อากาศเริ่มเย็น ๆ ออกไปกินหม้อไฟดีกว่า แต่สงสัยจัง คนท้องกินจิ้มจุ่มหม้อไฟได้ไหม จะทำอย่างไรดีหากต้องไปทาน กลัวจะไม่ปลอดภัย หากแม่ท้องคนไหนสงสัยถือว่าคิดถูกแล้ว เพราะก่อนออกไปทาน ให้อ่านบทความนี้ก่อน เพื่อให้เตรียมตัวได้ถูกต้อง กับสิ่งที่ต้องระวัง เพื่อให้การทานหม้อไฟในครั้งนี้ปลอดภัยมากขึ้น
คนท้องกินจิ้มจุ่มหม้อไฟได้ไหม ปลอดภัยแน่หรือ ?
แม่ท้องในเวลานี้หลายคนอาจอยากออกไปหาอะไรร้อน ๆ ทานตอนเย็น หรือช่วงหัวค่ำ เพราะเริ่มเข้าสู่หน้าหนาวแล้ว หลายคนคงคิดถึงจิ้มจุ่มหม้อไฟสไตล์อีสาน แต่อาจมีความกังวลว่าจะกินได้ไหมในตอนที่กำลังตั้งครรภ์ แม่ท้องไม่ต้องห่วงในเรื่องนี้ ตราบใดที่ไม่กินจนเยอะเกินไป และกินได้ถูกวิธี ก็ถือว่ายังทานได้ เพียงแต่ไม่ควรทานบ่อย ให้ทานอาหารแบบปกติ หรือเพิ่มปริมาณผักผลไม้ในแต่ละวันด้วยเท่านั้นเอง ประกอบกับการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายสามารถเผาผลาญพลังงานได้อย่างเหมาะสมสำหรับสิ่งที่ต้องระวังนั้น ก็เป็นเรื่องยิบย่อยที่คุณแม่ท้องอาจมองข้ามไป แต่ก็มีความสำคัญ เอาไว้ปฏิบัติตามกันเมื่อนั่งอยู่ในร้านจิ้มจุ่มหม้อไฟแสนอร่อย
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ท้องกินมะนาวแช่อิ่มได้ไหม ของแช่อิ่มหวาน ๆ ต้องระวังไหมนะ ?
5 ข้อต้องระวังเมื่อแม่ท้องจะกินจิ้มจุ่มหม้อไฟ
เมื่อรู้แล้วว่าแม่ท้องสามารถทานได้ แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องระวังอยู่ เนื่องจากหากทานตามใจอาจมีข้อเสียตามมาได้โดยไม่ทันตั้งตัว โดยสิ่งที่ต้องระวังส่วนมากก็จะเป็นส่วนประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจถูกมองข้ามไป ได้แก่ การเผลอทานเศษเนื้อดิบ, การทานเนื้อในหม้อไฟที่สุกไม่เต็มที่, น้ำซุปที่ซด, น้ำจิ้มที่มีความเข้มข้นมาก และปริมาณในการทานในแต่ละครั้ง
1. ระวังเศษเนื้อดิบ
แม่ท้องหลายคนอาจมีความสงสัยว่าทำไมถึงต้องเสี่ยงกับการทานเนื้อดิบ เพราะทุกครั้งที่กินจิ้มจุ่มหม้อไฟ อาหารประเภทนี้ก็ต้องต้มเนื้อให้สุกก่อนทานอยู่แล้ว แต่อย่าลืมไปว่าหากมีการใช้ช้อนส้อม หรือตะเกียบ ไปคีบเนื้อสดลงหม้อ และใช้ช้อนส้อม หรือตะเกียบอันเดิมตักข้าว คีบเนื้อกินด้วย ก็อาจเป็นการทานเศษเนื้อบางส่วนที่ติดอยู่เข้าไปด้วยโดยไม่ตั้งใจ ถึงแม้จะไม่มาก แต่การระวังเอาไว้ก่อนย่อมดีกว่า
