ในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าเด็กรุ่นหลังๆ จะได้รับการดูแลและการเลี้ยงดูอย่างสะอาด โอกาสที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกได้สัมผัสดินทรายที่มีจุลินทรีย์ดีๆ ตามธรรมชาตินั้นแทบจะน้อยมาก ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยที่เราไม่รู้ตัว นักวิทยาศาสตร์จึงได้ตั้งสมมุติฐานว่า การที่พบโรคภูมิแพ้และการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ เพิ่มขึ้นทั่วโลกนั้นน่าจะเกิดจากคนเราไม่ได้รับเชื้อจุลินทรีย์ดีๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติเหมือนในอดีต เพราะทารกส่วนหนึ่งเกิดโดยการผ่าท้องคลอดทำให้ขาดโอกาสรับเชื้อดีๆจากช่องคลอดของแม่ แต่กลับได้รับเชื้อในโรงพยาบาล มีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อเกินความจำเป็นซึ่งเข้าใจว่าจะทำลายให้เชื้อดีๆ ในลำไส้ไปด้วย
ดังนั้น เมื่อเข้าใจว่าการมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น มีหน้ากากอนามัย มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ มากมาย จะช่วยลดการติดเชื้อลงได้ แต่แท้จริงแล้วกลับทำให้เชื้อดีจะไวต่อยา และเชื้อร้ายจะทนต่อยา ซึ่งจะฉวยโอกาสก่อโรคเพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สมดุลของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้เสียไปอย่างมาก กลับเป็นการกระตุ้นความต้านทานเพื่อป้องกันโรคไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นภูมิต้านทานซึ่งก่อการอักเสบ เมื่อภูมิด้านก่อการอักเสบมีน้ำหนักมากกว่าภูมิด้านป้องกัน จะนำไปสู่การเกิดโรคภูมิแพ้และการอักเสบที่เนื้อเยื่อต่างๆ มากขึ้น เรียกสมมุติฐานนี้ว่า hygiene hypothesis
คุณแม่รู้ไหม หากจุลินทรีย์ในลำไส้เกิดการเสียสมดุล จะส่งผลให้ลูกมีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ได้ง่าย
ในทางเดินอาหารซึ่งเป็นอวัยวะที่มีโพรง เริ่มตั้งแต่ปาก ลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตรงชั้นเยื่อบุของลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ประกอบด้วยชั้นเซลล์เยื่อบุ ชั้นใต้เซลล์เยื่อบุและชั้นกล้ามเนื้อเรียบ ที่ชั้นใต้เยื่อบุลำไส้นี้เองมีเนื้อเยื่อน้ำเหลือง (gut associated lymphoid tissue หรือ GALT) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์
เนื้อเยื่อ GALT รับการกระตุ้นจากจุลินทรีย์ที่เกาะติดกับผิวเยื่อบุลำไส้ จะปล่อยสารเคมีไปสื่อสารกับเซลล์เนื้อเยื่อน้ำเหลือง ซึ่งใช้วิธีส่งท่อขึ้นมารับสัญญาณ รับตัวอย่างไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือสารเคมีของจุลินทรีย์ แล้วเกิดกลไกการตอบสนองต่อสิ่งนั้นๆ ถ้าเป็นอาหารมักตอบสนองไปในด้านทนรับอาหารชนิดนั้นได้ (tolerance) ถ้าได้รับสารกระตุ้นจากจุลินทรีย์ที่ดี (good germ, health germ) จะตอบสนองโดยสร้างสารให้การป้องกัน
ในทางตรงข้าม หากจุลินทรีย์เป็นตัวร้าย (bad germ) ปล่อยสารเคมี หรือถ้าเป็นสารก่อภูมิแพ้ซึ่งเนื้อเยื่อน้ำเหลืองรับสัญญาณแล้วรู้ว่า เป็นเชื้อร้าย หรือเป็นสารก่อภูมิแพ้จะตอบสนองด้วยการต่อสู้เนื้อเยื่อบาดเจ็บ เกิดการอักเสบที่ลำไส้มีอุจจาระเหลว มีมูก เลือดปนแล้วยังสร้างสารซึ่งก่อการอักเสบหรือภูมิแพ้เข้าสู่ระบบไหลเวียน ทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะนอกทางเดินอาหารได้ เช่น ทารกแพ้โปรตีนนมวัว เกิดการอักเสบที่ลำไส้แล้วยังเกิดอาการอักเสบที่นอกลำไส้ ได้แก่ ที่จมูกมีน้ำมูกไหล หลอดลมเกิดอาการไอ ผิวหนังเกิดผื่นกรากน้ำนม เป็นต้น
จะรู้ได้อย่างไร จุลินทรีย์ กลุ่มไหนดี กลุ่มไหนร้ายบ้าง?
