สำหรับคุณแม่ที่ใกล้จะออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับมาเลี้ยงลูกที่บ้านเอง คงจะประหม่าและกังวลไม่น้อยเรื่องการให้นมจะ ให้ลูกเข้าเต้า ทุกกี่ชั่วโมง และเข้าเต้าแบบไหนนมถึงจะไหลดี วันนี้เราได้รวบรวม การเตรียมตัว ข้อปฏิบัติ และวิธีให้นมลูกอย่างถูกวิธีมาให้แล้ว จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลยค่ะ
จะรู้ได้ยังไงเมื่อไหร่ที่ต้อง ให้ลูกเข้าเต้า ?
สัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า ถึงเวลาแล้วนะที่คุณแม่ต้องให้ลูกกินนม
- ร้องไห้ งอแง แน่นอนว่าการร้องไห้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่สุด
- ดูดนิ้ว เมื่อลูกน้อยดูดนิ้วหรือมือบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังหิว
- ขยับปาก ลูกน้อยอาจขยับปากหรือค้นหาเต้านมของคุณแม่
- กระวนกระวาย ลูกอาจขยับตัว หันศีรษะไปมา หรือทำท่าเหมือนกำลังมองหาอะไรบางอย่าง
แล้วต้อง ให้ลูกเข้าเต้า ทุกกี่ชั่วโมง เป็นคำถามที่คุณแม่มือใหม่มักสงสัย มาไขข้อกังวลใจกัน
ระยะเวลาความต้องการกินนมของเด็กแต่ละช่วงวัยจะมีความแตกต่างกันออกไป ดังนั้นความถี่ในการให้ลูกจึงขึ้นอยู่กับความหิว หรือความต้องการกินของลูกน้อย ถึงแม้ว่าความต้องการกินนมของเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไป แต่สามารถประมาณความถี่ให้ลูกเข้าเต้าได้ดังนี้
- เด็กแรกเกิด สำหรับเด็กแรกเกิดส่วนใหญ่ จะต้องการเข้าเต้าทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง หรือ 8 – 12 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง ซึ่งการให้ลูกน้อยเข้าเต้าให้นมแม่ทันทีในช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ยังสามารถช่วยกระตุ้นเต้าให้ผลิตน้ำนมได้อีกด้วย
- สัปดาห์แรก – 5 เดือน ในช่วงเวลานี้ ลูกน้อยเริ่มมีกระเพาะใหญ่ขึ้นและจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณน้ำนมที่ลูกน้อยต้องการก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจะต้องการเข้าเต้าทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง ในบางรายอาจจะต้องการเข้าเต้าทุก ๆ ชั่วโมง ซึ่งความถี่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวันตามความต้องการของลูก เช่น บางวันอาจจะเข้าเต้าบ่อย แต่ปริมาณที่กินในแต่ละครั้งอาจจะน้อย หรือเข้าเต้าไม่บ่อย แต่ปริมาณที่กินในแต่ละครั้งมาก
- วัย 6 – 12 เดือน เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนที่ 6 ความต้องการและปริมาณในการกินนมของลูกน้อยก็จะเปลี่ยนไปจากเดิมไม่มากนัก และเป็นช่วงวัยที่เริ่มกินอาหารเสริมได้ตามวัย ควบคู่กับการให้นมแม่ ซึ่งความถี่ในการเข้าเต้าจะเปลี่ยนเป็นทุก ๆ 4 – 5 ชั่วโมง
- วัย 12 – 24 เดือน เด็กในช่วงวัยนี้ จะเริ่มเข้าเต้าน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากสามารถรับประทานอาหารตามวัยได้แล้ว เด็กบางคนจะต้องการเข้าเต้าในช่วงเช้าหรือก่อนเข้านอน และบางคนอาจจะเปลี่ยนไปกินนมชงหรือนมกล่อง การให้นมแม่ หรือการเข้าเต้าจึงค่อย ๆ ลดลงไป