การทานอาหารประเภทนี้จึงควรป้องกันด้วยการใช้ที่คีบของทางร้านแทนการใช้อุปกรณ์การทานอาหาร หากทางร้านไม่ให้มาก็ให้ขอพนักงาน หรือเลือกร้านที่มีอุปกรณ์บริการครบถ้วน และควรเลี่ยงการใช้ช้อนส้อม หรือตะเกียบคนในหม้อ หรือสัมผัสกับเนื้อที่ยังดิบ เพื่อลดความเสี่ยงด้วยนั่นเอง
2. ไม่สุกมากนุ่ม ๆ ยังอันตราย
ต้องระวังการต้มเนื้อสัตว์ให้ดี แม่ท้องหลายคนอาจชอบกินแบบไม่สุก 100 % ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตนเอง ไม่ว่าอย่างไรต่อให้ตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ ก็ไม่ควรทานอาหารที่ไม่สุก ต้องทานแบบสุกเท่านั้น เนื่องจากอาจยังมีพยาธิ หรือแบคทีเรียบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ อาหารที่ปรุงสุกทุกจุดจะมีโอกาสในการลดเชื้อโรคเหล่านี้ให้น้อยลงไปด้วย และไม่ใช่แค่เพียงเนื้อสัตว์เท่านั้น ผักเองก็เช่นกัน เพราะอาจมีการปนเปื้อนสารเคมี ที่แม่ท้องอาจไม่รู้ ถึงแม้จะล้างมาแล้วก็อาจจะยังปนเปื้อนอยู่ จึงไม่ควรกินแบบดิบ ๆ
3. ระวังน้ำซุปแสนอร่อย
น้ำซุปร้อน ๆ ในวันที่มีอากาศเริ่มหนาวนั้น ใคร ๆ ก็อยากซดให้ร่างกายอบอุ่น หากเป็นน้ำซุปในหม้อไฟช่วงแรกเริ่ม แม่ท้องคงไม่ต้องกังวล เพราะยังไม่ได้ปนเปื้อนวัตถุดิบอะไรมาก ทำให้มีรสชาติที่ไม่ค่อยจัดจ้าน หรือไม่เข้มข้นจนเกินไป แต่การทานน้ำซุปหลังจากที่นำอาหารอื่น ๆ ลงไปต้มแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจากมีไขมันของเนื้อสัตว์ และส่วนผสมอื่น ๆ ปนเปกันลงไป เปลี่ยนให้น้ำซุปมีความเข้มข้น และแน่นอนว่ามีความมันมากกว่าปกติ ยิ่งถ้าเนื้อสัตว์มีการหมักมาด้วย อาจมีส่วนผสมของสารปรุงรสต่าง ๆ ความมัน และสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่อันตรายหากทานในปริมาณมาก น้ำซุปในหม้อไฟจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่แม่ท้องไม่ควรมองข้าม
4. น้ำจิ้มสูตรเด็ด จิ้มเบา ๆ ก็พอ
แม่ท้องหลายคนอาจเลือกทานจิ้มจุ่มหม้อไฟจากร้านที่ขึ้นชื่อเรื่องน้ำจิ้มอร่อย บางคนถึงกับบอกว่าหม้อไฟมุกร้านก็แทบจะเหมือนกัน แตกต่างกันที่น้ำจิ้มเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่า การที่น้ำจิ้มมีรสชาติที่เข้มข้นมากขึ้น เป็นเพราะมีการใช้ส่วนผสมที่มากขึ้นด้วย ยิ่งรสจัดจ้านมากเท่าไหร่ ก็ต้องการวิธีการปรุงรสเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น การทานน้ำจิ้มรสจัด อาจทำให้คุณแม่เสี่ยงที่จะรับวัตถุดิบที่อาจเป็นอันตรายต่อคนท้องได้หากทานในปริมาณมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าแม่ท้องจะต้องห้ามกินน้ำจิ้ม แค่จิ้มให้พอเหมาะไม่เยอะจนเกินไป เท่านี้ก็ช่วยให้แม่ท้องปลอดภัยแล้ว
