ลูกช่างเถียง ลููกเป็นเด็กเถียงคำไม่ตกฟาก ชอบเถียงแบบไม่มีเหตุผล รับมือยังไงดี
ลูกช่างเถียง ลููกเป็นเด็กเถียงคำไม่ตกฟาก ชอบเถียงแบบไม่มีเหตุผล รับมือยังไงดี ให้ไม่ปรี๊ดแตกไปเสียก่อน
พ่อแม่ทุกคนต้องการให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิดกล้าแสดงออก และสื่อสารในสิ่งที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สักวันหนึ่งเราอยากให้ลูกลุกขึ้นมาสู้เพื่อตัวเอง และนั่นก็เป็นหนึ่งในข้อดีของเด็กๆ ที่มีความคิดเห็น มีความขัดแย้งกับพ่อแม่ เพราะเขาเป็นตัวของตัวเอง และไม่ใช่ว่าจะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ตลอดเวลา
ลูกเถียง ไม่ดีแน่หรือ
จริงๆ การเถียง เป็นการแสดงความคิดเห็น แน่นอนว่าอาจจะไม่ถูกใจคุณพ่อคุณแม่ไปเสียหมดหรอกนะคะ แต่การเถียงก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อดีเลย การถกเถียงกันระหว่างพี่น้อง พ่อลูกหรือแม่ลูกนั้น เป็นขั้นตอนที่จะให้เด็กๆ มีความเคารพต่อความคิดเห็นและความรู้สึกของคนแต่ละคน การถกเถียงเป็นการแชร์ไอเดียและสิ่งที่เราอยากจะบอก
เปลี่ยนความรุนแรง เป็นสันติวิธี
โดยส่วนใหญ่แล้ว คำว่าเถียงนั้น มักจะใช้ในแง่ที่เป็นการแชร์ความคิดเห็น โดยใส่อารมณ์และเป็นแง่ลบ สำหรับคุณพ่อคุณแม่บางคนที่เวลาลูกเถียงแล้วตัวเองขึ้น ตัวเองปรี๊ดนั้น สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ เปลี่ยนตัวเองก่อนเลยค่ะ อย่ามองลูกเป็นตุ๊กตาหรือคอมพิวเตอร์ ที่จะสั่งอะไรแล้วต้องทำตามเท่านั้นห้ามหือห้ามอือ แต่มันก็มีการเถียงแบบสันติวิธี ที่จะไม่ทำให้คุณพ่อคุณแม่และลูกอารมณ์เสียอยู่ด้วยนะคะ
- ก่อนอื่นเลยเด็กๆ ที่มีนิสัยช่างเถียงนี้นั้น มีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพแบบผู้นำที่เข้มแข็ง และมีอุดมการณ์ในการทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อค่ะ ซึ่งเป็นคุณสมบติที่พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกมี
- ไม่ต้องเถียงกับลูก ในเมื่อมีการถกเถียงแล้วทุกคนอารมณ์เสีย ก็จงอย่าเถียงกันค่ะ
- เปิดโอกาสให้ลูกมีทางเลือก ซัก 2-3 ทาง เช่น ลูกจะไปแปรงฟันก่อน หรือช่วยแม่เก็บเสื้อผ้าเข้าตู้ก่อน
- ระลึกไว้เสมอว่า ความเห็นลูกก็สำคัญไม่แพ้กับของตัวเอง โดยไม่ต้องอธิบายเยอะยืดยาว แต่เน้นคำที่เป็นคีย์เวิร์ดต่างๆ เช่น แม่ต้องการให้ลูกช่วยแม่ด้วยได้ไหมคะ ช่วยแม่เก็บของเล่นตรงนั้นทีสิลูก หลีกเลี่ยงการขึ้นต้นประโยคในแง่ลบหรือต่อว่า เช่น ก็เห็นอยู่ว่าของเล่นมันเกะกะ ทำไมไม่เก็บ เป็นต้น ไม่มีใครชอบที่จะโดนตำหนิค่ะ แม้แต่ตัวคุณพ่อคุณแม่เอง
- สอนลูกถึงความแตกต่างระหว่างการแสดงความคิดเห็นและการเถียงโดยใช้อารมณ์ เช่น การปฏิเสธโดยไม่มีเหตุผล หรือการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายค่ะ สอนลูกให้รู้จักหาจุดร่วม กันของทางออก
- เมื่อลูกเริ่มงอแง เพราะไม่ยอมทำตาม หรือคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถทำตามที่ลูกต้องการได้ ลองให้ลูกเป็นคนเสนอทางออกด้วยตัวเอง โดยเป็นไปตามความต้องการของลูกและของคุณพ่อคุณแม่ด้วย บางทีเราอาจจะได้ยินความคิดดีๆ ที่ออกมาจากตัวของลูกก็ได้นะคะ
- สอนลูกให้รู้จักการขออนุญาติก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป เป็นการลดการโต้เถียงลงไปได้เยอะค่ะ
เมื่อเหตุผลของลูก ไม่เป็นเหตุผลในสายตาพ่อแม่
บ่อยครั้งที่เหตุผลของเด็กๆ ดูเหมือนว่าจะเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นในสายต่อของคุณพ่อคุณแม่ แต่นั่นก็เป็นเพราะเรามีมุมมองของคนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งต่างกับของเด็กๆ ยังไงละคะ การย้อนวัยกลับไปคิดแบบเด็กๆ นั้นคือสิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราผ่านมาแล้ว และควรจะต้องปรับมุมมองของพ่อแม่เทียบเคียงกับมุมมองของลูกบ้าง อย่างน้อยเราทุกคนต่างก็เคยเป็นเด็กมาก่อน แต่อย่าหวังว่าลูกจะมีมุมมองของผู้ใหญ่ หรือมาเข้าอกเข้าใจอะไรพ่อแม่บ้าง เพราะอย่าลืมว่าเจ้าตัวเล็ก ยังไม่เคยเป็นผู้ใหญ่เลยซักครั้งนะคะ
คุยให้เคลียร์ บางครั้งเหตุผลของลูกนั้น เป็นสัญญาณที่ซ้อนข้อความบางอย่างไว้ก็ได้ค่ะ เช่น หากลูกให้เหตุผลว่าไม่ชอบ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปักใจเชื่อทันทีว่าเหตุผลของลูกมีแค่นั้น แต่ควรถามต่อไปว่า ลูกไม่ชอบเพราะอะไร หรืออะไรที่ทำให้ลูกไม่ชอบ หรือมันทำให้ลูกรู้สึกยังไงบ้าง
ที่มา Empowering Parents และ Huffingtonpost
บทความที่น่าสนใจ
เมื่อลูกไม่อยากไปโรงเรียนอนุบาล
เด็กเถียงพ่อแม่ โตเป็นผู้ใหญ่จะประสบความสำเร็จมากกว่า??!!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!