ลูกไม่กินนม หรือกินนมน้อยลง อาจเป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายท่านกังวลใจไม่น้อย เนื่องจากทารกหรือเด็กเล็กเป็นวัยที่ต้องการสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการเจริญเติบโต หากลูกไม่กินนม ซึ่งเป็นอาหารหลัก อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ การเจริญเติบโตและนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในอนาคตได้
เด็กควรกินนแม่ในปริมาณที่เท่าไหร่ จึงจะเหมาะสมกับช่วงวัย
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดทำหรับทารก ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ว่าเด็กทารกแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 6 เดือนแรก ควรกินนมแม่เป็นอาหารเพียงอย่างเดียว โดยยังไม่ต้องทานน้ำหรืออาหารเสริมอื่น ๆ เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารจากนมแม่ได้อย่างเต็มที่ และหลังจาก 6 เดือนขึ้นไปสามารถให้อาหารเสริมตามวัยร่วมกับนมแม่ได้
โดยทั่วไปแล้ว ปริมาณนมแม่ที่เหมาะสมสำหรับลูกน้อยในแต่ละช่วงวัยมีดังนี้
- ช่วงแรกเกิด (0-1 เดือน) ควรให้นมลูกบ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง โดยไม่จำกัดเวลาในการดูดนม ลูกจะดูดนมได้นานเท่าที่ต้องการ เนื่องจากในช่วงนี้ลูกน้อยต้องการน้ำนมเพื่อการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
- ช่วง 1-2 เดือน ปริมาณนมที่ลูกต้องการจะเพิ่มขึ้น ลูกอาจต้องการนมทุก 2-3 ชั่วโมง หรืออาจถึง 8-10 ครั้งต่อวัน (ประมาณ 2-4 ออนซ์/ครั้ง)
- ช่วง 2-6 เดือน ปริมาณนมที่ลูกต้องการจะค่อยๆ ลดลง ลูกอาจต้องการนมทุก 3-4 ชั่วโมง หรือประมาณ 6-8 ครั้งต่อวัน (ประมาณ 4-6 ออนซ์/ครั้ง)
- ช่วง 6-12 เดือน เมื่อลูกเริ่มทานอาหารเสริมได้บ้าง อาจจะให้นมลูกวันละ 4-5 ครั้ง (ประมาณ 6-8 ออนซ์/ครั้ง)
- อายุ 1 ขวบขึ้นไป จำนวนมื้อนมจะลดลง วันละ 3-4 ครั้ง ให้นมประมาณ 6-8 ออนซ์/ครั้ง หลังรับประทานอาหาร
สาเหตุหลักที่ลูกไม่กินนม ปัญหาหนักใจของคุณแม่
ลูกไม่ยอมกินนม เป็นปัญหาที่คุณแม่หลายคนเคยเจอ และเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจอย่างมากการที่ลูกน้อยปฏิเสธไม่กินนม อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูก และสามารถเกิดได้จากสาเหตุ ที่พบได้บ่อย ๆ คือ
- ลูกเจ็บป่วย ไม่สบาย เด็กอาจมีอาการเจ็บป่วยที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวหรือเจ็บเวลาดูดนม เช่น เป็นไข้คัดจมูก เจ็บเหงือกเพราะฟันกำลังเริ่มขึ้น เชื้อราในช่องปาก หูอักเสบติดเชื้อ หรือไม่สบายตัวหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนจนทำให้ลูกไม่กินนม เป็นต้น
- สภาพแวดล้อม ถูกดึงดูดความสนใจโดยสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ รอบตัว จึงลดความสนใจในการดูด หรือการเปลี่ยนของใช้ใหม่ อย่างน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ แชมพู เพราะอาจทำให้เด็กรู้สึกไม่คุ้นกับกลิ่นหรือรู้สึกกังวลจนไม่กินนมได้
- ปริมาณน้ำนม วิธีการดูดนม ซึ่งสาเหตุนี้เกิดขึ้นที่ตัวคุณแม่เอง
- คุณแม่เริ่มมีปริมาณน้ำนมน้อยลง ทำให้ลูกกินนมน้อยลงเพราะในการดูดนมแต่ละครั้ง ทำให้ต้องออกแรงเยอะ ทำให้น้องเครียดและกังวลไม่กินนมต่อได้
- คุณแม่มีอาการเต้านมอักเสบ หัวนมอักเสบ จึงหลีกเลี่ยงการให้ลูกดูดนมจากเต้า และให้ลูกดูดจากขวดแทน ซึ่งเด็กอาจจะยังไม่ชินกับการดูดจุกนมก็เป็นได้ และบางครั้งลูกอาจเกิดความสับสนระหว่างสัมผัสการดูดจากเต้าและการดูดจากขวด
