อาหารแช่อิ่มมีรสหวาน ทานง่าย และเก็บไว้ได้นานกว่าวัตถุดิบดั้งเดิม เป็นเมนูที่เลิศรสสำหรับแม่ท้องหลายคน แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า แม่ท้องกินมะนาวแช่อิ่มได้ไหม จะมีอันตรายที่ไม่รู้ติดมาด้วยหรือไม่ ? แม่ท้องอาจต้องระวังอาหารเหล่านี้ เพราะกระบวนการผลิตอาจมีการปนเปื้อนที่ไม่คาดคิด หากไม่ได้เลือกให้ดี เพราะถึงแม้กฎหมายจะห้ามใช้สารอันตรายในการผลิต แต่การสุ่มตรวจก็ยังคงเจออยู่เรื่อย ๆ
แม่ท้องกินมะนาวแช่อิ่มได้ไหม ?
การแปรรูปผักผลไม้ใด ๆ ให้ออกมาในรูปแบบการหมัก, ดอง หรือแช่อิ่ม ถือเป็นชนิดอาหารที่แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงจะดีที่สุด ดังนั้นมะนาวแช่อิ่มก็เป็นเมนูอาหารที่แม่ท้องไม่ควรทานนั่นเอง เนื่องจากกระบวนการในการผลิตนั้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อนสารเคมีหลายชนิด อีกทั้งความหวานจากการแช่อิ่ม จะทำให้คุณแม่เสี่ยงเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ด้วย คงจะดีกว่าหากแม่ท้องเน้นการทานผลไม้ที่มีความสด ไม่ได้ผ่านการแปรรูป หรืออย่างน้อยก็ควรเลือกสินค้าที่มีความปลอดภัย และมีการรับรองตามมาตรฐานในอาหารทุกเมนู ทุกมื้อ
สารเคมีที่อาจพบเจอได้ในเมนูมะนาวแช่อิ่มนั้นมีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสารบอแรกซ์ที่ช่วยให้อาหารคงสภาพ และมีความกรอบทานได้ง่าย, สารทดแทนความหวานที่ใช้แทนน้ำตาล แต่ไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกาย เช่น สารแซคคารีน และโซเดียมในปริมาณ เป็นต้น โดยเราจะจำแนกอันตรายจากการรับสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายไปทีละข้อ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องกินลูกชิ้นทอดได้ไหม ไส้กรอกแดงต้องเลี่ยงไหม อ่านก่อนสายเกินแก้ !
วิดีโอจาก : คนท้อง Everything Channel
สารบอแรกซ์ในของแช่อิ่มอันตรายต่อคนท้องอย่างไร ?
สารบอแรกซ์ (Borax) เป็นสารอันตรายที่เลี่ยงได้ไม่ง่าย เพราะอาจถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาหาร จุดประสงค์เพื่อทำให้อาหารนั้น ๆ มีความกรอบ และเหนียวนุ่ม ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขไทยได้กำหนดข้อบังคับห้ามใช้สารนี้ในอาหารแล้ว เนื่องจากสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม ได้มีการสุ่มตรวจตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็ยังคงตรวจพบอาหารที่ปนเปื้อนสารบอแรกซ์อยู่มาก ถือเป็นปัญหาตู่คนไทยที่แก้ได้ยาก ทำให้เลี่ยงได้ยากไปด้วย ซึ่งอันตรายนั้นก็มีอยู่มาก ดังนี้
- คลื่นไส้, อาเจียนเป็นเลือด
- ระคายเคืองบริเวณกระเพาะอาหาร
- เกิดพิษต่อไต ทำให้ไตอักเสบ หรือไตวายได้
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- เกิดการสะสมของสารร้ายนี้ที่ไต และสมอง ทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลาย
- หากร่างกายยังคงรับสารนี้ต่อไปไม่หยุด อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
เมื่อร่างกายได้รับสารบอแรกซ์เข้าไป ร่างกายจะสามารถกำจัดสารนี้ได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าหากแม่ท้องยังคงทานเมนูเดิม หรือของแช่อิ่มที่มีบอแรกซ์เพิ่มในช่วงเวลานั้น จะกลายเป็นการสะสมของสารร้ายนี้แทน และด้วยความที่เลี่ยงได้ยาก แม่ท้องอาจใช้วิธีทานเมนูจากร้านอาหารต่าง ๆ ให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ทานเมนูซ้ำเพื่อเลี่ยงความเสี่ยง หากนำวัตถุดิบใด ๆ มาทำอาหารก็ต้องล้างให้สะอาดก่อนเสมอ เป็นต้น
แทนความหวานด้วยสารแซคคารีนที่ไร้ประโยชน์แม่ท้องต้องระวัง