5. พลังงานที่เกินกว่าที่ต้องการ
การทานจิ้มจุ่มหม้อไฟ มีวัตถุดิบในเมนูที่หลากหลาย ตั้งแต่ผักไปจนถึงเนื้อ ถือเป็นอาหารที่ค่อนข้างมีสารอาหารครบถ้วน หากทานครบทุกอย่าง แต่แม่ท้องหลายคนที่เป็นสายเนื้อ อาจเลี่ยงที่จะทานผัก และเติมเนื้อลงหม้อไฟอย่างเดียว กรณีนี้คงต้องระวังมากขึ้น เนื่องจากปริมาณพลังงานของเนื้อสัตว์นั้นค่อนข้างมาก ประกอบกับอาหารในหม้อไฟเป็นการต้ม ทำให้ย่อยง่ายกว่าแบบปิ้งย่าง ส่งผลให้คุณแม่ท้องสามารถทานได้เยอะมากขึ้น เมื่อเน้นแต่เนื้อจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไป ส่งผลต่อน้ำหนักของแม่ท้องให้เพิ่มมากขึ้น หรือมีปริมาณไขมันในเส้นเลือดมากขึ้นได้นั่นเอง
ประโยชน์ของจิ้มจุ่มหม้อไฟกับคนท้องมีมากกว่าที่คิด
การทานอาหารประเภทต้ม ๆ อุ่น ๆ ร้อน ๆ แบบนี้ในตอนกลางคืน สามารถสร้างประโยชน์ให้ได้มากกว่าความอบอุ่น เพราะนอกจากความเพลิดเพลินที่ได้รับจากการใช้เวลากับครอบครัวแล้ว ยังเป็นโอกาสดีที่แม่ท้องจะได้ทานอาหารที่ครบ 5 หมู่ด้วย เนื่องจากเมนูหม้อไฟนอกจากเนื้อ ยังมีผักนานาชนิด ที่เป็นส่วนผสมหลักที่มักจะต้องทานคู่กัน หากแม่ท้องทานผักด้วยก็เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเช่นกัน นอกจากนี้หากทานอย่างถูกวิธี คือ ไม่ให้ดิบ ต้องสุกเท่านั้น ทั้งการต้มเนื้อ หรือต้มผัก จะเป็นการฆ่าเชื้อไปด้วยในตัว ทำให้แม่ท้องสามารถลดความเสี่ยงเชื้อต่าง ๆ ที่อาจมาจากเนื้อสัตว์ หรือผักได้ด้วยนั่นเอง
ถึงแม้การทานหม้อไฟของคนท้องในเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ทำให้มีความสุขในมื้ออาหารได้ เพราะเป็นสิ่งที่หลายคนชอบทำมาตลอด แต่ก็อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัย คุณแม่อาจสอบถามคุณหมอก่อนก็ได้หากยังสงสัย หรือมีคำถามเพิ่มเติม หากคุณหมอไม่แนะนำให้คุณแม่ทานด้วยเหตุผลทางการแพทย์ของแต่ละบุคคล คุณแม่ก็ควรเลื่อนออกไปก่อนเพื่อความปลอดภัย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องกินลูกชิ้นทอดได้ไหม ไส้กรอกแดงต้องเลี่ยงไหม อ่านก่อนสายเกินแก้ !
คนท้องกินกุยช่ายได้ไหม แม้แต่ผักแม่ท้องยังต้องระวังอีกหรือ ?
อาหารเย็นสำหรับคนท้อง กินอะไรดี ? นอนหลับสบายทั้งแม่และลูก
ที่มา : samitivejhospitals, maerakluke