สุดประทับใจ : ทารกแรกเกิดกอดแม่ไม่ยอมปล่อย
ปฏิกิริยารีเฟล็กซ์หรือเรียกอีกอย่างว่าปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เป็นพัฒนาการสำคัญของทารกแรกเกิดที่จะตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าโดยอัติโนมัติ ปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงเดือนแรกของทารก และหลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ หายไป
ปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจสอบได้เองมีดังนี้
- หากคุณอุ้มลูกในท่ายืน และปล่อยให้เท้าสัมผัสพื้นเล็กน้อย ลูกจะชักขาขึ้นละม้ายคล้ายการเดินบนอากาศ
- เมื่อถูกอุ้มอย่างรุนแรง เสียงดัง หรือแสงจ้าบาดตา ลูกจะสะดุ้งตกใจพร้อมกับแอ่นหลังขึ้นมา ศีรษะห้อยไปด้านหลัง แขนขากางกว้างออก และกลับมาอยู่ในท่าห่อตัวอย่างรวดเร็ว
- ทารกมักร้องไห้จ้าเพราะตกใจเสียงร้องไห้ของตนเอง ลูกจะสงบได้ด้วยการวางมืออุ่น ๆ ไว้ที่ร่างกายลูก หรืออุ้มพาดบ่าไว้
- หากแตะฝ่ามือหรือฝ่าเท้าลูก ลูกจะจับนิ้วของคุณไว้แน่น และสามารถดึงตัวเองขึ้นจากที่นอนได้
- หากแตะหลังมือหรือหลังเท้าด้านนอก นิ้วมือและนิ้วเท้าของลูกจะกางออก เรียกว่า Babinski Reflex
- เมื่อแตะที่มุมปากลูก ปากก็จะเผยอตามและหันมาหานิ้วมือที่แตะ ทำท่าทางพร้อมจะดูดนม เมื่อแตะสันจมูกหรือเปิดไฟใส่หน้า ลูกจะหลับตาปี๋
- จิ้มที่ฝ่าเท้าเบา ๆ เข่าและเท้าจะงอ
- เมื่ออุ้มเอาส่วนอกจุ่มน้ำ ลูกจะทำท่าว่ายน้ำ
- ดึงลูกขณะที่นอนอยู่ให้ขึ้นมาสู่ท่านั่ง ลูกจะพยายามตั้งหัวให้ตรง ตาเบิกกว้าง ไหล่ตึง เรียกว่าปฏิกิริยาตุ๊กตาจีน
ผิวทารกแรกเกิด
ทารกแรกเกิดจะมีเลือดของแม่และไขมันเคลือบอยู่ตามผิวที่เรียกว่า เวอร์นิกซ์ (Vernix) ทำหน้าที่ช่วยหล่อลื่นให้ทารกไหลลื่นออก มาจากช่องคลอดได้สะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้เห็นลูกในครั้งแรกก็จะพบว่าลูกมีผิวหนังเหี่ยวย่นจากการคุดคู้อยู่ในครรภ์มารดา และมีเมือกเลือดต่างๆ ที่ติดอยู่ตามตัว หลังจากคลอดเสร็จพยาบาลจะเป็นผู้ทำความสะอาดให้
เมื่อไขมันเริ่มหลุดไปก็มักทำให้ผิวชั้นนอกของทารกแห้งและลอก แต่เพียงแค่ 1-2 สัปดาห์เท่านั้นผิวหนังเก่าก็จะค่อยๆ หลุดหายไป และกลายเป็นผิวหนังที่แสนสดใสอมชมพูขึ้นมาแทน ในช่วงนี้คุณแม่อย่าแกะ เกา ขัดผิวของลูกเป็นอันขาด เพราะอาจจะทำให้ผิวลูกถลอก เป็นแผล และติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้นด้วย ทารกแรกเกิดหลายคนก็มักมีปานต่างๆ แต้มตามผิวมาด้วย
- ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Nevus) ทารกแรกเกิดอาจเห็นเป็นสีค่อนข้างแดง ต่อมาภายในเวลาไม่กี่เดือนจะมีสีน้ำตาลดำเข้มขึ้น ปานดำส่วนใหญ่จะมีขนาดโตกว่าไฝธรรมดา ผิวอาจเรียบนูน หรือขรุขระเล็กน้อย และอาจมีขนปนอยู่ด้วย ปานชนิดนี้มักไม่มีอันตราย นอกจากความสวยงาม แต่ถ้ามีขนาดใหญ่อาจมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้
- ปานมองโกเลียน (Mongolian spot) จะมีลักษณะเป็นปื้นสีเทาหรือสีน้ำเงินอ่อนขนาดใหญ่ ขนาดตั้งแต่ 0.5 – 11 ซม. มักจะพบบริเวณก้น หลัง อาจพบที่ไหล่หรือศีรษะได้บ้าง ปานชนิดนี้ไม่มีอันตรายใดๆ และมักจะจางหายไปได้เองใน 1 ขวบปีแรก
- ปานแดงสตรอเบอรี่ (Strawberry Nevus) มักพบบริเวณใบหน้าและลำคอ ลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนนูนสีแดงเข้ม พบในช่วง 1-4 สัปดาห์หลังคลอด ระยะแรกจะขยายเร็วจนถึงอายุประมาณ 1 ขวบ จากนั้นสีจะม่วงคล้ำขึ้น โดย 85% จะหายไปได้เองภายในอายุประมาณ 7 ขวบ
- ปานแดงจากผนังเส้นเลือดผิดปกติ (Capillary Hemangioma) ลักษณะเป็นตุ่มนูนหรือปื้นสีแดงขนาดใหญ่ที่บริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ซึ่งอาจพบความผิดปกติของตาร่วมด้วย เช่น ถ้าพบปานชนิดนี้บริเวณเปลือกตาหรือขมับ อาจมีขนาดใหญ่ขึ้นเบียดตาหรือเกิดต้อหินทำให้ตาบอดได้ การรักษาปานชนิดนี้มักใช้แสงเลเซอร์ (Vascular laser) ซึ่งผลของการรักษาขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของปานแดง
- ปานโอตะ (Nevus of Ota) อาจพบในทารกแรกเกิด หรือบางรายพบในตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว ลักษณะจะคล้ายปานมองโกเลียนที่มีสีเทาหรือน้ำเงิน แต่มักพบบริเวณโหนกแก้ม หรือขมับ ปานลักษณะนี้จะไม่จางหายไปเหมือนปานมองโกเลียน และจะไม่กลายเป็นมะเร็ง จึงไม่มีอันตรายใดๆ นอกจากไม่สวยงามเท่านั้น เมื่อเด็กโตขึ้นสามารถใช้เลเซอร์รักษาได้
รูปร่างทารกแรกเกิด
โดยเฉลี่ยแล้วเด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักประมาณ 3.3 กก. สูง 50.5 ซม. ส่วนเด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักประมาณ 3.2 กก. สูง 49.9 ซม.
