มักมีหลายคนเข้าใจว่าการทำบอลลูนหัวใจ เป็นวิธีที่ถูกใช้ในการรักษาโรคหัวใจ แต่จริง ๆ แล้ว มันเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ในวิธีรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นโรคที่มักพบได้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคเบาหวาน หรือ ในผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์เท่านั้น บทความนี้ จะพาไปดูความรู้เกี่ยวกับ “การทำบอลลูนหัวใจ” ว่าต้องทำอย่างไร และ เหมาะกับผู้ป่วยโรคใดบ้าง
การทำบอลลูนหัวใจ คืออะไร?
การทำบอลลูนหัวใจ (Balloon Angioplasty) คือ หนึ่งในทางเลือกสำหรับการรักษา โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้เวลาเพียงไม่นานนัก และผู้ป่วย ยังสามารถพักฟื้นร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เป็นอีกหนึ่งทางเลือก นอกจากการผ่าตัดเบี่ยงทางเดินหลอดเลือดหัวใจ (Bypass Surgery) ซึ่งการรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจ เป็นการรักษาที่มีผลข้างเคียงน้อย และไม่ต้องใช้ยาสลบในการรักษาด้วย
การทำบอลลูนหัวใจ เป็นหนึ่งในวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการสอดท่อเข้าไปในบริเวณที่มีการอุดตัน เพื่อเป็นตัวช่วยให้เลือด และออกซิเจนสามารถเดินทางเข้าสู่หัวใจได้ ช่วยรักษาอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ อย่างไรก็ตาม การขยายหลอดเลือดหัวใจ อาจทำได้ด้วยการรักษาวิธีอื่น
ทำไมต้องทำบอลลูนหัวใจ?
การทำบอลลูนหัวใจไม่จำเป็นต้องพึ่งยาสลบระหว่างการรักษา ซึ่งเป็นส่วนช่วยลดอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยจึงไดรับผลกระทบจากการรักษาเพียงเล็กน้อย และการพักฟื้น สามารถใช้เวลาเพียง 1- 2 วันเท่านั้น อีกทั้งการทำบอลลูนหัวใจ ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการทำบายพาสหัวใจ
ใครบ้างที่ควรทำบอลลูนหัวใจ?
- ผู้ป่วยที่มีอาการตีบตันในหลอดเลือดหัวใจ หรือ หลอดเลือดหัวใจตีบ มีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อตัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
- ผู้ป่วยที่เคยทำการผ่าตัดทางหลอดเลือดหัวใจ และ เกิดการตีบตันซ้ำ
การทำบอลลูนหัวใจทำอย่างไร?
- การทำบอลลูนหัวใจ สามารถทำได้ผ่านทางข้อมือ ขาหนีบ โดยการฉีดยา และสวนสายสวนที่มีบอลลูนติดอยู่ที่ปลาย เข้าไปยังบริเวณดังกล่าว เพื่อไปยังหลอดเลือดหัวใจ
- แพทย์จะใช้เครื่องมือทำให้บอลลูนพองขึ้น เพื่อให้ไขมันที่อุดตันอยู่ ชิดติดผนังกับหลอดเลือดหัวใจ และทำให้เลือดไหลเวียนได้ตามปกติ จากนั้นบอลลูนจะแฟบลง แล้วแพทย์จะทำการดึงสายออกมาพร้อมกับบอลลูน
- ระยะเวลาการรักษาทั้งหมด ใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น
- การรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจ ในบางครั้งจะมีการใช้ลวดร่วมด้วย เพื่อลดโอกาสในการเกิดการตีบตันซ้ำ
การทำบอลลูนหัวใจ ใช้เวลาพักฟื้นนานมั้ย?
หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา จำเป็นต้องพักฟื้นประมาณ 1-2 วัน นอกจากนี้ ยังสามารถรักษาซ้ำ ด้วยการทำบอลลูนหัวใจอีกครั้ง หากอาการตีบตันเกิดขึ้นอีก
การดูแลตัวเองหลังจากทำบอลลูนหัวใจ
- ทานยาต้านเกล็ดเลือด ตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ใน 1 สัปดาห์แรก ไม่ควรขับรถเอง และไม่ควรยกของหนัก
- ระมัดระวังอย่าให้เกิดความเครียด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
- บริเวณที่ทำบอลลูนหัวใจ อาจเกิดการตีบตันซ้ำในอนาคตได้ ผู้ป่วยขึงควรรับประทานยา และดูแลตัวเอง ซึ่งหากมีอาการกำเริบ สามารถทำบอลลูนหัวใจซ้ำได้ ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
ข้อควรระวังหลังการทำบอลลูนหัวใจ
- หลังจากทำการรักษา ผู้ป่วยห้ามงอขาเป็นเวลา 6-10 ชั่วโมง เนื่องจากอาจทำให้มีเลือดออกจากแผลได้
- หากผู้ป่วยพบอาการที่ผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก มีไข้ หรือ ความผิดปกติอื่น ๆ ควรแจ้งแพทย์ทันที
- หากไม่พบความผิดปกติใด ๆ สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ และควรดื่มน้ำ เพื่อขับสารทึบรังสี ที่ใช้ในการสวนหัวใจออก
- หากผู้รับการรักษา มีอาการป่วยเกี่ยวกับไต ควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร และเครื่องดื่ม หลังจากที่รับการรักษา
อาการแทรกซ้อนที่ควรพบแพทย์
- มีเลือดไหล หรือ มีอาการบวมบริเวณที่ทำการรักษา
- เกิดการติดเชื้อ โดยอาจมีไข้ มีอาการบวมแดง หรือ มีของเหลวไหลออกจากบริเวณที่สอดสายบอลลูน
- เกิดความผิดปกติ บริเวณที่มีการสอดสายสวน เช่น ขา หรือ แขน
- รู้สึกหน้ามืด มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- มีอาการเจ็บหน้าอก หรือ หายใจไม่เต็มอิ่ม
ข้อดีของการทำบอลลูนหัวใจ
- มีโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อน ต่ำกว่าการผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ เนื่องจากไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ และไม่จำเป็นต้องใช้ยาสลบ
- ผู้ป่วยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ ใน 1-2 วันเท่านั้น และยังสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็วขึ้น
- การทำบอลลูนสามารถทำซ้ำได้ หากมีอาการหลอดเลือดตีบซ้ำในอนาคต
ข้อจำกัดของการทำบอลลูนหัวใจ
- การตีบตันบางอย่าง อาจไม่สามารถรักษาได้ด้วยการทำบอลลูน
- การทำบอลลูนหัวใจอาจมีโอกาสกลับมาเกิดการตีบซ้ำได้อีกในบริเวณเดิม เป็นเพราะกระบวนการสมานแผล ตามลักษณะธรรมชาติของร่างกาย
การทำบอลลูนหัวใจเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ที่ถูกใช้ในการรักษาอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเมื่อทำการรักษาแล้ว ก็อาจมีโอกาสให้กลับมาเป็นซ้ำอีกได้ ดังนั้นผู้ป่วยอาจเลือกใช้เป็นวิธีการรักษาอื่น เพื่อประสิทธิภาพที่ต่างออกไป อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการ ควรพบแพทย์เพื่อทำารรักษา และพิจารณาการรักษาร่วมกับแพทย์เท่านั้น
ที่มา: bangkokhearthospital.com, petcharavejhospital.com, pobpad.com
บทความที่น่าสนใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภัยเงียบใกล้ตัว สาเหตุ อาการ และวิธีป้องกัน
หัวใจวายมีอาการเป็นอย่างไร มีวิธีรักษาหรือไม่ รวมความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจวาย
โรคหัวใจ เกิดจากสาเหตุอะไร โรคหัวใจมีอาการอะไรบ้าง โรคหัวใจมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง