เต้านมของคุณแม่เป็นอวัยวะอันน่าทึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเลี้ยงดูลูกน้อยค่ะ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเต้านมแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ ไปจนถึงการให้นมลูกหลังคลอด เช่น เต้านมขยายขนาดขึ้น หัวนมและรอยบากเปลี่ยนไป หรือมีอาการคัดเต้า จนบางคนรู้สึกเจ็บและรำคาญ แต่ก็มีคุณแม่มือใหม่หลายคนนะคะที่ไม่กลัวเรื่องเต้าคัด แต่กลับกังวลเกี่ยวกับการที่หลังคลอดแล้ว เต้าไม่คัด ทำไงดี เพราะเชื่อว่าการคัดตึงของเต้านมเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีน้ำนมเพียงพอ เรามาหาคำตอบให้เรื่องนี้กันค่ะ
การเปลี่ยนแปลงของเต้านมแม่ระหว่างตั้งครรภ์
ในช่วงที่มีการตั้งครรภ์นั้น เต้านมของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านค่ะ ได้แก่
- มีการขยายตัว โดยเต้านมจะค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนม
- หัวนมและลานนม วงปานนม มีการเปลี่ยนแปลง คือ จะมีสีเข้มขึ้นและขยายใหญ่ขึ้น
- มีการสร้างท่อน้ำนม โดยท่อน้ำนมจะเพิ่มจำนวนและขยายตัวเพื่อรองรับการผลิตน้ำนมในปริมาณมาก
อาการคัดเต้า เต้าไม่คัด ของแม่ให้นม
ก่อนจะไปดูว่าอาการคัดเต้า กับเต้าไม่คัด แบบไหนปกติหรือไม่ปกติ ขอชวนคุณแม่มือใหม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายตัวเองในช่วงตั้งครรภ์ก่อนค่ะ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ เต้านม
โดยช่วงเริ่มตั้งครรภ์จนถึงคลอดและหลังคลอด ร่างกายคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ โดยฮอร์โมนสำคัญที่มีผลต่อการผลิตน้ำนมแม่คือ ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ที่จะกระตุ้นการสร้างน้ำนม และฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นการหลั่งน้ำนม
การสร้างน้ำนมนั้นจะเริ่มสร้างเต็มที่โดยใช้ระยะเวลา 2-7 วัน ดังนั้น ในระยะ 1 สัปดาห์แรกหลังคลอด คุณแม่อาจมีน้ำนมมากน้อยแตกต่างกันเป็นปกติ จากนั้นในช่วง 4 สัปดาห์แรกหลังคลอดปริมาณของน้ำนมที่สร้างจะปรับตามความต้องการของลูก และกระตุ้นปริมาณได้จากการดูดของลูกน้อย หากคุณแม่ให้ลูกเข้าเต้าดูดนมอย่างถูกวิธี ดูดจนเกลี้ยงเต้า ก็จะมีสัญญาณสั่งการไปยังสมองให้มีการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคตินเพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนม หลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนม
แต่หากลูกดูดนมได้น้อย เข้าเต้าไม่ถูกวิธี หรือคุณแม่ปั๊มนมออกได้ไม่เกลี้ยงเต้า ก็จะทำให้มีน้ำนมค้างในเต้านม จะทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง ยิ่งรวมกับภาวะเครียด วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอาการปวดหรือแผลที่หัวนม ก็จะมีผลไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน เมื่อปล่อยทิ้งไว้น้ำนมที่คั่งค้างในเต้าก็จะมากเกินไป จนเต้านมมีขนาดใหญ่ บวม ตึง กดเจ็บทั่ว ๆ เต้านม เรียกว่า อาการเต้านมคัด (Breast engorgement) นั่นเอง
เต้าไม่คัด ทำไงดี เป็นปัญหาหรือเปล่า ?
