ลูกนอนผวา เด็กนอนผวา สะดุ้ง ตื่นขณะนอนหลับ ทำอย่างไรดี นอนสะดุ้งเกิดจากอะไร หากลูกน้อยของคุณมีอาการนอนผวา สะดุ้งตื่น เมื่อได้ยินเสียงดัง หรือมีการเคลื่อนไหวคล้ายว่าตัวเองกำลังหล่น กางแขน กางขา แอ่นหลัง และร้องไห้ จากนั้นก็กลับไปนอนขดตัวอีกครั้ง ปฏิกิริยาตอบสนองต่อความตกใจเช่นนี้เรียกว่า Moro reflex ซึ่งพบได้ในเด็กแรกเกิด
ลูกนอนผวา สะดุ้งตื่น เด็กนอนผวา ตกใจง่าย เกิดจากอะไร
ทารกแรกเกิด มีปฏิกิริยาสะท้อนกลับหลากหลายรูปแบบ ไม่นานนัก หลังจากลืมตาดูโลก พวกเขาก็สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่าง ๆ ได้ อาทิ การอ้าปาก เมื่อถูกเขี่ยที่มุมปาก การดูด เมื่อมีของเข้าปาก การคว้าจับ การก้าว เป็นต้น
ปฏิกิริยาของเด็กแรกเกิด
- ปฏิกิริยาโมโร (Moro) เมื่อทารกได้รับการกระตุ้นด้วยเสียงดัง ขณะที่ทารกนอนอยู่หรือมีการเคลื่อนไหว หรือร้องไห้เอง โดยทารกจะสะดุ้งและเอาแขนสองข้างไขว่คว้าคล้ายจะกอด โดยทารกจะผงกศีรษะไปข้างหลัง เหยียดแขนขาออก แล้วดึงแขนขากลับเข้ามาเหมือนจะกอด
- ปฏิกิริยาการค้นหา (Rooting) ถ้าคุณแม่เขี่ยที่แก้ม เจ้าตัวน้อยจะหันหน้า อ้าปาก ไปในทิศทางที่ถูกสัมผัส ซึ่งเป็นสัญชาตญาณในการหาหัวนมแม่ของทารกนั่นเอง
- ปฏิกิริยาการดูด (Sucking) เจ้าตัวน้อยจะดูดโดยอัตโนมัติ เมื่อมีบางอย่างสัมผัสที่เพดานปาก ถึงแม้ว่าทารกจะรู้ได้เองว่าต้องดูดอย่างไร ลูกก็ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการดูดเช่นกัน หากคุณแม่พบอุปสรรคในการให้นมบุตร อย่าเพิ่งท้อใจ ลองปรึกษาคลินิกนมแม่ใกล้บ้านคุณ เพื่อขอคำแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ
- ปฏิกิริยาการคว้าจับ (Grasping) เจ้าตัวน้อยจะกำสิ่งของที่วางลงบนมือของเขา เช่น มือของคุณ หรือของเล่น ปฏิกิริยาตอบสนองเช่นนี้ช่วยให้ลูกพัฒนาทักษะในการจับสิ่งต่างๆ อย่างตั้งใจเมื่อโตขึ้น
- ปฏิกิริยาการก้าว (Stepping) ถ้าคุณแม่ประคองเจ้าตัวน้อยให้ยืนขึ้น และปล่อยให้เท้าของเขาได้สัมผัสพื้นผิวที่เรียบ เขาจะยกขาข้างหนึ่ง และอีกข้างหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าเจ้าตัวน้อยกำลังพยายามจะก้าว การตอบสนองเช่นนี้ ช่วยให้ลูกพัฒนาทักษะในการควบคุมการเดิน ซึ่งจะเริ่มประมาณอายุ 1 ขวบ
ปฏิกิริยาสะท้อนกลับเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทารก และเป็นการตอบสนองที่ปกติสำหรับเด็กแรกเกิด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ทำไมลูกนอนกรน เด็กนอนกรน เกิดจากสาเหตุอะไร?