สารที่ให้ความหวานแทนการใช้น้ำตาลที่เรียกว่า “สารแซคคารีน (Saccharin)” หรือ “ขัณฑสกร” สารตัวนี้มีรสชาติหวานมาก และให้พลังงานต่ำมากด้วย สาเหตุที่ถูกนำมาใช้แทนน้ำตาล นอกจากทดแทนความหวานได้แล้ว ยังมีข้อดีที่ผู้ประกอบการชอบนั่นคือ “ราคาถูกกว่ามาก” ในทางกลับกันร่างกายของแม่ท้อง หรือคนทั่วไปจะไม่สามารถย่อยสลายสารนี้ได้ ใน ค.ศ. 1977 มีรายงานการวิจัยว่าการรับสารแซคคารีนปริมาณมากอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งบางชนิดในสัตว์ทดลอง เช่น มะเร็งรังไข่, มะเร็งมดลูก, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งมดลูก และมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น แต่หากรับในปริมาณที่น้อยลง ความเสี่ยงก็น้อยลงเช่นกัน
นอกจากนี้สารให้ความหวานที่อาจพบเจอได้ กรณีที่ใช้แทนน้ำตาลทราย ยังมี “แอสพาร์แตม (Aspartame)” สารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 180 – 200 เท่า แต่มีความปลอดภัยมากกว่าน้ำตาลทราย นอกจากจะเป็นทางเลือกในการใช้กับของหมักดอง หรือแช่อิ่มแล้ว ยังใช้ในน้ำอัดลมได้ด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับแม่ตั้งครรภ์ก็ไม่ควรรับสารนี้ในปริมาณมาก หรือต่อเนื่องอยู่ดี เพราะอาจเกิดการสะสมในร่างกายมากเกินพอดี จนเกิดผลกระทบได้เช่นกัน
โซเดียมกลับกลายเป็นโทษเมื่อมากเกินไป
โซเดียม (Sodium) คือ เกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญมาก ต่อกระบวนการควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย ทำให้ระบบความดันโลหิตทำงานได้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงช่วยในการทำงานของเซลล์ประสาท และกล้ามเนื้อ รวมถึงการดูดซึมสารอาหารและเกลือแร่ด้วย เป็นต้น ปัจจุบันโซเดียมสามารถพบได้ในอาหารทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นขนม, อาหารประเภทเนื้อสัตว์ แน่นอนว่ารวมไปถึงของหมักดองแช่อิ่มด้วยนั่นเอง แต่ถึงแม้จะมีประโยชน์มาก แต่การรับโซเดียมมากเกินไป กลับไม่ได้ทำให้ประโยชน์นั้นมากขึ้น แต่จะกลายเป็นข้อเสียต่อร่างกายของแม่ท้อง และคนทั่วไปแทน
หากบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น การเสื่อมของไต เนื่องจากจะต้องทำหน้าที่ในการขับโซเดียมมากขึ้น เมื่อไตทำงานได้ไม่เต็มที่จากความเสื่อม จะทำให้มีอาการบวมน้ำ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงตามไปด้วย และอาจเกิดโรคไต หรือโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือดได้เช่นกัน แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการบริโภคโซเดียมที่เกินต่อความจำเป็นของร่างกาย เบื้องต้นควรเลี่ยงการทานอาหารที่มีรสจัด ให้คำนึงว่าการทานอาหารแบบทั่วไปที่มีรสชาติกลาง ๆ ก็ทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมเพียงพอแล้วต่อวัน
ถ้าแม่ท้องติดหวานทานของแช่อิ่มไม่ได้ ควรทำอย่างไร ?
กรณีที่แม่ท้องอาจเป็นคนชอบทานอาหารที่มีรสหวาน ไม่ว่าจะเป็นจากนิสัยความชอบส่วนตัว หรือมาจากอาการแพ้ท้องก็ตาม ความจริงแล้วอาหารที่มีรสหวานนั้นไม่ได้มีอันตรายต่อแม่ท้องเสมอไป หากคุณแม่เข้าใจวิธีการเลือกอาหาร และทานปริมาณที่ถูกต้อง อาหารที่มีรสหวานและปลอดภัยต่อคุณแม่ เช่น ผลไม้นานาชนิด, ไอติม หรือโยเกิร์ต เป็นต้น โดยให้เลือกที่มีรสไม่หวานจัด ควบคู่ไปกับการจำกัดปริมาณการทานให้พอดีต่อวัน และทานอาหารอื่น ๆ ร่วมด้วยทั้งเนื้อ, นม, ไข่ และผักชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
การเลือกทานอาหารให้ปลอดภัย อาจเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับคนท้อง นั่นก็ทานไม่ได้ นี่ก็ต้องเลี่ยง แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธกันได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะความแข็งแรง และความปลอดภัยของทารก และคุณแม่ตลอดการตั้งครรภ์นั้นสำคัญกว่า
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินไข่ปลาได้ไหม ไข่ปลาทั่วไป ไข่ปลาคาเวียร์ไว้ใจได้ไหม ?
คนท้องกินกุยช่ายได้ไหม แม้แต่ผักแม่ท้องยังต้องระวังอีกหรือ ?
คนท้องควรกินผลไม้อะไร ผลไม้บำรุงสำหรับคนท้อง มีผลไม้อะไรบ้าง
ที่มา : pobpad, wongkarnpat, mahidol