ลูกฉี่รดที่นอน หรือ ภาวะปัสสาวะรดที่นอนโดยไม่รู้ตัวนั้นพบได้บ่อยโดยเฉพาะในเด็กค่ะ แต่จะเป็นเรื่องปกติไหม ฉี่รดที่นอนบ่อยค่อยไหนน่ากังวล ลูกฉี่รดที่นอนเป็นปัญหาหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับพัฒนาการและช่วงวัยของลูกน้อยค่ะ ซึ่งโดยทั่วไปภาวะนี้มักจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันค่ะที่ลูกน้อยจำเป็นต้องได้รับการรักษา
ลูกฉี่รดที่นอน เรื่องปกติไหม ?
สำหรับลูกน้อย “วัยทารก” การฉี่รดที่นอน ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาค่ะ เนื่องจากเขายังควบคุมร่างกายของตัวเองไม่ได้เลย ลูกน้อยวัยนี้จึงจะฉี่บ่อยประมาณ 20 ครั้งต่อวัน หลังอายุ 6 เดือนปริมาณฉี่ต่อครั้งเพิ่มขึ้น แต่ความถี่จะลดลง
ส่วนลูกน้อยที่มี อายุ 1-2 ขวบ สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้มากขึ้น เริ่มสื่อสารบอกอาการกับคุณพ่อคุณแม่ได้ว่า “ปวดฉี่” เพียงแต่จะยังกลั้นไม่ได้ค่ะ โดยเฉพาะช่วงกลางคืนถ้ากินนมเยอะก็มีโอกาสที่ลูกจะเกิดภาวะฉี่รดที่นอน ซึ่งส่วนใหญ่จะฉี่ประมาณคืนละ 1-2 ครั้งค่ะ
แต่ในลูก วัย 3-4 ขวบ ควรต้องเริ่มกลั้นฉี่ได้ค่ะ โดยส่วนใหญ่เกิน 70% เด็กวัยนี้จะหยุดฉี่รดที่นอนได้แล้ว อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกันที่เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปยังมีภาวะดังกล่าวอยู่
ทำไมลูกฉี่รดที่นอน?
แม้ว่าอาการฉี่รดที่นอนในวัยทารกนั้นเป็นเรื่องปกติที่เขาไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะของตัวเองได้ แต่ในช่วงวัยที่โตขึ้นมา ก็มีหลายสาเหตุที่ทำให้ ลูกฉี่รดที่นอน ได้ค่ะ อาทิ
- ระบบควบคุมปัสสาวะยังไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะในเด็กเล็กวัย 1-2 ขวบ ที่พัฒนาการด้านการควบคุมการฉี่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทำให้กลั้นฉี่ในเวลากลางคืนได้ยาก
- พันธุกรรม หากคุณพ่อคุณแม่เคยมีประวัติฉี่รดที่นอนตอนเป็นเด็ก ลูกน้อยก็มีโอกาสที่จะมีภาวะเดียวกันได้สูงขึ้น โดยเด็กทั่วไปจะฉี่รดที่นอนร้อยละ 15 แต่เด็กที่พ่อหรือแม่มีประวัติจะมีโอกาสฉี่รดที่นอนร้อยละ 44 ยิ่งในกรณีที่ทั้งพ่อและแม่มีประวัติจะมีโอกาสสูงถึงร้อยละ 77 เลยค่ะ
- ความผิดปกติทางกายภาพ เช่น ความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ ความผิดปกติของระบบประสาท หรือเด็กบางคนมีการหดรัดตัวของกระเพราะปัสสาวะไม่ดี มีความจุน้อย มีท่อปัสสาวะแคบ ก็ทำให้ฉี่รดที่นอนได้
- พัฒนาการล่าช้า กลไกควบคุมการฉี่ซึ่งอาศัยพัฒนาการของระบบประสาท sympathetic, parasympathetic และ somatic nerve ล่าช้า ซึ่งเด็กทั่วไปสามารถควบคุมการปัสสาวะตอนกลางคืนได้เมื่ออายุ 3 ปี
- มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง กล้ามเนื้อส่วนที่ควบคุมการฉี่และขับถ่ายเป็นกล้ามเนื้อส่วนเดียวกันค่ะ การที่ลูกน้อยมีปัญหาท้องผูกนาน ๆ จึงอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนนี้ทำงานผิดปกติได้เช่นกัน
- เหตุจากฮอร์โมน โดยปกติแล้วร่างกายเราจะมีฮอร์โมนที่ชื่อว่า ADH (Antidiuretic Hormone) มีหน้าที่ทำให้ร่างกายผลิตน้ำปัสสาวะน้อยลงในตอนกลางคืน หากฮอร์โมนมีระดับต่ำผิดปกติ ก็จะทำให้ร่างกายผลิตฉี่มากตอนนอนค่ะ
- เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้ลูกน้อยปวดฉี่บ่อยขึ้นและกลั้นฉี่ไม่ได้
- การนอนผิดปกติ ภาวะฉี่รดที่นอนนั้นมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการหยุดหายใจขณะหลับและโรคหลับลึก (narcolepsy) ด้วย โดยลูกน้อยอาจนอนกรน และง่วงซึมในเวลากลางวันบ่อย ๆ ร่วมด้วย
- ความเครียด หรือความวิตกกังวล ที่อาจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน เช่น การย้ายบ้าน การเข้าโรงเรียนใหม่ อาจส่งผลให้ ลูกฉี่รดที่นอน ได้ หรือมีสาเหตุจากการต่อต้านพ่อแม่ที่ฝึกขับถ่ายด้วยความรุนแรงหรือการฝึกเร็วเกินไปก็เป็นไปได้เช่นกัน
เคล็ด(ไม่ลับ) รับมือ ลูกฉี่รดที่นอน
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนค่ะว่า การรับมือและแก้ไขภาวะ ลูกฉี่รดที่นอน คุณพ่อคุณแม่ต้องอาศัยความอดทนรวมถึงการให้ความร่วมมือจากลูกด้วย ดังนี้
- งดอาหารและเครื่องดื่มในช่วงเวลา 1-2 ชั่วโมงก่อนนอน โดยให้ลูกน้อยดื่มน้ำระหว่างวันให้เพียงพอ เพื่อช่วยลดโอกาสที่ลูกจะปวดฉี่ระหว่างหลับ แต่ถ้าลูกกินนม 1 แก้ว หรือ 1 กล่องก่อนนอน ควรทิ้งระยะประมาณ 30-60 นาที แล้วจึงให้เขาเข้าห้องน้ำแปรงฟัน และฉี่ก่อนเข้านอน โดยควรฝึกให้ลูกเข้าห้องน้ำก่อนเข้านอนให้ติดเป็นนิสัยด้วยค่ะ
- ไม่ปลุกให้ลูกตื่นมาฉี่ตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้อาการนี้หายไปได้ช้ากว่าไม่ปลุก และมักทำให้เกิดความขัดแย้งกับพ่อแม่ได้มากกว่าด้วยว รวมทั้งไม่ควรอุ้มลูกไปเข้าห้องน้ำทั้งที่ยังหลับ เพราะจะกลายเป็นว่ากำลังฝึกให้ลูกฉี่ทั้งที่ยังหลับ แต่ควรใช้วิธีเตือนและบอกลูกก่อนนอนว่าให้ตื่นขึ้นมาฉี่ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเปิดไฟในห้องน้ำรอไว้ หรือเตรียมกระโถนไว้ข้างเตียงก็ได้
- ฝึกให้ลูกรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของตัวเอง โดยให้เขาลุกขึ้นมาฉี่เองถ้ารู้สึกปวด และให้ลูกน้อยมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนหรือทำความสะอาดเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนที่เปื้อนฉี่ของตัวเองด้วย