- ท่าให้นม คุณแม่บางคนให้ลูกเข้าเต้าแบบไม่ถูกต้อง ทำให้ลูกไม่สามารถดูดนมในท่าที่สบายได้
- อุณหภูมิหรือรสชาติของนม กรณีให้ลูกกินนมแม่จากการดูดขวด อาจเป็นเพราะอุณหภูมิของนมจากการอุ่นไม่พอดี เย็นหรือร้อนเกินไป หรือรสชาติของนมแปลกไป จึงทำให้ลูกไม่ดูดนมได้
- ลูกเริ่มกินอาหารเสริม หลายๆ ครอบครัว เมื่อลูกเข้าสู่วัยที่สามารถให้อาหารตามวัยได้ ก็จะเริ่มให้เลยทันที ช่วงแรกๆ จะให้กินอาหารบด ข้าวบด กล้วยบด ฟักทองบด หรือโจ๊ก ร่วมกับนมแม่ ซึ่งเด็กบางคนอาจติดใจรสชาติของอาหารชนิดใหม่ หรือบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจให้อาหารเสริมในปริมาณที่มากเกินไป จนทำให้เด็กอิ่มและไม่อยากกินนมได้
นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัญหาที่ลูกน้อยไม่ยอมกินนมอาจเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ได้อีกมากมาย คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด หากลูกมีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น งอแง ร้องไห้บ่อย เป็นไข้ ท้องเสีย หรืออาเจียน ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและได้รับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกต้องค่ะ
ลูกไม่กินนม รับมือแบบไหนดี
หลายท่านอาจเคยเจอปัญหาที่ลูกน้อยไม่ยอมกินนม อย่าเพิ่งกังวลใจไปนะคะ ปัญหานี้เกิดขึ้นได้กับเด็กๆ หลายคน ลองสังเกตพฤติกรรมของลูกให้ดีๆ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลไปตามความเหมาะสม หากลูกมีอาการเจ็บป่วยควรรีบพาไปพบแพทย์นะคะ สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นและให้กำลังใจตัวเองค่ะ การรับมือกับปัญหาลูกไม่กินนม คุณพ่อคุณแม่อาจลองนำวิธีต่อไปนี้ไปปรับใช้ได้ค่ะ
- ลองปรับเปลี่ยนท่าให้นม จะมีหลายท่าที่ให้นมได้ถูกต้อง เมื่อให้ลูกดูดจากเต้า เพื่อให้เด็กรู้สึกสบายตัวและกินนมได้ง่ายขึ้น
- พยายามให้ลูกดูดนมตรงเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงอาการเต้านมคัดของแม่
- หาสถานที่ให้นมในห้องที่เงียบ สงบ ปราศจากเสียงหรือสิ่งรบกวนใดๆ
- กอดและอุ้มลูกไว้ระหว่างป้อนนมเพื่อให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ควรพูดคุยหรือชื่นชมเมื่อลูกกินนมได้ ที่สำคัญไม่ควรดุหากลูกไม่กินนม และให้ความสนใจ คอยดูแลขณะที่ลูกกินนมอยู่ตลอด
- หากลูกป่วยหรือมีอาการเจ็บปาก ลองปรับใช้วิธีอื่นป้อนนมแทนเป็นการชั่วคราว เช่น ใช้ถ้วย หลอดหยด หรือช้อน ซึ่งทำให้ลูกไม่ต้องใช้แรงในการดูดมาก
- พยายามเอาลูกเข้าเต้าให้ดูดบ่อยๆ ถ้าลูกไม่ยอมดูด ให้หยุดและลองทำใหม่
- กรณีลูกกินนมแม่จากขวด เมื่ออุ่นนมแล้วให้ตรวจเช็คอุณหภูมิของนมบนหลังมือว่าพอดีไหม
- หากเริ่มให้ลูกกินอาหารเสริมแล้ว ต้องควบคุมปริมาณไม่ให้เยอะจนเกินไปในแต่ละมื้อ เพราะจะทำให้ลูกอิ่มไม่ยอมกินนม
เมื่อรู้สาเหตุและวิธีแก้ไขปัญหาลูกไม่ยอมดูดนมแล้ว ขอให้คุณแม่ค่อยๆ แก้ไข อย่าเครียด กังวล หรือหงุดหงิด และอย่าถอดใจง่ายๆ หาสาเหตุหลัก ๆ ที่แท้จริงก่อน ว่าอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย หรือแม้แต่ท่าการให้นมของแม่ที่ไม่ถูกต้อง แต่หากเป็นสาเหตุจากเรื่องสุขภาพ เข้ามาเกี่ยวข้องคุณแม่ควรรีบพาน้องปรึกษาแพทย์ทันทีนะคะ
ที่มา : samitivejhospitals , pobpad
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แม่ให้นม ฟังทางนี้! สิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำขณะให้นมลูก
จะรู้ได้ไงว่านมแม่จะหมดตอนไหน อาการแบบนี้แปลว่าน้ำนมแห้ง ใกล้หมดหรือเปล่า
5 อาหารว่างมีประโยชน์ สำหรับคุณแม่ที่ต้องให้นมลูก