โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก เป็นอาการที่ผิวหนังมีการอักเสบโดยผื่นสามารถมีลักษณะต่างๆ ตั้งแต่แห้งเป็นขุย คัน ลอก หรือเป็นตุ่มแดงตามระยะของโรค สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกับทารก โดยมักจะเป็นตามบริเวณแก้ม แขน และขา และยังสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กโต โดยมักเกิดที่บริเวณหลัง และตามข้อพับของแขนและขา
ลูกเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มีสาเหตุมาจากอะไร
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยอาจมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น
- ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น มีพ่อแม่ หรือคนในครอบครัวสายตรงเคยมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ
- การได้รับสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร อากาศ เชื้อจุลชีพ และสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองอื่น ๆ
ลูกเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ชนิดเรื้อรัง สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
หากลูกเป็นโรคผื่นภูมิแพ้แบบเรื้อรัง อาการมักจะเป็น ๆ หาย ๆ มีทั้งช่วงอาการกำเริบ แล้วก็ดีขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการดูแลผิวลูก หรือการได้รับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแพ้ อย่างไรก็ตาม หากได้รับการรักษาจากแพทย์ที่ถูกต้อง บวกกับการป้องกันเบื้องต้น ประมาณ 60% ของเด็กกลุ่มนี้ แม้จะมีอาการแพ้มากในตอนเด็ก แต่เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป อาการแพ้ก็สามารถลดน้อยลงตามลำดับ
เมื่อลูกเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มีแนวทางการรักษาอย่างไร
- ใช้ครีมบำรุงผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวลูกอยู่สม่ำเสมอ โดยต้องเป็นครีมที่ได้รับการรับรองว่าอ่อนโยนต่อเด็ก โดยควรได้รับคำแนะนำการใช้จากแพทย์อย่างถูกวิธี
- หากมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษา ควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะเป็นคนเลือกวิธีรักษา และตัวยาที่เหมาะสมกับอาการและความรุนแรงของโรค
วิธีป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้ลูกแพ้ หรือมีผื่นกำเริบ เช่น อาหาร เหงื่อ สารเคมี ซึ่งก่อนอื่นต้องให้ลูกทำการทดสอบการแพ้หรือ Skin Prick Test เสียก่อน จะได้ป้องกันได้ตรงจุด
- พยายามรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิวของลูกอยู่เสมอ ด้วยการทาโลชั่นหรือครีมบำรุงผิว แต่ต้องเป็นสูตรอ่อนโยนต่อทารกและเด็ก
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำบ่อยเกินไป หรืออาบน้ำอุ่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้ง หากผิวแห้งมาก ๆ ก็จะง่ายต่อการระคายเคือง คัน ลอก แดง ได้ง่าย
นอกจากนี้ การป้องกันลูกเป็นโรคภูมิแพ้ ยังสามารถทำได้ตั้งแต่วัยแรกเริ่ม ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่นั้นเปรียบเสมือนวัคซีนแรกสำหรับลูกน้อย เนื่องจากในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด รวมทั้งสารภูมิคุ้มกันที่ช่วยจับสารก่อภูมิแพ้ และโปรตีนในนมแม่บางส่วน มี PHP หรือ Partially Hydrolyzed Proteins ซึ่งเป็นโปรตีนที่ถูกย่อยให้มีขนาดเล็กลงด้วยเอ็นไซม์ตามธรรมชาติ โปรตีนในนมแม่นั้นย่อยง่ายและดูดซึมได้ดีกว่าโปรตีนทั่วไป ส่งผลดีต่อเทารก ซึ่งเยื่อบุทางเดินอาหารยังไม่แข็งแรง ระบบการย่อยยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ในนมแม่ยังมี 2’FL หรือโอลิโกแซ็กคาไรด์ที่เป็นพรีไบโอติกชนิดที่พบมากที่สุดในนมแม่ และยังมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หรือที่เรียกว่าโพรไบโอติกส์อีกหลายสายพันธุ์ เช่น บิฟิดัส บีแอล ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ได้อีกด้วย
เพราะฉะนั้นลูกน้อยควรทานนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน หรือนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ กรณีที่คุณแม่มีความจำเป็นหรือมีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่สามารถให้นมแม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการสำหรับเด็ก
Ref. 1 2 3 4 5
- Dallas DC, et al. J Mammary Gland Biol Neoplasia. 2015 Dec;20(3-4):133-47.
- Dallas DC, et al. J Nutr. 2014 Jun;144(6):815-20
- Grönlund MM, et al. Clin Exp Allergy. 2007 Dec;37(12):1764-72.
- Floch MH, et. al. J Clin Gastroenterol. 2015 Nov-Dec;49 Suppl 1:S69-73.
- Sprenger N, et al. Eur J Nutr. 2017 Apr;56(3):1293-1301.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!