ร่างกายของทารกในช่วงแรกคลอดนี้จะดูแล้วไม่น่ารัก เพราะว่าศีรษะจะโตมากกว่าลำตัว อีกทั้งมีใบหน้าอูม คอสั้น แขนขาก็สั้นไม่เข้าที่ เมื่อจับศีรษะก็จะพบว่าค่อนข้างนุ่ม เนื่องจากกระโหลกยังประสานไม่สนิทเท่าไรนัก โดยเฉพาะกระหม่อมหน้า ส่วนมือเท้าจะค่อนข้างเย็นเพราะระบบหมุนเวียนเลือดยังทำงานไม่ประสานกันเท่าไหร่
- ส่วนอวัยวะเพศชาย จะมีไข่อยู่ในถุงอัณฑะเรียบร้อยแล้ว แต่ทารกบางคนก็มีไข่เพียงข้างเดียว ซึ่งอีกข้างจะตามมาในภายหลังในเวลาไม่นานนัก ปลายองคชาติ จะปิดแต่สามารถปัสสาวะได้และจะเปิดภายหลังเช่นกัน
- ส่วนอวัยวะเพศหญิง จะมีสีคล้ำเล็กน้อย ส่วนอวัยวะเพศเด็กหญิงบางคนมีมูกคล้ายตกขาวหรือเลือดออกมาจากช่องคลอด เพราะเกิดจากฮอร์โมนของแม่ที่ผ่านมาทางสายรก และจะหายไปในเวลา 1-2 สัปดาห์
การมองเห็น
การมองเห็นเป็นพัฒนาการที่ทารกเพิ่งได้เรียนรู้เมื่อออกมาจากครรภ์มารดา ดังนั้นคุณแม่จะเห็นว่าลูกจะหน้านิ่วคิ้วขมวดและเพ่งไปยังจุดที่เขาสนใจในระยะประมาณ 8-12 นิ้ว ทั้งนี้ ทารกจะสามรถมองเห็นได้อย่างเลือนลางและมองในลักษณะเลื่อนลอยบ้างในบางครั้ง ที่สำคัญดวงตาของทารกจะมีความไวต่อแสงมาก ดังนั้นอย่าพาลูกเดินไปในห้องที่มีแสงจ้า หรือออกกลางแดดแบบฉับพลัน เพราะเขาจะหลับตาปี่ เพื่อปกป้องดวงตาของตัวเองทันที
ทารกจะชอบมองสิ่งที่เป็นเหลี่ยมมุมมากกว่าสิ่งของที่เป็นทรงกลม และชอบลวดลายที่มีสีสันตัดกันมากกว่าสีพื้นเรียบๆ อีกสิ่งหนึ่งที่ทารกชอบมอง คือ ใบหน้าของคน เพราะมีลักษณะสีหน้าที่แสดงอารมณ์ และมีจุดโฟกัสที่ดวงตา ลูกจะเรียนรู้ได้ว่าเขาควรจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร อย่างเช่น คุณแม่ยิ้มให้ ลูกก็จะเรียนรู้ที่จะยิ้มตาม
การได้ยิน
ทารกจะมีพัฒนาการด้านการได้ยินขึ้นทันทีตั้งแต่ออกจากท้องแม่ โดยทารกจะมีปฏิกิริยาเมื่อมีเสียงแปลกๆ เข้ามากระทบ อย่างเช่น สะดุ้งตกใจ กะพริบตาถี่ๆ หรือกลับกันถ้าเป็นเสียงเห่กล่อม ลูกจะนอนง่ายขึ้น ร้องไห้โยเยน้อยลง อย่างไรก็ตามทารกชอบได้ยินเสียงที่ทอดยาวประมาณ 10 วินาที และไม่ชอบเสียงสั้นๆ แบบหยุดๆ หายๆ ราว 1 – 2 วินาที และชอบเสียงสูงมากกว่าเสียงต่ำ อีกทั้งสามารถแยกแยะเสียงของคุณแม่จากเสียงอื่นๆ ได้แล้วด้วย
การสัมผัส
ทารกแรกเกิดมีความไวต่อประสาทสัมผัสทางกาย โดยเฉพาะอ้อมกอดและการสัมผัสของแม่ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ทารกรับรู้ประสาทสัมผัสต่างๆ มากขึ้น นอกจากนั้นทารกยังรับรู้ได้อีกว่าคุณแม่กำลังอยู่ในอารมณ์ใด แต่หากทารกน้อยยังต้องอยู่ในตู้อบ ทางการแพทย์ก็แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลูบเนื้อตัวลูกผ่านถุงมือ เพราะว่าลูกจะรู้สึกถึงการสัมผัสได้เช่นกัน
