4 เรื่องต้องรู้ ก่อนให้ลูกนั่ง “คาร์ซีท”
คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายคนคงเป็นกังวลทุกครั้งที่พาเจ้าตัวน้อยขึ้นรถใช่ไหมครับ หลายครั้งคุณแม่อาจกังวลว่าเข็มขัดนิรภัยจะแน่นเกินไป ทำให้ลูกน้อยไม่สบายตัวหรือเป็นอันตราย หรือกังวลไปต่างๆ นานาว่า คาร์ซีท หรือ เบาะนั่งเด็กในรถ จะดีกับลูกน้อยไหม จะป้องกันอุบัติเหตุได้จริงหรือไม่ ซึ่งการกังวลนั้นเป็นเรื่องปกติครับ เพราะหากคุณแม่คาดเข็มขัดให้ลูกผิดตำแหน่ง อาจส่งผลต่อหลอดเลือดของลูกจนเป็นอันตรายได้ เพราะฉะนั้น การที่คุณตรวจสอบตำแหน่งเข็มขัด ตำแหน่งที่นั่งของลูกทุกครั้งเป็นการดีครับ นอกจากข้อกังวลด้านบนแล้ว มาดูกันครับว่ามีวิธีการใช้ คาร์ซีท ข้อไหนบ้างที่คุณควรระวัง
#1 ติดตั้ง คาร์ซีท ไม่ถูกต้อง
ข้อแรกเลยคุณต้องรู้ก่อนว่า ขนาดของคาร์ซีทนั้น พอดีกับเบาะรถของคุณ และต้องติดตั้งให้ถูกด้วย เพราะคาร์ซีทมีทั้งแบบหันหน้าและหันหลัง หากคาร์ซีทเป็นประเภทไหน ควรติดตั้งทิศทางให้ถูกต้อง นอกจากนี้ ควรตรวจดูสายคาดให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม สามารถล็อคได้มั่นคง หากคุณแม่เห็นว่าคาร์ซีทมีความปกติหรือได้ยินเสียงแปลกๆ ควรนำคาร์ซีทไปซ่อมหรือเปลี่ยนใหม่ ไม่ควรให้ลูกใช้ต่อไปครับ หากอยู่ในประกัน ช่างจะซ่อมให้ฟรีครับ
#2 ใช้สายคาดผิดวิธี
สายคาดไม่ควรหลวมหรือรัดตึงเกินไป คุณพ่อคุณแม่สามารถทดสอบสายคาดโดยจับสายคาดให้ตึง จากนั้นใช้นิ้วจิ้มดู หากสายบุ๋มลงมาก แสดงว่าหลวมเกินไป สำหรับคาร์ซีทแบบหันหลัง สายควรอยู่ที่ระดับหรืออยู่ใต้ไหล่ของลูกเล็กน้อย หากเป็นคาร์ซีทแบบหันหน้า สายคาดควรอยู่ระดับเดียวกับหรือเหนือกว่าไหล่ของลูกครับ
#3 ให้ลูกนั่งหันหน้าเร็วเกินไป
คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่า ช่วงขวบปีแรกควรให้ลูกนั่งหันหลัง จนกว่าลูกจะน้ำหนัก 9-10 กิโลกรัม ถึงจะให้นั่งหันหน้า ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด โดยสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ควรให้ลูกหันหลังจนกว่าจะ 2 ขวบ และหากเป็นไปได้การนั่งแบบหันหลังนั้นปลอดภัย และควรให้ลูกนั่งหันหลังให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณแม่หลายคนอาจกังวลว่าหากลูกตัวใหญ่ขึ้น อาจนั่งหันหลังแล้วรู้สึกว่าขาติดกับพนักเบาะรถหรือต้องงอขา แต่จริงๆ แล้วร่างกายของเด็กสามารถยืดงอได้ดีกว่าผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกังวลในข้อนี้ พอลูกโตเกินกว่าขนาดคาร์ซีท แล้วค่อยให้ลูกนั่งหันหน้ากับเบาะปกติก็ไม่สายเกินไปครับ
#4 ให้ลูกนั่งบูสเตอร์ซีทเร็วเกินไป
บูสเตอร์ซีท (Booster Seat) คือเบาะรองนั่งของเด็กสำหรับใช้ในรถยนต์ ใช้สำหรับเด็กช่วงอายุ 3-12 ขวบ (น้ำหนักเด็กประมาณ 15 – 36 กิโลกรัม) มีเจ้าของสินค้าบางเจ้า แนะนำว่าควรให้ลูกนั่งบูสเตอร์ซีทตั้งแต่ลูกอายุ 3 ขวบ แต่จริงๆ แล้วควรรอให้ลูกน้ำหนักประมาณ 18 กิโลหรืออายุ 4-5 ขวบ และลูกสามารถนั่งโดยมีสายคาดพาดผ่านหน้าอกได้ตลอดการเดินทาง และแพทย์ยังแนะนำว่าสายรัดตัวแบบ 5 จุดปลอดภัยกว่าบูสเตอร์ และพ่อแม่ควรใช้สายรัดตัวจะดีกว่า เพราะสามารถปกป้องเด็กได้ดีกว่าเข็มขัดนิรภัยของบูสเตอร์ซีท เพราะสายรัดตัวสามารถปกป้องลำตัวด้านบน ลดการเคลื่อนไหวและการกระแทกบนหัวและคอลงได้ ขณะที่เข็มขัดนิรภัยปกป้องบริเวณอกและสะโพกเท่านั้น
จริงอยู่ว่าพ่อแม่คงไม่สามารถปกป้องอันตรายทุกอย่างที่พร้อมทำร้ายลูกได้ แต่การที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกใช้อุปกรณ์ปกป้องที่มีประสิทธิภาพได้อย่างถูกวิธี ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มการป้องกันภัยให้ลูกได้อีกทางหนึ่งครับ
ที่มา scarymommy
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
แม่เล่า ถ้าไม่ใช่เพราะ “คาร์ซีท” แม่อาจสูญเสียลูกชายทั้งสองคนไปแล้ว!
รอบดูดและแรงดูดเครื่องปั๊มนม ควรปรับระดับไหน ใช้เวลาปั๊มนานเท่าไหร่ดี