ลูกดูดนมจากเต้า จะรู้ได้ไงว่าลูกกินอิ่ม หรือไม่อิ่ม
อาการที่บ่งบอกได้ว่าลูกกินอิ่มแล้ว
- จังหวะในการดูเต้าช้าลงจากปกติ ดูด หรือกลืนเป็นจังหวะยาว ๆ บางครั้งอาจจะหยุดดูด
- แก้มของลูกมีลักษณะกลม ไม่ได้มีลักษณะเป็นหลุม ซึ่งเป็นลักษณะในการดูด
- ปิดปาก และหันออกจากเต้า
- ลูกน้อยมีท่าทางผ่อนคลาย
- เต้านมคุณแม่มีลักษณะที่อ่อนยวบหลังจากให้นม
6 ท่าอุ้มลูกเข้าเต้า สำหรับคุณแม่ให้นมลูกที่ต้องรู้
วิธีอุ้มระหว่างให้นมลูกนั้นมีได้หลายแบบ คุณแม่สามารถเลือกและปรับท่าให้รู้สึกว่าตัวเองสบายที่สุดได้เลย จะได้ไม่เกร็งและทำให้ลูกได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอ อีกทั้งคุณแม่จะได้ประเมินการ ให้ลูกเข้าเต้า ทุกกี่ชั่วโมง ได้อีกด้วยจากปริมาณนมที่ลูกได้ดูดไป โดยท่าให้นมที่คุณแม่ควรศึกษาเอาไว้มี 6 ท่าดังนี้
-
ท่าอุ้มนอนขวางบนตักแม่ (Cradle Hold)
ให้คุณแม่นั่งขัดสมาธิอุ้มลูกวางขวางไว้บนตัก ให้ท้ายทอยอยู่ที่แขนของคุณแม่ ปลายแขนของคุณแม่ช้อนไปที่ส่วนหลังและก้นของลูก ตะแคงตัวลูกเข้าหาเต้านมให้หน้าอกลูกและคุณแม่ชิดกัน มืออีกข้างพยุงเต้านม เพื่อป้องกันไม่ให้ปิดจมูกลูก
-
ท่านอนขวางบนตักแบบประยุกต์ (Modified/Cross Cradle Hold)
อุ้มลูกน้อยวางไว้บนตักคล้ายท่าแรกแต่เปลี่ยนการวางมือของคุณแม่ โดยใช้มือด้านตรงข้ามกับเต้านมช้อนระหว่างท้ายทอยและคอของลูกแทนมืออีกข้างพยุงเต้านม
-
ท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Clutch Hold/Football Hold)
ท่านี้เป็นอีกท่าที่ค่อนข้างสะดวกสบาย วางหมอนหนา ๆ ไว้ข้างลำตัวจัดตำแหน่งลูกน้อยให้อยู่บนหมอนให้ลำตัวของลูกน้อยอยู่ใต้แขนของคุณแม่ ใช้มือประคองที่ท้ายทอยคอ และส่วนหลังของลูกน้อยเหมือนอุ้มลูกฟุตบอลที่เหน็บไว้ข้างลำตัว
-
ท่านอนตะแคง (Side Lying Position)
เป็นที่ค่อนข้างสบายทั้งคุณแม่และลูก โดยคุณแม่และลูกนอนตะแคงเข้าหากันศีรษะแม่สูงเล็กน้อย วางลูกให้ตำแหน่งปากอยู่ตรงกับหัวนมของแม่ มือที่อยู่ด้านบนประคองเต้านมเพื่อนำหัวนมเข้าปากลูก เมื่อลูกดูดได้ดี สามารถขยับออก ประคองต้นคอและหลังได้
-
ท่าเอนตัว (Laid-back Hold)
ท่านี้คุณแม่นอนเอนตัวแล้ววางลูกไว้บนหน้าอก ใช้มือโอบลูกน้อยไว้ และให้ศีรษะลูกเอียงเล็กน้อยเพื่อป้องกันการปิดกั้นทางเดินหายใจ
-
ท่าตั้งตรง (Upright or Standing Baby)
อุ้มลูกน้อยตั้งตรงนั่งตัก ขาลูกคร่อมช่วงต้นขาคุณแม่ ศีรษะและลำตัวของลูกเอนเล็กน้อย ใช้มือประคองศีรษะของลูกและเต้านม ส่วนมืออีกข้างหนึ่งประคองที่เต้านม
วิธีการเอาลูกเข้าเต้าอย่างถูกต้อง
การเอาลูกเข้าเต้าได้อยากถูกวิธี นอกจะทำให้ลูกของคุณแม่ดูดนมได้ดีแล้ว ยังป้องกันตัวคุณแม่จากปัญหาเต้านมคัด หัวนมแตก และลดการเกิดเต้านมอักเสบด้วยค่ะ
สำหรับวิธีนำลูกเข้าเต้านั้น หลังจากอุ้มลูกให้อยู่ในท่าที่ต้องการแล้ว ให้เอามือประคองเต้านมตัวเองโดยใช้นิ้วโป้งอยู่ด้านบน ส่วนนิ้วที่เหลือช้อนเต้านมด้านล่างเพื่อยกเต้านม จากนั้นให้จำง่ายๆ เป็น 3 จังหวะตามนี้ค่ะ