- ให้รางวัลและกำลังใจเป็นแรงเสริมทางบวก เช่น วันไหนลูกไม่ฉี่รดที่นอน คุณพ่อคุณแม่ควรให้คำชม อ้อมกอด หรือติดสติ๊กเกอร์รูปหัวใจในปฏิทิน นอกจากจะเป็นกำลังใจที่ดีให้ลูกน้อยแล้ว ยังเป็นเครื่องมือช่วยเช็กด้วยว่าลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือไม่ ในทางกลับกัน หากลูกยังไม่สามารถทำได้ อย่าดุหรือลงโทษนะคะ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกกดดันและกลัวที่จะบอกเล่าปัญหาค่ะ
นอกจากนี้ อย่าลืมว่าหลังมีการฉี่รดที่นอน คุณพ่อคุณแม่ควรทำความสะอาด หรือฝึกลูกทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและก้นทุกเช้า เพื่อป้องกันการเกิดผดผื่นด้วยนะคะ
ลูกฉี่รดที่นอน บ่อยแค่ไหนน่ากังวล ควรไปพบแพทย์
แม้ภาวะลูกฉี่รดที่นอนโดยไม่รู้ตัวขณะนอนหลับมักจะหายไปได้เองเมื่อเขาเริ่มโตขึ้น แต่หากการฉี่รดที่นอนเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยเฉพาะในเด็กที่เริ่มโตแล้ว เช่น เกิดขึ้น 2–3 ครั้ง หรือมากกว่านั้นใน 1 สัปดาห์ ภาวะนี้ก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางสุขภาพได้ค่ะ ซึ่งลูกฉี่รดที่นอน บ่อยแค่ไหนน่ากังวล และควรไปพบแพทย์ ส่วนใหญ่มักดูที่อายุเป็นหลักเช่นกัน คือ
- ลูกเล็กวัย 3-4 ขวบ ฉี่รดที่นอนทุกคืน
- ลูกวัย 6 ปีขึ้นไป ถ้ายังฉี่รดที่นอนอยู่เป็นประจำ ถือว่าผิดปกติ
- มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ฉี่รดที่นอนในตอนกลางวัน เจ็บขณะฉี่ หิวน้ำบ่อย ปวดท้องน้อย มีไข้ ฉี่มีสีแดงหรือสีชมพูอุจจาระแข็ง นอนกรน หรือปัญหาฉี่รดที่นอนกลับมาใหม่หลังจากที่หยุดไปนาน
- มีอาการฉี่บ่อย ฉี่ไม่สุด
- มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ
เรื่องการฉี่รดที่นอนของลูกน้อยนั้นเป็นภาวะที่เขาต้องการความเห็นอกเห็นใจนะคะ คุณพ่อคุณแม่และบุคคลใกล้ชิดจึงต้องเข้าใจและเห็นใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ควรปล่อยให้มีการล้อเลียนเกิดขึ้น เพราะไม่มีเด็กคนไหนชื่นชอบที่จะตื่นขึ้นมาในสภาพที่เปียกแฉะอับชื้น ดังนั้น ควรใช้คำพูดที่อ่อนโยนกับลูก ไม่หงุดหงิด จะไม่เป็นผลดีกับทั้งตัวลูกน้อยและคุณพ่อคุณแม่เองค่ะ
และหากมีการปรับพฤติกรรมตามที่แนะนำไปข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือลูกฉี่รดที่นอนจนถึงช่วงวัย 7-8 ปี ก็ยังไม่หยุด ควรพาลูกเข้ารับคำแนะนำจากกุมารแพทย์นะคะ
ที่มา : www.pobpad.com , www.youngciety.com , www.vejthani.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกไม่สบาย 7 สัญญาณเตือนว่าลูกน้อยของคุณกำลังป่วย และวิธีรับมือ
ผดร้อนทารก ลูกเป็นผดร้อน ทำอย่างไรดี มีวิธีรักษาหรือเปล่า
ลูกสมาธิสั้น แก้ไขอย่างไร ไม่ให้กระทบพัฒนาการและการเรียนรู้