นมแม่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน หลังจาก 6 เดือนแล้วยังคงให้กินนมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมได้จนถึง 2 ขวบ แต่การจะเริ่มให้ลูก เปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมชง นั้นเป็นการตัดสินใจที่สำคัญสำหรับโดยอาจมีเหตุผลหลายประการที่ทำให้คุณแม่ต้องตัดสินใจเปลี่ยน เช่น ปัญหาสุขภาพของแม่หรือลูก การกลับไปทำงาน หรือความพร้อมของลูกในการกินอาหารเสริมอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงนี้จำเป็นต้องได้รับการวางแผนและเตรียมการอย่างรอบคอบ เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่เพียงพอและปรับตัวในการกินนมชงได้อย่างราบรื่น
จำเป็นมั้ย ? เปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมชง
การตัดสินใจ เปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมชง เป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อนค่ะ ในบางสถานการณ์ การเปลี่ยนเป็นนมชงจึงเป็นทางเลือกที่จำเป็น สาเหตุที่ต้องตัดสินใจเปลี่ยนให้ลูกมากินนมชง คือ
- ปัญหาสุขภาพของแม่ คุณแม่บางท่านอาจมีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ไม่สามารถให้นมแม่ได้ เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคติดเชื้อ หรือการใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อน้ำนม
- ปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอ หากคุณแม่มีปริมาณน้ำนมไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก การเปลี่ยนเป็นนมชงอาจเป็นทางเลือกหนึ่ง
- ปัญหาสุขภาพของลูก บางครั้งลูกอาจมีปัญหาสุขภาพที่ทำให้ไม่สามารถดูดนมแม่ได้ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับปากเพดาน หรือภาวะทางพันธุกรรมบางชนิด
- การกลับไปทำงาน หากคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน และไม่มีเวลาในการปั๊มนมบ่อยเพื่อให้มีสต๊อกเพียงพอ อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนให้ลูกน้อยมากินนมชง
- ความพร้อมของแม่ การให้นมแม่ต้องใช้ทั้งร่างกายและจิตใจ คุณแม่บางท่านอาจรู้สึกเหนื่อยล้า หรือขาดความมั่นใจในการให้นมลูก
- ภาวะแทรกซ้อนจากการให้นม การให้นมแม่บางครั้งอาจทำให้คุณแม่เกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ เช่น รอยร้าวที่หัวนม อักเสบที่เต้านม หรือภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งอาจจำเป็นต้องหยุดให้นมชั่วคราวหรือตลอดไป
เลือกนมผงยังไง ให้เหมาะกับลูกน้อย
การเลือกนมผงสำหรับลูกน้อยเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะ การเปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมชง สารอาหารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องเลือกที่ใกล้เคียงกับนมแม่มากที่สุด จะช่วยให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารครบถ้วนและเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์
ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการเลือกนมผง
- ช่วงวัยของลูก นมผงแต่ละสูตรออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการทางโภชนาการที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย
- สูตร 1 (Infant Formula) สูตรสำหรับทารก ตั้งแต่วัยแรกเกิด – 1 ปี
- สูตร 2 (Follow-on Formula) สูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็กอายุ 6 เดือน – 3 ปี
- สูตร 3 (Growing Up Milk) สูตรสำหรับเด็กวัย 1 ขวบปีขึ้นไป
- สุขภาพของลูก หากลูกมีปัญหาสุขภาพ เช่น แพ้นมวัว แพ้แลคโตส หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกนมผงสูตรพิเศษ
- สารอาหารที่สำคัญ นมผงที่ดีควรมีสารอาหารครบถ้วน เช่น โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัย เพื่อการเจริญเติบโตของลูกน้อย
เปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมชง ลูกไม่ยอมกินทำไงดี ?
การเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ มักเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาปรับตัว การเริ่มให้นมผงก็เช่นกันค่ะ เป็นเรื่องปกติที่ลูกจะต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยกับรสชาติและสัมผัสที่แตกต่างออกไป เชื่อว่าลูกน้อยจะสามารถปรับตัวได้อย่างแน่นอนค่ะ
สาเหตุที่ลูกน้อยอาจไม่ยอมกินนมชง
- รสชาติ รสชาติของนมผงอาจแตกต่างจากนมแม่ ทำให้ลูกน้อยไม่คุ้นเคย
- สัมผัส ความรู้สึกของจุกนมกับเต้านมคุณแม่ที่ต่างกัน อาจทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่คุ้นชินและไม่สบายตัวเวลาดูด
- ปัญหาสุขภาพ อาจมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น แพ้นมวัว มีแผลในช่องปาก หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
- สภาวะทางอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน เช่น การย้ายบ้าน หรือการมีสมาชิกใหม่เข้ามา อาจทำให้ลูกน้อยรู้สึกเครียดและไม่ยอมกินนม
วิธีแก้ไข หากลูกน้อยไม่ยอมกินนมชง
- ปรึกษาแพทย์ กรณีหากลูกน้อยมีปัญหาในเรื่องของสุขภาพ อาการผิดปกติ เช่น ท้องอืด ท้องเสีย ผื่นคัน หรือน้ำหนักไม่ขึ้น แพ้นมวัว แพ้แลคโตสในนม เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและขอคำแนะนำ
- เปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่าเปลี่ยนนมผงทันทีในทุกมื้อ ควรเริ่มกินนมแม่กับนมผงในปริมาณที่เท่ากัน แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณนมผงขึ้นเรื่อยๆ จนลูกสามารถกินนมผงได้อย่างเดียว
- เปลี่ยนยี่ห้อของนมผง บางครั้งการเปลี่ยนยี่ห้อของนมผงอาจช่วยได้ เพราะรสชาติ กลิ่นและส่วนผสมของแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกัน อาจจะทำให้น้องกินอีกยี่ห้อได้ดีกว่า
- ปรับอุณหภูมิของนม ลองปรับอุณหภูมิของนมให้เหมาะสมกับความชอบของลูกน้อย ลองให้ลูกทดลองกินนมในอุณหภูมิที่ต่างกัน บางคนอาจจะชอบอุ่น ๆ บางคนอาจจะชอบนมที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิห้องนิดหน่อย
- เปลี่ยนจุกนม การเปลี่ยนจุกนม เลือกที่มีความยืดหยุ่นหรือนิ่มคล้ายๆ หัวนมแม่ อาจช่วยให้ลูกน้อยดูดนมได้ง่ายขึ้น
- สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เลือกช่วงเวลาที่เงียบสงบและสถานที่ที่ดูผ่อนคลายสบายตาในการให้นมลูกน้อย
- ลองเปลี่ยนท่าอุ้ม การเปลี่ยนท่าอุ้มอาจช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัวและกินนมได้ง่ายขึ้น
- ให้กำลังใจลูกน้อย ใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยนในการกล่อมให้ลูกกินนม และชมเชยลูกน้อยเมื่อลูกยอมกินนม แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อยก็ตาม
- ให้ลูกกินในปริมาณที่พอเหมาะ คุณแม่อาจลองสังเกตปริมาณการกินของลูกน้อย ถ้าใช้วิธีสลับนมผงกับน้ำนมแม่ ก็ควรแบ่งสัดส่วนกันให้ดี เพราะกระเพาะของเด็ก ๆ ยังเล็กกินอะไรไม่ได้เยอะ
7 เทคนิค เปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมชง ให้ถูกวิธี
วันนี้มี 7 วิธีชงนมผงที่ถูกต้อง สำหรับให้คุณพ่อคุณแม่ไปทำตาม เพื่อป้องกันอาการท้องอืดให้ลูกน้อย
1.ใส่น้ำก่อนนม การชงนมที่ถูกต้อง ไม่ควรใส่นมก่อนน้ำ เพราะจะทำให้ปริมาณน้ำน้อยกว่าความเป็นจริง ทำให้นมมีความเข้มข้นเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ลูกน้อยท้องผูกได้ ดังนั้นต้องใส่น้ำในปริมาณที่ต้องการก่อนแล้วค่อยตวงนมผงใส่ลงไป