ทำอย่างไรเมื่อลูกนอนผวา เด็กนอนผวา ลูกนอนสะดุ้ง?
คุณแม่อาจพบว่าลูกนอนผวา ทารกนอนสะดุ้ง ในขณะที่กำลังพยายามจะวางลูกลงบนที่นอนเมื่อลูกนอนหลับ การวางลูกลงอาจทำให้ลูกรู้สึกเหมือนกำลังจะหล่น ซึ่งอาจทำให้ลูกตกใจตื่นทั้ง ๆ ที่เขากำลังนอนหลับสบาย
ลดอาการผวาของลูก ลูกนอนผวาแก้ปัญหาลูกสะดุ้ง
หากคุณแม่เป็นกังวลกับอาการผวาของลูก ลองวิธีต่อไปนี้
- อุ้มเจ้าตัวน้อยแนบตัวคุณแม่ให้นานที่สุด เท่าที่เป็นไปได้ เมื่อคุณจะวางเขาลงบนที่นอน ค่อย ๆ ปล่อยลูก หลังจากที่ช่วงหลังของลูกสัมผัสกับที่นอนแล้วเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกรู้สึกว่า กำลังจะหล่น และทำให้เกิดอาการผวาได้
- การห่อตัวลูกน้อย จะช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัย เหมือนกลับไปขดตัวในมดลูกอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังช่วยให้ลูกนอนหลับนานขึ้นอีกด้วย
วิธีการห่อตัวทารก
1. ปูผ้าขนหนู หรือผ้าห่มเป็นแนวทแยง และพับมุมด้านบนลงมา
2. วางลูกนอนหงาย โดยให้ส่วนคออยู่บริเวณมุมที่พับลงมา
3. จับผ้าจากด้านซ้ายห่อตัวลูก เหน็บไว้ใต้แขนซ้าย
4. จับผ้าจากด้านล่างขึ้นมาปิดขาลูก
5. จับผ้าจากด้านขวาเข้ามาห่อตัวลูก เหน็บชายผ้าไว้ใต้ตัวลูก
วิธีนี้เหมาะสำหรับหน้าร้อน เมืองร้อน ที่ไม่จำเป็นต้องห่อศีรษะ และใช้สำหรับการนอนหงายเท่านั้น คุณควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกน้อยที่ถูกห่อนั้นไม่รู้สึกร้อน หรือถูกรัดแน่นเกินไป
เมื่อไหร่อาการนอนสะดุ้ง นอนผวาถึงจะหายไป ?
อาการนอนสะดุ้ง นอนผวาจะหายไปเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ภายในอายุ 3- 6 เดือน ลูกจะไม่แสดงปฏิกิริยาสะท้อนด้วย Moro reflex อีกต่อไป เนื่องจากลูกสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น จึงมีอาการนอนผวาน้อยลง
คุณสามารถช่วยลูกพัฒนาด้านการเคลื่อนไหว โดยให้พื้นที่เขาได้ยืดแขนขา เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ รู้หรือไม่ว่าแม้แต่เด็กแรกเกิด ก็ควรมีโอกาสได้เคลื่อนไหวเช่นกัน เพียงแต่ต้องระมัดระวังในการประคองคอ และศีรษะดี ๆ ตอนที่คุณกำลังอุ้มเจ้าตัวน้อย
เมื่อไหร่ควรพบคุณหมอ ?