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาประชากรของจุลินทรีย์ในลำไส้โดยการดูดของเหลวจากโพรงลำไส้และหรืออุจจาระมาเพาะเชื้อ ซึ่งสามารถแยกกลุ่มต่างๆ ดังภาพ
จุลินทรีย์ที่พบจัดได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- จุลินทรีย์สุขภาพ (Health germ) ซึ่งกินอาหารจำพวกแป้งได้แก่กลุ่มจุลินทรีย์ที่ผลิตกรด lactic (lactic acid bacteria) ประกอบด้วยจุลินทรีย์กลุ่ม Lactobacilli, Eubacteria และ Bifidobacteria ซึ่งได้ถูกจัดให้เป็น probiotic ซึ่งหมายถึงจุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อบริโภคในปริมาณที่เพียงพอจะเกิดผลดีต่อสุขภาพ
- จุลินทรีย์กลุ่มที่ก่อโรค (Pathogenic bacteria) เช่น เชื้ออหิวาต์ และบิด เป็นต้น เชื้อกลุ่มนี้เมื่อเข้าสู่ลำไส้จำนวนมากพอจะเกิดโรค ในภาวะปกติไม่พบ
- จุลินทรีย์กลุ่มฉวยโอกาสก่อโรค (Opportunistic bacteria) ซึ่งกินอาหารพวกโปรตีน ได้แก่กลุ่ม Clostridium, Pseudomonas เป็นต้น เมื่อร่างกายอ่อนแอหรือคนได้รับยาปฏิชีวนะ ฆ่าเชื้อกลุ่มแรกจนเหลือน้อยลง จะฉวยโอกาสเพิ่มจำนวนและก่อโรคได้ เช่น โรคอุจจาระร่วงในคนที่ได้รับยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพสูงๆ
- จุลินทรีย์กลุ่มนี้อยู่กลางๆ (Borderline) กินทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนเป็นอาหาร ให้คุณเมื่อมีจำนวนน้อยและให้โทษเมื่อมีจำนวนมาก ได้แก่ Bacteroides และ Klebsiella เป็นต้น
ดังนั้นทารกที่เกิดทางช่องคลอดได้รับจุลินทรีย์ดีๆ มาบ้างแล้ว ภูมิคุ้มกันที่ติดตัวลูกน้อยมาตั้งแต่กำเนิด จะรับภูมิเพิ่มขึ้นได้อย่างเต็มที่เมื่อลูกได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ เพราะในนมแม่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ได้แก่ บิฟิโดแบคทีเรียม และแล็คโตบาซิลัส ซึ่งอาศัยอยู่ในของเหลวในโพรงลำไส้ และเกาะจับผิวเซลล์เยื่อบุตลอดแนว ที่คอยป้องกันจุลินทรีย์ที่ฉวยโอกาสก่อโรครุกล้ำเข้าผนังลำไส้ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกได้รับภูมิคุ้มกันที่ดี มีสุขภาพที่แข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในทางเดินอาหารและทางเดินหายใจได้ ที่สำคัญหากมีโอกาสคุณพ่อคุณแม่ลองปล่อยให้ลูกได้รับจุลินทรีย์ดีๆ จากธรรมชาติด้วยการสัมผัสดิน ด้วยการปั้นวัวควายด้วยดินเหนียว ได้ปลูกต้นไม้ ฯลฯ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้และมีพัฒนาการทั้งด้านสมองและภูมิคุ้มกันที่ดีด้วย
เรียบเรียงโดย ศ. เกียรติคุณ พญ. วันดี วราวิทย์
บทความแนะนำเกี่ยวกับแม่ผ่าคลอด อ่านต่อที่นี่
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!