2.ไม่ควรเจือจางนมผง หากคุณแม่ตวงนมน้อยกว่าที่ข้างกล่องระบุ คือเจือจางนมผงในการชง จะทำให้ปริมาณสารอาหารที่อยู่ในนมเหล่านั้นลดลงไป ทำให้ลูกน้อยไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการ
3.ไม่ควรใช้น้ำร้อนในการชงนม เพราะน้ำร้อนจะไปทำลายสารอาหารที่มีอยู่ในนมผง และหากใช้น้ำร้อนจะทำให้นมผงไม่ละลาย ทำให้ลูกได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน
4.การเขย่านม เมื่อคุณแม่ตวงปริมาณน้ำและนมตามสัดส่วนเรียบร้อยแล้ว ไม่ควรใช้วิธีเขย่าขวดนมแรงๆ เพราะจะทำให้เกิดฟองอากาศในขวดนมในปริมาณที่มาก และการที่ลูกดูดฟองอากาศนั้นเข้าไป จะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้ลูกน้อยท้องอืด ไม่สบายท้องได้ ควรแกว่งขวดนมไปมาซ้าย-ขวา เบาๆ จนกว่าผงนมละลายหมด
5.ควรกินนมให้หมดภายใน 1 ชั่วโมง นมที่ชงแล้วและลูกน้อยกินไม่หมด สามารถตั้งวางทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง หากนานกว่านั้น ไม่ควรนำมาให้ลูกกินต่อ เพราะอาจมีเชื้อโรคปนเข้าไปในน้ำนม
6.นมผงเมื่อเปิดใช้งาน ควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็นและปิดฝาให้สนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้าไปสัมผัสกับนมผง และควรใช้ให้หมดภายใน 1 เดือน แต่หากนมผงมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีกลิ่นผิดปกติ เปลี่ยนสี หรือจับตัวเป็นก้อน ควรทิ้งทันที
7.ให้ลูกกินนมในปริมาณที่พอดี หากคุณพ่อคุณแม่เผลอชงนมมากเกินไปจนลูกดื่มไม่หมด การที่ให้ลูกกินนมมากไปยังเสี่ยงต่อภาวะ Overfeeding คืออาการที่ได้รับอาหารมากเกินไป อาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง แหวะนม หรืออาเจียนได้บ่อยขึ้น
ช่วงวัยไหนกินนมปริมาณเท่าไหร่ดี
เพราะเด็กทารกแต่ละวัยต้องการปริมาณน้ำนมแตกต่างกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนัก พฤติกรรมการเคลื่อนไหว การเผาผลาญและการดูดซึมของร่างกายของเด็กแต่ละคนด้วยนะคะ
ช่วงอายุ | ปริมาณนมต่อมื้อ (ซีซี) | จำนวนมื้อต่อวัน |
0-1 เดือน | 60-90 (2-3 ออนซ์) | 8-10 |
1-3 เดือน | 90-120 (3-4 ออนซ์) | 7-8 |
4-6 เดือน | 120-180 (4-6 ออนซ์) | 6-7 |
6-12 เดือน | 180-240 (6-8 ออนซ์) | 4-5 |
1 ปีขึ้นไป | 180-240 (6-8 ออนซ์) | 3-4 แต่อาหารหลักควรเป็นอาหารที่ครบ 5 หมู่ |
เป็นอย่างไรบ้างคะ พอจะรู้เทคนิคและวิธีการ เปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมชง กันบ้างแล้ว คุณแม่สามารถนำไปปฏิบัติได้เลยนะคะ การเปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมชงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน คุณแม่ควรให้ความสำคัญและใส่ใจในการเลือกสูตรนม และสังเกตปฏิกิริยาของลูกน้อยอย่างใกล้ชิดหลังจากที่ได้เปลี่ยนนมให้ลูกกินแล้วด้วยนะคะ
ที่มา : trueplookpanya , โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เคล็ดลับ! วิธีเปลี่ยนนม เพื่อคุณแม่สบายใจ คุณลูกสบายท้อง
เจาะลึก ปัจจัยในการเลือกนมผง ของคุณแม่ยุคใหม่ : ผลสำรวจจาก theAsianparent insights
วิธีชงนมที่ถูกต้อง ใส่นมหรือน้ำก่อน ? How to ควรรู้ ! สำหรับมือใหม่หัดชง