คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าการที่ ลูกแหวะบ่อย อ๊อกนมบ่อย เป็นเรื่องปกติที่เราต้องพบเจอ แต่ถ้าอาการนี้ไม่ใช่เรื่องปกติล่ะ ลูกจะเป็นอะไรไหม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกแหวะนมเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง เพราะอาการแหวะนมของลูกนั้น เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ วันนี้ theAsianparent จะพามาดูวิธีที่จะช่วยให้ลูกหยุดอาการแหวะนมกันค่ะ
ลูกแหวะนม ลูกแหวะบ่อย เกิดจากอะไร
อาการแหวะนมในเด็กทารก หรือ ลูกอ๊อกนม ถือว่าเป็นเรื่องปกติ หรือเรื่องธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน เพราะอาการเหล่านี้ เป็นการที่ลูกน้อยมักจะทำการบ้วน หรือสำรอกนมออกมาหลังจากที่กินนมเสร็จ ซึ่งเกิดจากระบบย่อยอาหารของเด็ก ที่ยังมีการพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารไม่สามารถปิดให้สนิทได้ เมื่อเด็กกินนม หรือทานอาหารมากเกินกว่าที่กระเพาะอาหารจะรับได้ จึงทำให้เกิดการไหลย้อนออกมาได้ง่ายกว่าปกติ
แต่ในเด็กบางราย อาจแหวะนมแล้วไหลออกทางจมูก ซึ่งกรณีนี้ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นจะต้องระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้เด็ก เกิดอาการสำลักจากการแหวะนมได้ ในระยะ 4 เดือนแรก ของทารกแรกเกิด โอกาสที่จะแหวะนมบ่อย มีสูงมาก เพราะทารกกินนมในปริมาณที่มาก ในขณะที่ปริมาณความจุของกระเพาะยังน้อย ยิ่งทารกนอนในลักษณะของท่านอนหงาย ก็จะทำให้เกิดอาการแหวะนมออกได้ง่ายกว่าปกติ ในบางครั้ง อาจมีการอาเจียนร่วมได้บ้าง โดยปกติ อาการต่าง ๆ เหล่านี้ จะค่อย ๆ หายเอง หรือดีขึ้นเมื่ออายุเข้า 12-18 เดือน เป็นต้นไป
ลูกแหวะนมบ่อย อ๊อกนมบ่อย อันตรายหรือไม่
คุณพ่อคุณแม่อาจเป็นกังวลเมื่อพบว่าลูกน้อยมักจะแหวะนมบ่อยครั้งหลังจากกินนม หรือทานอาหาร เพราะกังวลว่า จะเป็นอันตรายกับลูกหรือไม่ หรือเป็นเสียงสัญญาณเตือนว่าเกิดความปกติในร่างกาย ในความจริงแล้ว หากหลังจากแหวะนมแล้ว ลูกยังดูดนมใหม่ได้ มีอารมณ์แจ่มใส น้ำหนักตัวยังคงพัฒนาตามเกณฑ์ ก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง
แต่เมื่อไหร่ที่ลูกแหวะนมออกมา แล้วมีสิ่งอื่น ๆ เจือปนร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเลือด หรือสีเหลืองของน้ำดี หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มีอาการอาเจียนพุ่ง หากพบเจออาการเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยทันที
ลูกแหวะนมบ่อย เปลี่ยนนมช่วยได้ไหม
แม้ว่าอาการแหวะนมของลูก จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การลดอาการแหวะนมจะทำให้เขารู้สึกสบายท้อง ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เพียงพอต่อการพัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญา ส่งผลให้การเจริญเติบโตเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการแหวะนมจะหมดไปเมื่อลูกเข้าสู่อายุ 18 เดือน ดังนั้น การดูแลลูกในช่วงนี้จะต้องใช้ความใส่ใจ และไม่ควรเครียดหรือเป็นกังวลมากจนเกินไปค่ะ
ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการเลือกโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูก โดยแพทย์อาจจะแนะนำโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนหรือ PHP (Partially Hydrolyzed Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีขนาดโมเลกุลเล็กย่อยง่าย เหมาะกับระบบย่อยอาหารของทารกกว่าโปรตีนโมเลกุลปกติ ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้อาการแหวะนมบรรเทาลง อีกทั้งยังช่วยให้ลำไส้ ดูดซึมอาหารดีขึ้นอีกด้วย หากคุณพ่อคุณแม่มีความสงสัยเกี่ยวกับอาการแหวะนมของลูกน้อย สามารถเข้ามาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการแหวะนมได้ ที่นี่
ลูกแหวะนมบ่อย มีวิธีรักษาอย่างไร
วิธีรักษาอาการแหวะนมของลูก คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การนอน และการทานนม โดยให้นอนตะแคงซ้าย และให้นมปริมาณไม่มากต่อมื้อ แต่ให้บ่อยขึ้น หากใช้นมผสมควรใช้สูตรผสมสารเพิ่มความหนืด จับทารกให้อยู่ในท่าตั้งตรงหลังกินนมนาน 15-20 นาที และหลีกเลี่ยงการกดบริเวณท้อง