- จังหวะที่ 1 : ให้ลูกอ้าปาก เมื่อเราอุ้มลูกมาตรงเต้านมโดยจมูกของลูกอยู่ระดับเดียวกับหัวนมและคางอยู่ชิดเต้านมส่วนล่างแล้ว ลูกจะเริ่มอ้าปากเอง แต่ถ้าลูกไม่อ้าปากเองก็ไม่เป็นไรนะคะ ให้ใช้หัวนมเขี่ยริมฝีปากของลูกน้อยเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้อ้าปากได้ค่ะ
- จังหวะที่ 2 : เคลื่อนหัวลูกมาให้ปากอมถึงลานนม รอจนลูกอ้าปากกว้างก่อนแล้วเคลื่อนหัวของลูกเข้ามาที่เต้านมจนลูกน้อยอมหัวนมเข้ามาถึงบริเวณลานนม จำไว้ว่า! ให้เลื่อนหัวลูกมาที่เต้านมเรา อย่าโน้มตัวเองเพื่อเอาเต้านมเข้าปากลูก และอย่าให้ลูกดูดเฉพาะหัวนม เพราะจะไม่มีแรงกระตุ้นน้ำนมค่ะ
- จังหวะที่ 3 : ปรับตำแหน่งให้เข้าที่ โดยให้ปากของลูกอมลานนมส่วนล่างมากกว่าส่วนบน และคางอยู่ชิดกับเต้าส่วนล่าง เป็นตำแหน่งจะที่ทำให้ลูกดูดนมได้ดี หายใจสะดวก และคุณแม่ไม่เจ็บหัวนมด้วยค่ะ พอลูกน้อยเริ่มดูดนมแล้ว ให้ลองสังเกตดูการดูดที่จะเป็นจังหวะและมีเสียงเบาๆ ขณะกลืนน้ำนม ถ้าได้แบบนี้แสดงว่ามีน้ำนมออกมาแล้วค่ะ
อุ้มเรอยังไง ให้ลูกสบายท้องหลังดูดนมอิ่ม
การอุ้มให้ลูกเรอเป็นสิ่งจะเป็นและสำคัญมาก ๆ คุณแม่ควรทำทุกครั้งหลังการให้นม เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเกิดอาการท้องอืดค่ะ โดยท่าที่นิยมจะมีอยู่ 3 ท่าด้วยกัน ดังนี้
- ท่าอุ้มลูกพาดบ่า ซึ่งวิธีนี้ทำโดยให้คุณแม่อุ้มลูกพาดบ่า โดยให้คางของลูกอยู่ที่บ่าของแม่ ใช้ฝ่ามือลูบหลัง ลูบขึ้นทางเดียว ทำซ้ำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาสัก 1-2 นาที จนกว่าจะได้ยินเสียงเรอของลูก
- ท่าเอาลูกนั่งตัก อุ้มลูกโดยหันหน้าของลูกออกจากลำตัวของคุณแม่ โน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย ใช้มือประคองที่บริเวณใต้คางและลำคอของลูก มืออีกข้างหนึ่งลูบหลังโดยลูบขึ้นทางเดียวช้า ๆ ทำซ้ำจนได้ยินเสียงเรอของลูก
- ท่าพาดแขน หลังจากที่ให้นมแล้ว ค่อยจับลูกวางแขนในลักษณะคว่ำลง ยกแขนส่วนศีรษะลูกให้สูงขึ้นประมาณ 45 องศา เพื่อไม่ให้อาหารในกระเพาะไหลย้อนขึ้นไป ลูบหลังลูกเบา ๆ จนกระทั่งเรอ
การอุ้มลูกเรอนั้นคุณแม่สามารถแบ่งทำทีละครึ่งได้นะคะ เช่น หากลูกกินนมมาได้สักระยะ พักครึ่งให้ลูกเรอ เพื่อเป็นการไล่ลมในท้องก่อน เมื่อลูกเรอลูกก็จะรู้สึกสบายท้องมากขึ้น แล้วค่อยกินนมต่อจนลูกอิ่มค่ะ
จากเทคนิคและวิธีการให้นมข้างต้นที่กล่าวมา ช่วยให้คุณแม่มือใหม่ที่ต้อง ให้ลูกเข้าเต้า ทุกกี่ชั่วโมง นั้นปฏิบัติได้ง่ายขึ้นในการให้นมลูกน้อย อีกทั้งคุณแม่ให้นมลูกต้องรู้ถึงวิธีการปั๊มนม การเก็บรักษานมแม่ เก็บแบบไหนและนำออกมาใช้ยังไง ซึ่งคุณแม่สามารถติดตามกันต่อได้ในบทความอื่นๆ ของเว็บไซต์เราได้ค่ะ
ที่มา : Bangkok Hospital Phuket , Simply Mommynote.net
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
3 สัญญาณบอกว่า นมแม่ใกล้หมด หรือมีน้อยเกินไปแล้ว
น้ำนมแม่มีกลิ่นหืน ให้ลูกกินต่อได้ไหม แล้วต้องเก็บอย่างไรไม่ให้เหม็นหืน
น้ำนมแม่ไม่ไหล ท่อนมอุดตัน เต้าคัด ปั๊มไม่ออก เกิดจากสาเหตุอะไร ต้องแก้ยังไง