง
บทความที่น่าสนใจ : เช็คพัฒนาการลูกยังไง? ติดตามพัฒนาการลูก ง่ายๆได้ด้วยตัวเอง!
สาเหตุของอาการหูหนวกในเด็กเกิดจากอะไร และจะสังเกตอาการได้อย่างไร
การสังเกตอาการหูหนวกในเด็กนั้น ผู้เลี้ยงดูต้องอาศัยการสังเกตเป็นอย่างมาก เพราะตัวเด็กเองไม่สามารถที่จะสื่อสารออกมาได้ ซึ่งวิธีการสังเกตอาการหูหนวกในเด็กนั้น สามารถสังเกตได้จากปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ (Reflex) ของเด็กเมื่อเกิดเสียงที่ดัง หากเด็กไม่มีอาการตกใจ หรืออาการผวา ตรงจุดนี้ต้องระวังว่าลูกอาจจะไม่ได้ยินเสียง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็ว เพราะอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านภาษา และพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของเด็กได้
จะมีวิธีสังเกตอย่างไร หากลูกน้อยสายตาสั้น
สำหรับอาการสายตาสั้น มักจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นในตอนโต ซึ่งเด็กที่สายตาสั้นแต่กำเนิดไม่ได้มีจำนวนที่มากนัก ซี่งเด็กที่มีอาการสายตาสั้นตั้งแต่กำเนิดเหล่านี้ จะมีอาการไม่มองหน้า หรือไม่สบตา ซึ่งเด็กอายุ 4 – 6 เดือนควรจะต้องมองหน้าหรือสบตากับพ่อและแม่แล้ว ถ้าหากลูกมีอาการเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะรีบไปพบแพทย์ เพราะนอกจากอาการสายตาสั้นแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินแต่กำเนิด และอาการเนื้องอกในลูกตาซึ่งอันตรายมาก ๆ
คุณพ่อ คุณแม่ ต้องเริ่มกังวล กับพัฒนาการลูกเมื่อลูกอายุเท่าไหร่
ในเด็กแต่ละช่วงวัยนั้น จะมีพัฒนาการที่ชัดเจนในแต่ละวัยของตนเอง เช่น เมื่อเด็กมีอายุได้ 6 เดือน เด็กควรที่จะมีพัฒนาการที่สามารถนั่งได้ เป็นต้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรที่จะต้องรู้และเข้าใจ ว่าเด็กแต่ละวัยมีพัฒนาการอย่างไร รวมไปถึงการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตพัฒนาการของลูกน้อยอีกด้วย
อาการ Lazy Eye มีวิธีการสังเกตอย่างไร
อาการ Lazy Eye หรือ อาการตาขี้เกียจ คือ การที่ตาข้างใดข้างหนึ่งมองเห็นได้ไม่ดีเท่าอีกข้างหนึ่ง หรือข้างหนึ่งเห็นไม่ชัด ส่วนใหญ่มักจะพบในเด็กที่ตาเข หรือเด็กที่มีปัญหาเป็นเนื้องอกในลูกตา เกิดจากการที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งไม่ค่อยถูกใช้จากการแบ่งจุดโฟกัส 2 จุดของเด็กที่มีอาการตาเข หรือการที่หนังตา หรือปานแดงมาบดบังดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งตรงส่วนนี้เมื่อแพทย์ตรวจพบอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาของเด็ก แพทย์จะทำการรักษาเกี่ยวกับ Lazy Eye ควบคู่ไปด้วย
บทความที่น่าสนใจ : โรคตาขี้เกียจในเด็ก (Lazy Eye) เกิดจากอะไร รักษายังไง ลูกเราจะเป็นมั้ย?
ควรจะพาเด็กไปตรวจวัดสายตาเมื่ออายุเท่าไหร่
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กังวลว่าลูกจะมีอาการสายตาสั้นนั้น ไม่มีกำหนดอายุที่แน่นอน เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในด้านการตรวจวัดสายตาตามอายุแบบต่างประเทศได้ แต่คุณพ่อคุณแม่เองสามารถสังเกตการมองเห็นของลูกได้ เช่น เมื่อลูกอายุ 6 เดือน ควรที่จะต้องมองวัตถุที่มีสีเด่น ๆ และสามารถมองตามได้ รวมถึงการสบตากับพ่อแม่ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการพาลูกไปตรวจวัดสายตา มักจะเป็นเด็กที่มีอายุ 3 -4 ขวบขึ้นไป เพราะถ้าอายุน้อยกว่านี้ เด็กจะยังสื่อสาร ตอบคำถามไม่เก่ง ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่พบความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นของลูกก็สามารถพาไปตรวจได้เลย
และสำหรับหัวข้อ ” จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกสายตาสั้น หรือหูหนวก หรือพัฒนาการช้า “ นั้น สำหรับพัฒนาการทุกด้านจะมีพัฒนาการที่เป็นลำดับขั้น เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรที่จะรู้ว่าในแต่ละช่วงวัยของเด็กจะมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง แล้วจึงมาสังเกตว่าลูกมีพัฒนาการที่ตรงตามช่วงวัยหรือไม่ ซึ่งตรงส่วนนี้ต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กของคุณพ่อคุณแม่เองด้วย เพราะพัฒนาการของเด็กสามารถสังเกตเห็นได้ และถ้ายิ่งสังเกตเห็นเร็ว และยิ่งรักษาได้เร็ว ลูกก็จะหายเร็วและมีพัฒนาการที่ทัดเทียมกับคนอื่น สมวัย และเต็มศักยภาพของตัวลูกเองได้
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ความแตกต่างของการเลี้ยงลูกชายและลูกสาว
สอนลูกอย่างไรให้เป็นเด็กที่เคารพตนเอง และยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น
เพศเรื่องธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา คุณพ่อคุณแม่มีวิธีรับมือยังไง!
ที่มา : คุณหมอแอม แพทย์หญิงพรนิภา ศรีประเสริฐ
เจ้าของเพจ เรื่องเด็ก ๆ by หมอแอม