การได้กลิ่น
ประสาทสัมผัสด้านการดมกลิ่นเป็นพัฒนาการสำคัญ ที่จะช่วยให้ทารกน้อยปรับตัวกับโลกภายนอก หลังจากอุดอู้ในครรภ์คุณแม่มานาน ทารกแรกเกิดจะสามารถแยกความแตกต่างของกลิ่นสองกลิ่นได้ และสามารถแสดงออกว่าไม่ชอบกลิ่นเหม็นๆ ได้เช่นกัน ซึ่งหากไม่ชอบก็จะหันหัวหนี สะดุ้ง และดิ้นรนจนร้องไห้ออกมาในที่สุด ส่วนกลิ่นที่ชอบที่สุดจะเป็นกลิ่นของแม่ เพราะรู้สึกปลอดภัยและรับรู้ถึงความอบอุ่น ดังนั้นเมื่อลูกร้องไห้โยเยและคุณแม่เข้ามาอุ้ม ลูกก็จะรู้สึกอุ่นใจและสงบลงได้
ขาโก่ง
คุณพ่อคุณแม่บางคนกังวลว่าทารกแรกเกิดที่คลอดออกมาแล้วขาโก่งจะผิดปกติหรือไม่ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องธรรมชาติที่ขาของลูกน้อยจะโก่งเล็กน้อยโดย เฉพาะขาด้านล่าง แต่ไม่ต้องกังวลเพราะขาของลูกจะค่อยๆ เหยียดตรงขึ้นเรื่อยๆ สามารถยืดยาวตรงได้ในภายหลัง
การกิน
นมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารกแรกเกิด ซึ่งนมแม่หลังคลอดจะมีลักษณะเป็นน้ำนมเหลืองที่เรียกว่า โคลอสตรัม (Colostrum) ที่ถือเป็นหัวอาหารชั้นยอดของทารก ซึ่งน้ำนมเหลืองจะให้ทั้งพลังงาน โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ พร้อมทั้งภูมิคุ้มกันธรรมชาติแก่ทารกด้วย ที่สำคัญคุณแม่ควรให้ลูกดูดนมข้างละประมาณ 15 นาที เพื่อกระตุ้นน้ำนมด้วย
ช่วงแรกลูกจะร้องกินนมไม่ค่อยเป็นเวลา เป็นหน้าที่ของคุณแม่ที่จะต้องค่อยๆ จัดตารางเวลาให้ลูกกินนมในช่วงกลางวัน เพราะนอกจากจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้พักผ่อน ลูกก็จะมีระบบการย่อยที่ดีและท้องไม่อืด
การขับถ่าย
หากลูกกินนมแม่จะถ่ายอุจจาระบ่อย บางคนถ่ายทุกครั้งหลังดูดนม ซึ่งในทารกแรกเกิดจะมีอุจจาระที่ดำๆ เขียวๆ ที่เรียกว่า “ขี้เทา” มีลักษณะนุ่มเหนียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ของทารกจากเมื่อตอนที่ยังอยู่ในท้แงแม่ และจะถูกขับออกมาตามกระบวนการขับถ่าย และต่อไปอุจจาระของลูกก็จะกลายเป็นสีเหลืองเอง ทั้งนี้ หากสังเกตว่าลูกยังไม่อุจจาระภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว ให้รีบปรึกษาแพทย์เพราะลูกอาจจะเกิดลำไส้อุดตันได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทารกแฝดเกิดมาจับมือกัน
สาวชาวม้ง วัย 17 คลอด ลูกชายแฝด 3 แม่ไม่มีน้ำนม เด็กต้องกินนมผง ขอรับบริจาคช่วยเหลือเรื่องนม
100 ชื่อเด็กวันพฤหัสบดี ตั้งชื่อลูกมงคล ชื่อสำหรับเด็กเกิดวันพฤหัสบดี
https://www.thaipr.net/general/588354
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!