คุณแม่บางคนจะใช้อาการ คัดเต้า เป็นสัญญาณบอกว่าต้องให้ลูกดูดนม หรือถึงเวลาต้องปั๊มนมออกให้หมดได้แล้ว ดังนั้น เมื่อมีช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่เกิดอาการ เต้าไม่คัด จึงรู้สึกกังวลใจว่าการที่เต้านมไม่คัดหมายความว่าคุณแม่ไม่มีน้ำนมเพียงพอหรือเปล่า เต้าไม่คัด ทำไงดี
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหากคุณแม่ไม่มีอาการคัดเต้าไม่ได้หมายความว่าไม่มีน้ำนมค่ะ โดยการที่คุณแม่รู้สึกว่านมคัดบ่อย ๆ ช่วงเดือนแรกหลังคลอดเป็นเพราะร่างกายยังไม่รู้ว่าต้องผลิตนมเท่าไร จึงผลิตมาขาด ๆ เกิน ๆ จนกระทั่งให้ลูกดูดนมจากเต้าแม่แล้ว ร่างกายคุณแม่และลูกน้อยจะปรับตัวเข้าหากันมีผลทำให้ เต้าไม่คัด ได้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม เมื่อทิ้งช่วงให้นมห่างขึ้น นมอาจจะคัดขึ้นมาอีก คุณแม่จะรู้สึกว่ามีน้ำนมมากหากปั๊มหรือให้ลูกดูดตอนนมคัด แต่ในระยะยาวหากปล่อยให้คัดบ่อย ๆ ร่างกายจะผลิตนมน้อยลงได้นะคะ โดยในน้ำนมแม่มีสาร FIL (Feedback Inhibitor of Lactation) ที่ช่วยยับยั้งการสร้างน้ำนม เมื่อน้ำนมผลิตมากและไม่ได้ระบายออก สารนี้จะมีมากขึ้นจนสั่งให้ร่างกายลดการสร้างน้ำนมลง แต่หากมีการระบายน้ำนมโดยให้ลูกดูดหรือปั๊มออกมาสารดังกล่าวก็จะถูกระบายออกมาด้วย ร่างกายจึงสร้างน้ำนมไปเรื่อย ๆ ตามการดูดของลูกน้อยค่ะ
เต้าไม่คัด เป็นไปได้ แล้ว “คัดเต้า” มีอันตรายไหม
อย่างที่บอกว่าอาการ เต้าไม่คัด ไม่น่ากังวลใจค่ะ แต่หากเมื่อไรก็ตามคุณแม่ปล่อยให้เต้าคัด หรือมีน้ำนมคั่งค้างอยู่ในเต้านมเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะผิดปกติต่าง ๆ ตามมาได้นะคะ อาทิ
- ท่อน้ำนมอุดตัน (Blocked duct) ซึ่งการปล่อยให้เต้าคัดนาน ๆ น้ำนมจะข้นมากขึ้น จนอาจอุดตันท่อน้ำนมบางส่วน นมที่สร้างขึ้นมาใหม่ไม่สามารถระบายออกได้ เกิดเป็นก้อนแข็งที่เต้านมบางตำแหน่ง กดแล้วเจ็บ แต่ไม่มีอาการอักเสบ หากไม่ได้รับการแก้ไข อาจนำไปสู่ภาวะเต้านมอักเสบได้
- เต้านมอักเสบ (Mastitis) คือ เต้านมมีการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน เป็นก้อนแข็ง กดเจ็บ รวมถึงคุณแม่อาจมีไข้ร่วมด้วย หากไม่ดูแลแก้ไข ก็เสี่ยงต่อการเกิดก้อนฝีหนองภายใน เรียกว่า เต้านมเป็นฝี (Breast absces) ซึ่งใช้เข็มเจาะดูด หรือใช้มีดกรีดระบายหนองออก
วิธีดูแลคุณแม่ เต้าไม่คัด และคัดเต้า
- ให้นมบ่อย ตามความต้องการของลูกน้อย โดยไม่จำกัดเวลาและปริมาณ
- อุ้มลูกให้แนบชิดกับอกแม่มากที่สุดขณะให้นม เพื่อให้ลูกน้อยดูดนมได้อย่างเต็มที่
- สลับเต้าในการให้นมแต่ละครั้ง เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนมทั้งสองข้าง
- พักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ จะช่วยให้ร่างกายมีพลังงานในการผลิตน้ำนม
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะการดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมได้
คุณแม่อย่าลืมสังเกตนะคะว่าลูกได้รับนมเพียงพอหรือไม่ โดยดูจากลูกดูดนมได้อย่างแข็งขันและหลับสบายหลังกินนม มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ แล้วมีปัสสาวะสีเหลืองอ่อนอย่างน้อย 6-8 ครั้งต่อวัน รวมถึงอุจจาระ 2 ครั้งเป็นประจำทุกวันด้วย
การให้นมลูกเป็นช่วงเวลาสำคัญอันมีค่าของคุณแม่และลูกน้อยนะคะ การดูดนมของลูกจะกระตุ้นให้ร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้น และยังช่วยสร้างความผูกพันระหว่างแม่และลูกอีกด้วย อย่างไรด็ตาม การที่คุณแม่ให้นม เต้าไม่คัด ไม่ได้หมายความว่าไม่มีน้ำนมเพียงพอในการเลี้ยงลูก ซึ่งหากลูกสามารถดูดนมแม่ได้อิ่ม นอนหลับได้สนิท น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ ขับถ่ายเป็นปกติ คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องอาการเต้านมคัดหรือ เต้าไม่คัด เลยค่ะ… การให้นมลูกเป็นเรื่องของการเรียนรู้และปรับตัวนะคะ อย่างไรก็ตาม หากยังมีความกังวลคุณแม่สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อหาแนวทางการให้นมลูกอย่างถูกวิธีและเหมาะสมค่ะ
ที่มา : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย , pt.mahidol.ac.th , สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ให้นมลูกกินขนมปังได้ไหม ขนมปังที่แม่ให้นมกินได้ อาหารแบบไหนเหมาะกับ “แม่ให้นม”
กินอะไรบำรุงน้ำนม? รวมอาหารเพิ่มน้ำนมสำหรับแม่หลังคลอด
ทำความรู้จัก เครื่องปั๊มนม ตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้คุณแม่ปั๊มนมเกลี้ยงเต้ามากขึ้น