หลาย ๆ ครั้งจะพบสาเหตุการแหวะนมทั้งจาก Overfeeding และภาวะกรดไหลย้อนได้ในทารกคนเดียวกัน จึงต้องแก้ไขทั้ง 2 สาเหตุไปพร้อม ๆ กันค่ะ โดยอาการแหวะนมจากทั้ง 2 สาเหตุนี้ เด็กจะดูแข็งแรงสมบูรณ์ ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ แต่หากมีอาการที่ผิดปกติ ได้แก่ น้ำหนักน้อย เลี้ยงไม่โต ชัก กระหม่อมหน้าโป่งตึง ศีรษะโตมากกว่าปกติ มีไข้ เขียว หรือหยุดหายใจอาเจียนเป็นน้ำดี อาเจียนพุ่งไกล ท้องอืดชัดเจน ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ก็อาจเป็นอาการแหวะนมที่มีสาเหตุผิดปกติจากโรคต่าง ๆ จึงควรรีบไปพบคุณหมอโดยเร็วนะคะ
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เมื่อลูกแหวะนม
อาการแหวะนมของลูกอาจเกิดจากการที่ระบบย่อยอาหารยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ เมื่อเด็กกินนมมากกว่าที่กระเพาะอาหารรับได้ จึงทำให้เกิดอาการแหวะนมและไม่สบายท้อง นั่นแปลว่านมแม่ไม่ได้ทำให้ลูก แหวะนมแต่อย่างใด และนมแม่ย่อยง่าย เหมาะสมกับระบบลำไส้ของลูก อีกทั้งยังมี MFGM และ DHA ที่ช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อเซลล์ประสาท ทำให้พัฒนาการสมองของลูกดียิ่งขึ้น นับว่าเป็นสุดยอดสารอาหารสำหรับลูกน้อย
การดูแลและป้องกันอาการแหวะนมในเด็ก
หากลูกน้อยของคุณมีอาการแหวะนมอยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่คงจะดีถ้าอาการเหล่านี้จะหมดไป ด้วยวิธีเหล่านี้
- ควรให้เด็กกินนมในท่าที่หัวสูง
- หลังกินนมแล้ว ให้จับนั่ง หรืออุ้มพาดบ่า เพื่อไล่ลมให้ลูกทุก ๆ 3-5 นาที ระหว่างป้อนนม และหลังการให้นม
- หลังให้นมเสร็จ ให้จับลูกนั่งตรง ๆ ก่อนประมาณ 20-30 นาที ก่อนให้ลูกนอน
- ไม่ปล่อยให้ลูกหิวมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกกินมาก และรีบกินเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดการกลืนอากาศเข้าไปในท้อง เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเรอ อาการแหวะนมได้ง่ายกว่าปกติ
- อย่าให้ลูกเคลื่อนไหวร่างกายหนัก ๆ แรง ๆ หลังกินนม เพราะทำให้เสี่ยงเกิดการแหวะนมออกมาได้ง่าย
- กรณีที่เลี้ยงลูกด้วยขวดนม ควรดูให้แน่ใจว่า รูจุกนมไม่ใหญ่จนเกินไป เพราะจะทำให้น้ำนมไหลเร็ว จนลูกน้อยต้องรีบดูด และดูดลมเข้าไปด้วย ในขณะที่รูจุกนมเล็กเกิดไป ก็อาจจะดูดลมเข้าไปแทนน้ำนมก็ได้เช่นกัน
- หากเด็กยังคงมีอาการแหวะนมอยู่เรื่อย ๆ แม้ว่าจะมีอายุมากกว่า 4 เดือนขึ้นไปแล้ว ควรพิจารณาให้อาหารเสริม เพื่อช่วยลดอาการไหลย้อนของนม เพราะอาหารเสริมจะข้นกว่า ทำให้เกิดการไหลย้อนที่ยากกว่านั่นเอง
หากปฏิบัติตามข้อต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว แล้วยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของอาการแหวะนมบ่อยในเด็ก เพราะถ้าหากทิ้งเอาไว้ ก็อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจได้
อาการแหวะนมที่ควรรีบไปพบแพทย์
ปกติแล้ว อาการแหวะนมไม่ใช่อาการที่รุนแรงแต่อย่างใด แต่หากลูกมีอาการแหวะบ่อยและมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาทันที โดยอาการที่แหวะนมที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกต มีดังนี้
- ลูกมีอาการอ่อนเพลีย
- ลูกมีอาการไอและหายใจไม่ออก
- ลูกแหวะนมตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
- ลูกมีไม่ยอมกินนม มีอาการเบื่ออาหาร
- ลูกแหวะนมแบบอาเจียนออกมาต่อเนื่อง
- ลูกมีอาการหงุดหงิด หรือรู้สึกไม่สบายตัว
- ลูกแหวะบ่อย และมีน้ำหนักตัวลดลงต่อเนื่อง
- อุจจาระของลูกมีเลือดปนด้วยหลังจากแหวะนม
- ลูกแหวะนมแล้วมีสารคัดหลั่งสีเขียวหรือสีเหลืองปะปนออกมา
- ลูกแหวะนมออกมาปนกับเลือด หรือของเหลวที่มีสีดำคล้ายกากกาแฟ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทารกอ้วก อาเจียนบ่อย แต่ไม่มีไข้ ลูกเป็นอะไรกันแน่?
ไขข้อข้องใจ! ลูกอาเจียนบ่อย เป็นเรื่องปกติไหม? สงสารลูกน้อย
ลูกมี แก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ ทำอย่างไรดี? อาหารอะไรที่ทำให้เกิดแก๊ส
ที่มา : โรงพยาบาลวิชัยยุทธ, Babygiftretail, โรงพยาบาลสมิติเวช