เมื่อลูกไม่แสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับตามปกติ ให้สงสัยว่า ลูกอาจมีปัญหา หากข้างใดข้างหนึ่งของร่างกายลูกไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง อาจเป็นเพราะลูกเกิดความผิดปกติที่หัวไหล่ หรือสมองได้รับบาดเจ็บ แต่หากไม่ตอบสนองทั้งสองข้าง อาจเกิดความเสียหายที่สมอง และกระดูกไขสันหลัง
การตอบสนอง และพฤติกรรมอื่น ๆ ของทารกแรกเกิด
1. การตอบสนองตามสัญชาตญาณ
- การตอบสนองต่อเหตุตกใจ ทารกแรกเกิด จะมีการหดตัว ยืดแขน เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัว อาการนี้จะหายไป เมื่ออายุได้ราว 4 เดือน
- ปฏิกิริยาฟันดาบ (Tonic-Neck Reflex or Fencer’s Reflex) เมื่อลูกหันหน้าไปด้านหนึ่ง แขน และขาด้านนั้น ก็จะยืดออกด้วย ในขณะที่แขน และขาอีกข้างจะงอ อาการนี้จะหายไป เมื่ออายุได้ราว 4 เดือนเช่นกัน
- คาง หรือปากล่างมีอาการสั่น
- ชักกระตุกเบา ๆ
2. อาการแขน ขากระตุกเวลาร้องไห้
ทารกแรกเกิด จะมีอาการแขน และขากระตุกในระหว่างร้องไห้ และจะหายไปเมื่ออายุราว 1 – 2 เดือน อาการกระตุกที่เป็นปกติ แตกต่างจากการชัก เพราะส่วนมากเด็กจะไม่ร้องไห้ ถ้าหากเกิดการชัก
3. มีการเคลื่อนไหวขณะนอนหลับ
ทันทีที่ลูกนอนหลับ ลูกจะมีอาการสะดุ้ง หรืองอแขน ขา ประมาณ 2 – 3 วินาที หากขณะตื่นนอน มีอาการกระตุกนานกว่านั้น ราว ๆ 10 วิ อาจเสี่ยงต่อการชักได้
4. มีการส่งเสียงขณะนอนหลับ
- มีเสียงหายใจขณะนอนหลับ
- ลูกอาจจะส่งเสียงคราง ร้องไห้ ละเมอ ออกมาขณะนอนหลับได้
- เสียงจากระบบการย่อยอาหารของลูก
5. การตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัว เช่น
- การจาม การจามเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยในเปิดทางเดินหายใจ ให้ลูกสามารถหายใจได้สะดวกขึ้น ลูกอาจจาม เพราะหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าไป สูดดมกลิ่น หรือควัน การล้างจมูกให้ลูก อาจช่วยลดความถี่ในการจาม ที่ไม่ได้เกิดจากแพ้ หรือเป็นหวัดได้
- การไอ เป็นกระบวนการเปิดช่องทางเดินหายใจของลูก
- การกะพริบตา ลูกทารกที่อยู่กับความมืดในท้องแม่มาเป็นเวลานาน จะมีดวงตาที่อ่อนไหวต่อแสงไฟเป็นพิเศษ ลูกจึงมักจะกะพริบตาบ่อย ๆ เมื่อต้องเผชิญกับแสงไฟ หรือความสว่าง
อย่างไรก็ดี คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลจนเกินไป หากลูก ๆ ของคุณไม่นอนผวา หรือสะดุ้ง คุณหมอสามารถตรวจสอบได้ปฏิกิริยาตอบสนองของลูกเป็นปกติหรือเปล่า คุณหมออาจจำเป็นต้องตรวจสอบกล้ามเนื้อของทารก และเส้นประสาทในลำดับต่อไป ถ้ามีอาการผิดปกติ ที่รู้สึกไม่สบายใจ ให้ไปพบแพทย์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกนอนกัดฟัน ทำอย่างไรดี? ทำไมเด็กต้องเคี้ยวฟันตัวเอง แก้ไขได้อย่างไร?
ทำไมลูกนอนกรน เด็กนอนกรน เกิดจากสาเหตุอะไร?
ทำอย่างไรหากลูกไม่ยอมนอน เคล็ดลับทำให้ลูกนอนง่าย และไม่ตื่นช่วงกลางคืน
ที่มา healthline , seattlechildrens